WHAT MAKES THE HOUSE OF SALYAWATE PRASERTWITAYAKARN, THE ARCHITECT AND FOUNDER OF ATELIER OF ARCHITECTS, SPECIAL IS NOT ITS APPEARANCE. IT IS THE PERSONAL STORIES TOLD THROUGH THE DESIGN
TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: KETSIREE WONGWAN EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
นับถึงตอนนี้ ก็เป็นระยะเวลากว่า 20 ปีแล้วที่ ศัลยเวทย์ ประเสริฐวิทยาการ สถาปนิกเจ้าของสตูดิโอ Atelier of Architects ได้เดินทางบนวิชาชีพสถาปนิกพร้อมฝากผลงานการออกแบบที่หลากหลายทั้งรูปลักษณ์ รูปแบบ และสเกล เมื่อถึงโอกาสที่เขาได้ออกแบบบ้านให้ตัวเอง และครอบครัว แน่นอนว่าเขาก็ใช้ประสบการณ์ที่สั่งสม มาออกแบบบ้านของตนให้มีความพิเศษเฉพาะตัวเช่นเดียวกับผลงานหลายๆ ชิ้นของเขา แต่เหมือนว่าความพิเศษของบ้านหลังนี้ จะไม่ได้พิเศษจากรูปลักษณ์เตะตาหรือสเปซหวือหวา แต่กลับพิเศษจากเรื่องราวส่วนตัวของสถาปนิกที่คละคลุ้งอยู่ในดีไซน์บ้านหลังนี้
จากจังหวะในชีวิตที่กำลังเผชิญเรื่องราวหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการรับมือกับปัญหาทางสุขภาพของบิดา หรือการรอต้อนรับเจ้าตัวน้อยคนใหม่ที่จะออกมาลืมตาดูโลก ศัลยเวทย์จึงถือโอกาสช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ออกแบบบ้านหลังใหม่เพื่อรวมสมาชิกในครอบครัวทุกคนทั้งตัวเขาเอง ภรรยา สมาชิกรุ่นตายาย และสมาชิกรุ่นลูกเข้ามาไว้ด้วยกัน
“แต่เดิมผมอยู่คอนโดในเมือง แต่มาเริ่มต้นทำบ้านหลังนี้หลังจากพ่อผมป่วยเมื่อประมาณสี่ห้าปีก่อน คิดว่าไหนๆ ทำทั้งทีก็รวมแม่ผม และพ่อแม่ภรรยามาอยู่ด้วยกันเลย จะได้ดูแลกันง่าย แต่เสียดายที่บ้านนี้เสร็จไม่ทันพ่อของผม ท่านเสียไปก่อน แต่ผมก็ได้ลูกคนเล็กที่เกิดมาใหม่หลังพ่อเสีย แค่ช่วงเวลาสร้างก็เป็นช่วงที่คนหนึ่งไป คนหนึ่งมา” ศัลยเวทย์เล่า
สำหรับการดีไซน์บ้านหลังนี้ของศัลยเวทย์ เขาเลือกออกแบบมันอย่างเรียบง่าย และเน้นตอบโจทย์การใช้งาน และการใช้ชีวิตเสียมากกว่า บ้านหลังนี้มีการวางผังให้เป็นบ้านล้อมคอร์ทตรงกลาง เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวแต่ละคนมองเห็นซึ่งกันและกัน พร้อมกับเป็นการสร้างมุมมองภายในให้บ้านแทนมุมมองจากภายนอกที่พร้อมจะมีตึกใหม่ขึ้นมาได้ตลอดเวลา
ในขณะเดียวกัน ดีไซเนอร์เจ้าของบ้านก็เลือกหันคอร์ทยาร์ดไปหาด้านตึกอพาร์ตเมนท์ในแปลงติดกันซึ่งเป็นของที่บ้าน นอกจากจะแก้ปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวได้แล้ว ยังช่วยบังแดดตอนบ่ายให้กับคอร์ทยาร์ดซึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันตกได้อีกด้วย
แม้บ้านหลังนี้ไม่ได้ถูกดีไซน์ให้มีความหวือหวา แต่เราก็เห็นความพยายามของศัลยเวทย์ในการวาดลวดลาย และใส่กระบวนท่าลงไป เพื่อเป็นหมุดหมายอันพิเศษของบ้านหลังนี้ อย่างเช่นพื้นที่บันไดกลมของบ้านที่ละลานตาไปด้วยชั้นหนังสือสูงจรดเพดานที่รายล้อมโดยรอบ และช่องแสง skylight ด้านบนที่สร้างความโอ่โถงให้กับบันได นอกจากนี้ หนังสือที่อยู่บนชั้นยังบอกเล่าตัวตนของศัลยเวทย์และครอบครัวได้น่าสนใจไม่แพ้กัน ตั้งแต่ด้านบนสุดของชั้นที่มีหนังสือประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมหายากอายุกว่าร้อยปี ไปจนถึงด้านล่างสุดที่ศัลยเวทย์วางหนังสือเด็กหรือของอื่นๆ ที่อยากให้ลูกเห็นไว้ เผื่อลูกของเขาเหลือบเห็นระหว่างเดินขึ้นลง และหยิบไป ซึ่งมันก็ได้ผลไปตามอย่างที่เขาคาดจริง
นอกจากการออกแบบในฐานะสถาปนิก สิ่งที่เราคิดว่าทำให้บ้านหลังนี้มีความพิเศษเฉพาะตัวก็คือ เรื่องราว “ส่วนตัว” ที่ผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับบ้าน เริ่มต้นตั้งแต่วันที่เริ่มก่อสร้างบ้านที่เป็นวันเกิดของพ่อ ไปจนถึงวันย้ายเข้ามาอยู่บ้านซึ่งเป็นวันเกิดของแม่ ช่องแสงบริเวณทางเดินที่ศัลยเวทย์ออกแบบ และคำนวณตำแหน่งอย่างพิถีพิถันเพื่อให้มีแสงลอดเข้ามาตรงๆ ในวันที่เป็นวันเกิดของเขาพอดี หรือผนังก่ออิฐหน้าบ้านรูปตัว ‘ภ’ ซึ่งเป็นตัวอักษรนำหน้าชื่อลูกทั้ง 3 คนของเขา และโดยเฉพาะหมุดทองเหลืองกลมที่ฝังบริเวณกึ่งกลางของโถงบันไดกลม ซึ่งจารึกรอยมือของเขา ภรรยา และเจ้าของอักษรย่อ ‘ภ’ ทั้งสามคนพร้อมกับวันที่ย้ายเข้าและสร้างบ้านไว้ด้วยกัน
ถึงในระหว่างทางการออกแบบจะเจอเรื่องขลุกขลักบ้าง เพราะเป็นการออกแบบให้คนในครอบครัวที่รู้จักใกล้ชิดกับตัวสถาปนิกดีอยู่แล้ว และเผลอๆ จะโน้มน้าวใจได้ยากกว่าออกแบบให้ลูกค้าเสียอีก แต่พอบ้านหลังนี้ออกมาเสร็จสมบูรณ์ บ้านก็ช่วยเรียงร้อยสัมพันธ์ของคนในครอบครัวเข้าด้วยกันได้อย่างที่ใจเขาหวัง หรือมากกว่าที่เขาหวังด้วยซ้ำ “เมื่อก่อนผมอยู่คอนโดแล้วแยกกันอยู่กับแม่ ผมเลยแทบไม่ได้เจอแม่เลย แต่เดี๋ยวนี้ได้เจอกันทุกวัน ลูกๆ ผมก็ไปเล่นกับแม่ผม ไปนอนอ่านหนังสือกันทุกค่ำ” ศัลยเวทย์กล่าวด้วยน้ำเสียงอันยินดี
การแวะเวียนบ้านของศัลยเวทย์ในครั้งนี้ชวนให้เรานึกไปว่า บางทีคุณค่าที่แท้จริงของสถาปัตยกรรมอาจไม่ได้อยู่ที่ความหวือหวาทางสายตาเสมอไป แต่มันอาจเกิดขึ้นจากการออกแบบที่ตอบสนองการใช้งาน และโดยเฉพาะจากความทรงจำที่ประทับตราอยู่บนพื้น ผนัง เพดาน หรือจากความสัมพันธ์ที่ลอยอบอวลอยู่ในนั้น