ZHA’S SMALL ARTIFACTS ARE IN THE SAME DNA AS THEIR BIG ONES, HOW IS THAT? AND WHY IT IS IMPORTANT?
TEXT: CHAKKARAT WONGTHIRAWAT
PHOTO COURTESY OF ZAHA HADID ARCHITECTS EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
สเกลเป็นสิ่งที่ไม่ตายตัว และการที่ Zaha Hadid Architects ใช้เครื่องมือ และกระบวนการเดียวกันในการออกแบบงานสถาปัตยกรรมขนาดยักษ์ และงานโปรดักท์ขนาดเล็ก ทำให้บางทีเราก็สับสนว่าสิ่งที่เรากำลังดูอยู่คือตึกระฟ้าหรือแจกัน แผนผังของเมืองหรือแพทเทิร์นบนรองเท้ากันแน่
กระบวนการ parametric design ที่ ZHA ใช้ และเผยแพร่มาเป็นเวลายาวนาน เป็นการออกแบบผ่านระบบ algorithm บนพื้นฐานของการร้อยเรียงตัวแปร (Parameter) ต่างๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเจตนาของผู้ออกแบบ (Design Intent) กับจุดประสงค์ของงาน (Design Purpose) ซึ่งผลลัพธ์ของการออกแบบนั้นเป็นผลลัพธิ์ของการคลี่คลายสมการหรือ code หลายชั้น ที่ผู้ออกแบบเป็นผู้เขียน และสร้างความสัมพันธ์เหล่านั้นขึ้นมา ซึ่งกระบวนการนี้ถูกประยุกต์ใช้ได้กับของในทุก ๆ สเกล เช่นแพทเทิร์นสูงต่ำแผ่ขยายบนรองเท้า ZHA Lacoste Shoes ที่ดูคล้ายคลึงกับงานการออกแบบเมือง ของ ZHA เช่น Kartal-Pendik Masterplan, Istanbul หรือ Free Market Urbanism ก็อาจมีที่มาจากชุดตัวแปรและสมการที่มีระบบระเบียบที่คล้ายคลึงกัน แม้จะเป็นงานที่มีสเกลต่างกันอย่างมหาศาลก็ตาม และแม้หลักการของกระบวนการ Parametric Design นีั้จะทำให้ผู้ออกแบบสามารถปรับเปลี่ยน ควบคุมตัวแปรต่างๆ ของสมการหรือ Algorithm เพื่อปรับเปลี่ยนผลลัพธิ์ของการออกแบบ ทั้งในเชิงสเกลและฟังก์ชั่นที่หลากหลายได้อย่างนับไม่ถ้วน แต่ผลลัพธิ์เหล่านั้นก็ถูกควบคุมโดยความสัมพันธ์หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็น DNA ของสมการให้ผลลัพธิ์ไปในทิศทางเดียวกันได้ด้วยในเวลาเดียวกัน
กระบวนการที่สำคัญไม่แพ้กันคือเทคโนโลยีการผลิตแบบ digital fabrication ซึ่งตัด media หรือตัวกลางในการสื่อสาร และออกคำสั่งระหว่างผู้ออกแบบกับผู้ผลิตออกไป เนื่องจากข้อมูลจาก digital model ในโลกเสมือนนั้นสามารถถูกแปลงเป็น code เพื่อสื่อสารกับเครื่องจักรในโลกความจริงได้โดยตรง เพื่อผลิต (ปรินท์ ฉีก ตัด พับ ขุด เจาะ ฯลฯ) ชิ้นงานออกมาได้อย่างถูกต้องแม่นยำโดยไม่จำเป็นต้องผ่านสื่อกลางใด ๆ ซึ่งเช่นเดียวกันหลักการของเทคโนโลยีนี้สามารถประยุกต์ใช้ทั้งในสเกลของงานสถาปัตยกรรม และงานโปรดักท์ ซึ่งเห็นได้ชัดจากผลงานชุด The LIQUID GLACIAL Collection for David Gill Gallery ซึ่งเป็นชุดเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตโดยใช้เทคนิคการขุดเจาะอะคริลิค (Acrylic Milling) ซึ่งสร้างรูปทรง และลวดลายที่คล้ายกับระลอกคลื่นที่กำลังเคลื่อนไหวภายในแท่งน้ำแข็งที่หยุดนิ่ง สร้างความมลังเมลืองจากการหักเหของแสงที่ตกกระทบคลื่นที่อยู่ใต้พื้นผิว โดยแพทเทิร์น และวิธีการผลิตนี้ได้ถูกใช้กับงานออกแบบทั้งหมดในซีรีส์นี้ ให้มีรูปลักษณ์เหมือนกันแม้ว่าจะเป็นสิ่งของต่างชนิดกัน ไม่ว่าจะเป็น โต๊ะ, เก้าอี้, โต๊ะกลาง หรือ stool ส่วนในสเกลงานสถาปัตยกรรมนั้น ที่เห้นได้ชัดเจนคืองานผลิตชิ้นส่วนอาคารต่าง ๆ โดยเฉพาะ façade panel ที่กระบวนการผลิตในเทคโนโลยี digital fabrication นั้นได้สร้างความเป็นไปได้ใหม่ อย่างการสร้างขอบมุมที่แหลมคม หรือโค้งเรียบเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน และโดยเฉพาะการผลิตชิ้นส่วนที่ไม่เหมือนกันทีละมากๆ (Mass Customisation) เพราะความละเอียดของเครื่องมือ และการสื่อสารระหว่างคำสั่ง (Digital Model) กับผู้ผลิต (Machine) ที่แม่นยำ ซึ่งทำให้สื่อกลางที่เราใช้กันทั่วไปอย่าง “แบบ” หรือ drawing ทั้งแบบ 2 มิติ และ BIM นั้นหมดความจำเป็นไปโดยปริยาย
Heydar Aliyev Center ผลงานที่แสดงกระบวนการผลิต Façade Panel ด้วยเทคโนโลยี Digital Fabrication
นอกจากเรื่องกระบวนการออกแบบและการผลิตแล้ว จะเห็นได้ว่างานออกแบบผลิตภัณฑ์และแฟชั่นของ ZHA นั้นมีเส้นสายที่เลื่อนไหลเหมือนในงานสถาปัตยกรรมที่เราคุ้นเคย ซึ่งสร้างความคลุมเครือ (Ambiguity) ที่เกิดจากการใช้หลักการของการเปลี่ยนแปลงที่ต่อเนื่อง (Continuous Differentiation) ทั้งในเรื่องของรูปทรงและที่ว่าง โดยใช้ความต่อเนื่อง (Continuity) และการโอบล้อม (Enclosure) มา สร้างความคลุมเครือของทั้งรูปร่างและการใช้งานของสิ่งนั้น อย่างเช่นผลงาน CELESTE, Zaha Hadid x Swarovski สร้อยคอโลหะเงินที่มีเส้นสายดั่งผ้าที่พริ้วไหวและมีขนาดใหญ่ดั่งผ้าที่กำลังคลุมตัวอยู่ ซึ่งเกินไปจากความเป็นสร้อยคอธรรมดา สร้างความกำกวมว่าของชิ้นนี้กำลังทำหน้าที่เป็นอะไรกันแน่
หรือผลงาน Icone Bag for Louis Vuitton ที่กระเป๋า bucket bag สุดคลาสสิคของ Louis Vuitton ถูกตีความใหม่ โดยใช้รูปร่างที่โค้งมนเชื่อมต่อเนื่องกันจนแยกไม่ออกว่าตรงไหนเป็นกระเป๋าหรือหูหิ้ว และมีรูปทรงเป็นดั่งงานประติมากรรมหรือแจกันชิ้นหนึ่ง และในขณะที่ทั้งกระเป๋า และแจกันก็สามารถใส่ของได้เหมือนกัน สิ่งที่จำแนกของ 2 อย่างนี้ออกจากกันก็น่าจะเป็นความสามารถในการพกพาไปกับตัวซึ่งแสดงออกมาผ่านหูหิ้ว แต่ในขณะเดียวกันเมื่อหูหิ้วของ Icone Bag ถูกลดทอนความสำคัญลง และเชื่อมเป็นเนื้อเดียวกันกับกระเป๋า ทำให้ความเป็นกระเป๋าของมันก็ถูกตั้งคำถามเช่นเดียวกัน
ผลงานของ Zaha Hadid Architects แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเครื่องมือและวิธีการอย่างเดียวกันสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้หลากหลายประเภท เทคนิคหรือความคิดของการออกแบบในสเกลหนึ่งสามารถมาประยุกต์ใช้กับงานออกแบบในอีกสเกลหนึ่งได้อย่างไร้รอยต่อ และในปัจจุบันที่การออกแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ถูกสื่อสารผ่าน Code และถูกผลิตอย่างละเอียดผ่านระบบพิกัดจุด อีกทั้งเทคโนโลยีการออกแบบและก่อสร้างก็ได้รับการพัฒนามาจนถึงจุดที่ไม่ว่ารูปทรงจะซับซ้อนแค่ไหนก็ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป ถ้าอย่างนั้นแล้ว มันยิ่งน่าตื่นเต้นที่จะได้เห็นการพัฒนาศักยภาพของ parametric design และ digital fabrication ไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ ที่เครื่องมือกำลังจะมีความคิดและสามารถพัฒนาตนเองได้ผ่านเทคโนโลยี machine learning และ AI ที่น่าจะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต ซึ่งการพัฒนาเหล่านี้ แน่นอนว่ามี Zaha Hadid และทีมงานของเธอ เป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มสร้างสรรค์คนสำคัญ