KENGO KUMA & ASSOCIATES AND KAJIMA DESIGN CARVE THIS CULTURAL COMPLEX AS A MASSIVE GRANITE STRUCTURE
TEXT: NATHANICH CHAIDEE
PHOTO: FORWARD STROKE
(For English, press here)
แม้จะเป็นยุคที่เทคโนโลยีอยู่ในมือของผู้คน แต่หนังสือยังคงมีมนต์ขลังอยู่เสมอ เช่นเดียวกับผลงานล่าสุดของ Kengo Kuma & Associates ที่ร่วมมือกับ KAJIMA DESIGN บริษัทออกแบบ และก่อสร้างชั้นนำในการร่วมกันสร้างสรรค์ Kadokawa Culture Museum อาณาจักรของสำนักพิมพ์ Kadokawa หนึ่งในสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นที่ต้องการเชื่อมวัฒนธรรม และผู้คนโดยใช้หนังสือเป็นสื่อกลาง
สถาปัตยกรรมภายนอกที่ดูแข็งแกร่งเหมือนกับก้อนหินที่ตั้งตระหง่านอยู่ริมแม่น้ำฮิกะชิในกรุงไซตะมะ เกิดจากการแปลความบริบทของที่ตั้งบนที่ราบสูง Musashino ซึ่งเกิดจากการกัดกร่อนของแผ่นเปลือกโลก 4 ด้านรอบญี่ปุ่น และเกิดแมกมาผุดขึ้นระหว่างแผ่นเปลือกโลกที่แตกตัว ทั้งหมดนี้ถูกแปลความเป็นรูปทรงก้อนหิน วัสดุแกรนิต และงานอินทีเรียดีไซน์แบบฟิวเจอริสติก ภายใต้คอนเซ็ปต์เขาวงกตที่เชื่อมโยงระหว่างอดีต-ปัจจุบัน วัฒนธรรมเก่า-ใหม่ ของจริง-ของปลอม
ผืนผนังภายนอกทั้งหมดกรุด้วยหินแกรนิตจำนวนกว่า 20,000 ชิ้น ทำพื้นผิวพิเศษให้ขรุขระคล้ายธรรมชาติที่สุดด้วยการเลือกหินที่มีชื่อว่า Black Fantasy ซึ่งมีจุดเด่นที่มีจุดสีขาวแทรกอยู่ระหว่างพื้นผิวสีดำ นำหินที่ความหนา 7 เซนติเมตรมาทำให้แตก ตัดขอบให้เรียบ แล้วเรียงคละกันเพื่อให้ได้เท็กซ์เจอร์ และความเข้ม-สว่างที่ต่างกันไปทั้งอาคาร นี่เป็นความตั้งใจให้รายละเอียดเล็กๆ สร้างความเชื่อมโยงระหว่างความเป็นธรรมชาติ และการปรุงแต่ง
การจัดสรรพื้นที่ใช้สอยภายในอาคารสะท้อนแนวความคิดทั้งหมดโดยให้แกลเลอรี่เป็นศูนย์กลางด้านใน โอบล้อมด้วยพิพิธภัณฑ์ และห้องสมุดที่รวมพื้นที่จนเหมือนทำหน้าที่เดียวกัน รูปแบบของชั้นหนังสือเป็นตัวแบ่งพื้นที่การใช้งาน 2 แบบ คือ Book Street เหมือนกับถนนตามแนวยาวของอาคาร และ Bookshelf Theatre ห้องโถงกลางที่ล้อมรอบด้วยชั้นหนังสือแบบดับเบิ้ลวอลุ่มสูง 8 เมตร
ความน่าสนใจนอกจากการใช้ชั้นหนังสือสำหรับจัดสรรพื้นที่แล้ว ยังมีการออกแบบรายละเอียดส่วนเล็กน้อยเพื่อสร้างมิติทางการมองเห็นในภาพรวมที่สอดคล้องไปกับคอนเซ็ปต์ทางสถาปัตยกรรม เริ่มจากการออกแบบชั้นหนังสือให้มีความลึกที่แตกต่างกัน 3 ระดับ เพื่อรองรับการจัดวางหนังสือได้หลายรูปแบบ หรือจะเป็นการใช้ชั้นหนังสือกำหนดขอบเขตถนนโดยจงใจให้ดูเหมือนกับกระจัดกระจายทั่วบริเวณ ทั้งที่จริงแล้วมีการออกแบบแพทเทิร์นการจัดวางชั้นหนังสือถึง 6 แบบซ่อนอยู่ตลอดความยาว 85 เมตร
อาคารพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ นอกจากจะทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวสำนักพิมพ์อายุกว่า 75 ปีของ Kadokawa ผ่านทางบริบทของพื้นที่แล้ว ยังต้องการเชื่อมโยงชุมชนโดยรอบที่มีหน้าที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งส่วนพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่โรงงาน และสวนสาธารณะเข้าไว้ด้วยกัน โดยใช้การจัดการผังบริเวณที่เป็นมิตรกับผู้คนรวมกับฟังก์ชั่นของวัฒนธรรม เป็นสื่อกลางในการกระชับความสัมพันธ์ของชุมชนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน