CARDBOARD SLEEP CAPSULE

KOTOBUKI SEATING, THE COMPANY THAT MANUFACTURES CAPSULE BEDS FOR CAPSULE INN OSAKA, BRINGS BACK THE IDEA OF A CAPSULE ROOM BY INVITING ATELIER OPA TO DESIGN A ‘CARDBOARD SLEEP CAPSULE’ TO COPE WITH THE SITUATION OF COVID-19

TEXT: RATCHADAPORN HEMJINDA
PHOTO COURTESY OF ATELIER OPA

(For English, press here)

ย้อนกลับไปในยุค 70 สถาปนิก Kisho Kurokawa นำเสนอแนวคิดการออกแบบที่พักอาศัยที่ใช้พื้นที่เพียงไม่กี่ตารางเมตร ในการออกแบบอาคาร Nakagin Capsule Tower ที่ Tokyo (1972) และ Capsule Inn Osaka (1979) ทำให้โมเดลที่พักอาศัยในรูปแบบแคปซูล (capsule) กลายเป็นที่ยอมรับทั่วโลกในฐานะส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์สมัยใหม่ โมเดลห้องแคปซูลนี้ถูกนำไปใช้ในสถานีตำรวจ สถานีดับเพลิง เรือข้ามฝาก และสนามบิน รวมถึงในช่วงเวลาวิกฤติ เช่นเดียวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้

Kotobuki Seating บริษัทที่ผลิตเตียงแคปซูลให้กับ Capsule Inn Osaka ได้หยิบเอาไอเดียห้องแคปซูลกลับมาปัดฝุ่นอีกครั้ง เพื่อแก้ปัญหาการจัดการพื้นที่ภายในโรงพยาบาลสนาม ให้ผู้ป่วยโควิด-19 สามารถอยู่ในพื้นที่เดียวกันเป็นจำนวนมากๆ ได้ โดยได้ชวน ATELIER OPA สตูดิโอออกแบบที่เคยร่วมงานกับ Kisho Kurokawa และเป็นทีมนักออกแบบที่พัฒนาที่พักจากกระดาษสำหรับผู้ประสบภัยช่วงที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อปี 2011 มาร่วมออกแบบ “Cardboard Sleep Capsule” ห้องพักแคปซูลจากกระดาษแข็งภายใต้ข้อจำกัดในการใช้งานพื้นที่สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ปี 2020 ที่ผ่านมา

การออกแบบเริ่มต้นจากการนำ Uni-Pak ซึ่งเป็นกล่องกระดาษสำหรับใช้ขนส่งสินค้าที่ผลิตโดย Triwall Japan Co., Ltd. มาปรับการใช้งานใหม่ โดยนำกล่อง 2 ใบ มาประกอบเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งห้องนอนแคปซูลสำหรับ 1 คน ในขนาด 2 ตารางเมตร และเจาะช่องวงกลมขนาดใหญ่ด้านข้าง ที่นอกจากจะใช้เป็นประตูเข้า-ออกแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นหน้าต่างรับแสงและถ่ายเทอากาศอีกด้วย ถัดจากห้องนอนแคปซูลยังมีพื้นที่ใช้สอยขนาด 1.5 ตารางเมตรยื่นออกมาพร้อมกับมีผนังล้อมรอบ พื้นที่ส่วนนี้เป็นส่วนนั่งเล่นมีเฟอร์นิเจอร์ทั้งโต๊ะและเก้าอี้ที่ทำจากกระดาษเตรียมไว้ให้ เมื่อบวกรวมพื้นที่ห้องนอนและพื้นที่ด้านหน้าแล้ว Cardboard Sleep Capsule ใช้พื้นทีทั้งสิ้น 3.5 ตารางเมตร เท่านั้น และสิ่งที่ทำให้การใช้งานของ Cardboard Sleep Capsule ดูจะแตกต่างจากเตียงกระดาษในโรงพยาบาลสนามทั่วไป นั่นคือ ด้านบนของห้องแคปซูลนี้สามารถซ้อนกล่องขึ้นไปได้อีก 1 ชั้น โดยมีบันไดเสริมที่ทำจากกระดาษแปะติดกับผนัง เพื่อให้สามารถเดินขึ้นไปห้องชั้นบนได้ เรียกง่ายๆ ว่าเป็นการแชร์พื้นที่ร่วมกัน (แบบที่ไม่ต้องเจอกัน) โดยห้องชั้นล่างและชั้นบนจะหันหน้าออกคนละฝั่ง 

โปรโตไทป์ Cardboard Sleep Capsule ถูกนำไปใช้งานจริงในหลายๆ เมือง โดยทางเทศบาลจะเก็บสต็อกไว้ล่วงหน้า เพื่อที่จะสามารถนำมาประกอบใช้ได้ทันทีในโรงยิมเป็นกรณีฉุกเฉิน เสียงตอบรับจากผู้ใช้งานบอกไปในทางเดียวกันว่าพวกเขารู้สึกอบอุ่นและเป็นส่วนตัวเมื่อได้ใช้งาน เพราะห้องแคปซูลและกำแพงทำหน้าที่ปิดกั้นเสียง การมองเห็น รวมถึงกลิ่นจากภายนอก รวมทั้งพื้นที่นั่งเล่นก็เอาแล็ปท้อปมานั่งทำงานกันได้จริง เรียกได้ว่าเป็น ดีไซน์ที่เรียบง่าย ราคาถูก ก่อสร้างได้รวดเร็ว ตอบโจทย์สถานการณ์ปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

atelier-opa.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *