BRIAN CURTIN, AN ART ACADEMIC AND CRITIC, ADDS THAILAND’S CONTEMPORARY ART SCENE FROM THE LATE 20TH CENTURY TO THE PRESENT
TEXT: PRATARN TEERATADA
PHOTO COURTESY OF REAKTION BOOKS LTD
(For English, press here)
Brian Curtin
Reaktion Books Ltd, 2021
258 x 197 × 19 mm
176 pages
Hardback
ISBN 978-1-789-14293-8
ประเทศไทยไม่ค่อยมีหนังสือที่เกี่ยวกับการสำรวจวงการศิลปะร่วมสมัยของไทยเท่าไรนัก เท่าที่เห็นก็มีหนังสือ Modern Art in Thailand: Nineteenth and Twentieth Centuries ของ อภินันท์ โปษยานนท์ Thai Art: Currencies of the Contemporary ของ David Teh แล้วก็หนังสือรวม influencer ทางด้านวัฒนธรรมร่วมสมัยของไทยที่สถานฑูตฝรั่งเศสผลิตออกมาจำนวนจำกัดเมื่อปีที่แล้ว จนมาถึงเล่มนี้ Essential Desires: Contemporary Art in Thailand โดย Brian Curtin แห่ง CommDe faculty ร่วมกับ Reaktion Books UK นับเป็นเรื่องน่ายินดีมากที่มีการสำรวจต่อไปอีกจากของเดิมที่ยังไม่มีข้อมูลศิลปินร่วมสมัยของไทยช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
Brian Curtin เป็นนักวิชาการและนักวิจารณ์ศิลปะที่คลุกคลีอยู่ในวงการศิลปะร่วมสมัยของไทยมายาวนาน งานเขียนของเขาเล่มนี้เป็นการสำรวจวงการศิลปะร่วมสมัยไทยในรอบ 30 ปี ไบรอันเริ่มเขียนบทความนี้ตั้งแต่ปี 2014 เนื้อหาครอบคลุมเรื่องราวของศิลปิน ผลงาน และกรอบความคิดที่มีพื้นฐานมาจาก ผลกระทบของลัทธิบริโภคนิยมในกรุงเทพฯ ช่วงทศวรรษ 90s การสืบสานจิตวิญญาณของงานประเพณีไทย และความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในประเทศโดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับความรุนแรงทางการเมือง ศิลปินยุค 90s มากันครบครัน สุรสีห์ กุศลวงศ์ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช มณเฑียร บุญมา คามิน เลิศชัยประเสริฐ มานิต ศรีวานิชภูมิ พินรี สัณฑ์พิทักษ์ สาครินทร์ เครืออ่อน นที อุตฤทธิ์ นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ อารยา ราษฎร์จำเริญสุข และเบอร์ประมาณนี้อีกชุดใหญ่ พร้อมภาพผลงาน การเชื่อมโยงกับวงการศิลปะโลก ดำเนินคู่ไปกับหมุดหมายการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศไทย เนื้อหาเข้มข้น กระชับ เดินไปข้างหน้าต่อเนื่องไม่เวิ่นเว้อ จนมาถึงเจนล่าสุด ที่เต็มไปด้วย ความสด พลังของยุคสมัย ศิลปินอย่าง กรกฤต อรุณานนท์ชัย ศรชัย พงษ์ษา อรวรรณ อรุณรักษ์ วรพันธุ์ อินทรวรพัฒน์ ช่วงหลังเป็นการเติมเต็มสิ่งที่หนังสือก่อนหน้านี้ไม่ได้บันทึกเอาไว้ ศิลปินไทยยังชิงพื้นที่บนเวทีนานาชาติมาได้อย่างต่อเนื่อง โครงการดีๆ อย่าง Early Years Project ก็มีส่วนเปิดพื้นที่ให้คนหน้าใหม่ๆ เข้ามาแสดงความคิดทางศิลปะของพวกเขา มีคนสร้างงาน มีคนให้โอกาส มีคนบันทึกเรื่องราว แบบนี้สิโลกถึงได้หมุนไป ไม่มีตกหล่น คนรุ่นหลังๆ ได้มีแหล่งศึกษาทำความเข้าใจอารยธรรมของมนุษย์ในภูมิภาคนี้ได้ครบถ้วนไม่ต้องเสียเวลาไปค้นคว้าข้อมูลที่กระจัดกระจาย เพราะ ชีวิตสั้น ศิลปะเยอะแยะแถมยืนยาวอีกต่างหาก