CENTRAL AYUTTHAYA

Photo: W Workspace

Central Ayutthaya แลนด์มาร์คแห่งใหม่บนเมืองประวัติศาสตร์อย่างจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาพร้อมกับดีไซน์ในแนวคิด ‘Thai Twist’ ที่นำความเป็นไทยมาพลิกแพลงให้ดูร่วมสมัย

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO CREDIT AS NOTED

(For English, press here

Photo: W Workspace

คงไม่ต้องขยายความกันให้ยืดยาวถึงความสำคัญของอยุธยาในฐานะเมืองมรดกโลกและแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญเบอร์ต้นๆ ของไทย แม้อยุธยาจะเป็นจุดหมายปลายทางที่ใครๆ ก็ต้องมาอยู่แล้วสักครั้งนึง (บางคนอาจไม่ได้มาชมโบราณสถาน แต่เน้นมากินกุ้งแม่น้ำ) แต่ทาง Central มองว่าเมืองแห่งนี้ยังมีศักยภาพในการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปอีก จึงขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเมืองอยุธยา ด้วยการสร้างโครงการ Mixed-Use บนทำเลศูนย์กลางเศรษฐกิจใหม่ในอนาคตคือริมถนนสายเอเชีย ใกล้กับศูนย์ราชการภายในโครงการประกอบด้วยศูนย์การค้า Central Ayutthaya ในเฟสแรก และจะตามมาด้วยพิพิธภัณฑ์ ศูนย์การท่องเที่ยว คอนโดมิเนียม และโรงแรมในเฟสต่อไป Central วาดหวังว่า โครงการนี้จะช่วยเติมเต็มการท่องเที่ยว จากเดิมที่คนเคยมาอยุธยาแบบ one day trip กลายมาเป็นใช้ระยะเวลาที่นี่ยาวนานมากขึ้น แถมยังช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้คนในพื้นที่อีกเช่นกัน

Photo: Ketsiree Wongwan

สำหรับศูนย์การค้า Central Ayutthaya ทาง Central เชิญสตูดิโอออกแบบสถาปัตยกรรม onion ที่เคยฝากผลงานชิ้นโบว์แดงในอยุธยาอย่าง Sala Ayutthaya และบ้านป้อมเพชร (Baan Pomphet) ให้มาออกแบบ façade อาคาร 

ถึงเราจะได้รับมอบหมายให้ออกแบบ façade แต่เราสนใจมากกว่าการออกแบบสิ่งที่มาแปะผิวหน้า เราอยากสร้างสเปซที่เป็นการเปลี่ยนผ่านระหว่างภายในและภายนอกศิริยศ ชัยอำนวย สถาปนิกจาก onion เล่าถึงแนวคิดการออกแบบ façade โดยรวม

Photo: Ketsiree Wongwan

Photo: Ketsiree Wongwan

façade ด้านทิศตะวันออกที่หันออกไปหาถนนสายเอเชีย ได้รับการออกแบบเป็นซุ้มประตูสีขาวขนาดใหญ่ ที่มีซุ้มสีทองในขนาดลดหลั่นลงไปซ้อนทับอยู่ด้านใน และภายในซุ้มสีทองก็มีการลดหลั่นของขนาดและระยะขององค์ประกอบที่อยู่ข้างในอีกที ศิริยศกล่าวว่า เลเยอร์ของ façade ที่ลดหลั่นเป็นชั้นๆ เป็นการสร้างการเปลี่ยนผ่านจากพื้นที่ภายนอกอันกว้างใหญ่ สู่ภายในตัวห้าง

ส่วนหน้าตาของ façade อันเป็นเอกลักษณ์ ศิริยศเผยว่าเกิดจากการนำ module เส้นโค้งประกบคล้ายเส้นจอมแหที่พบได้ตามงานสถาปัตยกรรมไทย มาจัดเรียงและลดทอนตั้งแต่ขนาดใหญ่ที่สุด นั่นคือ module ใหญ่ของผืน façade สีขาว ไปจนถึง module ขนาดเล็กที่ซุ้มประตูด้านในสุด เทคนิคการย่อองค์ประกอบจากใหญ่ไปเล็กนี้ก็คล้ายกับเทคนิคการย่อมุมไม้ในงานสถาปัตยกรรมไทย ที่มีการแบ่งย่อยมุมไปเรื่อยๆ เพื่อลดความแข็งกระด้าง และเพิ่มมิติด้านแสงเงาให้กับตัวงาน

Photo: W Workspace

นอกจากนี้ onion ไม่ได้จบการดีไซน์อยู่ที่การย่อยขนาด module เหมือนการย่อมุมไม้เท่านั้น พวกเขายังนำ module ต่างๆ มาจัดเรียงให้มีระยะห่างลดหลั่นกันในแต่และแถวทั้งแนวตั้งและแนวนอน จนเกิดเป็นเส้นโค้งลวงตาซ้อนทับอีกที เป็นการต่อยอดภูมิปัญญาการออกแบบไทยเดิมให้เกิดสิ่งใหม่ๆ พร้อมตอบกับคอนเซ็ปต์ ‘Thai Twist’ คอนเซ็ปต์การดีไซน์ของห้างที่นำอัตลักษณ์ท้องถิ่นดั้งเดิม มาพลิกแพลงให้เกิดความร่วมสมัย

Photo: W Workspace

สำหรับผืน façade ใหญ่สีขาว onion เลือกใช้การหล่อผนังแบบ precast เพื่อช่วยให้ประหยัดงบก่อสร้าง ส่วนซุ้มประตูที่ลดหลั่นด้านใน สถาปนิกใช้แผ่นอลูมิเนียมชีทสีทอง เพื่อสื่อถึงแนวคิดความมั่งคั่ง ความโอ่อ่า ตามโจทย์ที่ Central ให้ไว้ ขณะเดียวกันก็มีการแซมสีเขียวศิลาดลบริเวณใต้ module เพื่อขับให้แต่ละ module ดูโดดเด่นออกมา

ด้านทิศเหนือของโครงการที่ติดใกล้กับศูนย์ราชการฯ ได้รับการออกแบบเป็นพื้นที่เชื่อมต่อนักท่องเที่ยวระหว่างโครงการกับตัวเมืองเก่าซึ่งประกอบด้วยลานพระนครกับตลาดย่ำค่ำ พื้นที่กิจกรรมและค้าขาย outdoor ที่เปิดโอกาสให้คนเดินเล่นได้ตลอดวัน และอาคารพิพิธภัณฑ์กับศูนย์การท่องเที่ยว ที่ onion รับหน้าที่ออกแบบอาคาร และจะทำการเปิดตัวในอนาคต

Photo: Ketsiree Wongwan

Photo: W Workspace

ส่วน façade ด้านทิศเหนือนี้ onion ออกแบบให้มีรูปหน้าจั่วและมีการโค้งเว้าโอบล้อมสเปซลานพระนครด้านหน้า ทำให้สเปซลานดูอบอุ่นและเป็นมิตรมากขึ้น วัสดุ façade เป็นอิฐสั่งหล่อพิเศษรูปครึ่งวงกลมที่ให้พื้นผิวเหมือนอย่างเครื่องจักรสานเมื่อมองจากไกลๆ อิฐเหล่านี้ยังมีความพิเศษตรงที่เป็นอิฐแบบโบราณที่ทำด้วยมือ ทำให้แต่ละก้อนมีลักษณะและพื้นผิวเฉพาะตัว ไม่เหมือนอิฐที่ผลิตโดยระบบอุตสาหกรรม

Photo: W Workspace

Photo: W Workspace

พื้นที่อีกส่วนที่ onion ออกแบบก็คือ ส่วน drop-off หลักของอาคาร ซึ่งใช้การผสมผสานองค์ประกอบของ façade ด้านติดถนนเอเชียและด้านทิศเหนือเข้ามาด้วยกัน โดยกำแพงและพื้นกรุด้วยอิฐแบบโบราณรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนฝ้าเพดานเกิดจากการนำ module แผ่นอลูมิเนียมชีทสีทองรูปเส้นโค้งมาเรียงต่อกันเป็นแถวยาว และถ้าลองก้มมองไปดูที่พื้นอีกครั้ง ก็จะพบกับกิมมิกของพื้นที่นี้ นั่นคือฝาท่อสีสันสวยงามกับลวดลายที่แสดงเอกลักษณ์ของอยุธยา อย่างเช่น ช้าง หรือปลาตะเพียนสาน เห็นแล้วอยากจะเอาติดกลับบ้านมาด้วย

Photo: Ketsiree Wongwan

Photo: Ketsiree Wongwan

คอนเซ็ปต์ ‘Thai Twist’ ไม่ได้ปรากฎให้เห็นเพียงแค่ façade ของอาคารเท่านั้น แต่ยังต่อเนื่องไปถึงงานออกแบบภายในของอาคารที่ออกแบบโดยพาโนราม่า เดคอร์ เช่นกัน ภายในละลานตาไปด้วยองค์ประกอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ข้าวของเครื่องใช้ งานหัตถกรรม หรือองค์ประกอบจากเรือนไทย ที่ช่วยสร้างบรรยากาศแบบไทยๆ ได้อย่างเต็มเปี่ยม ขณะเดียวกัน สเปซภายในก็ดูร่วมสมัยได้ด้วยการลดทอนองค์ประกอบงานตกแต่งให้เรียบง่าย และการพลิกแพลงใช้วัสดุใหม่ๆ

Photo: Ketsiree Wongwan

Photo: Ketsiree Wongwan

ซึ่งจากการตีความความเป็นไทยแบบใหม่ผ่านงานดีไซน์ที่อัดแน่นทั้งภายนอกและภายใน และวิสัยทัศน์ที่จะสร้างความคึกคักให้กับเมือง Central Ayutthaya จึงถือเป็นอีกแลนด์มาร์คใหม่ของอยุธยาที่น่าจับตามอง ถ้ามีโอกาสไปอยุธยา ก็ลองไปเช็คอินที่นี่กันได้ เผื่อจะได้ของฝากและรูปถ่ายติดไม้ติดมือเป็นที่ระลึก

Photo: W Workspace

facebook.com/onionwork

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *