ISAN CREATIVE FESTIVAL 2022

จาก ‘ขบวนแห่’ ที่บรรเลงด้วยแคนสู่ ‘รถแห่’ ที่มาพร้อมกับเครื่องเสียงสุดกระหึ่ม เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2565 – Isan Creative Festival 2022 ที่จัดขึ้นในจังหวัดขอนแก่น ภายใต้ธีมหลัก “ติง ลิ่ง ติง – Think Link Things” ชวนให้เราพิจารณาถึงเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมอีสานที่ปรากฏอยู่ในงานสร้างสรรค์ร่วมสมัย

TEXT: KITA THAPANAPHANNITIKUL
PHOTO COURTESY OF CEA KHON KAEN EXCEPT AS NOTED

(For English, press here

แม้จะผ่านพ้นไปหมาดๆ กับงานนิทรรศการ Bangkok design week 2022 ที่กรุงเทพฯ แต่ CEA ยังไปลุยต่อทันทีที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับงาน ‘เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2565’ (Isan Creative Festival 2022) ที่จังหวัดขอนแก่นภายใต้ธีมหลักของงานอย่าง ‘ติง ลิ่ง ติง’ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากคำสร้อยจากเพลงกล่อมเด็กในภาคอีสาน (ลักษณะเดียวกันกับคำว่า ‘ชะเอิงเอย’ ในเพลงลูกทุ่งหรือเพลงหมอลำ) และนำมาพ้องเสียงกับคำในภาษาอังกฤษอย่าง Think link Things ที่สะท้อนถึงการวิเคราะห์และเชื่อมโยงต้นทุนทางวัฒนธรรมของจังหวัดต่างๆ ในภาคอีสาน รวมไปถึงวัฒนธรรมที่อยู่เบื้องหลังภาพจำของภาพอีสานต่างๆ เช่น หมอลำ สิ่งทอ หรือแม้แต่สิ่งใกล้ตัวอย่างส้มตำปูปลาร้า และวัฒนธรรมดนตรีร่วมสมัยอย่าง รถแห่ วัฒนธรรมที่มีลักษณะจำเพาะอย่างความเป็นกันเองและสนุกสนานของภาคอีสานนี้ สร้างความท้าทายให้แก่ผู้จัดอย่าง CEA พร้อมทั้งตั้งคำถามสำคัญว่า ความสร้างสรรค์จะสามารถเกิดขึ้นควบคู่ไปกับพื้นที่อันรุ่มรวยไปด้วยวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างผืนแผ่นดินลุ่มแม่น้ำโขง ชี มูล แห่งนี้นี้ได้อย่างไร

Photo courtesy of CEA Khon Kaen

งานเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2565 นี้ จัดขึ้นหลักๆ บนย่านที่มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดสองย่านอย่างย่านกังสดาลและย่านศรีจันทร์ ด้วยพื้นที่ที่ติดกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำให้ย่านกังสดาลนั้นเป็นแหล่งใช้ชีวิตสำหรับวัยรุ่น นักศึกษา เป็นย่านที่มีพลวัตอีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของ TCDC ขอนแก่น ทำให้เป็นย่านที่เปี่ยมไปด้วยความสร้างสรรค์และการพัฒนา

นิทรรศการที่จัดขึ้นในย่านกังสดาลนี้มีภาพรวมเป็นการนำเทคโนโลยีและวิธีการใหม่ๆ มาควบรวมกับวัฒนธรรมอีสานเดิม โดยมีนิทรรศการที่เป็นไฮไลท์คือ นิทรรศการจัดแสดงผ้าไทย ‘Thai Swag: จ๊าบดี’ โดยอมตะ จิตตะเสนีย์ หรือแพรี่พาย Influencer ชื่อดังที่นำเสนอผ้าไทยใหม่ที่มีความเป็นแฟชั่นสตรีทอันเป็นความชอบส่วนตัวของผู้ออกแบบ ไม่ว่าจะเป็น ผ้าซิ่นตีนแดงจากจังหวัดบุรีรัมย์ที่ถูกนำมาตัดเป็นกางเกงขาม้าจับคู่กับรองเท้าบูทและเสื้อโค้ทสีดำ หรือสูทสีเทาจากกลุ่มทอผ้าบ้านหัวฝายที่จับคู่กับกระโปรงสีเมลทัลลิก อันเป็นการนำเสนอวิธีการเพิ่มมูลค่าของผ้าไทยในตลาดใหม่ๆ ในแบบที่ใช้ได้จริง สอดแทรกผ้าไทยเข้าสิ่งของต่างวัฒนธรรมอย่าง รองเท้าผ้าใบ หมวกเบเร่ต์ ฯลฯ ได้อย่างกลมกลืน รวมไปถึงนิทรรศการ มักหมัก – Isan Flavor Library โดยทีม Mah Noi Food lab ที่พลิกมุมมองที่มีต่ออาหารอย่าง ‘ปลาร้า’ และอาหารหมักดองอื่นๆ ที่มักถูกมองว่าไม่ถูกสุขลักษณะโดยมองข้ามถึงรสชาติที่ซับซ้อนที่เกิดขึ้นจากกระบวนการหมักดอง ทีม Mah Noi Food lab นำโดยเชฟหนุ่ม วีระวัฒน์ ตริยเสนวรรธน์ และเชฟ Curtis Hetland ได้ทดลองนำวัตถุดิบและวิธีการแบบท้องถิ่นมาลองประยุกต์ใช้ให้เกิดรสชาติใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น ตั๊กแตนร้า กิมจิดอกแค หรือแม้แต่ไส้กรอกอีสานแบบสเปนรมควัน ทั้งสองนิทรรศการนี้สะท้อนให้เห็นถึงการนำวัฒนธรรมของภาคอีสานเข้าผนวกกับวิธีการนำเสนอในโลกสมัยใหม่ ทำให้ชุดเดรสจากผ้าชีฟองและผ้าซิ่นตีนแดงเป็นเรื่องเดียวกัน และไส้กรอกอีสานนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับไส้กรอกบราทเวิร์สจากประเทศเยอรมนี กล่าวคือ เป็นวัฒนธรรมที่ดำรงอยู่ในโลกสมัยใหม่ได้อย่างไม่เคอะเขินนั่นเอง

Thai swag l Photo: Kita Thapanaphannitikul

Isan Flavour Library l Photo: Kita Thapanaphannitikul

อีกภาคส่วนของนิทรรศการอย่างย่านศรีจันทร์นั้นมีความแตกต่างจากย่านกังสดาลอย่างเห็นได้ชัด ด้วยบริบทพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของประตูเมือง ศาลหลักเมือง อาคารเก่าต่างๆ ทำให้ย่านศรีจันทร์นั้นมีความเป็นย่านประวัติศาสตร์ที่มีรายล้อมไปด้วยเรื่องราวจากอดีต โดยนิทรรศการที่เป็นไฮไลท์ต่างๆ นั้นจัดขึ้นในพื้นที่ของสถานีขนส่งปรับอากาศ จังหวัดขอนแก่น ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการ Made in Srichan 2 ที่เป็นการร่วมมือระหว่างนักออกแบบและกลุ่มผู้ประกอบการในชุมชนเดิมเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ โดยที่ยังคงความเป็นย่าน ‘ศรีจันทร์’ ไว้อยู่ เช่น การร่วมออกแบบบรรจุภัณฑ์และฉลากให้กับร้านน้ำเต้าหู้ 100 ปี  การออกแบบเมนูให้กับร้านอาคารครัวหยก ฯลฯ โดยติดๆ กันนั้น นิทรรศการ ‘เล่นแร่ แปรผ้า’ ก็นำเสนอสิ่งทออีสานผ่านเทคโนโลยีและการออกแบบ ทั้งวัสดุจากเส้นใยอลูมิเนียม หรือการเล่นกับวัสดุรีไซเคิล เพื่อหาวิธีการพัฒนาสิ่งทอไปพร้อมๆ กับการใช้วิทยาศาสตร์โดยไม่ทิ้งเนื้อหาหลักอย่างความยั่งยืน พร้อมทั้งเปิดพื้นที่ student showcase ในฝั่งตรงข้ามเพื่อให้นักเรียน นักศึกษา และนักสร้างสรรค์ทั่วอีสานได้ส่งผลงานออกมาจัดแสดง

Made in Srichan 2 l photo courtesy of CEA Khon Kaen

House of Fabric-Ation l photo courtesy of CEA Khon Kaen

House of Fabric-Ation l Photo: Kita Thapanaphannitikul

ใกล้เคียงกันนั้น พื้นที่ art space อย่าง 1502 Srichan Creative Sharing Space ก็ได้จัดนิทรรศการ ‘สกลจังซั่น l SAKON Junction’ ที่นำเสนอความสร้างสรรค์ของจังหวัดสกลนครผ่านทั้งการจัดแสดงผลงานศิลปะ อาหารแบบ chef table เวิร์คชอปการต่อผ้า หรือการตีความศิลปะในรูปแบบที่ไม่คุ้นชินอย่างการดริปกาแฟ ควบคู่ไปกับนิทรรศการ Isan, Our Home(town) ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของ ‘บ้านเฮา’ อย่างเมืองสกลนครและนครราชสีมา ที่กำลังก้าวสู่การเป็นเมืองแห่ง ‘พื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์’

SAKON JUNCTION l Photo: Kita Thapanaphannitikul

SAKON JUNCTION l Photo: Kita Thapanaphannitikul

หลังจากตะวันตกดิน เราสามารถรับชมงานนิทรรศการ ‘ฉายฮูป หน้าฮ้าน กลางย่านศรีจันทร์’ ที่นำเสนอทั้งเเสง สี เสียง อันถ่ายทอดเรื่องราวของ ความเชื่อ วัฒนธรรม ภูติผี และเรื่องเล่า คล้ายคลึงกับ ‘ฮูปแต้ม’ ที่เป็นภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังของภาคอีสาน หากแต่อยู่ในรูปแบบของ Projection mapping บนอาคารเก่าแก่ในย่านศรีจันทร์อย่างโรงแรมสวัสดีโฮเต็ล พร้อมกันนั้นบนถนน วงดนตรีหมอลำร่วมสมัยก็ได้จัดแสดงไปพร้อมๆ กัน สร้างบรรยากาศราวกับอยู่ในฟรีคอนเสิร์ตสักแห่งที่มี Visual effect ที่ประกอบควบคู่กันไปเบื้องหลัง

Projection mapping l Photo: Kita Thapanaphannitikul

Projection mapping l Photo: Kita Thapanaphannitikul

Projection mapping l Photo: Kita Thapanaphannitikul

แน่นอนว่าเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2565 (Isan Creative Festival 2022) นั้นไม่ได้มีเพียงเท่านี้ มีนิทรรศการอีกมากที่น่าสนใจแต่ไม่ได้กล่าวถึง เช่น นิทรรศการขนส่งสาธารณะเชื่อมเมือง ที่จัดแสดงรถไฟฟ้ารางเบาที่กำลังจะนำมาวิ่งจริงในอนาคต นิทรรศการฟิวเจอร์พาราไดซ์ ที่จัดแสดงโดย Design and Objects Association (D&O) ตลาดดีคั่ก กิจกรรมเยี่ยมชมบ้านหมอลำ และนิทรรศการย่อยอีกมากมายให้ทุกคนไม้เว้นแต่ชาวขอนแก่นได้ร่วมสนุกไปกับความสร้างสรรค์ที่นำมาจัดแสดง

D-Kak Market l Photo: Kita Thapanaphannitikul

ความโดดเด่นของเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2565 – Isan Creative Festival 2022 นั้นอยู่ที่การจัดการกับต้นทุนทางวัฒนธรรมที่หลากหลายและโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ ความบันเทิง อาหาร งานหัตถกรรม ด้วยพื้นที่อีสานที่มีพื้นที่นับเป็นจำนวน 1 ใน 3 ของประเทศไทย วัฒนธรรมในภาคอีสานจึงมีความละเอียดและแยกย่อยกันไปตามแต่ละจังหวัด โจทย์ที่นักออกแบบและนักสร้างสรรค์ทุกคนจะได้เจอคงหนีไม่พ้นการสร้างความร่วมสมัยผ่านการออกแบบโดยที่ยังไม่ทิ้งเอกลักษณ์ของแต่ละวัฒนธรรมย่อย เมื่อสังเกตดู ผ้าของสุรินทร์และผ้าของสกลนครย่อมแตกต่างกันในรายละเอียด พร้อมทั้งยังต้องคำนึงถึงการใช้งานกับผู้คนในอีสานจริงๆ หากพิจารณาในกรณีของหมอลำ ความสำเร็จของนิทรรศการนี้คงไม่ใช่การพัฒนาดนตรีให้ล้ำสมัยจนผู้ชมงง หากแต่เป็นวงหมอลำที่มีความร่วมสมัยและชาวบ้านที่ฟังยัง ‘ม่วน’ ได้อยู่นั่นเอง

Photo: Kita Thapanaphannitikul

Isancreativefestival.com/isancf2022
Facebook.com/isancreativefestival

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *