ผนังผ้าม่าน บันไดเหล็กที่สามารถเลื่อนไปมาได้ สีสันที่โดดเด่น และการจัดวางองค์ประกอบราวกับงานกราฟิคดีไซน์ คือส่วนประกอบส่วนหนึ่งในผลงาน Design Unit Studio ที่ STA Architect สร้างสรรค์ เพื่อตอบสนองต่อการใช้งานที่เป็นอิสระ และสะท้อนตัวตนของผู้ใช้งานผ่านสถาปัตยกรรม
TEXT: KITA THAPANAPHANNITIKUL
PHOTO: NAPAT PATTRAYANOND
(For English, press here)
หากดูเผินๆ ประตูเหล็กม้วนที่ปิดอยู่อาจทำให้เรานึกถึงลักษณะของอาคารแบบตึกแถวที่เห็นได้อย่างชินตาในกรุงเทพฯ แต่ภายในประตูเหล็กม้วนที่แนบเนียนไปกับบริบทนี้ อัศรินทร์ สงวนวงศ์วาน และ เพทรา ทิคูลิน แห่ง STA Architect ได้รีโนเวทพื้นที่ตึกแถวหนึ่งชั้นสองคูหาของเพื่อนสนิทอย่าง นุภาพ อัญญานุภาพ ให้กลายเป็นออฟฟิศของสตูดิโอกราฟิกของ Design Unit Studio พร้อมทั้งเผยแง่มุมอันหลากหลายของโปรเจ็คต์นี้ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานอาคารที่ยืดหยุ่น การพลิกแพลงวัสดุ รวมไปถึงบทบาทของสถาปัตยกรรมในฐานะเครื่องมือในการ ‘สื่อสาร’ ตัวตนของผู้ใช้งาน
เมื่อมองจากด้านนอก สิ่งแรกที่เราเห็นนั้นคือ façade กระจกที่มีการจัด composition ให้แตกต่างจากกระจกทั่วไป (อันชวนให้นึกถึงงานศิลปะแบบ abstract ของศิลปินอย่าง Pete Mondrian) และเมื่อก้าวเข้ามาด้านใน องค์ประกอบต่างๆ ทั้งพื้น ผนัง เฟอร์นิเจอร์รวมไปถึงสิ่งของต่างๆล้วนมีเส้นสายที่ชัดเจน และในขณะเดียวกันก็กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันในลักษณะคล้ายกับงานกราฟิก รวมทั้งมีสีที่โดดเด่นเป็นสีเขียวมินท์และสีส้ม (อันมีที่มาจากสีของราวจับของรถไฟฟ้าใต้ดินในมิลานที่เกิดจากความชอบส่วนตัวของผู้ออกแบบและนุภาพผู้เป็นเจ้าของสตูดิโอ) องค์ประกอบในอาคารที่มีลักษณะเป็น จุด เส้น ระนาบ เหล่านี้สะท้อนถึงงานกราฟิกดีไซน์ที่เป็นธุรกิจของสตูดิโออย่างเห็นได้ชัด
ในแง่การใช้งาน สตูดิโอแห่งนี้ถูกออกแบบให้มีการใช้งานที่ยืดหยุ่น ด้วยแนวคิดที่พลิกภาพของที่ทำงานทั่วๆ โดยการเชื่อมต่อพื้นที่ทั้งหมดเข้าด้วยกัน ทั้งพื้นที่ทำงานที่เป็นโต๊ะยาวที่ใช้งานร่วมกันทุกคน ห้องประชุมที่เป็นบ้านเฟี้ยม รวมถึงส่วนพื้นที่จัดแสดงงานที่เป็น double space เชื่อมต่อไปยังชั้นลอย โดยมีองค์ประกอบที่โดดเด่นและคาดไม่ถึงในการแบ่งพื้นที่อย่าง ‘ผ้าม่าน’ ที่ห้อยอยู่ทั้งชั้นล่างและชั้นลอย โดยผ้าม่านนั้นถูกแบ่งออกเป็นส่วนๆ เพื่อความอิสระในการแบ่งพื้นที่และการใช้งาน ตัวผ้าม่านนี้เองยังเป็นเหตุผลให้ชั้นลอยและที่ว่างในพื้นที่จัดนิทรรศการมีลักษณะเป็นเส้นโค้งเพื่อให้ล้อกับรางม่านไปด้วยในตัว การเชื่อมต่อพื้นที่ทั้งหมดเข้าด้วยกันนี้สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงานพร้อมทั้งการใช้งานที่เต็มประสิทธิภาพไปพร้อมๆ กัน ซึ่งนุภาพผู้เป็นเจ้าของยังพูดติดตลกว่า โต๊ะทำงานยาวนี้นอกจากจะใช้ทำงานได้ดีแล้ว ก็ยังสามารถใช้สังสรรค์ได้ดีเช่นเดียวกัน
ความยืดหยุ่นในการใช้งานนั้นไม่ได้ปรากฏเพียงแค่ในตัวผ้าม่านเท่านั้น องค์ประกอบอย่าง ‘บันได’ ก็ได้ถูกแยกส่วนและได้รับการออกแบบให้เป็นอิสระจากโครงสร้าง บันไดเหล็กขึ้นสู่ชั้นลอยนั้นถูกออกแบบให้มีล้อเลื่อนพร้อมทั้งมีโครงสร้างในตัวเองที่ทำให้บันไดนี้สามารถขยับได้อย่างอิสระในพื้นที่ double space ตรงกลาง และรองรับการใช้งานทั้งการเป็นบันไดขึ้นสู่ชั้นลอยและการเป็นนั่งร้านเพื่อใช้สำหรับติดตั้งผลงานบนกำแพงที่ทั้งกว้างและสูง เป็นการพลิกแพลงองค์ประกอบที่เราคุ้นเคยในรูปแบบที่แตกต่างและตอบสนองต่อการต้องการใช้พื้นที่ที่ลงตัว
เมื่อมองในภาพรวม เราจะพบว่าสตูดิโอแห่งนี้มีเหล็กเป็นวัสดุหลักในองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้าง ราวกันตก พื้น ประตู และอื่นๆ ซึ่งเกิดมาจากการกระบวนการก่อสร้างที่รับผิดชอบโดยผู้รับเหมาเพียงเจ้าเดียวในโครงการ ทั้งนี้การที่มีผู้รับเหมาเพียงหนึ่งเจ้านั้นเกิดจากการที่ผู้ออกแบบทั้งสองคนอยู่ที่มิลานในช่วงเวลาที่โครงการกำลังก่อสร้างอยู่ ทำให้ไม่สามารถมาควบคุมดูแลหน้างานได้ด้วยตัวเอง จึงแก้ปัญหาโดยให้มีผู้รับเหมาเพียงหนึ่งเจ้าเพื่อลดความยุ่งยากในกระบวนการทำงานและ ซึ่งการตัดสินใจใช้วัสดุเดียวกันในองค์ประกอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประตู บันไดหรือแม้แต่ผนังกับโต๊ะทำงาน ได้สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในพื้นที่ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ภาพรวมขององค์ประกอบอาคารที่แสดงออกถึงงานกราฟิกที่สะท้อนความชอบของเจ้าของ ประกอบกับการพลิกแพลงองค์ประกอบต่างๆ อย่างการนำผ้าม่านมาเป็นผนังหรือบันไดที่เป็นอิสระ รวมทั้งการใช้เหล็กเป็นองค์ประกอบหลักที่เรียบเรียงองค์ประกอบทั้งหมดให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทำให้ Design Studio Unit แห่งนี้ทำหน้าที่ ‘สื่อสาร’ ถึงตัวตนของเจ้าของโครงการและผู้ออกแบบ ผ่านความคิดและกระบวนการออกแบบได้อย่างเป็นรูปธรรม ชวนให้เราคิดต่อไปว่า ถ้าเรามีบ้านและสตูดิโอที่สื่อสารถึงความเป็นตัวเราได้บ้าง มันจะเป็นอย่างไร น่าสนุกดีเหมือนกัน