UNIQUELY THAI

ไปดูกันถึงที่มาของโครงการประกวดแบบ ‘Uniquely Thai’ โดยบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) และสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (CDAST) พร้อมทั้งชวนให้ทุกคนไปหาคำตอบกันว่า ภาพของ Civic Center ในอนาคตผ่านสายตาของดีไซเนอร์รุ่นใหม่นั้นเป็นอย่างไร

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: WORARAT PATUMNAKUL EXCEPT AS NOTED

(For English, press here

พื้นที่สาธารณะที่เปิดกว้างสำหรับคนหลากกลุ่ม เข้าถึงง่าย ดูจะมีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ยเสียเหลือเกินในกรุงเทพฯ ทั้งๆ ที่พื้นที่เหล่านี้ มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเมืองให้เป็นสถานที่ที่น่าอยู่และเต็มไปด้วยชีวิตชีวา

เพราะการขาดแคลนพื้นที่สาธารณะเป็นปัญหาที่สำคัญ Magnolia Quality Development Corporation หรือ MQDC พร้อมกับ สภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ CDAST จึงเกิดไอเดียจัดงานประกวดแบบในชื่อ “Uniquely Thai” Envisioning the 21st Century Bangkok’s Civic Center Architectural Design Competition 2021 เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มาเสนอไอเดีย Civic Center ในอนาคตที่รองรับการใช้งานจากผู้คนทุกเพศทุกวัย และยังเป็นจุดหมายที่เผยแพร่ความเป็นไทยให้ทุกคนได้รับรู้

มาทำความรู้จักกับโครงการนี้เพิ่มเติมกันว่ามีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร และมาดูกันว่า ดีไซเนอร์รุ่นใหม่มองภาพ Civic center ในอนาคตว่ามีหน้าตาเป็นอย่างไร

กว่าจะเป็นโครงการ “Uniquely Thai”

“ภารุต เพ็ญพายัพ” ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างสรรค์โครงการอาวุโส ครีเอทีฟ แล็บ (Creative Lab) จาก MQDC ผู้ร่วมปลุกปั้นโครงการและเป็นหนึ่งในคณะกรรมการการตัดสินการประกวด เล่าถึงที่มาของการประกวดแบบครั้งนี้ให้เราฟัง

Parut Penpayap

“จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ มาจากคำถามใหญ่ของ MQDC ว่าในอนาคตเราจะใช้ชีวิตกันอย่างไร และประเด็นที่เราสนใจก็คือ ที่ที่ผู้คนจะเจอกันในอนาคตจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ในเวลาเดียวกัน เราก็อยากรู้ด้วยว่าเอกลักษณ์ใหม่ๆ ของไทยคืออะไร และจะถ่ายทอดออกมาในงานออกแบบอย่างไรได้บ้าง”

Parut Penpayap

ถึงจะขึ้นชื่อว่าเป็นโครงการประกวดแบบ แต่โครงการนี้ก็ไม่ได้มีแค่การแข่งขันไอเดียเพียงอย่างเดียว เพราะยังมีเลกเชอร์จากดีไซเนอร์ชั้นนำระดับโลก เช่น Toby Blunt ผู้ดำรงตำแหน่ง Senior Partner & Deputy Head of Studio จากสตูดิโอ Foster + Partners หรือ Kenichi Noguchi, Chief Architect จาก Misubishi Jisho Sekkei (MJS) ที่ให้ความรู้เรื่องการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ พร้อมด้วยวิทยากรท่านอื่นๆ ที่เปิดแง่มุมของความเป็นไทย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้แนวคิดไปต่อยอดงานดีไซน์ของตัวเองอีกด้วย

Toby Blunt กล่าวเสริม “ความท้าทายที่สำคัญในการออกแบบพื้นที่สาธารณะในศตวรรษที่ 21 คือการพิจารณาสภาพแวดล้อมในเมืองที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา พื้นที่สาธารณะคือกาวที่ยึดเมืองไว้ด้วยกัน เป็นช่องว่างระหว่างอาคารต่างๆ – ถนน ตรอกซอกซอย จัตุรัส และสวนสาธารณะ เมื่อเมืองต่างๆ หนาแน่นขึ้นและมีประชากรมากขึ้น นี่คือพื้นที่ที่เราต้องปกป้องและปรับปรุง”

Toby Blunt

“ผมประทับใจโครงการนี้ที่มี Lecture Series ให้ได้แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน มันไม่ใช่แค่การโยนโจทย์ไป แต่เป็นการเอาข้อมูลไปต่อยอดด้วย และคนที่มาบรรยายก็ได้แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันด้วย” อาจารย์สิงห์ อินทรชูโต คณะกรรมการตัดสินการประกวด และหนึ่งในผู้ร่วมบรรยาย เล่าเสริมถึงความประทับใจในกิจกรรม

Singh Intrachooto

“ผลงานของผู้เข้าแข่งขันทุกทีมสร้างความประทับใจให้ผมเป็นอย่างมาก แต่ละทีมเตรียมการนำเสนอมาอย่างดี ความคิดมากมายที่น้อง ๆ นักศึกษานำเสนอสามารถนำไปใช้โดยตรงในผลงานระดับมืออาชีพ

เมื่อเราแสดงความเป็นไทย สำหรับภาษาไทยต้องแปลเป็นภาษาที่คนทั่วโลกเข้าใจ ต้องแปลงร่าง นามธรรมให้อยู่ในรูปที่มีค่าสากลด้วย สถาปัตยกรรมที่ดีมักถูกแปลเป็นภาษาท้องถิ่นอยู่เสมอ และในขณะเดียวกันก็มีคุณค่าที่เป็นสากลเช่นกัน” Kenichi Noguchi กล่าว

Kenichi Noguchi

ไม่เพียงเท่านั้น โครงการยังจับมือกับภาคการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยด้วยการผนวกการประกวดแบบเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชั้นเรียน ทำให้นักศึกษามีเวลาในการพัฒนาผลงาน พร้อมได้ความรู้จากโครงการไปแบบเต็มอิ่ม และสำหรับอาจารย์อันธิกา สวัสดิ์ศรี ประธานสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย และคณะกรรมการตัดสินการประกวด โครงการนี้ก็เป็นอีกโมเดลการสร้างดีไซเนอร์รุ่นใหม่ที่น่าสนใจอีกเช่นกัน

“ภาคการศึกษาจะมีจุดแข็งด้านวิชาการ มีความลึกของข้อมูล แต่บางทีภาคการศึกษาก็จะตามโจทย์ที่เกิดขึ้นในสังคมไม่ทัน การประกวดแบบครั้งนี้ที่ได้ภาคผู้ประกอบการมาผนวกกับภาคการศึกษาเลยช่วยให้ภาคการศึกษาได้อัพเดตโจทย์ใหม่ๆ และได้ความรู้ใหม่ๆ จากการบรรยายของผู้เชี่ยวชาญระดับโลก แต่ภาคผู้ประกอบการก็ได้ประโยชน์จากองค์ความรู้วิชาการของภาคการศึกษาเช่นกัน” อาจารย์อันธิกา สวัสดิ์ศรี กล่าว

Antika Sawadsri

จากผลงานของนักศึกษาและนักออกแบบรุ่นใหม่กว่า 449 ทีม โครงการก็ได้ทำการคัดเลือกผลงานอย่างเข้มข้น จนได้ผู้ชนะในระดับนักศึกษา ได้แก่ มนัสนันท์ เดชะสุวรรณ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กับผลงานที่ได้แรงบันดาลใจจากความเหลื่อมล้ำในสังคม และ สิปปวิชญ์ รู้อยู่ และฑิมพิกา เวชปัญญา ผู้ชนะระดับบุคคลทั่วไปที่หยิบแนวคิดล้ำๆ อย่าง metaverse และคติความเชื่อแบบไทย มาผสมผสานลงใน civic center

Manutsanan Dechasuwan

Timpika Wetpanya (Left) ,Sippawich Rouyoo (RIght)

Civic center ที่ตอบเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคม

“จุดเริ่มต้นของผลงาน มาจากการเห็นความเหลื่อมล้ำในสังคม” มนัสนันท์ เดชะสุวรรณ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทนิสิตนักศึกษา ว่า “เราไปห้างแล้วเจอคนจากต่างจังหวัดหาบของมาขาย ก็เลยชุกคิดว่า ถึงเขาพยายาม แต่ทำไมเขาไม่ได้โอกาสในชีวิตบ้าง ทำไมคนเราไม่เท่ากัน เลยอยากออกแบบอาคารที่จะช่วยตอบปัญหาตรงนี้”

จากปัญหาที่เห็น มนัสนันท์ เลยจัดวางให้ Civic center มีกิจกรรมภายในที่ช่วยต่อยอดอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนตาดำๆ ทั้งพื้นที่การเรียนรู้สำหรับเยาวชน พื้นที่พัฒนาอาชีพและรองรับกิจกรรมทางวัฒนธรรม และพื้นที่พักผ่อนส่งเสริมสุขภาวะที่ดี มนัสนันท์ยังวางอาคารให้เป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างพื้นที่สีเขียว ขนส่งสาธารณะ และย่านธุรกิจตามที่โจทย์ให้ไว้ เพื่อเชื่อมต่อคนจากภาคส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน และผนวกอาคารให้เป็นหนึ่งเดียวกับโครงข่ายของเมือง

Civic Center (Manutsanan Dechasuwan) l Photo: Manutsanan Dechasuwan

เพื่อถ่ายทอดความเป็นไทยออกมาผ่านอาคาร มนัสนันท์จึงนำมิติแสงเงาที่เกิดขึ้นสถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่นมาใช้ในงานออกแบบ นอกจากนี้ยังนำเส้นสายอันอ่อนช้อยที่พบเจอในงานสถาปัตยกรรมไทยและงานหัตถกรรมมาดัดแปลงใส่ผลงาน เพื่อชูอัตลักษณ์แบบไทยๆ ให้กับ civic center อีกเช่นกัน

“เราพยายามหามิติความเป็นไทยที่ไม่ใช่แค่การแปะจั่ว ไม่ใช่สิ่งที่เป็นรูปธรรมเข้ามาใส่ เลยเอาเรื่อง sequence of lighting ในงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นไทย มาใส่ในผลงาน โดยดัดแปลงให้สอดคล้องกับกิจกรรมข้างในที่เกิดขึ้น และก็นำเส้นสายอ่อนช้อยที่เป็นเอกลักษณ์ของงานสถาปัตยกรรมและหัตถกรรมไทย มาใช้กับดีไซน์อาคาร”

Civic Center (Manutsanan Dechasuwan)

Civic center ที่ผนวก metaverse เพื่อสร้างสวรรค์สำหรับทุกคน ไม่ใช่แค่ของใครคนใดคนหนึ่ง

ตามคติแบบไทยเดิม สวรรค์จะเป็นพื้นที่ให้กับเทพเทวดาได้เสวยสุข แต่มันก็หมายความว่า จะมีเพียงคนไม่กี่กลุ่มเท่านั้น ที่มีอภิสิทธิ์ได้ลิ้มรสชาติของความเปี่ยมสุข จากจุดนี้เอง ทำให้ สิปปวิชญ์ รู้อยู่ และฑิมพิกา เวชปัญญา ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทบุคคลทั่วไป ออกแบบ civic center ที่เปิดโอกาสให้คนธรรมดาๆ ได้พัฒนาศักยภาพ และได้อวตารไปสู่โลก metaverse อันเหนือจินตนาการ เหมือนกับเทวดาที่สามารถอวตารไปสู่สวรรค์

Timpika Wetpanya (Left) ,Sippawich Rouyoo (RIght)

“พอเราได้โจทย์ เราก็มองเป้าหมายว่าอยากให้พื้นที่พัฒนาอะไรกับเมืองได้บ้าง เราเลยตั้ง vision ให้กับโครงการว่า limitless นั่นคือการช่วยให้เมืองและผู้คนทะลุศักยภาพของตัวเองในสี่ด้านด้วยกันก็คือ culture economic technology และ environment” สิปปวิชญ์ และฑิมพิกา กล่าว

“เราอยากให้พื้นที่นี้ช่วยส่งออกวัฒนธรรมของไทย และเป็นศูนย์สำหรับสร้างวัฒนธรรมใหม่ๆ ด้วย นอกจากใน civic center ของเราจะมีพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ แล้ว เรายังมีพื้นที่แสดงเทคโนโลยี metaverse ให้คนทั่วไปไม่ว่าใครก็ตาม ได้มีโอกาสสัมผัส เทคโนโลยีนี้ เพื่อต่อยอดโอกาสให้ตัวเอง และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจในอนาคต”

สิ่งแวดล้อมก็เป็นประเด็นที่สิปปวิชญ์ และฑิมพิกา ให้ความสำคัญไม่แพ้กัน เห็นได้จากรายละเอียดการออกแบบที่พวกเขาใส่ลงไปในผลงาน

“เพราะกรุงเทพฯ กำลังเผชิญปัญหา climate change เราเลยวางพื้นที่ civic center ให้เป็นพื้นที่รับน้ำของเมือง เรายกอาคารลอยขึ้นและให้พื้นที่ด้านล่างเป็นพื้นที่หน่วงน้ำที่น้ำสามารถไหลท่วมเข้าได้ ก่อนจะปล่อยน้ำออกภายหลัง พื้นที่อาคารด้านบนก็ถูกออกแบบให้รับน้ำฝนไว้ใช้งานจากรางน้ำเหมือนกัน”

Civic Center Diagram (Timpika Wetpanya and Sippawich Rouyoo) l Photo: Timpika Wetpanya and Sippawich Rouyoo

“พื้นที่ด้านล่างเรายังนำดินจากการขุดบ่อมาออกแบบเป็นเขาเล็กๆ สร้าง space สำหรับการทำกิจกรรม และจากตัวอาคารที่ยกขึ้นสูงด้านบน ก็ยังทำให้พื้นที่ด้านล่างเกิดร่มเงา เหมาะกับการทำกิจกรรมหลากหลาย”

Civic Center (Timpika Wetpanya and Sippawich Rouyoo)

ถึงผลงานของสิปปวิชญ์ และฑิมพิกา จะไม่ได้แสดงความเป็นไทยออกมาแบบตรงไปตรงมา แต่การยกอาคารขึ้นสูงที่ชวนให้นึกถึงบ้านเรือนไทยที่ยกใต้ถุน การออกแบบภูมิทัศน์ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมกรุงเทพฯ และการนำแนวคิดภูมิจักรวาลและคติการสร้างเมืองของไทยมาเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ ก็ถือเป็นการแสดงความเป็นไทย ที่ทำออกมาได้อย่างแยบยลทีเดียว

ก้าวต่อไปของโครงการ “Uniquely Thai”

นอกจากโครงการนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้เข้าร่วมโครงการแล้ว ภารุต เพ็ญพายัพ ยังมองว่า ไอเดียเหล่านี้ยังเป็นประโยชน์กับเมืองในอนาคตอีกด้วย

“การแลกเปลี่ยนไอเดียเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยพัฒนาเมืองในอนาคต โดยเฉพาะจากคนรุ่นใหม่ โครงการนี้ก็ทำให้ได้เห็น landscape ทางความคิดว่าพวกเขาคิดอะไรอยู่ ในเวลาเดียวกัน เราก็เห็นว่าคนรุ่นใหม่พร้อมเป็นส่วนหนึ่งที่จะพัฒนาเมือง และสร้างสิ่งที่ดีที่สุดให้กับโลกในอนาคต”

ภารุต ยังเปรยว่าในอนาคต MQDC ยังมีแผนจะจัดการประกวดแบบเช่นนี้ขึ้น เพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิด และเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้กับสังคม

แต่โจทย์จะเป็นอะไรนั้น ก็ต้องติดตามกันในครั้งต่อไป

Civic Center (Manutsanan Dechasuwan)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *