DUBAI EXPO 2020 REVIEW

แม้ว่าจะเผอิญกับปัญหาโรคระบาด แต่ Dubai Expo 2020 ก็ได้รับคำตอบรับในทิศทางบวกในฐานะ ‘นิทรรศการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก’ ไปดูกันว่า งานสถาปัตยกรรมใน Expo ครั้งนี้มีทิศทางเป็นอย่างไร และแต่ละประเทศนำเสนอตัวตนผ่าน pavilion ของตัวเองอย่างไรกันบ้าง รวมไปถึง pavilion ของประเทศไทย

TEXT: NON ARKARAPRASERTKUL
PHOTO: PASSAKON PRATHOMBUTR

(For English, press here

ในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาตินั้น ไม่มีงานนิทรรศการใดๆ ที่จะรวบรวมนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ และผู้สนใจความเปลี่ยนแปลงความเป็นไปทางด้านเทคโนโลยี ศิลปะ วัฒนธรรม ของประเทศต่างๆ ในโลก ได้ครบถ้วนสมบูรณ์เท่ากับงาน Expo อีกแล้ว งาน Expo เป็นทั้งพื้นที่เปิดตัวนวัตกรรมที่สำคัญของยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องโทรศัพท์ โทรสาร โทรศัพท์มือถือ เครื่องเอ็กซ์เรย์ หรือแม้กระทั่งโทรทัศน์จอแบน หากเป็นด้านอุตสาหกรรมอาหาร ผู้ประกอบการคงไม่มีวันลืมช่วงเวลาที่ แฮมเบอร์เกอร์ ไอศกรีม ฮ็อตด็อก เนยถั่ว ชาเย็น หรือซอสมะเขือเทศปรากฏออกสู่สายตาชาวโลกเป็นครั้งแรก

สำหรับสถาปนิกนั้น งาน Expo คือ ‘สนามเด็กเล่น’ แห่งแนวคิดทางสถาปัตยกรรมใหม่ ๆ โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมในตำนานทั้งหลาย อาทิ หอไอเฟล โครงสร้างลูกเหล็กทรงกลม ‘อะโตเมียม’ หอสังเกตการณ์อวกาศซีแอตเติล โรงแรม ‘แคปซูล’ ขนาดจิ๋วที่ประหยัดพื้นที่ได้มหาศาล หรือโดม ‘จีโอเดสิก’ ทรงกลมซึ่งประกอบขึ้นมาด้วยโครงสร้างแบบสานที่มีความเบาแต่สามารถครอบคลุมพื้นที่กว้างอย่างน่าเหลือเชื่อ ล้วนได้รับความสนใจครั้งแรกจนกลายเป็นการขนานนามจนมีชื่อเสียงไปทั่วโลกจากการถูกสร้างขึ้นเพื่องาน Expo ทั้งสิ้น

The replica of David by Michelangelo at Italy Pavilion

งาน Expo ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ถึง 31 มีนาคม พ.ศ. 2565 นี้ ถูกจัดขึ้นที่ นครดูไบ แห่งประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ถึงแม้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โคโรนาจะทำให้งานถูกเลื่อนระยะเวลาในการจัดออกมาถึงหนึ่งปีเต็ม แต่ทางคณะผู้จัดยังขอยืนยันที่จะใช้ชื่องาน ‘Expo 2020 Dubai’ ดังเดิม แทนที่จะเป็น ‘Expo 2021 Dubai’ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ประเทศในเขตตะวันออกกลาง แอฟริกา และเอเชียใต้ ได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดงานที่ยิ่งใหญ่ในระดับนี้ (งานในระดับเดียวกันที่จะเกิดขึ้นต่อไปคืองานฟุตบอลโลกที่กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ ซึ่งจะจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2565 นี้)

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2013 ดูไบชนะการแข่งขันเพื่อจัดงานด้วยตีม “Connecting Minds, Creating the Future.” และไม่ว่าใครก็ตามที่ได้เห็นขนาดอันมโหฬารและการออกแบบผังพื้นที่ของงานที่อลังการจากภาพมุมสูงของสถานที่จัดงาน Expo ที่นครดูไบ ซึ่งมีขนาดถึงกว่า 4.3 ตารางกิโลเมตร หรือพอ ๆ กับเกาะรัตนโกสินทร์นั้น จะมองเห็นคุณลักษณะ 3 ประการของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในปัจจุบัน คือ ความรวดเร็วในการพัฒนาแบบติดจรวด ไม่รอใคร (Speed) ความยิ่งใหญ่ แบบว่า ‘เล็กๆ ไม่ทำ’ (Scale) และความมุ่งมั่นจริงจังที่จะทำให้งาน Expo ครั้งนี้ถูกจดจำและบันทึกในประวัติศาสตร์ (Seriousness) ว่าเป็นงานที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งที่มนุษยชาติได้เคยจัดขึ้น ให้สมกับคำขวัญของงานคือ ‘โชว์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก’ (The World’s Greatest Show)

และอีกปัจจัยที่ทำให้งาน Expo 2020 มีความน่าสนใจ คือการวางแผนด้าน Post-Event โดยทางเจ้าภาพได้วางแผนที่จะเก็บสิ่งก่อสร้าง และ ‘พาวิลเลียน’ ต่าง ๆ ไว้กว่า 2 ใน 3 ส่วนเพื่อการใช้งานหลังจากงานจัดแสดงสิ้นสุดลง แทนที่จะรื้อถอน ทำลาย ออกไปแทบทั้งหมดอย่างที่เกิดขึ้นกับงาน Expo ครั้งก่อน ๆ โดยพื้นที่บริเวณนี้จะถูกเปลี่ยนเป็น ‘District 2020’ หรือ ศูนย์รวมนวัตกรรมสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้นหรือ ‘สตาร์ทอัพ’ และธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี

‘พาวิลเลียน’ หรือ ศาลา แห่งความยิ่งใหญ่

พื้นที่จัดงาน Expo ที่กว้างใหญ่แบ่งออกเป็น 3 โซน แต่ละโซนถูกตั้งชื่อตามแนวความคิดย่อยของงาน ได้แก่ ‘ความไม่หยุดนิ่ง’ (Mobility) ‘โอกาส’ (Opportunity) และ ‘ความยั่งยืน’ (Sustainability) ซึ่งพื้นที่ทั้ง 3 ส่วนนี้ แยกออกมาจากส่วนกลางเหมือนกับนิ้วมือที่ยื่นแผ่ออกมาจากฝ่ามือ พื้นที่ตรงกลางเป็นโดมขนาดใหญ่ชื่อ ‘Al Wasl Plaza’ คำว่า Al Wasl แปลได้ตรงตัวว่า ‘เชื่อมต่อ’ และในขณะเดียวกันก็เป็นชื่อเดิมของนครดูไบด้วย เรียกได้ว่าชื่อนี้จึงเป็นชื่อที่ถูกตั้งขึ้นมาให้กับอาคารที่สำคัญที่สุดของงานและเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับทั้งงาน Expo และนครดูไบซึ่งเป็นเจ้าภาพได้อย่างแยบคาย

เมื่อแผนการจัดงานถูกสรุปในปี พ.ศ. 2560 ประเทศที่เข้าร่วมงานต้องเลือก 1 ใน 3 แนวความคิดย่อย ซึ่งเป็นการเลือกตำแหน่งที่ตั้งของอาคารจัดนิทรรศการ หรือ ‘พาวิลเลียน’ ในงานครั้งนี้ โดยพื้นที่ทั้ง 3 โซนนั้น มีพาวิลเลียนหลักที่เป็นจุดดึงดูดความสนใจที่ออกแบบโดยสถาปนิกชื่อดังระดับโลก พาวิลเลียนเหล่านี้ได้สื่อสารแนวคิดล้ำสมัยผ่านภาษาทาง ‘สถาปัตยกรรม’ เช่น สถาปนิกชื่อดังจากสหราชอาณาจักร ‘กริมชอว์’ ได้ออกแบบ ‘อาคาร Terra’ (มาจากรากทรัพย์ภาษาลาตินแปลว่า ‘แผ่นดิน’) สำหรับโซน ‘ความยั่งยืน’

Sustainability Pavilion (Terra Pavilion)

คำว่า ‘ความยั่งยืน’ เป็นประเด็นที่ไม่เคยล้าสมัย เพราะสิ่งที่จำเป็นสำหรับสิ่งแวดล้อมในทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ก่อนที่จะสายเกินไป หลังคาของ Terra เป็นโครงสร้างแบบซุ้มขนาดใหญ่ ที่กว้างถึง 130 เมตร และถูกปกคลุมด้วยแผงโซล่าเซลล์ถึง 1,055 แผ่น พาวิลเลียนนี้จึงถูกตั้งสมญานามว่า ‘Contact’ เพราะมีความคล้ายคลึงกับอาคารที่ใช้รับคลื่นความถี่วิทยุในภาพยนตร์เรื่อง Contact นี่คือตัวอย่างของการใช้ภาษาทางสถาปัตยกรรมและการออกแบบเพื่อสื่อสารเรื่อง ‘ความยั่งยืน’ ที่ตั้งเป้าหมายที่การลดการใช้น้ำ และพลังงานให้เป็นศูนย์

แผ่นอลูมิเนียมที่ห่อหุ้มพาวิลเลียน ‘Alif’ ในโซน ‘ความไม่หยุดนิ่ง’ (Mobility) สะท้อนรูปแบบนำสมัยเทคโนโลยีแห่งอนาคตของบริษัทออกแบบ Foster + Partners ผู้ออกแบบผลงานชิ้นนี้ นิทรรศการขนาดใหญ่ใน Alif บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพัฒนาการของ ‘ความไม่หยุดนิ่ง’ ในวัฒนธรรมอาหรับ ตั้งแต่การพัฒนาคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ จนถึงจักรวาลนฤมิต หรือ เมตาเวิร์ส (Metaverse) ที่โลกจริงและโลกแห่งดิจิทัลจะผสานรวมกันเป็นหนึ่ง

Mobility Pavilion (Alif Pavilion)

บริษัท AGi Architect สร้างพาวิลเลียนชื่อ ‘mission possible’ ในโซน ‘โอกาส’ (Opportunity) ซึ่งนำเสนอความเป็นพื้นที่พบปะของผู้คนที่มีความหลากหลาย ทั้งในด้านช่วงวัย ภาษา และวัฒนธรรม รวมถึงประสบการณ์ที่มนุษยชาติมีร่วมกัน

ประเทศต่าง ๆ ล้วนสรรหาสถาปนิกชั้นนำเพื่อออกแบบพาวิลเลียนของตนเอง เช่นกันกับที่เคยเป็นมาในงาน Expo ครั้งก่อนๆ

โครงสร้างที่ยิ่งใหญ่จากงาน Expo ในครั้งแรกๆ ต่างยังถูกกล่าวถึงในฐานะมรดกจากงาน Expo มาจนถึงทุกวันนี้ พาวิลเลียนบางแห่งถูกออกแบบโดยสถาปนิกระดับโลก เช่น ซานเตรียโก กาลาตราบา ซึ่งออกแบบทั้งพาวิลเลี่ยนเดี่ยวที่ใหญ่ที่สุดสำหรับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และพาวิลเลียนเดี่ยวที่เล็กที่สุดของงานสำหรับรัฐการ์ตาด้วย

The masterplan of Expo 2020 showing the “three fingers”

พาวิลเลียนยอดนิยมในงาน Expo 2020 Dubai

พาวิลเลียนของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ญี่ปุ่น ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย คือพาวิลเลียนยอดนิยมสำหรับผู้เข้าชมงานจัดแสดง พาวิลเลียนของเยอรมนีเป็นเหมือนกับห้องทดลองที่มีชีวิตของการทดลองที่เกี่ยวกับ ‘ความยั่งยืน’ ผู้ชมสามารถดื่มด่ำกับนิทรรศการจนลืมเวลาได้ ในระหว่างที่เดินชมนิทรรศการแบบสื่อปฏิสัมพันธ์โต้ตอบ ตลอดระยะเวลาหนึ่งชั่วโมงครี่งในพาวิลเลียนนี้ ผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีผ่านสื่อประเภท วงล้อ คันโยก ปุ่มกด และวัตถุที่เคลื่อนที่ได้ การเล่นเกมส์ และอื่น ๆ อีกมากมาย บรรยากาศภายในของพาวิลเลียนจึงสามารถดึงดูดให้ผู้ชมใช้เวลาได้นานถึง 1–2 ชั่วโมงกับนิทรรศการที่สามารถโต้ตอบมีปฏิสัมพันธ์กันได้

Germany Pavilion

พาวิลเลียนของประเทศญี่ปุ่น เป็นพาวิลเลียนที่สามารถใช้เวลามากกว่า 2 ชม. ได้สบาย ๆ แม้ว่าเขาจะให้เวลาผู้เข้าชมแค่รอบละ 45 นาทีเท่านั้น เส้นทางภายในพาวิลเลียนของประเทศญี่ปุ่นนี้ใช้เทคนิคการเดินในแบบจำลองสามมิติที่ผู้ชมสามารถเลือกทางเดินของตัวเอง เพื่อทำความเข้าใจประเทศญี่ปุ่นให้มากขึ้น โดยก่อนเข้านิทรรศการผู้เข้าชมแต่ละท่านจะได้รับอุปกรณ์เล็ก ๆ สำหรับสวมไว้ที่คอ มองดูคล้ายกับอุปกรณ์สื่อโสตทัศน์ (Audio Visual) โดยทั่วไป

Japan Pavilion

ซึ่งต่อมาผู้เข้าชมจึงทราบว่าอุปกรณ์เล็ก ๆ เหล่านี้จะเก็บข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้เข้าชมแต่ละคนเอาไว้ ว่ามีปฏิสัมพันธ์กับนิทรรศการชุดใดบ้างในระหว่างที่เดินชมพาวิลเลียนขนาดใหญ่ที่ถูกออกแบบให้นำเสนอบทบาทของญี่ปุ่นต่อประชาคมโลกใน อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ข้อมูลของผู้ชมเหล่านี้จะถูกนำมาใช้สร้างภาพการ์ตูนเสมือนที่เคลื่อนไหวได้ และถูกฉายลงบนกำแพงในส่วนสุดท้ายของนิทรรศการโดยภาพเสมือนที่มีเอกลักษณ์ของผู้ชมมากกว่า 40 ท่านนี้ไม่มีภาพใดที่เหมือนกันเลย การแสดงผลขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการชมนิทรรศการของผู้ชมแต่ละคนในพาวิลเลียน

Japan Pavilion

รูปลักษณ์ที่ดูแปลกประหลาดของพาวิลเลียนของประเทศซาอุดีอาระเบีย ที่เหมือนกับอาคารที่พุ่งทะแยงจากพื้นดินออกมาขึ้นสู่ท้องฟ้าจะดูสมเหตุสมผลขึ้นมาทันทีเมื่อผู้ชมเดินเข้าไปด้านในพาวิลเลียนที่นำเสนอด้วยการวางเส้นทางเดินภายในตัวอาคารให้ผู้ชมได้ถูกสร้างอารมณ์ร่วมอย่างแยบยล ตั้งแต่การเดินเข้าสู่ตัวอาคารผ่านพื้นที่ขนาดใหญ่ที่มีกระจกขนาดมหึมาเข้าสู่ตัวอาคารผ่านชั้นใต้ดินเพื่อย่างเข้าสู่ห้องต่าง ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีการฉายภาพแบบล้ำสมัย ผู้ชมเริ่มต้นเดินชมนิทรรศการจากชั้นใต้ดินขึ้นสู่ชั้นที่สูงขึ้นเพื่อชมนิทรรศการเกี่ยวกับซาอุดิอาระเบียในยุคปัจจุบันผ่านการฉายภาพทั้งแนวตั้งและแนวนอนบนผนังด้านหนึ่ง และผู้ชมสามารถชื่นชมภาพจากมุมสูงของงาน Expo 2020 ในอีกฟากฝั่ง

Saudi Arabia Pavilion

ระหว่างเส้นทางเดินกลับลงสู่ชั้นล่าง ผู้ชมจะมองเห็นภาพฉายที่ซับซ้อน และลุ่มลึก ที่สะท้อนความเป็น จักรวาลนฤมิต หรือ เมตาเวิร์ส ซึ่งจะกลายเป็นพื้นที่สำหรับอยู่อาศัย เรียนรู้ ทำงาน และเล่นสนุกของมนุษย์ในอนาคตอันใกล้

Saudi Arabia Pavilion

พาวิลเลียนที่ยกตัวอย่างมาทั้งสามนี้ ประสบความสำเร็จในการดึงดูดผู้ชมจากเนื้อหานิทรรศการภายในมากกว่ารูปลักษณ์ภายนอกของพาวิลเลียน

ในขณะเดียวกัน พาวิลเลียนจากสหราชอาณาจักร ที่ออกแบบโดย Es Devlin Studio อาจจะเป็นพาวิลเลียนที่ถูกบันทึกภาพมากที่สุดเพราะรูปทรงภายนอกที่แหวกแนวแปลกตา หากนิทรรศการภายในกลับไม่เป็นที่จดจำ เรียกว่าไม่มีใครจำได้เลยทีเดียว เพราะจุดสนใจถูกดึงไปอยู่ที่รูปลักษณ์ภายนอกของอาคารจนหมดแล้ว จนองค์ประกอบอื่น ๆ อาทิ นิทรรศการเอง ถูกละเลยไป

พาวิลเลียนประเทศไทย

ณ ตอนที่เขียนบทความนี้ เป็นที่ช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกไปทั่วโลก ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อปริมาณนักท่องเที่ยวที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเลยทีเดียว กระนั้น พาวิลเลียนของไทยก็ยังได้รับความนิยมในระดับ 1 ใน 5 พาวิลเลียนที่มีผู้มาเยือนสูงสุด ซึ่งเป็นที่น่าประหลาดใจพอสมควรที่พาวิลเลียนขนาดไม่ใหญ่มากของประเทศไทยนั้นมีจำนวนผู้มาเยือนพาวิลเลียนมากล้นเกินความคาดหมาย ซึ่งจากการสังเกตการณ์เป็นเวลา 18 ชั่วโมงต่อวัน ยาวนานถึง 6 สัปดาห์ของผมนั้น ทำให้ทราบว่ามีปัจจัยสำคัญในการออกแบบที่ทำให้พาวิลเลียนของไทยกลายเป็นนิทรรศการยอดนิยมในงาน Expo ครั้งนี้คือ การออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่เปิดพื้นที่โล่งหน้าตัวอาคาร กิจกรรมการแสดงสดที่ตื่นเต้นน่าประทับใจ และนิทรรศการที่เข้าใจง่าย

Thailand Pavilion

Thailand Pavilion

“ในยุคสมัยที่เราถูกห้อมล้อมไปด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล การได้ชมการแสดงที่เกิดขึ้นในโลกจริงเหมือนการแสดงประจำวันของพาวิลเลียนของประเทศไทยจึงเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกได้รับประสบการณ์ที่สดชื่น แปลกใหม่” ยูทูปเบอร์ที่นำเสนอวิดิโอคลิปเกี่ยวกับพาวิลเลียนในงาน Expo ได้กล่าวถึงความประทับใจที่มีกับพาวิลเลียนของไทย

Thailand Pavilion

ส่วนภายในตัวพาวิลเลียนนั้น นิทรรศการทั้ง 4 ห้องบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศไทยอย่างเรียบง่าย เริ่มจากความเชื่อที่เป็นรากฐานวัฒนธรรม สู่เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าเกี่ยวกับพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงของ ‘น้ำ’ จากนั้นนิทรรศการก็เริ่มนำเสนอบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงที่ไม่หยุดนิ่งของอุตสาหกรรมใหม่ และนำเสนอบทสรุปของความงดงามทางธรรมชาติ ที่นำพาอาคันตุกะให้มาเยือนและตกหลุมรักประเทศไทย โดยนิทรรศการทั้ง 4 ห้องนี้ ใช้เวลารับชมทั้งสิ้นประมาณ 18 นาที

Thailand Pavilion

Thailand Pavilion

บทตาม

ในระหว่างที่เดินทางกลับสู่ประเทศไทย รายการบันเทิงจากอุปกรณ์ที่ให้บริการบนเครื่องบินได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับปรากฏการณ์ ‘เมตาเวิร์ส’ บริษัทด้านเทคโนโลยีใหญ่ ๆ ต่างลงทุนในการผสานโลกจริง และโลกดิจิทัลเข้าด้วยกันเพื่อสร้างพื้นที่ใหม่สำหรับมนุษย์ เพื่อการอยู่อาศัย เรียน ทำงาน และเล่นสนุก โดยเป้าหมายของโครงการเหล่านี้คือการสร้าง ‘โลกคู่ขนาน’ กับโลกที่เราอยู่อาศัยอยู่ใบนี้ คล้ายคลึงกับภาพยนตร์เรื่อง Ready Player One และ The Matrix ในเมื่อระบบอัตโนมัติ และระบบหุ่นยนต์ สามารถปฏิบัติงานในระดับแรงงานได้ในโลกจริง มนุษย์ก็สามารถอาศัยอยู่ในโลกดิจิทัล และใช้ประโยชน์จาก

ความสามารถในการประมวลความรู้ในรูปแบบใหม่ รวมทั้งรังสรรค์ผลงานใหม่ ๆ สำหรับเครื่องจักรได้เช่นกัน

ยังมีประเด็นปัญหาอีกหลายประการที่จะทำให้การอยู่ใน ‘เมตาเวิร์ส’ ตลอดเวลายังเป็นไปได้ยาก หากแต่การแข่งขันในวงการนี้จะทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ใครจะรู้ งาน Expo ในทศวรรษหน้าอาจจะถูกจัดขึ้นใน เมตาเวิร์ส ก็ได้ และนั่นคงจะทำให้ผู้คนที่สามารถเข้าร่วมงานได้ไม่ได้มีเพียง 100 ล้านคนอย่างเมื่อ Expo 2 ครั้งที่แล้วรวมกัน แต่อาจจะมากถึง 8 พันล้านคนก็เป็นได้

expo2020dubai.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *