THE ‘STRICTE INTIMITE’ EXHIBITION

ตู้ปลาที่ว่างเปล่า กางเกงที่พาดอยู่กับราวบันได ข้อความพิศวงบนหน้าต่างกระจก ความรู้สึกอิหลักอิเหลื่อล้วนกระจายอยู่ทั่วบรรยากาศของนิทรรศการ ‘stricte intimité’ ที่จัดขึ้น ณ The Shophouse 1527 นิทรรศการชวนเราพิจารณาถึง ‘ความเคยชิน’ ที่เราต่างพบเจอเป็นเรื่องธรรมดา จนบางครั้งก็ลืมไปว่าสิ่งเหล่านั้นเองที่เป็น  ‘ความเคยชิน’

TEXT: SURAWIT BOONJOO
PHOTO COURTESY OF TRISTAN DESCHAMPS

(For English, press here

‘stricte intimité’ นิทรรศการกลุ่มจากศิลปินไทยและนานาชาติ เป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลศิลปะ Bangkok Biennial 2020 ในพื้นที่เฉพาะอย่าง The Shophouse 1527 ผลงานแต่ละชิ้นจากศิลปินทั้งหมด 9 คนได้ร่วมสนทนา แลกเปลี่ยนมุมมองต่อพื้นที่ในแต่ละแง่มุมที่เรียกได้ว่าแตกต่างแยกขาดออกจากกัน หากแต่ร้อยเรียงผ่านเรื่องราว ‘ความใกล้ชิด’ และ ‘ความคุ้นเคย’ ที่ Tristan Deschamps คิวเรเตอร์ของนิทรรศการนำขึ้นมาห่อหุ้มพื้นที่จัดแสดง และจัดวางทิศทางการรับรู้ของเรา

เมื่อเปิดประตูเหล็กบานใหญ่เข้ามา ด้านในก็จะพบบาร์กาแฟที่มองเข้าไปด้านในสุดของอาคารเห็นภาพวิดีโอ ใครคนหนึ่งที่กำลังสวมเครื่องแต่งกายคล้าย “บารอง” สัตว์วิเศษที่มีรูปร่างคล้ายสิงโตในศิลปะการร่ายรำบาหลี หากแต่เครื่องต่างกายที่เห็นเป็นเครื่องแต่งกายที่ประดิษฐ์ขึ้นจากวัสดุที่เห็นได้จากชีวิตประจำวันอย่างขวด โครงพลาสติก หรือผ้า ประกอบกับเสียงดนตรีพื้นบ้านที่รีมิกซ์ผสมผสานกับดนตรีเทคโน นี่คือผลงาน ROH ARUS ของศิลปินชาวอินโดนีเซีย Ican Harem แน่นอนว่าหลังจากชมเสร็จเรียบร้อย แล้วเริ่มเดินขึ้นบันไดไปสู่ชั้นสอง หางตาของเราคงจะสังเกตเห็นอะไรที่คล้ายกับพรมเช็ดเท้าที่คุ้นตา อีกหนึ่งผลงานของเขาที่ทำขึ้นด้วยวิธีการถักผ้าจากวัสดุเหลือใช้ เป็นเสื้อและกางเกง โดยถูกจัดวางตามอย่างปกติธรรมดา ที่คนทั่วไปมักจะทำโดยความคุ้นชิน คือการถอดเสื้อผ้าออกแล้ววางพาดตรงโน้นทีตรงนี้ที

เมื่อเดินขึ้นมาถึงชั้นสองเป็นที่เรียบร้อย ทางซ้ายมือก็จะพบภาพหัวปลากำลังอ้าปากที่ปริ้นท์ลงบนเหล็ก ผลงาน Silver Amazon ของธรรมรัตน์ กิตติวัฒโนคุณ ซึ่งติดอยู่สูงบนผนังจนต้องเงยหน้ามอง ตอนนี้เราอาจจะเกิดความรู้สึกงง ๆ ว่า “เอ้ะ ปลามาอยู่ตรงนี้ทำไม?” และเมื่อเดินหันหลังมาพร้อมกับความงง ทางด้านตรงกันข้ามก็จะพบหัวหุ่นสามอัน ที่แต่ละอันตั้งอยู่บนกล่องโฟมแบบใส่แช่ของสดที่เห็นทั่วไป หัวหุ่นแต่ละอันก็จะมีหน้ากากหรืออาจจะเรียกว่าผ้าคลุมที่ถักร้อยจากเส้นใย ในลักษณะที่คลุมทั้งหัวอย่างมิดชิด บางอันเปิดช่องถักอย่างไม่ถี่บริเวณปากมีคริสตัลห้อยระย้าลงมาอีก หรืออีกอันเป็นการถักโดยทิ้งพื้นที่ตรงตาข้างหนึ่งจนถึงจมูกไว้  ซึ่งทุกคนอาจจะคาดเดาได้ว่าชื่อของชิ้นงานจะไปในทิศทางไหน งานชุดนี้มีชื่อว่า Mark No.1, 2, 3 ซึ่งเป็นผลงานของ Judas Companion ศิลปินที่หลงใหลการสำรวจตัวตนผ่านเรือนร่างของมนุษย์ พอหมุนตัวเพื่อจะเดินต่อก็ต้องหยุดชมผลงาน ghost in the wind ของ พิสิฎฐ์กุล ควรแถลง ที่แขวนเหมือนเป็นม่านปิดทางด้านหน้า หากมองดูบนผลงานก็จะเห็นเป็นภาพเล่าเรื่องคล้ายการ์ตูนช่อง เล่าเรื่องของศพสีชมพูที่เกิดฟื้นขึ้นมาจากความตายแล้วมาตามหาและทำกิจกรรมอะไรบางอย่าง อาจเรียกได้ว่าเป็นผลงานชิ้นเดียวก็ได้ที่พาให้รู้สึกสนุกสนานและเหนื่อยไปพร้อม ๆ กัน เนื่องจากศิลปินเลือกลำดับเล่าเรื่องบนผลงานที่ไม่เรียงเป็นลำดับอย่างปกติธรรมดา แต่สลับลำดับซ้ายขวาหน้าหลังอยู่ตลอดเวลาผู้ชมก็จำเป็นจะต้องอ่านจากซ้ายไปด้านหลังขวา จากด้านหลังขวามาหน้าซ้าย หรือทางด้านบนขวามาบริเวณกลางซ้าย หมุนวนไปจนกว่าจะจบ

หลังจากเดินเวียนเข้าเวียนออกอ่านเรื่องเล่าของผีสีชมพู เมื่อมองต่อมาทางด้านขวา ก็จะเห็นเส้นผ้าถักสลับบนล่างอย่างละเอียดจากผลงาน KETSET เสื้อผ้าของ Ican Harem เต็ม ๆ อีกครั้ง และในด้านตรงกันข้ามจะพบภาพเหมือนตู้ปลา มีเศษหอย กองก้อนหิน และปะการัง ซึ่งวางอยู่บนพื้นโดยมีแสงสีน้ำเงินส่องลอดออกมาจากด้านหลัง แต่ภายในกลับว่างเปล่าไร้สิ่งมีชีวิตใด ๆ นี่คือผลงาน Untitled (The Colonial Coral) ผลงานอีกชิ้นของธรรมรัตน์ กิตติวัฒโนคุณ เมื่อพิจารณาผลงานชิ้นนี้ร่วมกับผลงานชิ้นแรกของเขาก็จะเข้าใจว่า ทำไมมีปลา ทำไมมีภาพเหมือนตู้ปลา และทำไมปลาถึงไม่อยู่ในตู้ แล้วในตู้ทำไมจึงว่างเปล่า ซึ่งสร้างความอิหลักอิเหลื่อ พร้อมกับชวนตั้งคำถามถึงความคุ้นเคยที่เคยชินของเรา ผลงาน Force-Free ของ Nicolas Pelzer ซึ่งแสดงผ่านทีวีแขวนผนังถัดเข้าไปบนผนังเดียวกัน เป็นภาพ 3D สแกนของ Beef Jerky (เนื้ออบแห้ง) ที่ตอนแรกชวนให้นึกว่าเป็นกล้ามเนื้อของคนเสียอีก ซึ่งก็ตรงกับสิ่งที่คิวเรเตอร์เล่าให้ฟังว่า ผลงานนี้ต้องการทำให้เราเข้าใกล้กับร่างกายมนุษย์ในขั้นที่เห็นถึงรายละเอียดของมัน ก็คือเห็นถึงระดับกล้ามเนื้อเลยทีเดียว เมื่อมองต่อมาด้านตรงข้ามเป็นผลงานสื่อผสมชื่อ  hosted: sepulchral relics ของศิลปินชาวเยอรมัน Berhard Holaschcke ที่จริง ๆ แล้ว หากสังเกตผลงานใกล้ ๆ ก็จะเห็นว่าเป็นงานจิตรกรรมแบบนามธรรมที่มีภาพโครงกระดูกของตัวอะไรสักอย่างมาแปะอยู่ จากนั้นเดินตรงต่อไปก็จะเห็นผลงานตัวอักษรเรียงเป็นประโยคติดหน้าต่างบานใหญ่ติดไล่เรียงจากด้านบนจนเสมอพื้นตรงหน้า ประโยคนี้เหมือนกำลังหยอกล้อกับเราที่มองหาอะไรสักอย่างอยู่

“…IT LOOKS LIKE I’M GONNA HAVE TO SAY SOMETHING TO SOMEONE ON HERE CAUSE YOU ARE USING MY NAME…”

“…WHOEVER YOU ARE YOU WILL KNOW ME BELIEVE THAT”

‘ตัวตน’ และ ‘ชื่อ’ คือประเด็นที่ Dennis Buck ต้องการนำเสนอผ่านผลงาน Portrait of a Dennis Buck โดยเราที่รับบทเป็น Dennis มองไปทางซ้ายก็จะเห็นดอกไม้สามดอกที่ตั้งวางอยู่ในพานทองเล็ก ๆ วางอยู่บนรถใส่อาหารที่เรามักจะเห็นบนเครื่องบิน ผลงานของศิลปินคนอื่นอีกคนที่เข้าร่วมแสดงเช่นเดียวกับเรา ซึ่งเป็นผลงาน Meteorology ของ Saskia Fischer เมื่อหากดูอย่างถี่ถ้วนอีกรอบก็จะเห็นก้านไม้สีน้ำตาลเสียบในแจกันวางอยู่บนพื้นอีกด้วย Fischer เพื่อนของเรากำลังพูดถึงเรื่องของศาสนาและความเชื่อผ่านดอกไม้ของเธอ และผลงานชิ้นสุดท้าย Supper Host ของ Claude Eigan ประติมากรรมเซรามิกรูปทรงเห็บที่มีน้ำไหลหยดออกบริเวณตูดของมัน ซึ่งชวนให้พวกคุณมาพิจารณาถึงความอันตรายในรูปลักษณ์ที่สวยงาม พร้อมทั้งพลิกนำด้านตรงข้ามจากการดูดกิน เป็นการให้น้ำแหล่งกำเนิดชีวิตมาให้พวกคุณสัมผัส

ต่อไปนี้เป็นบทสนทนาจากนิทรรศการ ‘stricte intimité’ ซึ่งจัดแสดงที่ The Shophouse 1527 ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 26 มีนาคม 2565 เราได้ร่วมพูดคุยกับคิวเรเตอร์ของนิทรรศการ Tristan Deschamps เกี่ยวกับเรื่องราวนับตั้งแต่จุดเริ่มต้นของนิทรรศการ กระทั่งรายละเอียดและข้อมูลของผลงานแต่ละชิ้น

art4d: ช่วยเล่าให้เราฟังเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของโครงการได้ไหม คุณมีไอเดียอย่างไร แล้วทำไมต้องเป็น ‘stricte intimité’?

Tristan Deschamps: ในปี 2019 ผมได้รับเชิญจากสถิตย์ ศัสตรศาสตร์ (อดีตคิวเรเตอร์ผู้ริเริ่มนิทรรศการนี้) ให้คิวเรทนิทรรศการในเทศกาลศิลปะ Bangkok Biennial 2020 จากนั้นผมจึงตัดสินใจทำงานกับแนวคิดเรื่องความใกล้ชิดและสภาวะตึงเครียดระหว่างพื้นที่สาธารณะและส่วนตัว สำหรับชื่อนิทรรศการ ‘stricte intimité’ อ้างถึงคำภาษาฝรั่งเศส ซึ่งเน้นย้ำถึงความสมบูรณ์ของความใกล้ชิด และผมคิดว่ามันเหมาะที่จะทำงานผ่านแนวคิดนี้ หลังจากนั้นโควิดก็เกิดขึ้น และทุกอย่างก็เปลี่ยนไป

art4d: งานแต่ละชิ้นแสดงถึงความใกล้ชิดและ/หรือความคุ้นเคยอย่างไร?

TD: ผลงานที่เลือกแต่ละชิ้นแสดงให้เห็นหรือมีส่วนร่วมไปในแต่ละแง่มุมที่แตกต่างกันของความใกล้ชิด ตัวอย่างเช่น ภาพเรนเดอร์ของ beef jerky (เนื้ออบแห้ง) และรูปแบบความคมชัดสูงผ่านการสแกนเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ 3 มิติในวิดีโอของ Nicolas Pelzer แสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิดกับร่างกายมนุษย์ในระดับรายละเอียด ในขณะที่การติดตั้งเฉพาะพื้นที่ของ Saskia Fischer ได้ทำงานผ่านความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับศาสนาและความเชื่อ Dennis Buck ยังคงทำงานด้วยเรื่องของอัตลักษณ์และชื่อที่เราแบกรับ รวมไปถึงความหมายของมันเอาไว้ ผ่านผลงานการติดตั้งเฉพาะพื้นที่ ผลงานของ Claude Eigan แสดงให้เห็นผ่านตัวเห็บที่ทำจากเซรามิค ซึ่งสร้างความแตกต่างอย่างมากระหว่างสิ่งที่เกาะตัวเองภายในความใกล้ชิดของเราและอาจสามารถก่ออันตรายได้ แต่สิ่งนั้นกลับถูกสร้างให้สวยงามด้วยการรับรู้ทางกายภาพของมัน การติดตั้งหน้ากากของ Judas Companion อ้างถึงวิธีการโดยตรงที่ใครคนใดคนหนึ่งสามารถปกป้องความใกล้ชิดของพวกเขาได้ เช่น การปกปิดใบหน้า งานเสื้อผ้าและวิดีโอของ Ican Harem แสดงถึงการมีส่วนร่วมในความความใกล้ชิด เช่นเดียวกับสิ่งที่เราสวมใส่ใกล้กับร่างกายของเราและการใช้งานที่เรากระทำกับสิ่งเหล่านั้น ภาพวาดล่าสุดของ Bernhard Holaschcke ยังคงเป็นเรื่องของความสัมพันธ์โดยตรงกับความใกล้ชิด เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์ที่ศิลปินเริ่มต้นวาดระหว่างการกักตัวและทำขึ้นมาสำหรับนิทรรศการนี้ ผลงานของพิสิฎฐ์กุล ควรแถลง จัดทำขึ้นเพื่อการแสดงครั้งนี้และพูดโดยตรงถึงอดีต ปัจจุบัน ผ่านเรื่องราวของผีตนหนึ่ง สุดท้ายนี้เป็นงานของธรรมรัตน์  กิตติวัฒโนคุณ ซึ่งได้ทำงานเกี่ยวกับพื้นที่ของความใกล้ชิดโดยอ้างอิงถึงสวนสัตว์และพื้นที่ของสัตว์ที่ได้รับ รวมถึงการถ่ายทอดความหมายเป็นแนวทางของเราต่อสังคมในบริบทหลังอาณานิคมด้วย

art4d: อะไรคือความน่าสนใจเกี่ยวกับ The Shophouse 1527 พื้นที่เฉพาะแห่งนี้ ทำไมคุณถึงเลือกพื้นที่นี้ และคุณจัดการกับมันอย่างไร?

TD: The Shophouse 1527 นำเสนอพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการที่น่าสนใจและท้าทาย ด้วยการมีแสงจำนวนมากกระจายผ่านหน้าต่างที่อยู่คนละตำแหน่งกัน ซึ่งมันน่าสนุกมากที่จะเล่นด้วย สุนทรียภาพที่เงียบขรึมและทำเลที่ตั้งระหว่างกรุงเทพฯ เก่าและใหม่ ทำให้เป็นสถานที่ที่สมบูรณ์แบบสำหรับการจัดนิทรรศการ

art4d: เราสนใจงานเซรามิคของ Claude Eigan อย่างมาก ซึ่งมันมีน้ำหยดลงมาจากผลงานบางชิ้น คุณช่วยบอกเราได้ไหมว่ามันทำงานอย่างไร พร้อมกับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลงานชิ้นนี้ มันคือเห็บใช่ไหม ทำไมต้องเป็นเห็บ?

TD: มันคือเห็บ แมลงตัวเล็ก ๆ ที่มันเกาะตัวเองติดกับร่างกายมนุษย์ บางครั้งอยู่หลังใบหูหรือใต้รักแร้ และดูดเลือด พวกมันเป็นอันตรายเพราะสามารถแพร่เชื้อโรคได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณไม่ใช้เครื่องมือพิเศษในการกำจัดมันออก พวกมันบางชิ้นที่นี่มีน้ำหยดซึ่งไม่ใช่ทั้งหมด น้ำตกลงสู่รางน้ำโลหะและผ่านไมโครโฟนและลำโพงแบบที่ติดตั้งอยู่ เสียงจะถูกขยายและกระจายไปทั่วพื้นที่ ความคิดที่ว่าน้ำหยดสะท้อนถึงความจริงที่ว่าบางครั้งเห็บกินของเหลวมากเกินไปและอาจจะตัวระเบิดได้

art4d: งานของ Saskia Fischer ก็น่าทึ่งเช่นกัน คุณช่วยอธิบายเกี่ยวกับแนวคิดของดอกไม้เหล่านั้นให้ละเอียดขึ้นหน่อยได้ไหม?

TD: ขอบคุณ! นี่เป็นงานเฉพาะพื้นที่โดย Saskia Fischer ผู้ที่หาแหล่งวัสดุดอกไม้ที่ตลาดดอกไม้ท้องถิ่นในกรุงเทพฯ บางส่วนของดอกไม้สะท้อนถึงเรื่องของศาสนา เช่น ดอกบัว และบางส่วนเกี่ยวกับความเป็นผู้หญิง พวกเขายังเพิ่มความรู้สึกชั่วขณะให้กับงาน เนื่องจากดอกไม้จะเปลี่ยนไปและค่อย ๆ พัฒนาขึ้นตลอดนิทรรศการ

art4d: สุดท้ายนี้ คุณมีอะไรจะคุณมีอะไรจะพูดกับผู้ชมไหม?

TD: ผมอยากให้ผู้ชมนิทรรศการรู้สึกว่าได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น และผมหวังว่าความคิดและการร่วมกันที่ผมต้องการสร้างขึ้นในขณะที่จัดการแสดงครั้งนี้จะเป็นไปตามเป้าหมาย และผมอยากจะบอกว่าถ้าใครมีคำถามอะไร ผมยินดีที่จะตอบนะครับ!

หลังจากที่เราได้พาทุกคนไปชมนิทรรศการผ่านอักษร ภาพประกอบและบทสนทนา คงอาจทำให้ใครหลายคนอยากลองไปดื่มด่ำกับบรรยากาศและสัมผัสกับผลงานศิลปะจากเก้าศิลปินในนิทรรศการ ‘stricte intimité’ พร้อมกับร่วมการสังเกตและตั้งคำถามร่วมไปกับ ‘ความเคยชิน’ เหล่านี้ที่รู้สึกเป็นความเคยชินจากการชินชา หรือทำจนคุ้นชินเป็นเรื่องปกติธรรมดาจนลืมไปเลยว่าสิ่งต่าง ๆ นั้นถูกกำกับให้เคยชิน ทุกท่านสามารถมาร่วมสงสัย ตั้งคำถาม หรือนิ่งเฉย ผ่านนิทรรศการ ‘stricte intimité’ ได้ตั้งแต่วันนี้จนกระทั่งวันที่ 26 มีนาคม 2565 ที่ The Shophouse 1527 นอกจากผลงานที่จัดวางในนิทรรศการแล้ว ยังมีงานเสวนาออนไลน์ เพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ต และวงสนทนาที่กำลังจะเกิดขึ้นระหว่างการจัดนิทรรศการ

fb.com/theshophouse1527

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *