YA-SA-NAN HOUSE

PVWB Studio เปลี่ยนอาคารตึกแถวไม้ของร้าน ‘ยาสนั่น’ ให้กลายเป็น ‘บ้านยาสนั่น’ อันอบอุ่นและกลมกลืนกับตลาดรอบข้าง ที่เป็นทั้งที่อยู่อาศัยและร้านค้าสำหรับดำเนินธุรกิจของครอบครัว

TEXT: PICHAPOHN SINGNIMITTRAKUL
PHOTO: APININE THASSANOPAS (FANGBAKII) EXCEPT AS NOTED

(For English, press here

จากความต้องการรื้อถอนร้านขายยา ‘ยาสนั่น’ อาคารโครงสร้างไม้ใจกลางตลาด อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้กลายที่ดินเปล่าสำหรับปลูกสร้าง ‘บ้านยาสนั่น (Ya-Sa-Nan House)’ อาคารหลังใหม่ที่เป็นทั้งร้านขายยาและบ้านพักอาศัยของคนในครอบครัว วิชญ์วัส บุญประสงค์ พัสวี ว่องเจริญ และพีรพัทธ์ สิงคาลวสนิช ทีมสถาปนิกจาก PVWB Studio ผู้ออกแบบ Ya-Sa-Nan House หลังนี้เริ่มต้นการออกแบบด้วยการทำความเข้าใจกับโจทย์ที่ได้รับทีละข้อ โจทย์ข้อแรกเป็นเรื่องของการศึกษาข้อจำกัดและบริบทที่ดิน ซึ่งมีลักษณะเป็นที่ดินหน้าแคบ 9 เมตร ลึก 35 เมตร หากดูจากมาสเตอร์แปลนจะพบว่าที่ดินมีลักษณะยาวและลึกเข้าไปจรดกับซอยหลังตลาด และด้วยข้อกฎหมายว่าด้วยเรื่องที่ว่างภายในตึกแถว ทีมสถาปนิกจึงเริ่มจากการแบ่งก้อนอาคารออกเป็น 2 ก้อนอย่างชัดเจน โดยกำหนดให้ฟังก์ชั่นอาคารก้อนที่ 1 ติดถนนสัญจรหลักหน้าตลาดทำหน้าที่เป็นร้านขายยา และก้อนที่ 2 ติดซอยเล็กๆ หลังตลาดทำหน้าที่เป็นบ้านพักอาศัย คั่นด้วยคอร์ทยาร์ดตรงกลาง

ส่วนรายละเอียดในการออกแบบภายในร้านขายยาและบ้านพักอาศัย วิชญ์วัสเล่าว่า ร้านขายยาโดยทั่วไปมักมีมาตรฐานที่ถูกกำหนดตายตัวอยู่แล้ว แต่เรื่องของดีไซน์ทางทีม PVWB ได้พยายามหยิบองค์ประกอบที่น่าสนใจเกี่ยวกับร้านขายยามาตีความและสะท้อนให้เห็นในแต่ละรายละเอียดของงานออกแบบ เช่น เคาน์เตอร์ภายในร้านและ façade ด้านหน้าอาคาร ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเม็ดยาและแคปซูลยา ซึ่งมีลักษณะที่คุ้นชินเป็นเม็ดวงกลมและวงรี รวมถึงมีเส้นโค้งมนที่ช่วยเพิ่มความรู้สึกอ่อนโยนและเป็นมิตรให้กับบรรยากาศภายในร้านได้เป็นอย่างดี ส่วนเม็ดยาบนแผงเหล็กฟาซาดถูกนำมาจัดวางเป็นแพทเทิร์นสลับทึบโปร่ง เพื่อให้ด้านหน้าอาคารดูไม่ปิดทึบจนเกินไป และมีลูกเล่นมากขึ้น

โจทย์ที่ 2 คือเรื่องของการสร้างความรู้สึกที่ตัดขาดระหว่างร้านขายยาซึ่งเป็นพื้นที่ทำงาน ให้แยกตัวออกจากส่วนของบ้านซึ่งเป็นพื้นที่พักอาศัย พื้นที่ว่างระหว่างการแบ่งก้อนอาคารจึงถูกออกแบบให้เป็นโถงเล็กๆ สำหรับการเปลี่ยนผ่านความรู้สึก ร่วมกับการเปิดช่องแสงจากหลังคาลงมาเพื่อรับแสงธรรมชาติระหว่างวัน และให้ความรู้สึกเหมือนเป็นพื้นที่ outdoor นอกตัวบ้านมากกว่าพื้นที่ใช้งานภายในบ้าน จากนั้นจึงค่อยๆ เปลี่ยนผ่านบรรยากาศเข้ามาเป็นโซนบ้านพักอาศัย ซึ่งสถาปนิกได้ยกระดับพื้นขึ้นเล็กน้อย เพื่อสร้างการรับรู้ของการเปลี่ยนพื้นที่ใช้งาน และด้วยโจทย์ย่อยของเจ้าของบ้านที่ต้องการให้พื้นที่ภายในบ้านมีความเรียบง่ายและสมาชิกในครอบครัวสามารถใช้งานได้อย่างยืดหยุ่น การออกแบบส่วนบ้านพักอาศัยบริเวณพื้นที่ใช้งานหลักชั้น 1 จึงถูกออกแบบให้มีลักษณะเป็น open plan และใช้วิธียกพื้นในบางจุดเพื่อแบ่งสัดส่วนพื้นที่ใช้งานแทนการปิดกั้นด้วยผนัง ซึ่งทำให้ฟังก์ชั่นที่ประกอบด้วย ส่วนนั่งเล่น ส่วนทานข้าว pantry และครัวไทย เกิดความเชื่อมโยงกัน และทำให้ผู้อยู่อาศัยสามารถใกล้ชิดกันได้มากขึ้นคล้ายกับได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกันตลอดเวลา

ส่วนห้องน้ำและห้องนอนอีก 2 ห้องในพื้นที่ชั้น 1 สถาปนิกได้จัดวางห้องนอนใหญ่หรือห้องนอนของคุณพ่อคุณแม่ให้อยู่มุมท้ายสุดของบ้าน และอีกห้องอยู่ติดกับโซน living ซึ่งห้องนอนส่วนนี้เจ้าของบ้านตั้งใจให้เป็นห้องนอนสำหรับรับรองแขกที่อาจไม่ได้ถูกใช้งานบ่อยนัก แต่ก็อยากให้เกิดความเป็นส่วนตัวเมื่อจำเป็นต้องถูกใช้งาน สถาปนิกจึงนำบานเฟี้ยมจากอาคารไม้หลังเดิมที่ถูกรื้อถอนออกไปมาทำสีใหม่ และใช้งานเป็นฉากกั้นซ่อนห้องนอนส่วนนี้เอาไว้เบื้องหลัง สำหรับพื้นที่ชั้น 2 ประกอบด้วย ห้องนอน 3 ห้องนอน ซึ่งเป็นห้องนอนของลูกสาวผู้เป็นเภสัชกร ห้องนอนของพี่ชายที่มาเยี่ยมเยือนเป็นครั้งคราว และห้องอเนกประสงค์อีก 1 ห้อง

โจทย์สุดท้ายนับว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับสถาปนิกพอสมควร นั่นคือการนำไม้ทั้งหมด 3 ประเภท ได้แก่ ไม้เดิมจากอาคารเก่าที่ถูกรื้อถอน ไม้ที่ครอบครัวปลูกไว้ และไม้ที่เลือกซื้อเขามาใหม่ นำมาออกแบบบ้านให้เกิดความลงตัวมากที่สุด แม้สีและลวดลายของไม้ พื้นผิว และคุณสมบัติของไม้แต่ละชนิด จะมีความแตกต่างกันก็ตาม

“โจทย์การนำไม้แต่ละประเภทมาใช้งานผสมผสานกัน เป็นโจทย์ของทางคุณพ่อ ที่อยากให้เรานำไม้ที่เค้าปลูกไว้ ชื่อว่า ‘ไม้เทียม’ (ชาวบ้านในแถบภาคใต้เคยเรียกกันในชื่อเดิมว่าไม้สะเดาเทียม หรือไม้สะเดาช้าง) มาใช้ในงานออกแบบด้วย โดยไม้เทียมจะเป็นไม้สีอ่อนที่เห็นได้ในส่วนของระเบียงชั้นลอย ส่วนไม้เดิมจะมีสีเข้ม และไม้ที่ซื้อเพิ่มจะใช้กับงานพื้นเท่านั้น จริงๆ เราใช้คละๆ กันเลย อย่างบานเฟี้ยมเนื้อไม้และสีของไม้ก็ค่อนข้างเก่ามากแล้ว รวมถึงทางลูกสาวก็เป็นคนชอบแนวมินิมอลไม่ชอบไม้สีเข้มๆ เราจึงทำสีน้ำเงินทับลงไป”

ขยับมาในส่วนสุดท้ายของอาคาร ซึ่งจะเรียกว่าหลังบ้านก็ไม่ใช่ หรือหน้าบ้านก็ไม่เชิง เพราะสถาปนิกได้ออกแบบรั้วตะแกรงเหล็ก พร้อมกับสวนเล็กๆ และชานบ้านสำหรับนั่งเล่นให้กับพื้นที่ส่วนนี้ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเป็นพื้นที่ด้านหน้าของบ้านเดี่ยวมากกว่าเป็นอาคารตึกแถว รวมถึง façade ฝั่งนี้ยังแตกต่างจากฝั่งของร้านขายยา ด้วยที่สถาปนิกเลือกใช้เป็นเพียงหน้าต่างบานไม้ง่ายๆ เพื่อให้เกิดความกลมกลืนกับบริบทของบ้านไม้ในซอยนั้น

มาถึงตรงนี้คงเห็นแล้วว่ารายละเอียดในงานออกแบบของ กับ Ya-Sa-Nan House หลังนี้ คือการสร้าง sequence หรือทำให้ทุกพื้นที่ค่อยๆ เชื่อมโยงกันมาอย่างต่อเนื่องตามลำดับ ตั้งแต่ ร้านขายยา โถง พื้นที่นั่งเล่น ครัว มาจนถึงพื้นที่สวน และชานทางเข้าอีกฝั่งของตัวบ้าน ซึ่งแต่ละพื้นที่ยังประกอบไปด้วยฟังก์ชั่นยิบย่อย ที่ดูเผินๆ อาจจะดูเรียบง่าย แต่แท้จริงแล้วกลับเต็มไปด้วยรายละเอียดและความใส่ใจ “งานนี้มีโจทย์ให้เราจัดการเยอะมาก เรารู้สึกว่าเป็นบ้านที่ทำแล้วสนุกที่สุดที่เคยทำมา เพราะโจทย์เยอะและเราก็อยากทำให้ครบถ้วนทุกรายละเอียดที่เจ้าของบ้านต้องการจริงๆ ไซต์พิเศษ โจทย์พิเศษ และวัสดุพิเศษ เราจะทำยังไงให้ทุกอย่างเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งมันท้าทายและทำให้ทีมเรารู้สึกสนุกอยู่ตลอดเวลา” วิชญ์วัสเสริม

Pvwbstudio.com

Fb.com/pvwbstudio

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *