YARINDA BUNNAG

หลังจากคุ้นเคยกันดีกับญารินดา บุนนาคในบทบาทศิลปิน และนักแสดง ไปรู้จักกับบทบาทของเธอในพื้นที่ของงานสถาปัตยกรรม ทั้งการเป็นอาจารย์ สถาปนิก และผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอ ‘Imaginary Objects’

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO COURTESY OF IMAGINARY OBJECT EXCEPT AS NOTED

(For English, press here

ตั้งแต่ภาพของสาวผมแดงที่ร้องเพลง ‘แค่ได้คิดถึง’ ไปจนถึงการรับบทแม่ผู้เหี้ยมโหดในซีรีส์ชื่อดัง ‘Girls from Nowhere’ ญารินดา บุนนาค คือชื่อที่หลายคนคุ้นชินในฐานะศิลปินและนักแสดงผู้ฝากผลงานไว้หลากหลาย แต่ในอีกมุมหนึ่งซึ่งเป็นมุมหลักของปัจจุบัน ญารินดายังสวมบทบาทเป็นอาจารย์ เป็นสถาปนิก และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอออกแบบสถาปัตยกรรมชื่อ ‘Imaginary Objects’ หรือเรียกสั้นๆว่า ‘iO’ ที่ผลงานมีความโดดเด่น มีตัวตนอันขี้เล่น และมีความหลากหลายทั้งรูปทรงและสีสัน สร้างสรรค์ประสบการณ์อันแปลกใหม่ให้กับคนที่ได้เห็น และคนที่ใช้งาน

ไปทำความรู้จักกับตัวตนของญารินดาในบทบาทสถาปนิก อาจารย์ รวมทั้งสตูดิโอ Imaginary Objects ของเธอว่า อะไรคือความเชื่อที่อยู่เบื้องหลังการออกแบบของออฟฟิศนี้

Den Playground l Photo courtesy of Imaginary Objects

Den Playground l Photo courtesy of Imaginary Objects

art4d: คุณเริ่มสนใจงานสถาปัตยกรรมได้อย่างไร

Yarinda Bunnag: ตอน ม.ปลาย ชอบดีไซน์ เรียนวิชาดีไซน์และเทคโนโลยี เรียนฟิสิกส์ แล้วก็เรียนเลข แล้วตอนนั้นไม่รู้จะต่ออะไรดี ก็คิดอยู่ว่าถ้าไม่ไป product design ก็จะไป mechanical engineering ไปสองอันนี้ค่ะ แล้วคุณพ่อก็บอก ทำไมไม่ลองเรียนสถาปัตย์ล่ะ เนี่ย มันผสมวิทย์กับศิลป์เข้าด้วยกันนะ ตอนนั้นเรายังไม่รู้จักเลยว่าสถาปัตย์คืออะไร รู้จักแต่พีระมิดกับหอไอเฟล แต่โชคดีว่าสอบติดคณะสถาปัตย์ที่ Cornell พอสอบติดมันก็เปลี่ยนชีวิตมากๆ 

art4d: เปลี่ยนอย่างไรบ้าง

YB: เรามาจากโรงเรียนหญิงล้วนที่อังกฤษที่เข้มงวดมากๆ แล้วเรารู้สึกไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ community เขา และทั้งชีวิตเราเรียนหญิงล้วนมาตลอดเลย ประถม มัธยม พอมา Cornell เราเจอเพื่อนจาก 50 ประเทศ คือทุกเพศสภาพ ทุกแนว พูดหลายภาษา มันเปิดโลกใหม่จริงๆ เรารู้สึกมันใช่ละ บวกกับวิธีการเรียนการสอนที่เจอ สิ่งที่เราได้ใช้เวลานั่งทำ นั่งวาด นั่งสร้าง พอได้มีโอกาสไปขลุกตรงนั้นจริงๆ แล้วรู้สึก นี่แหละ ใช่แล้วล่ะ และเราคิดว่าเป็นช่วงที่มันส์ที่สุดในชีวิตแล้ว

art4d: บรรยากาศตอนเรียนปริญญาตรีเป็นอย่างไรบ้าง

YB: ครูที่ Cornell ดีมากหลายคนเลย เรารู้สึกว่าครูที่ Cornell เขาตั้งใจจริงๆ เราประทับใจมากๆ เราสนิทกับครูจริงๆ ครูไม่ไปไหนเลย ครูอยู่ที่นั่น อย่างน้อยในยุคนั้น เราไปบาร์กับเขาได้ เขาอยู่กับเราดึก นั่งคุยงานนู่นนี่ เหมือนเขาเป็นครอบครัวกับเรา แล้วเขาทุ่มเทจริงๆไม่รู้เพราะ Cornell มันเหมือนติดเกาะหรือเปล่า เพราะมันห่างไกลความเจริญมากๆ อยู่บนยอดเขาล้อมรอบด้วยเหวและน้ำตก

art4d: หลังจากเรียนจบแล้วมาทำอะไรต่อ

YB: ตอนเรียนตรี เรารู้สึกว่าชอบอาจารย์ รักอาจารย์มาก รู้สึกว่า โห สิ่งที่เขาให้กับเรามันเยอะมาก เขาให้มุมมอง ให้วิธีคิด ก็เลยรู้สึกว่าอยากจะลองเป็นอาจารย์ดู พอดีตอนจบมา ทางคณะนิเทศศาสตร์ เขาเปิดรับสมัครอาจารย์หลักสูตรนานาชาติพอดี เราก็ไปสมัคร เป็นอาจารย์ lecture course วิชา Art Appreciation 

พอไปสอน ก็ชอบ แต่ค้นพบว่ามันก็ไม่ตรงสายกับเรา แล้วเป็นสอน lecture ด้วย ซึ่งจริงๆ เราจะชอบ studio มากกว่า ก็เลยหยุดตรงนั้นไป แล้วเริ่มไปทำงานที่ DBALP กับพี่ด้วง (ดวงฤทธิ์ บุนนาค)

Residence Villa Noi l Photo courtesy of DBALP

พอทำงานกับพี่ด้วงไปซัก 3-4 ปี ก็มาทราบว่ามีหลักสูตร INDA (International Program in Design and Architecture) ที่ คณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ เปิดใหม่ แล้วเริ่มมีการหาอาจารย์ เราก็เลยลองไปสมัคร  เราก็รักการสอนมาก แต่พอสอนไปซักพัก ก็เริ่มรู้สึกตัวเองไม่ฉลาดพอที่จะไปเป็นอาจารย์จริงจัง (หัวเราะ) อยากจะไปหาความรู้เพิ่มเติม เลยตัดสินใจไปเรียนต่อโทที่ Harvard GSD พอจบโทก็กลับมาสอนต่ออีก

art4d: แล้วบรรยากาศตอนที่ไปเรียนต่อโทเป็นอย่างไร 

YB: จาก passion ของการอยากเป็นครู ตอนไปเรียนโท กลายเป็นว่า เราไม่ได้อยากเรียนเพราะอยากได้ข้อมูลวิชาการอย่างเดียว แต่เราไปเรียนเพราะอยากรู้ว่าครูที่มหาวิทยาลัยอย่าง Harvard เขาสอนกันอย่างไร ครูที่ดีเป็นอย่างไร ครูที่ห่วยเป็นอย่างไร แล้วเราก็เจอมาทั้งคู่เลย พอกลับมาสอนก็รู้แล้วว่าอาจารย์แบบไหนที่เราไม่อยากเป็น (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นเวลาสอน เราจะพยายามเตือนตัวเองว่า โปรเจ็คต์ของนักเรียนในสตูดิโอเนี่ย ไม่ใช่โปรเจ็คต์ของเรานะ เพราะฉะนั้นเราจะไม่พยายามไปเป็น mastermind ในโปรเจ็คต์ของลูกศิษย์ แต่พยายามให้เขาค้นหาทิศทางของเขา เพราะฉะนั้น เราก็จะหวังว่างานที่ออกมาในสตูดิโอของเราจะมีความหลากหลายในวิธีและแนวความคิด ไม่ใช่ทุกคนออกมาแล้วมีลายเซ็นเราอยู่ในนั้นหมดเลย เพราะสุดท้ายเราไม่ได้อยากให้เด็กเรียนแค่ข้อมูลที่เราให้ แต่ชวนเขาตั้งคำถามว่า สิ่งที่เขาอยากได้กลับไปคืออะไร แล้วอะไรคือสิ่งที่เราอยากจะมาเรียนกันในวันนี้ 

art4d: ยกตัวอย่างวิธีการสอนของคุณให้เราฟังหน่อย

YB: ตอนที่กลับมาแล้วสอนที่ INDA เคยทำสตูดิโอนึง ตั้งชื่อว่า Dencity หรือเมืองที่หนาแน่น เราให้ site โปรเจ็คต์อยู่ที่ฮ่องกง และต้องการให้เด็กออกแบบ residential typology แบบใหม่สำหรับเมืองที่มีความหนาแน่นมากๆ ในอนาคต 

วิธีที่เรา shape หลักสูตรของสตูดิโอเราก็คือ เฟสแรก เราเริ่มให้นิสิตทุกคนออกแบบบ้านที่มีความใหญ่แค่ 4 ตารางเมตร คือแค่ 4 ตารางเมตร เราจะออกแบบบ้านได้อย่างไร โดยเริ่มจากการสำรวจบ้านของตัวเองก่อนว่าเขาใช้ชีวิตอย่างไร และให้ทำ prototype ขึ้นมาจริงๆ เลยในคอร์ทของคณะ เฟสต่อมา เราก็ให้เด็กไปทำ research เกี่ยวกับฮ่องกง ไปดูว่ามีประเด็นอะไรเกี่ยวกับการอยู่อาศัยที่เขาสนใจ แต่ละคนก็เลือกคนละประเด็นกัน อย่างเช่น การจัดการขยะ หรือ การขนส่ง แล้วเราก็ให้สิ่งนั้นมาเป็นแรงบันดาลใจออกแบบตัวอาคาร โดยไม่ได้บอกว่าต้องเป็นตึกกี่ชั้น กี่ตารางเมตร หรือเป็นอาคารพักอาศัยแบบไหน แค่บอกว่าเป็น residential นะ

art4d: ก่อนหน้าที่คุณจะมาเปิดออฟฟิศเอง คุณเคยทำงานกับทั้งออฟฟิศ DBALP และ Hypothesis ได้เรียนรู้อะไรจากการทำงานทั้งสองที่นี้

YB: ตอนนั้นที่ DBALP เขามอบหมายให้ junior คนนึงเอางานไปดูแลตั้งแต่คอนเซปต์จนถึงก่อสร้างหน้างาน ทำให้เราเข้าใจการทำงานตั้งแต่ต้นจนจบ 

การทำงานกับ Hypothesis ก็เป็นอีกบทบาทนึง เรามาเป็น Design Director คู่กับบิว (มนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา) และ กอล์ฟ (เจษฎา เตลัมพุสุทธิ์) ที่นี่ก็ทำให้เราได้รู้ว่าเราชอบทำงานแบบไหน การบริหารคนและองค์กรต้องทำอย่างไร

art4d: ทีนี้อยากให้พูดถึงการก่อตั้งสตูดิโอ Imaginary Objects ขึ้นมาว่าเริ่มได้อย่างไร และตั้งใจอยากให้มันเป็นอย่างไร

YB: จริงๆ ไม่เคยคิดเลยว่าจะเปิดออฟฟิศ แต่ว่าพอดี Roberto Requejo เพื่อนสนิทที่จบ Cornell มาด้วยกัน เขาทำงานอยู่ที่ OMA มาประมาณ 8 ปีแล้ว และเหมือนอิ่มตัว แล้วหันไปเป็นอาจารย์ที่ Hong Kong University แทน เขาก็มีเวลาว่างมากขึ้น เราก็เลยคุยกันว่ามาลองเปิดออฟฟิศดูไหม โดยเราทำ full time อยู่ที่เมืองไทย เขาทำ part time และอยู่ประจำที่ฮ่องกง และเราก็ตั้งทีมอยู่ที่เมืองไทย

Imaginary + Objects เป็นสองคำที่ตัวเราและ Roberto คิดว่านิยามลักษณะงานสถาปัตยกรรมที่เราสองคนชอบ และนิยามแนวทางการทำงานของออฟฟิศเรา เรามองว่า 2 คำนี้จริงๆ มันตรงกันข้ามกัน Imaginary คือสิ่งที่อยู่ในจินตนาการ ไม่ได้เป็นรูปธรรม ซึ่งหลายๆ ครั้งเวลาออกแบบเราจะหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่อยู่ในจินตนาการ ใช้ไอเดียไปกับการคิดสิ่งใหม่ๆ ประสบการณ์ใหม่ๆ ในทางกลับกัน Objects คือวัตถุที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ และสถาปัตยกรรมก็เป็น object ชนิดหนึ่งเช่นกัน และเป็น object ที่ต้องตอบสนองกับ function และข้อจำกัดมากมายของโลกแห่งความจริง เพราะฉะนั้นในการออกแบบ เราต้องกระโดดไปมาระหว่าง reality กับ imagination อยู่เสมอ และงานของเราก็เป็นผลลัพธ์ของการคาบเกี่ยวกันของสองมิตินี้

Thawsi Playgroud l Photo: Ketsiree Wongwan

Thawsi Playgroud l Photo: Ketsiree Wongwan

art4d: สิ่งที่ Imaginary Objects คิดหรือตั้งเป็นหัวใจหลักเวลาออกแบบคืออะไร

YB: เราเชื่อว่าสถาปัตยกรรมมีผลโดยตรงกับคุณภาพชีวิตของคน มันสามารถทำให้คนอิ่มเอมได้ และเราอยากบ่งบอกว่าคนเราไม่ได้มีวิธีการใช้ชีวิต การทำงาน หรือการเล่นเพียงแบบเดียว เราพยายามคิดงานรูปแบบใหม่ๆ เพื่อเติมเต็มประสบการณ์การใช้ชีวิต อาจจะสรุปรวมหัวใจการออกแบบของเราได้เป็นสามข้อหลักๆ คือ

1. การทำสิ่งธรรมดาให้มีความพิเศษ เราพยายามสร้างสรรค์รูปทรงและสเปซในรูปแบบที่แตกต่าง แต่ขณะเดียวกันมันก็ต้องใช้งานได้จริงด้วย อย่างเช่น สนามเด็กเล่น ก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนสนามเด็กเล่นในแบบที่คุ้นเคย หรือคอนโดที่ทำอยู่ตอนนี้ เราก็คุยกับลูกค้าว่าจะทำที่อยู่อาศัยอย่างไรให้มันอยู่ร่วมกับโควิดได้ จากคอนโดปกติที่มีพื้นที่ภายในส่วนใหญ่ มีระเบียงเล็กๆ เราก็เปลี่ยนให้สามารถเปิดห้องทั้งห้องเป็นพื้นที่ outdoor ได้

Den Playgroud l Photo: Ketsiree Wongwan

Den Playgroud l Photo: Ketsiree Wongwan

2. ใช้ข้อจำกัดให้เป็นโอกาส เราเชื่อว่าโครงการจะแปลกใหม่ได้หากมันตอบรับกับบริบทและข้อจำกัดที่มี และเราใช้ข้อจำกัดในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เพื่อไม่ให้แต่ละโครงการเป็นแค่การตอบโจทย์เรื่องเงินหรือการใช้งานเพียงอย่างเดียว

3. เรามองสถาปัตยกรรมว่าเกิดจากการผสมผสานระหว่างวัตถุหลากหลาย งานออกแบบของเราจะดูมีความขี้เล่น เหมือนกับเป็นการนำองค์ประกอบที่แตกต่างมาผสมผสานกันจนเกิดเป็นสเปซและรูปทรงสถาปัตยกรรม วิธีนี้ทำให้งานออกแบบเราปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ มีความยืดหยุ่น และมีรูปทรงที่หลากหลาย ทำให้ไม่ได้มีภาพจำแค่หนึ่งเดียว ผลงานเป็นเหมือนกลุ่มก้อนขององค์ประกอบที่เบลอขอบเขตระหว่างวัตถุกับสถาปัตยกรรม ฟอร์มและสเปซ

art4d: ยกตัวอย่างโปรเจ็คต์ที่ออฟฟิศของคุณทำให้เราฟังหน่อย 

YB: อย่างเช่น โปรเจ็คต์ renovate มหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ ที่เราทำร่วมกับสตูดิโอ Hypothesis มันเริ่มจากมหาวิทยาลัยเขาต้องการเปลี่ยนวิธีการสอน จากสมัยก่อนที่เด็กนั่งหลังห้อง ครูอยู่หน้าห้องสอนหน้ากระดาน เปลี่ยนเป็นการสอนแบบ workshop มี brainstorm session ปฏิสัมพันธ์ของครูกับนักเรียนมันเปลี่ยนไป เราเลยเสนอเอา built-in furniture ที่เคยอยู่ในห้องเรียนออกหมด แล้วใส่ furniture แบบลอยตัวเข้าไปแทน โต๊ะก็มีล้อ ผนังทุกผนังก็เขียนได้ นักเรียนจะ present งานจากหลังห้องก็ได้ ข้างห้องก็ได้

BU Classroom l Photo: Ketsiree Wongwan

พอพื้นที่ห้องเรียนมันไม่มี built-in furniture มากินที่ มันก็ขนาดเล็กลงได้ พื้นที่เหลือ เราก็มาทำเป็นคือ social space หรือ multi-purpose space ที่อยู่ระหว่างห้องเรียน ซึ่งกลายเป็นหัวใจหลักของโครงการ คนสามารถทำกิจกรรมอะไรตรงนี้ก็ได้ แล้วเราก็ออกแบบ object เหมือน furniture ชิ้นใหญ่ๆ สามชิ้น object พวกนี้คนจะใช้นั่งก็ได้ นอนก็ได้ นั่งล้อมวงประชุมก็ได้ จริงๆ มันก็คล้ายกับสนามเด็กเล่นเหมือนกัน

BU Classroom l Photo: Ketsiree Wongwan

หรือโปรเจ็คต์สนามเด็กเล่น อย่างเช่นสนามเด็กเล่นที่เราทำสำหรับงาน Bangkok Design Week 2020 โปรเจ็คต์นี้อาจเรียกว่าเป็นโปรเจ็คต์หนึ่งที่ชอบที่สุด ตอนนั้นเรามีไอเดียว่า กรุงเทพฯ มีพื้นที่เหลือใช้เยอะมากที่เป็นพื้นที่รกร้าง แต่เรารู้สึกว่าถ้าเราเอาสนามเด็กเล่นไปวางซักอัน มันจะเปลี่ยนความหมายของ space นั้นไปเลย เพราะพอเอาสนามเด็กเล่นไปวางปั้บ เด็กก็อยากมา พอเด็กมา พ่อแม่ก็ต้องมาด้วย พ่อแม่มา เพื่อนบ้านก็มากับลูก ก็เป็นที่ที่พ่อแม่มานั่ง hangout กัน มันจะกลายเป็นจุดดึงดูดของชุมชนได้เลย

Vespa Playground l Photo: Ketsiree Wongwan

Vespa Playground l Photo courtesy of Imaginary Objects

Vespa Playground l Photo courtesy of Imaginary Objects

พอเรามีไอเดียนี้ไปเสนอทาง CEA เขาก็ชอบไอเดีย เราก็เลยไปหา site มา 3 site คือแถวห้างดิโอลด์สยามพลาซ่า ตรงหน้าไปรษณีย์กลาง และอีกอันอยู่ที่ ACMEN Ekamai Complex 

พอทำปั้บ สิ่งที่ทำให้เรา happy มากคือผลลัพธ์ที่เราเห็น มันทันทีเลย อย่างอันที่ไปรษณีย์กลาง พอสร้างเสร็จยังไม่ทันเปิด เด็กในชุมชนก็ขี่จักรยานมาเล่น แล้วเด็กไปเล่นกันแบบโหดมาก เมามันมาก แล้วเราเห็นเขาหัวเราะ มันฟังดูน้ำเน่า แต่มันทำให้รู้สึกจริงๆ ว่าสิ่งที่เราทำมันทำให้คนมีความสุขได้ เด็กบางคนก็มาทุกวันเลย เหมือนเด็กกรุงเทพฯ มันโหยหา มันไม่มีพื้นที่ปลอดภัยให้ออกมาเล่น

อีกเหตุผลที่ชอบสนามเด็กเล่นก็เพราะเรารู้สึกว่ามันเป็นสถาปัตยกรรมที่สัมพันธ์กับร่างกายมนุษย์และ ergonomics อย่างแท้จริง อย่างอาคารทั่วไปวิธีการเราใช้ก็มักจะมีแค่ เดิน ยืน นั่ง นอนแต่สำหรับสนามเด็กเล่น เราต้องคำนึงถึงการคลาน การโหน การกระโดด การห้อยหัวด้วย เวลาออกแบบมันต้องคำนึงระนาบ 3 มิติมากๆ ไม่ใช่แค่พื้น ผนัง อย่างเดียว 

art4d: เห็นว่าคุณก็ยังทำบทบาทอื่นๆ อยู่ด้วย เช่นการเป็นนักแสดง อยากรู้ว่าบทบาทอื่นๆ ของคุณส่งอิทธิพลต่อการออกแบบสถาปัตยกรรมไหม 

YB: ไม่เลย เป็นคนละโลกกันเลย เคยคิดเหมือนกันว่ามันส่งผลกันมั้ย แต่ไม่ มันเป็นความสนใจคนละอย่าง และแต่ละบทบาทก็มีข้อจำกัดต่างกัน การทำเพลงเป็นอีโก้ส่วนตัวมาก ไม่ได้สนใจว่าใครจะฟังหรือไม่ฟัง แต่การทำตึกเรารู้สึกว่าเป็นการให้บริการนะ และไอเดียก็เป็นผลลัพธ์จากข้อจำกัดและปัจจัยภายนอกตัวมากมาย

art4d: ความฝันของญารินดาในฐานะสถาปนิกคืออะไร

YB: แค่อยากมีความสุขในการทำงานไปเรื่อยๆ อยากได้ทำโปรเจ็คต์ที่สนุก มีลูกค้าที่ดี แค่นี้ก็พอแล้ว

Den Playground l Photo: Ketsiree Wongwan

imaginaryobjects.co
fb.com/imaginaryobjects

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *