ADF MILANO SALONNE DESIGN AWARD 2022

ไปดูกันกับผลงานของผู้ชนะเลิศทั้งสามในงานประกวด ADF Milano Salonne Design Award 2022 ทั้งในสาขา Best Performance Award และ Outstanding Performance Award ภายใต้โจทย์ “re_”

TEXT: NATHATAI TANGCHADAKORN
PHOTO COURTESY OF ADF

(For English, press here

เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Aoyama Design Forum (ADF) ร่วมกับ Milano Salone (Salone Internazionale del Mobile) หรือที่รู้จักกันในชื่องาน Milan Design Week ได้จัดการประกวด “ADF Milano Salonne Design Award 2022” ขึ้น โดยแบ่งเป็นรางวัล Best Performance Award และ Outstanding Performance Award

การประกวดจัดขึ้นภายใต้โจทย์ “re_” ซึ่งให้อิสระแก่นักออกแบบในการตีความและนำมาใช้งานตามแบบของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น “reBORN”, “reCYCLE”, “reNOVATION” รวมถึงความเป็นไปได้อื่น ๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ประเภทของผลงานที่เข้าร่วมประกวดยังมีความหลากหลาย สามารถส่งได้ตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์ไปจนถึงงานสถาปัตยกรรม

คณะกรรมการทั้ง 4 ท่านมีเกณฑ์การตัดสินจาก Innovation, Originality, Extensibility, Functionality และ Communication space ได้แก่ Best Performance Award 1 รางวัล และ Outstanding Performance Award 2 รางวัล โดยผู้ชนะรางวัล Best Performance จะได้รับรางวัล 10,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ และสิทธิ์ในการจัดแสดงผลงานในงาน Milan Design Week 2022

การประกวดทั้ง 3 รางวัลถูกประกาศรายชื่อผู้ชนะเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2022 ที่ผ่านมา ซึ่งทางผู้จัดได้มีการเปิดเผยรายละเอียดผลงานของผู้ชนะเพิ่มเติมภายหลังการประกวด ดังนี้

Best Performance Award
“THE BEAUTY OF WASTING” โดย Lisa Ogawa และ Tomomi Kawashima
Refining the form
นักออกแบบทั้งสองกำลังพาเราสำรวจเสน่ห์ของธรรมชาติผ่าน ‘ก้อนหิน’ แสนแข็งกระด้างและเย็นเฉียบ ชุดเครื่องใช้ที่พบเห็นได้ทั่วไปตามบ้านเรือนอยู่ในรูปลักษณ์ของวัตถุอนินทรีย์สีเทาหม่น ‘ก้อนหิน’ เหล่านี้ถูกออกแบบให้มีโอกาสใกล้ชิดผู้ใช้งาน และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่แม้จะแตกหักหรือพังทลาย เรียบง่ายแต่ในขณะเดียวกันก็แสดงความถาวรเหนือกาลเวลา ใช้งานสะดวก และสามารถตีความโจทย์ได้ชัดเจนและตรงไปตรงมา

Outstanding Performance
“FEEL YOU” โดย Futa Kobayashi
Reimagining our space
สถาปัตยกรรมเคลื่อนที่ได้ชิ้นนี้ เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่เข้าไปด้านในปรับแต่ง ‘ระยะห่าง’ ของแต่ละคน มนุษย์ทุกคนย่อมมีสิ่งที่เรียกว่าพื้นที่ส่วนตัวซึ่งเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เราเดินหลบคนที่เดินสวนมาเพราะรู้สึกได้ถึงระยะของอีกฝ่าย ทางผู้ออกแบบจึงสรรค์สร้างความรู้สึกเหล่านั้นให้มีสัมผัสที่เป็นรูปธรรม ผ่าน ‘จุด’ และ ‘เส้น’ เมื่อเชื่อมต่อจุด (ข้อต่อไม้)และเส้น (เชือก) เข้าด้วยกันจะเกิดเป็นระยะใหม่ ๆ ให้ผู้ชมได้เข้าไปสัมผัสทั้งระยะห่างที่อึดอัดและสบายใจของตนเอง

“OUTSIDE/INSIDE” โดย Gaurav Wali และ Yashika Munjal
Rethinking the boundary
ด้านนอก/ด้านใน เป็นทั้งความหมายของชื่อและคำถามหลักของผลงาน การตีความทั้ง 2 คำนี้ผ่านสิ่งที่ควรจะแยกด้านนอกและด้านในชัดเจนอย่างภาชนะทรงแจกันนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายและน่าสนใจในตัวเอง นอกจากนี้ คู่หูนักออกแบบชาวอินเดียยังมีโจทย์ส่วนตัวที่ต้องการสร้างความรู้สึกราวกับอาศัยอยู่บนเชิงเขาหิมาลายัน ทั้งกลิ่นของป่าสนและเสียงลมกระทบใบไม้เสียดสี จึงนำมาสู่การออกแบบตัวแจกันด้วย ‘พุ่มเข็มสน’ ซึ่งมีความสวยงามหลากหลายรูปแบบเมื่อใส่ของใช้ลงไป

art4d ขอแสดงความยินดีกับทุกท่านที่ได้รับรางวัล มา ณ ที่นี้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *