FOLLY IN THE FOREST

ถึง Folly in the Forest โดย Bangkok Tokyo Architecture (BTA) จะดูเรียบง่ายและกลืนไปกับบริบทรอบข้างหาก แต่อาคารนี้กลับซ่อมความกำกวมขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมและวิธีการใช้งาน ที่เปิดโอกาสผู้ใช้งานได้ตีความอาคารออกมาด้วยตัวเอง

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: RATTHEE PHAISANCHOTSIRI

(For English, press here

‘Folly’ คือคำที่ใช้เรียกอาคารในงานแลนด์สเคปที่ไม่ได้มีฟังก์ชันอะไรพิเศษ เพียงแต่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเสริมทิวทัศน์ของสวนให้ดูสวยงาม สำหรับ Folly in the forest ผลงานออกแบบจาก Bangkok Tokyo Architecture (BTA) นอกจากอาคารจะเติมแต่งความสุนทรีย์ให้ภูมิทัศน์ผ่านรูปร่างหน้าตาอันเรียบง่ายและกลมกลืน อาคารก็แฝงด้วยมิติอีกหลากหลายที่ช่วยขับเน้นให้พื้นที่ดูมีชีวิตชีวา

Folly in the forest เป็นอาคาร multipurpose ที่ตั้งอยู่ในสวนป่าเล็กๆ ในย่านพักอาศัยของอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ อาคารนี้เกิดจากแนวคิดของเจ้าของที่ดินที่อยากสร้างพื้นที่พบปะของคนในชุมชน หลังจากที่ดินถูกปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ โดย BTA ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้สร้างสรรค์อาคารเพื่อรองรับการใช้งานของผู้คน

ลูกค้าต้องการนำที่ดินที่ไม่ได้มีประโยชน์มาสร้างอะไรบางอย่าง เหมือนเป็น community space สร้างกิจกรรมให้กับคนในพื้นที่ ตอนนี้เขาจัดเป็นตลาดที่เปิดให้คนท้องถิ่นเข้ามาขายของในวันเสาร์อาทิตย์ ส่วนวันธรรมดาก็เป็นศาลาสำหรับนั่งเล่นได้ ในขณะเดียวกัน โครงการนี้ก็ไม่ได้เป็นโครงการระยะยาว เราเลยต้องออกแบบอาคารให้มีความชั่วคราวเผื่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคตวทันยา จันทร์วิทัน สถาปนิกจาก BTA กล่าว

Folly in the forest มีหน้าตาเป็นเพิงขนาดย่อมๆ อันแสนสมถะ อาคารมีหลังคาที่ลาดเอียงจากฝั่งหนึ่งที่สูงกว่าสามเมตร มาสู่อีกฝั่งที่สูงเพียงประมาณ 1.70 เมตร ซึ่งบางคนต้องก้มหัวถึงจะลอดผ่าน ภายในอาคารมีโครงสร้างเสาเหล็กกลมที่วางเป็นทิวแถวอย่างเป็นระเบียบ และท่อเหล็กกลมวางพาดกากบาทที่คล้ายเป็นผืนผนังอันเบาบาง ด้านล่างมีแผ่นพื้นสี่เหลี่ยมที่ยกตัวขึ้นเล็กน้อย ซึ่งวางเกาะกลุ่มกันเป็นกลุ่มย่อยๆ วทันยาเล่าถึงที่มาขององค์ประกอบที่อยู่ข้างในว่า องค์ประกอบเหล่านี้ คือสิ่งที่เธอใส่เข้ามาเพื่อช่วยจุดประกายให้ผู้คนตีความวิธีใช้พื้นที่ได้อย่างหลากหลาย สอดรับกับความเป็น ‘multipurpose space’ ของอาคาร

เราจัดวาง element ภายในแบบสุ่ม อาคารไม่ได้มีทางเข้าออกชัดเจน คนจะสามารถเข้าทางไหนก็ได้ แผ่นพื้นที่ยกขึ้นก็เปิดโอกาสให้คนตีความสเปซได้หลายแบบ มันอาจจะเป็นพื้นที่สำหรับร้านค้าเวลามีตลาด หรือเป็นพื้นที่นั่งเล่นในเวลาอื่น slope ของหลังคาก็ทำให้สเปซข้างในมีความสูงที่ต่างกัน ทั้งหมดเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่หลากหลายและตีความได้หลายแบบผ่านการใช้ดีไซน์ที่เล็กน้อย เหมือนเวลามีต้นไม้ต้นหนึ่งกลางสวน พอคนเจอ คนก็จะมีวิธีตอบรับหลากหลาย บางคนไปนั่งเกาะ บางคนเอาเก้าอี้ไปวาง เอาเสื่อไปปูนั่ง เราเอาไอเดียของต้นไม้นี้มาใช้กับงานนี้

อาคารดูแนบเนียนไปกับธรรมชาติโดยรอบด้วยเสาเหล็กกลมเพรียวบางที่กลมกลืนกับต้นไม้ และหลังคาที่เสมือนปกคลุมด้วยกองใบไม้แห้ง ใบไม้เหล่านี้คือใบตองตึงแห้งที่ร่วงหล่นจากต้นตองตึงซึ่งพบได้มากในภาคเหนือและภาคอีสานของไทย ใบตองตึงยังเป็นวัสดุที่คนท้องถิ่นใช้ทำหลังคามาแต่ช้านาน BTA หยิบเอาวัสดุมาใช้มุงหลังคาโดยใช้วิธีก่อสร้างคล้ายวิธีดั้งเดิม จะแตกต่างไปหน่อยตรงที่มีการปูแผ่นกันซึมพร้อมการวางท่อนไม้ไผ่ยาวเป็นระยะๆ ในแนวใบไม้เพื่อช่วยให้หลังคาระบายน้ำได้ดีขึ้น BTA ยังฉีกออกไปจากวิธีการก่อสร้างดั้งเดิมด้วยการนำก้อนหินในไซต์มาวางทับแนวใบไม้เพื่อป้องกันใบไม้เผยอและทำให้น้ำซึมเข้า แทนการใช้ไม้ไผ่มาสานและทับด้านบนซึ่งเป็นวิธีท้องถิ่น 

ถ้าเอาไม้ไผ่มาวางข้างบน อาคารจะถูกรับรู้เป็นอาคารชัดเจน เราไม่ต้องการให้เป็นอย่างนั้น เราต้องการให้อาคารเป็นเพียง scenery หนึ่งของ landscape” วทันยาพูดถึงเหตุผลที่เลือกใช้หินทับแทนไม้ไผ่แบบดั้งเดิม 

ร่องรอยการลดทอนตัวอาคารให้ดูไม่เด่นชัด ยังพบได้ที่ข้อต่อของท่อเหล็กวงกลม ที่ BTA เลือกยึดท่อเหล็กเข้าด้้วยกันด้วยน็อต ไม่ใช่การใช้วิธีทั่วไปเช่นการใช้ข้อต่อแบบมือเสือ วทันยาเล่าว่าวิธีนี้ทำให้ท่อเหล็กแต่ละอันดูแยกชิ้นออกจากกัน ขับเน้นความรู้สึกว่าอาคารถูกสร้างจากการประกอบของชิ้นส่วนเล็กน้อย ไม่ใช่อาคารหลังใหญ่ และทำให้อาคารดูเบาบางเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของร่มเงาและแมกไม้

ไม่เพียงการสร้างตัวตนอันกำกวม BTA ยังสร้างภาษาอันกำกวมให้กับตัวงานเช่นกัน แทนที่จะนำวัสดุธรรมชาติมาใช้เป็นโครงสร้างอาคารเพื่อให้สอดคล้องกับหลังคาใบไม้และสภาพแวดล้อมเชียวชอุ่ม สถาปนิกกลับเลือกเสาเหล็กกลม galvanize ที่เป็นวัสดุอุตสาหกรรมมาเป็นโครงสร้าง ผลลัพธ์ก็คืออาคารที่มีทั้งภาษาแบบท้องถิ่น และภาษาแบบสากลผสมปนเปข้างใน ซึ่งมันก็ชวนให้ฉุกคิดว่า ตกลงแล้ว อาคารเป็นหรือไม่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติกันแน่

จากพื้นที่เดิมที่เป็นสวนรกร้าง วทันยา มองว่าการก่อร่าง Folly in the forest ขึ้นมาก็ช่วยดึงดูดให้พื้นที่นี้เกิดการใช้งาน และตัวตนของอาคารที่คลุมเครือ ก็ก่อให้เกิดบทสนทนาและการตีความของอาคารว่ามันคืออะไร จะใช้งานอย่างไรได้บ้าง และสิ่งที่ตามมาก็คือความมีชีวิตชีวาและมุมมองที่สดใหม่ของอาคาร และพื้นที่เอง

การสร้างสถาปัตยกรรมขึ้นมาตรงนี้ ก็อาจดีกว่าการปล่อยพื้นที่ไว้ให้รกร้างเปล่าๆ เพราะมันทำให้คนได้เข้ามาชื่นชม และใช้งานพื้นที่วทันยากล่าวเราเชื่อว่าสถาปัตยกรรมที่ดีมันควรจะสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับพื้นที่ และจุดประกายให้คนเกิดมุมมองใหม่ๆ ต่อพื้นที่ตามมา

fb.com/bangkoktokyoarchitecture

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *