BAKSTERS OFFICE

MUN Architect ใช้ประโยชน์จาก ‘ที่ว่าง’ เพื่อสร้างบรรยากาศผ่อนคลายให้กับพนักงานในออฟฟิศของบริษัท IT อย่าง Baksters ทั้งยังสอดแทรกความรู้สึกสนุกสนานลงไปในพื้นที่อันเต็มไปด้วยเส้นสายอันโฉบเฉี่ยวอย่างแนบเนียน

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: SOOPAKORN SRISAKUL EXCEPT AS NOTED

(For English, press here

หากใครได้มาเยือนที่ออฟฟิศของ Baksters บริษัท IT ผลิต software ประมวลผลภาพที่ผสมผสานเทคโนโลยี AI กับ Machine Learning ก็อาจจะนึกไปว่าที่นี่เป็นบ้านส่วนตัว หรือร้านกาแฟไปเสียมากกว่า เพราะบรรยากาศของออฟฟิศที่นี่ ช่างมีกลิ่นอายความเป็น ‘ออฟฟิศ’ ที่เบาบาง ไม่มีโต๊ะทำงานวางติดเป็นแถวเยอะๆ ให้เราเห็น ไม่มีห้องประชุมวางต่อเป็นพรืดให้เราเจอ มีแต่พื้นที่เปิดโล่งที่เชื่อมต่อแต่ละชั้นเข้าด้วยกัน พร้อมการเปิดรับแสงและบรรยากาศภายนอกเข้ามา ขณะเดียวกัน พื้นที่ทำงานที่นี่ก็ช่างมีบรรยากาศที่ดูผ่อนคลาย แตกต่างไปจากพื้นที่ทำงานที่หลายคนคุ้นชิน

“ผมคิดว่าถ้าผมทำงานอยู่ที่นี่ ต้องเขียนโปรแกรม อยู่หน้าจอคอมนานๆ ผมคงอยากอยู่ในพื้นที่ที่กลมกล่อม สมดุล สงบ สว่าง เงยหน้ามาเจอเงาใบไม้บนผนัง ทำให้ไม่เครียดเกินไป” พจนฤทธิ นิมิตรกุล สถาปนิกจาก MUN Architects เผยเบื้องหลังการออกแบบของออฟฟิศ Baksters ให้เราฟัง

Baksters เป็นออฟฟิศที่รีโนเวตจากอาคารตึกแถวสองห้องที่เคยเป็นร้านอาหารมาก่อน หน้าตาอาคารภายนอกคล้ายเป็นการบอกใบ้ถึงบรรยากาศและความพิเศษที่อยู่ภายใน หน้าต่างกระจกใสแต่ละชั้นของอาคารมีการเล่นกับระยะร่นเข้าร่นออกที่แตกต่างกัน ก่อให้เกิดพื้นที่ระเบียงภายนอกที่มีการปลูกต้นไม้ แต่งเติมความร่มรื่นเล็กๆ ให้กับอาคารและพื้นที่รอบๆ ที่อัดแน่นไปด้วยตึกแถว ก้อนอาคารด้านบนที่เหมือนแยกตัวออกมากำแพง และเขยิบกินพื้นที่เสาตรงกลาง ก็ทำให้อาคารดูกำลังเคลื่อนไหวอยู่ แม้จริงๆ มันจะอยู่นิ่งๆ ก็ตาม

Photo courtesy of MUN Architects

ออฟฟิศต้อนรับทุกคนที่เข้ามาด้วยห้องโถงโปร่งๆ ซึ่งมีเคาน์เตอร์ลอยตัวและโต๊ะตัวใหญ่ตั้งโดดเด่น แทนที่จะเป็นส่วนต้อนรับ ห้องนี้กลับให้ความรู้สึกเหมือนเป็นห้องรับประทานอาหารมากกว่า ผนังเหล็กสีดำและคอนกรีตเปลือยให้ความรู้สึกอันเข้มขรึม แต่เมื่อมีการกรุไม้ตะแบกคละลวดลายและสีสันที่ผนัง พื้นที่ก็ดูโอนอ่อนและสมดุลขึ้น พจนฤทธิบอกว่า เจ้าของโครงการต้องการให้คนที่เข้ามาได้ความรู้สึกเหมือนเข้าร้านกาแฟ เขาจึงออกแบบให้พื้นที่นี้เหมือนเป็นพื้นที่นั่งเล่นหรือรับประทานอาหารได้อย่างสบายอารมณ์ และเมื่อออฟฟิศนี้เปิดใช้งานจริง พื้นที่นี้ก็เป็นทั้งส่วนต้อนรับ เป็นที่รับประทานอาหาร พร้อมยังเป็นที่นั่งทำงาน ที่นั่งประชุม ที่เอื้อให้ทำงานได้อย่างผ่อนคลายเช่นกัน พื้นที่ด้านหลังของชั้นหนึ่ง คือห้องน้ำและห้องเก็บของที่ถูกแอบซ่อนไว้อย่างแนบเนียนหลังแนวกำแพงสีดำ

ระหว่างเดินขึ้นบันไดไปชั้นบนจะเจอกับสไลด์เดอร์สแตนเลสมันเงาวางควบคู่กับแนวบันได ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่เจ้าของต้องการใส่ในออฟฟิศเป็นพิเศษเพื่อเสริมความรู้สึก ‘สนุก’ ให้พื้นที่ทำงาน บริเวณชั้นลอยประกอบด้วยโต๊ะทำงานที่เปิดวิวออกไปหาโถงชั้นแรก พร้อมด้วยห้องประชุมขนาดย่อมในฝั่งตรงข้าม แม้ว่าห้องประชุมจะมีขนาดเล็ก แต่สถาปนิกก็ทำให้ห้องดูกว้างขวางขึ้น เหมาะกับการนั่งคิดงานนานๆ โดยไม่รู้สึกอึดอัด ด้วยการใส่คอร์ทเล็กๆ ที่เปิดรับแสงและบรรยากาศธรรมชาติ รวมไปถึงการออกแบบฝ้าให้ลาดเอียงขึ้น

จากบันไดชั้นลอยอันเล็กกระทัด จู่ๆ สเปซก็ระเบิดออกมา กลายเป็นโถงชั้นบนที่พื้นระหว่างชั้นบางส่วนถูกเจาะออกจนเกิดสเปซโล่งที่เชื่อมต่อไปถึงชั้นบนสุด สเปซยังดูโอ่โถงเพิ่มขึ้นด้วยแสงที่ลูบไล้เข้ามาผ่านช่อง skylight ด้านบน ซึ่งมีการปูตระแกรงระบายน้ำอีกชั้นเพื่อสร้างเอฟเฟกต์ให้แสงเสา และแสงจากช่องหน้าต่างด้านหน้าที่เปิดให้เห็นทิวทัศน์อันร่มรื่นจากต้นไม้บริเวณระเบียง ความโปร่งโล่งของโถงนี้ทำให้เราแทบจะลืมไปเสียเลยว่าตึกนี้เป็นเพียงแค่ห้องแถวสองห้องเท่านั้น นอกจากบรรยากาศโอ่โถงที่ชวนให้สมองได้ผ่อนคลายขยับขยายความคิด พื้นที่นี้ยังมีเฟอร์นิเจอร์ที่เอื้อให้ทำงานได้หลายอิริยาบถ เช่น เก้าอี้ bean bag โต๊ะญี่ปุ่น หรือบันไดขนาดใหญ่ที่ปรับใช้เป็นที่นั่งฟังบรรยาย หรือจัดกิจกรรมต่างๆ ภายใน ถ้ารู้สึกเหนื่อยล้า ใต้บันไดก็มีห้องเล็กๆ ให้พนักงานไปงีบพักสายตาก่อนกลับมาทำงานใหม่อีกด้วย

เหนือบันไดกลางขนาดใหญ่คือพื้นที่โต๊ะทำงานประจำที่จัดวางไว้ให้กับพนักงานที่อยากนั่งทำงานแบบมีที่ทางของตัวเอง พื้นที่ทำงานเชื่อมต่อกับสะพานที่ลอยกลางอากาศซึ่งนำไปสู่ห้องประชุมกรุกระจกใสหน้าตาโฉบเฉี่ยวที่เปรียบเป็นดั่งพระเอกของงาน ห้องประชุมวางตัวอยู่บนคานคอนกรีตอันเปลือยเปล่า ตัวห้องเฉียงออกไปจากแนวกริดอาคารและยื่นตัวทะลุออกไปสู่ภายนอก ลูกเล่นของห้องนี้ไม่ได้มีแค่การวางตัวของห้องเพียงอย่างเดียว เพราะโต๊ะที่อยู่ภายในก็พิเศษด้วยรูปทรง organic และขาโต๊ะที่วางเฉียง “ผมอยากให้ห้องนี้เป็นเหมือนศูนย์บัญชาการของอาคาร และเป็นตัวเชื่อมข้างในอาคารเข้ากับข้างนอกอาคาร” พจนฤทธิเล่า “ห้องนี้เราก็ออกแบบให้มีลูกเล่น ตามความต้องการเจ้าของที่อยากให้ที่ทำงานดูสนุก ดูเฟี้ยวฟ้าว”

ชั้นบนสุดของอาคารคือห้องประชุมที่สามารถมองมาโถงด้านล่างได้อย่างทั่วถึง ใกล้ๆ กันเป็นห้องนั่งเล่น และห้องนอน ที่เจ้าของเตรียมไว้รับรองลูกค้าที่มาจากที่ไกลๆ ได้ใช้พัก โดยไม่ต้องไปจองโรงแรมที่อื่น สถาปนิกใส่ผ้าม่านเพิ่มความส่วนตัวให้ที่พัก และก็ไม่ลืมเปิดมุมมองห้องไปสู่ระเบียงภายนอกที่มีต้นไม้อยู่เพื่อสร้างบรรยากาศที่ปลอดโปร่งและสดชื่น 

ถึง Baksters จะเปิดกว้างให้พนักงานทำงานที่บ้านได้ แต่พนักงานบางส่วนก็อยากเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศเพราะชื่นชอบกับบรรยากาศของออฟฟิศที่ดูสบายๆ แต่ก็มีความเท่ในตัว จากการออกแบบออฟฟิศที่เคยให้ค่ากับการใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทำงานได้คล่องตัวที่สุด ผลงานออฟฟิศ Baksters จาก MUN Architects กลับชี้ว่า สิ่งที่จับต้องไม่ได้ชัดเจน เช่น ความโล่งว่างที่เหมือนไม่มีประโยชน์อะไร บรรยากาศธรรมชาติ และความรู้สึกของคนที่อยู่ข้างใน ก็เป็นเรื่องที่พลิกพื้นที่ออฟฟิศไปได้เหมือนกัน

fb.com/munarchitecture

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *