RUAY MITR SATHORN

ศรันย์ เย็นปัญญาสร้างสรรค์ร้านข้าวต้มในย่านสาทรให้เต็มไปด้วย ‘Vibe’ ในแบบที่เป็นกันเองผ่านองค์ประกอบสุดครีเอทจากข้าวของธรรมดา พร้อมทั้งตีความร้านข้าวต้มกุ๊ยให้เป็นมากกว่าสถานที่กินข้าว หากแต่เป็นสถานที่พบปะของมิตรสหายหรือครอบครัว

TEXT : KITA THAPANAPHANNITIKUL
PHOTO : KETSIREE WONGWAN EXCEPT AS NOTED

(For English, press here

เมื่อพูดถึงร้านข้าวต้มกุ๊ย ภาพจำที่เด่นชัดน่าจะเป็นร้านริมถนนที่ตู้หน้าร้านแน่นขนัดไปด้วยวัตถุดิบสำหรับการรังสรรค์เมนูที่หลากหลาย พร้อมกับเสียงอึกทึกครึกโครมจากพ่อครัวที่หวดกระทะและตะหลิวอย่างชำนาญ และเสียงโหวกเหวกโวยวายของเฮียเจ้าของร้าน หากเป็นเวลากลางคืน ที่นั่งต่างๆ นั้นเต็มไปด้วยผู้คน บ้างเป็นครอบครัว บ้างกินคนเดียว หรือบางครั้งในเวลาอันสมควร นักท่องราตรีเพียงหาอะไรใส่ท้องก่อนเดินโซซัดโซเซกลับที่พัก ภาพของร้านข้าวต้มกุ๊ยผูกพันกับคนไทยด้วยความเป็นอะไรที่เข้าถึงง่าย เป็นมิตรและตอบโจทย์กับคนไทย ร้านข้าวต้มรวยมิตร สาทรตีความวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์นี้ใหม่ผ่านทั้งงานออกแบบในสิ่งที่เป็นกายภาพรวมถึง ‘Vibe’ ของร้านอาหาร ให้ร้านข้าวต้มเป็นมากกว่าสถานที่กินข้าวแต่บอกเล่าถึงบรรยากาศที่ผูกพันกับผู้คนที่ได้ใช้เวลา ณ ที่แห่งนี้

เมื่อเดินผ่านพื้นที่ชั้นหนึ่งอันเป็นห้องอาหารสุพรรณิการ์ที่เต็มไปด้วยความรู้สึกของการเป็นร้านอาหารครอบครัวที่เราต่างคุ้นชินในวันรวมญาติหรือการเฉลิมฉลองในวันสำคัญ กลับกันในพื้นที่ชั้นสามอันเป็นพื้นที่ของร้านข้าวต้มรวยมิตรนั้นความรู้สึกกับคล้ายว่าจะก้าวเข้าไปในโลกอีกใบ ความรู้สึกความสนุกสนานภายใต้สีสันอันหลากหลายแสดงออกอยู่ในภาพรวมของร้านข้าวต้มกุ๊ยแห่งนี้ เป็นความรุ่มรวยของความหลากหลายที่ไม่สามารถนิยามได้ว่าคือสไตล์แบบไหน จะบอกว่าเป็นนานาชาติก็ไม่ใช่ เป็นไทยก็ไม่เชิง คำจำกัดความของข้าวต้มแห่งนี้จึงอยู่ภายใต้คำว่ารูปแบบ ‘eclectic’ ที่ผู้ออกแบบอย่าง ศรัณย์ เย็นปัญญา ได้ตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อตอบรับกับความรู้สึกของร้านข้าวต้มกุ๊ย ไม่สำคัญว่าจะต้องไทยหรือนานาชาติ ขอเพียงแค่เป็นมิตรกับคนทั่วไป สบายๆ ไม่ต้องคิดอะไรเยอะ และที่สำคัญคือสร้างช่วงเวลาที่ดีแก่ผู้คนที่มาเป็นหมู่คณะก็เพียงพอ

จุดเริ่มต้นของความหลากหลายนั้นมาจากไอเดียของธัชชัย นาคพันธุ์ ในฐานะ CEO ของสุพรรณิการ์กรุ๊ปผู้เริ่มต้นข้าวต้มรวยมิตรว่าร้านข้าวต้มกุ๊ยก็คืออิซากายะในแบบไทยๆ เป็นร้านที่คนทั่วไปสามารถกินได้เรื่อยๆ ไม่เบื่อ เป็นร้านที่ไม่ต้องคิดอะไรเยอะ และที่สำคัญคือเป็นร้านที่มากันเป็นหมู่คณะ จึงได้พัฒนาเมนูอาหารและ เครื่องดิ่มที่มีความหลากหลายบนพื้นฐานของความง่ายแบบร้านข้าวต้มกุ๊ย เช่นหมูสับต้มบ๊วยกลายเป็นหมูสับต้มอุเมะหรือบ๊วยดองแบบญี่ปุ่น ไข่เยี่ยวม้าที่กลายเป็นไข่เยี่ยวม้าทองคำ พร้อมกันนั้น เครื่องดื่มหลากสัญชาติตั้งแต่ไวน์ โซจู คอกเทล และที่ขาดไม่ได้ก็คือ ‘เบียร์วุ้น’ ล้วนกลายเป็นส่วนผสมสำคัญที่ผลักเน้นความหลากหลายของร้านต้มรวยมิตรและทำงานควบคู่กับงานออกแบบอย่างกลมกลืน

Tatchai Nakapan (Left) l Saran Yenpanya (Right)

ด้วยช่วงเวลาที่ค่อนข้างจำกัด งานออกแบบในร้านไม่ว่าจะเป็นของประกอบฉาก เฟอร์นิเจอร์ หรือจานชามนั้นล้วนแต่เป็นสิ่งที่เราต่างเห็นได้ในชีวิตประจำวันที่ถูกนำมาเรียบเรียงเสียใหม่ ศรัณย์หยิบจับของที่ถูกมองข้ามมาเล่าใหม่ผ่านความคิดสร้างสรรค์ ทั้งเฟอร์นิเจอร์ที่เพียงแต่นำของเดิมในร้านสุพรรณิการ์มาพ่นสีใหม่ ชั้นวางของที่ฉากหลังเป็นแผ่นวอลเปเปอร์ลายไม้ไผ่ราคาประหยัด (เราขอท้าท่านผู้อ่านว่าให้ลองเดินไปยังร้านตัดผมหรือร้านข้าวแกงแถวบ้าน จะพบกับวอลเปเปอร์หน้าตาแบบนี้ที่ติดอยู่บนผนังแบบขัดใจนักออกแบบสักหนึ่งร้านแน่นอน!) กระทั่งเก้าอี้พลาสติกลวดลายแบบจีนที่ช่างก่อสร้างในไซต์งานได้ลืมไว้ก็ถูกหยิบจับมาเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของงานออกแบบเช่นกัน ชวนให้เราคิดกันขำๆ ว่า งานออกแบบบางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องว่าถูกแพงแต่เป็น ‘ถูกที่ถูกเวลา’ เสียมากกว่า

อีกหนึ่งความท้าทายนั้นเกิดขึ้นเมื่อของเก่าบางอย่างนั้นทำไว้ดีมากแล้ว โครงสร้างหลังคาไม้เดิมที่ถูกออกแบบโดย onion นั้นถูกออกแบบให้รองรับกับรูปร่างหลังคาสี่เหลี่ยมคางหมูที่ไม่สมมาตร ความซับซ้อนของรูปทรงหลังคาทำให้โครงสร้างไม้ที่รองรับด้านใต้มีความซับซ้อนและเกิดเป็นความงามของโครงสร้างที่ศรัณย์มองว่าสามารถอยู่ร่วมกับงานออกแบบที่หลากหลายของร้านได้ ทำให้งานออกแบบของศรัณย์ที่เกิดขึ้นใหม่นั้นหยุดอยู่แค่ระดับสายตาเพื่อให้สิ่งที่อยู่เดิมอย่างหลังคาได้แสดงตัวตนออกมาอย่างเต็มที่ ศรัณย์เปรียบให้เราฟังว่า โครงสร้างหลังคาของ onion นี้คล้ายกับเสื้อตัวเดิม สิ่งที่เราทำคือเพียงแค่ตัดกางเกงตัวใหม่ที่ใส่เข้ากับตัวเดิมได้ และหากให้ดีกว่านั้น นักออกแบบที่ดีจะทำให้เสื้อตัวเดิมนั้นสวยขึ้นแม้ว่าจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร บรรยากาศของร้านที่เต็มไปด้วยความ ‘บ้านๆ’ ในด้านล่างแทรกตัวอย่างกลมกลืนและเปลี่ยนภาพพจน์ของโครงสร้างหลังคาที่เต็มไปด้วยจริตของภาษาสถาปัตยกรรม ก่อนหน้านี้ ผู้คนชื่นชมกับหลังคา metallic roof ผืนนี้ว่าขับเน้นเข้ากับบรรยากาศขาวๆ ของร้านสุพรรณนิการ์เดิม และหลังคาผืนเดิมนี้เองที่ทำให้ผู้คนบอกกับศรัณย์ว่า “หลังคาสังกะสีช่างเข้ากับบรรยากาศข้าวต้มกุ๊ยแบบนี้จริงเชียว”

Supanniga Eating Room designed by Onion l Photo courtesy of W Workspace

 

ศรัณย์ยืนกรานกับเราว่าเขาไม่ใช่ Interior Designer  เขามิได้จัดการอะไรกับงานโครงสร้างของสถาปัตยกรรมเพียงแต่น้อย เขาเพียงแต่ออกแบบบรรยากาศของร้านให้น่าอยู่ ให้บรรยากาศนั้นจรรโลงใจและมอบช่วงเวลาที่ดีให้กับผู้ใช้ และเผยให้เห็นสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในทุกงานสถาปัตยกรรมที่ผู้คนมักลืมออกแบบอย่าง ‘ความรู้สึก’ บ่อยครั้งงานสถาปัตยกรรมหรืองานตกแต่งภายในเป็นการออกแบบที่เน้นความเนี๊ยบเป๊ะในทุกรายละเอียดจนกลายเป็นความอึดอัด ร้านรวยมิตรแห่งนี้ทำทุกอย่างที่ตรงกันข้าม องค์ประกอบของชีวิตจริงที่ใส่ลงไปในงานออกแบบทำให้ผู้คนรู้สึกเข้าถึงและสัมผัสได้ง่าย ขวดน้ำปลาหรือปลากระป๋องที่มักถูกนำไปแอบในตู้ครัวกลายเป็นวัสดุตกแต่งที่สร้างความรู้สึกเหมือนอยู่ในครัวบ้านเพื่อน รูปภาพชวนทะเล้นก่อให้เกิดบทสนทนาระหว่างผู้คนร่วมโต๊ะ หรือแม้แต่เสียงเพียงที่เปิดคลอในร้านก็ยังเป็นเพลงฮิตที่ใครๆ ก็ต่างร้องตามกันได้ บอกเล่าเรื่องราวของร้านอาหารที่มากกว่าเพียงแต่สถานที่เพื่อรับประทานอาหาร หากแต่หมายถึงพื้นที่ทางสังคมที่ให้เราได้ใช้เวลากับเพื่อน กับครอบครัว ว่างๆ หิวๆ ลองแวะมายังร้านข้าวต้มรวยมิตรแห่งนี้ เพื่อดื่มด่ำบรรยากาศการพุ้ยข้าวต้มหรือแหกปากร้องเพลงไปพร้อมกับใครสักคน ที่หมายรวมถึงโต๊ะเรา มิตรสหายโต๊ะอื่นๆ และแน่นอน เฮียเจ้าของร้าน

fb.com/ruaymitr

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *