FROM INFRA-STRUCTURE TO INFRA-RCHITECTURE

คอลั่มน์ VIEWS โดย กุลธิดา ทรงกิตติภักดี และ Jenchieh Hung ครั้งนี้พาเราไปสำรวจอาคารสาธารณูปโภคของสตูดิโอ NODE Architecture & Urbanism ที่ตั้งคำถามว่า ‘สถาปัตยกรรมจะสามารถขับเคลื่อนเมืองได้อย่างไร?’

TEXT: KULTHIDA SONGKITTIPAKDEE AND JENCHIEH HUNG
PHOTO: NODE ARCHITECTURE & URBANISM EXCEPT AS NOTED

(For English, press here

จากโครงสร้างพื้นฐานสู่สถาปัตยกรรมที่หยั่งรากลึกให้กับเมือง

ไม่กี่ปีมานี้ ถ้าใครติดตามข่าวสารของประเทศจีนมักได้ยินคำว่า ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ หรือ อีไต้อีลู่ (一带 一路) กันอยู่บ้าง โครงการนี้คือแผนพัฒนาและยุทธศาสตร์แห่งชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เชื่อมโยงประเทศจีนกับประชาคมโลกโดยเฉพาะประเทศในเอเชีย ตะวันออกกลาง และยุโรป ผ่านระบบโครงสร้างการคมนาคมทางบกและทางน้ำในเส้นทางใหม่ โดยอิงจากเส้นทางสายไหมเดิมที่เคยมีในสมัยราชวงศ์ฮั่นเมื่อ 200 ปีก่อนคริสต์ศักราช แผนพัฒนานี้ไม่เพียงสร้างความตื่นตัวในนโยบายระดับประเทศแต่ยังรวมถึงหัวเมืองต่างๆ ที่ปรับนโยบายให้สอดคล้อง ขณะที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศได้เดินหน้าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว โดยเริ่มจากการพัฒนาพื้นที่เมืองชั้นหนึ่งของประเทศ 5 เมืองที่มีบทบาทสำคัญทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมระดับชาติ ได้แก่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว เซินเจิ้น และเทียนจิน ไปจนถึงเมืองอื่นๆ ทั่วประเทศที่มีลำดับรองลงมาเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองใหญ่

ผังแม่บทงานวิจัยของ NODE ในการสร้างวัฏจักรน้ำที่เซินเจิ้น โดยลดการพึ่งพาแหล่งน้ำและเครือข่ายการจ่ายน้ำด้วยการบำบัดและนำสิ่งปฏิกูลมาใช้ซ้ำผ่านการปฏิรูประบบหมุนเวียนเพื่อสร้างวิถีชีวิตใหม่อย่างยั่งยืนในระดับชุมชน เกิดเป็น “โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน” ในโครงการ Inter-Infrastructure: Water Urbanis l Photo courtesy of NODE

หนานซา (Nansha) พื้นที่ท่าเรือส่งสินค้าอำเภอชายขอบเมืองกว่างโจว ทางตอนใต้ของประเทศจีน เป็นหนึ่งในตัวอย่างการพัฒนาที่เริ่มจากความว่างเปล่าจนปัจจุบันกลายมาเป็นท่าเรือสำคัญซึ่งมีบทบาทต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศและเป็นที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติอันมีชื่อเสียงของเมือง ในปี ค.ศ. 1994 ดอรีน เหิง หลิว (Doreen Heng Liu) สถาปนิกสาวชาวกว่างโจว จบการศึกษาปริญญาโทจาก UC Berkeley ประเทศสหรัฐอเมริกา และตัดสินใจกลับมายังบ้านเกิดจากคำชวนของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชาวฮ่องกงเพื่อพัฒนาพื้นที่ 22 ตารางกิโลเมตร ให้กลายเป็นย่านธุรกิจใหม่ของหนานซา ดอรีนที่เพิ่งเริ่มงานวิชาชีพสถาปนิกเพียงไม่กี่ปีขณะนั้นตื่นตาตื่นใจไปกับการออกแบบและการสร้างอาคารสำคัญๆ หลายหลังที่นั่น อาทิเช่น Nansha Science Museum และ Guangzhou Nansha World Trade Center Tower เป็นต้น แต่ตลอดระยะเวลาการทำงานเกือบ 10 ปี ดอรีนกลับพบว่าผลงานสถาปัตยกรรมที่เธอออกแบบนั้นเป็นการสร้างเมืองใหม่ที่ไร้ความเป็นเมือง เพราะพื้นที่ที่รายล้อมอาคารเหล่านั้นกลับไม่มีบริบทอะไรที่เกี่ยวข้องกับความเป็นเมืองได้เลย ในปี ค.ศ. 2004 ดอรีนเปิดบริษัทสถาปนิก NODE Architecture & Urbanism โดยที่คำว่า NODE นั้นมีที่มาจาก Nansha Original DEsign หรือ NO Design ที่หนานซาและฮ่องกง พร้อมกับคำถามว่า ‘สถาปัตยกรรมจะสามารถขับเคลื่อนบริบทของเมืองได้อย่างไร?’ เธอกลับไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกาเพื่อหาคำตอบนี้ที่ Harvard Graduate School of Design และสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกด้านการออกแบบ พร้อมกับย้ายสถานที่ตั้งบริษัทมาที่เมืองเซินเจิ้นในปี ค.ศ. 2009 จวบจนปัจจุบัน

ภาพโปรไฟล์ของ ดอรีน เหิง หลิว l Photo courtesy of NODE

ความมุ่งมั่นในการหาคำตอบถึงความสมดุลระหว่างสถาปัตยกรรมกับเมืองของดอรีนทำให้ผลงานของ NODE สร้างการคิดเชิงวิพากษ์บทใหม่ให้กับอาคารโครงสร้างพื้นฐานของจีน ที่แต่เดิมมีไว้เพียงเพื่อการใช้งานในระบบสาธารณูปโภคและแบ่งแยกออกจากผู้คนทั้งๆ ที่ตั้งอยู่ในบริบทเมือง แปรเปลี่ยนเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ เพิ่มคุณค่าให้กับสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นหยั่งถึงการเป็นสถาปัตยกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของเมืองได้อย่างแท้จริง ตัวอย่างเช่น ผลงานสะพานประตูระบายน้ำแม่น้ำหยางหย่งเมืองเซินเจิ้น (Shenzhen Yong-chong River Sluice) ประตูระบายน้ำที่ไม่เคยมีใครคำนึงถึงความสวยงาม คนทั่วไปมักเห็นว่าเป็นสถานที่ที่น่าเบื่อ ไม่ดึงดูด แต่แน่นอนว่ามันคือสิ่งจำเป็นในระบบสาธารณูปโภคของเมือง ความท้าทายของการออกแบบขึ้นอยู่กับเงื่อนไขว่าจะทำอย่างไรให้ประตูระบายน้ำสร้างประสบการณ์แก่ผู้คนและมอบความมีชีวิตชีวาให้กับเมือง โดยมีข้อกำหนดให้ประตูนี้สามารถปรับระดับน้ำในแม่น้ำหยางหย่งให้สมดุลและเป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างสองฝั่งของแม่น้ำได้ ดอรีนทำงานกับทีมวิศวกรเพื่อให้การทำงานของระบบประตูระบายน้ำมีประสิทธิภาพที่สุดและใช้ระดับความสูงแยกพื้นที่การใช้งานระหว่างสะพานกับประตู ยิ่งไปกว่านั้นเธอใช้การออกแบบนำเสนอเครื่องยกประตูที่ใช้งานจริงเหล่านั้นในรูปแบบนิทรรศการด้วยสะพานทางเดินเหล็กสีแดงที่พันลัดเลาะไปกับงานระบบ เอื้อให้ผู้คนเดินซิกแซกไปมาชมการทำงานของเครื่องกลตั้งแต่ระดับสะพานจนถึงด้านบนของอุปกรณ์ จากพื้นที่ที่ไม่อนุญาตให้คนภายนอกเข้า กลายมาเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและชมวิวของชาวเมือง เกิดเป็นการเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานที่ “ไม่แปลกแยก” ออกจากเมืองอีกต่อไป

โมเดลจำลองแสดงภาพรวมของโครงการสะพานประตูระบายน้ำแม่น้ำหยางหย่งเมืองเซินเจิ้น (Shenzhen Yong-chong River Sluice) l Photo courtesy of NODE

สะพานทางเดินเหล็กสีแดงที่พันลัดเลาะไปกับงานระบบเอื้อให้ผู้คนเดินซิกแซกไปมาชมการทำงานของเครื่องกลตั้งแต่ระดับสะพานจนถึงด้านบนของอุปกรณ์ l Photo courtesy of NODE

สะพานทางเดินเหล็กสีแดงที่พันลัดเลาะไปกับงานระบบเอื้อให้ผู้คนเดินซิกแซกไปมาชมการทำงานของเครื่องกลตั้งแต่ระดับสะพานจนถึงด้านบนของอุปกรณ์ l Photo courtesy of NODE

การเติบโตทางเศรษฐกิจนำมาซึ่งการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมในจีนทำให้ค่าบริสุทธิ์ของแม่น้ำลดลง โครงการระเบียงผิงซาน (Pingshan Terrace: The Design of Pingshan River Water Purification Station – Public Infrastructure) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองเซินเจิ้น สถานีผลิตน้ำบริสุทธิ์บนพื้นที่ 100,000 ตารางเมตร เป็นอีกบทพิสูจน์ของการออกแบบอาคารสาธารณูปโภคให้เกิดสุนทรียะ เมื่อดอรีนเข้ามาออกแบบ โครงสร้างงานระบบผลิตน้ำบริสุทธิ์ชั้นใต้ดินถูกสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่เจ้าของโครงการต้องการให้มีพื้นที่สาธารณะที่เอื้อให้เกิดกิจกรรมของคนในพื้นที่เพื่อตอบรับนโยบายการออกแบบผังเมืองในการยกระดับความสำคัญของพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำ การออกแบบของดอรีนได้ต่อยอดแนวความคิดจากโครงการสะพานประตูระบายน้ำแม่น้ำหยางหย่ง โดยใช้หลักการเดียวกันคือ “การเชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติกับเมือง และสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ชม”

ภาพไดอะแกรมแสดงความสัมพันธ์ของพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ใช้งานของระบบสาธารณูปโภค

ผังพื้นและรูปตัดอาคาร แสดงพื้นที่สาธารณะด้วยเส้นสีแดง ขณะที่พื้นที่ใช้งานของระบบสาธารณูปโภคแสดงด้วยเส้นสีดำ

ผังของอาคารแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ด้วยการสร้างแกนทางเดินสาธารณะเชื่อมต่อระหว่างทิศเหนือและใต้ทอดยาวขึ้นสู่ระเบียงด้านบนครอบคลุมหลังคาอาคารสำนักงานชั้นสอง ในบริเวณนี้ผู้ชมสามารถเห็นกระบวนการบำบัดน้ำให้บริสุทธิ์ก่อนปล่อยออกไปยังแม่น้ำผิงซาน และค่อยๆ เดินผ่านหลังคาห้องควบคุมนำไปสู่ลานกิจกรรมบนชั้นสาม อีกข้อกำหนดหนึ่งของงานระบบวิศวกรรมในการผลิตน้ำบริสุทธิ์นั้นคือการติดตั้งช่องระบายอากาศสำหรับกำจัดกลิ่นหลายช่องที่ต้องมีความสูงอย่างน้อย 15 เมตรเหนือพื้นดิน การออกแบบงานระบบให้กลมกลืนไปกับรูปลักษณ์ของอาคารเป็นหนึ่งในการสร้างสุนทรียะที่ผสานกันระหว่างงานสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม ช่องระบายอากาศจึงถูกออกแบบให้มีลักษณะเหมือนแท่งงานศิลปะที่มีบันไดวนพันรอบเพื่อสร้างทางเลือกใหม่ในการสัญจรและการรับรู้ของพื้นที่ในมุมมองที่ต่างไป การเชื่อมต่อกันของระนาบสามมิติที่ทอดยาวจากธรรมชาติสู่ธรรมชาติได้สร้างภูมิทัศน์ใหม่ให้กับแม่น้ำแห่งนี้ กลายเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจและเรียนรู้ให้กับเมืองโดยที่การจัดการของระบบสาธารณูปโภคใต้ระนาบนั้นยังคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพและความปลอดภัยอย่างที่เคยเป็น

ทางเดินสาธารณะเชื่อมต่อระหว่างทิศเหนือและใต้ทอดยาวขึ้นสู่ระเบียงด้านบนครอบคลุมหลังคาอาคารสำนักงานชั้นสอง l Photo: Zhang Chao

ลานกิจกรรมพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจและสร้างการเรียนรู้ของระบบสาธารณูปโภคให้กับผู้เยี่ยมชม l Photo: Zhang Chao

บทบาทของดอรีนนอกเหนือจากวิชาชีพสถาปนิกนั้น เธอยังเป็นอาจารย์ประจำที่ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์พิเศษของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการวางผังเมือง มหาวิทยาลัยเซินเจิ้น (School of Architecture and Urban Planning of Shenzhen University) และสอนในมหาวิทยาลัยชั้นนำมากมาย อาทิ Chinese University of Hong Kong, Swiss Federal Institute of Technology Zurich และ the University of California, Berkeley เป็นต้น รวมถึงการเป็นภัณฑารักษ์ให้กับเทศกาลงานสถาปัตยกรรมและเมืองที่จัดขึ้นทุก 2 ปี ระหว่างฮ่องกงและเซินเจิ้น (Urbanism and Architecture Bi-City Biennale; UABB) ในหลายครั้งหลายครา ด้วยแนวทางการออกแบบที่เน้นถึงการฟื้นฟูเมือง โครงสร้างพื้นฐาน และพื้นที่สาธารณะ จึงเห็นทิศทางการทำงานที่ชัดเจนของดอรีนในหลายโครงการแม้จะไม่ใช่โครงการที่เกี่ยวกับระบบสาธารณูปโภคก็ตาม เช่น The Floating Entrance and The Warehouse หนึ่งในสถานที่จัดงานหลักของเทศกาล UABB ค.ศ. 2013 ที่นำเสนอทางเลือกในการประสานโครงสร้างใหม่และเก่าโดยยังคงไว้ซึ่งบริบทของเมืองแต่เพิ่มพูนด้วยประสบการณ์ของผู้คนและการรับรู้ในพื้นที่สาธารณะ

ภาพถ่ายและรูปตัดของโครงการ The Floating Entrance and The Warehouse แสดงการประสานกันของโครงสร้างใหม่และเก่า l Photo courtesy of NODE

หรือผลงาน Table-Landscape: Plot B4 ที่ดอรีนทำงานร่วมกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ในจีนอย่างว่านเคอ (Vanke) ในการพัฒนาพื้นที่ใต้ดินเชิงทดลองขนาด 7,000 ตารางเมตร ให้เป็นชุมชนสำนักงานอันสร้างสรรค์ โดยที่ระดับพื้นดินถูกสงวนไว้สำหรับพื้นที่สาธารณะสีเขียว ความยากของโครงการนี้คือการนำแสงและการระบายอากาศเข้ามาในอาคารที่อยู่ชั้นใต้ดิน แนวความคิดในการออกแบบของสถาปนิกนักออกแบบเมืองอย่างดอรีนจึงแบ่งพื้นที่ทั้งหมดออกเป็น 31 ส่วน โดยแต่ละส่วนเกิดจากการประกอบกันของโครงสร้างโต๊ะที่ด้านบนเรียบเพื่อรองรับพื้นที่สีเขียว ขณะที่ด้านล่างของโครงสร้างมีลักษณะต่างกันไปตามแต่การใช้งาน ส่วนช่องว่างระหว่างโต๊ะแต่ละตัวกลายมาเป็นพื้นที่ในการรับแสงและระบายอากาศ

โมเดลจำลองแสดงการวางผังของโครงการ Table-Landscape โดยมีแนวความคิดจากการประกอบกันของโต๊ะที่มีโครงสร้างด้านล่างต่างกันแต่พื้นผิวด้านบนเป็นพื้นผิวเรียบเหมือนกัน l Photo: NODE

 

ภาพถ่ายผังอาคารแสดงพื้นที่สาธารณะสีเขียวในระดับถนน และพื้นที่ว่างที่เกิดขึ้นนำมาซึ่งแสงธรรมชาติและการระบายอากาศในระดับใต้ดิน l Photo: Zhang Chao

ภาพถ่ายแสดงที่ว่างซึ่งเกิดจากการประกอบกันของโครงสร้างโต๊ะที่ต่างกัน ทำให้เกิดความหลากหลายของพื้นที่ แสงและเงาที่กระทบลงมาในชั้นใต้ดิน l Photo: Zhang Chao

ตัวอย่างไดอะแกรมแสดงลักษณะของโต๊ะทั้ง 31 ตัว ที่มาประกอบกัน l Photo courtesy of NODE

หากมองกลับไปที่หนานซา จุดเริ่มต้นในการทำงานของดอรีน จากพื้นที่ว่างเปล่าในอดีต ปัจจุบันนี้รัฐบาลจีนเล็งเห็นถึงความสำคัญและยกระดับให้กลายเป็นเขตการค้าเสรีที่มุ่งหวังให้เป็นประตูเศรษฐกิจของมณฑลกวางตุ้งทางตอนใต้ของประเทศ และเชื่อมโยงน่านน้ำของจีนกับประชาคมโลกตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เมื่อโครงสร้างกายภาพของเมืองเกิดการพัฒนาไปทั่วประเทศ สิ่งที่ก้าวตามไปด้วยนั้นคือการเสริมสร้างวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาความคิดของผู้คนในเมือง ดังจะเห็นได้จากโครงการอาคารทางวัฒนธรรมที่ผุดขึ้นกันอย่างดอกเห็ดตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา จนปัจจุบันประเทศจีนมีอาคารประเภทนี้มากกว่า 5,000 แห่งทั่วประเทศไม่เว้นแม้แต่เมืองขนาดเล็กก็ยังมีพิพิธภัณฑ์ การพัฒนาและการเปิดประเทศนั้นส่งผลให้ผลงานสถาปัตยกรรมในประเทศจีนก้าวหน้าไปแบบสุดโต่งในทุกประเภทของอาคาร ไม่ว่าจะเป็นอาคารพักอาศัย สำนักงาน ห้างสรรพสินค้า อาคารวัฒนธรรม และอื่นๆ ขณะที่อาคารสาธารณูปโภคซึ่งแต่เดิมนั้นเป็นเพียงสิ่งก่อสร้างที่ “ถูกเพิกเฉย” การทำงานของดอรีน ในนาม NODE ตลอดระยะเวลา 18 ปีที่ผ่านมา ผลงานสถาปัตยกรรมของเธอได้ฟื้นฟูและสร้างภาพใหม่ให้กับอาคารประเภทนี้กลายมาเป็นสถาปัตยกรรมที่ ‘สมบูรณ์พร้อม’ ของเมืองในปัจจุบัน คงน่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อยถ้าแนวคิดนี้จะกลายมาเป็นทิศทางการขับเคลื่อนระบบสาธารณูโภคทั่วประเทศจีนไปจนถึงประชาคมโลก สิ่งก่อสร้างที่น่าเบื่อเหล่านั้นจะสร้างสีสันและเพิ่มชีวิตชีวาให้กับเมืองทำหน้าที่สมกับการเป็น ‘สถาปัตยกรรม’ ได้อย่างเต็มภาคภูมิ

nodeoffice.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *