85 SOCIAL DWELLINGS IN CORNELLÀ

85 Social Dwellings in Cornellà โดย Peris+Toral.acquitectes ในกรุง Barcelona นี้ส่งผ่านคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้อยู่อาศัยด้วยขนาดห้องที่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต อากาศที่ถ่ายเทพร้อมทั้งพื้นที่โล่งและพื้นที่สีเขียว และที่สำคัญคือชวนให้เราคิดว่าอนาคตของ public hosing นั้นควรจะเป็นอย่างไร

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: JOSÉ HEVIA

(For English, press here

Peris+Toral.acquitectes คือสตูดิโอออกแบบสถาปัตยกรรมจาก Barcelona ที่สนใจประเด็นพื้นที่เมืองและที่อยู่อาศัยที่รัฐอุดหนุน (Public housing) เป็นพิเศษ และฝากผลงานการออกแบบพื้นที่สาธารณะและที่อยู่อาศัยไว้หลากหลาย ในปี 2017 IMPSOL-AMB สำนักงานบริหารอสังหาริมทรัพย์ของเมือง Barcelona จัดการประกวดแบบเฟ้นหาไอเดียสำหรับการสร้างที่อยู่อาศัยบนพื้นที่โรงภาพยนตร์ Pisa เดิม ในเขต Cornellà de Llobregat ของเมือง นอกจากสำนักงานจะมองหาที่อยู่อาศัยที่เอื้อให้คนอยู่มีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว ก็ยังมองหาต้นแบบใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์สภาพสังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อมในสมัยนี้ด้วย Peris+Toral.acquitectes ก็เป็นสตูดิโอหนึ่งที่เข้าร่วมการประกวดนี้ และได้ส่งผลงาน 85 Social Dwellings in Cornellà ซึ่งเข้าตากรรมการจนเป็นชนะเลิศและได้รับการก่อสร้างจริง

85 Social Dwellings in Cornellà เป็นอาคารสูง 6 ชั้น ที่ประกอบด้วยพื้นที่โรงฉายภาพยนตร์ในชั้นใต้ดิน พื้นที่ส่วนกลางและพื้นที่สำหรับห้างร้านในชั้นแรก และที่พักจำนวน 85 หน่วยในอีก 5 ชั้นบน อาคารวางตัวล้อมรอบคอร์ทกลางที่ทำหน้าที่เป็นพลาซ่าขนาดย่อมเพื่อให้ลูกบ้านใช้สังสรรค์และเกิดปฏิสัมพันธ์กัน กำแพงด้านในคอร์ทเป็นกำแพงกล่องหินที่ช่วยลดเสียงก้องภายใน ด้านหน้าอาคารเป็นชานในร่ม ที่เปลี่ยนผ่านผู้คนจากพื้นที่สาธารณะภายนอกสู่พื้นที่ภายใน และสะท้อนคาแรกเตอร์อันเป็นที่จดจำของโรงภาพยนตร์ Pisa เดิมที่มีพื้นที่ชานในร่มเช่นกัน

แต่ละชั้นของพื้นที่อยู่อาศัยประกอบด้วยที่อยู่จำนวน 18 หน่วย (ยกเว้นชั้นบนสุดที่มี 13 หน่วย ส่วนที่หายไปกลายเป็นดาดฟ้าส่วนกลางของลูกบ้าน) ทั้ง 18 หน่วยถูกแบ่งออกเป็นสี่กลุ่มย่อยตามหัวมุมทั้งสี่ของอาคาร ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีทางเดินและลิฟต์เป็นของตัวเอง ทางเดินเข้าห้องแต่ละห้องวางตัวเป็นวงแหวนรอบภายในอาคาร เปิดมุมมองออกไปสู่คอร์ทที่อยู่ตรงกลาง ช่วยสร้างโอกาสให้ลูกบ้านได้ปฏิสัมพันธ์กัน ทุกห้องได้รับการวางผังให้มีระเบียงรายล้อมด้านนอก และสามารถเกิด cross ventilation ได้

ผังพื้นของชั้นห้องพักดูแล้วเหมือนเป็นกับการวางก้อนสี่เหลี่ยมติดๆ กันไม่มีผิด นั่นเป็นเพราะห้องพักอาศัยแต่ละหน่วยเกิดขึ้นจากการประกอบกันของโมดูลห้องขนาด 3.60×3.60 เมตร ซึ่งเป็นขนาดเดียวกันกับห้อง 8 เสื่อตาตามิ การอ้างอิงระยะจากเสื่อตาตามิมาจากไอเดียของสถาปนิกที่อยากให้ห้องสามารถปรับเปลี่ยนฟังก์ชันภายในได้อย่างยืดหยุ่น เช่นเดียวกับบ้านญี่ปุ่นดั้งเดิมที่ห้องไม่ได้มีฟังก์ชันตายตัว กลางวันอาจเป็นที่กินข้าว แต่กลางคืนกลายเป็นที่นอน และห้องในบ้านก็ไม่ถูกนิยามชัดเจนว่าเป็นห้องอะไร แต่เรียกจากขนาดเสื่อที่อยู่ในห้องเอง ขนาด 3.60×3.60 เมตร ก็เป็นขนาดที่สถาปนิกกะเกณฑ์ไว้ว่าเหมาะสมต่อการใช้ชีวิตหลากหลายรูปแบบ สถาปนิกกล่าวว่าระยะนี้ยังเป็นระยะที่ใกล้เคียงกับ Cabanon de vacances กระท่อมตากอากาศของ Le Corbusier ในฝรั่งเศสที่มีขนาดประมาณ 3.66×3.66 เมตร ที่ลงตัวกับการใช้ชีวิตพอดี และใกล้เคียงกับขนาด 3.60×3.50 เมตร ของ Frankfurt Kitchen ต้นแบบห้องครัวขนาดกะทะรัดของบ้านพักอาศัยออกแบบโดย Grete Schütte-Lihotzky ที่ถือเป็นอีกหมายหมุดสำคัญของประวัติศาสตร์การออกแบบที่พักอาศัย

เพื่อให้พื้นที่ในห้องทุกตารางเมตรถูกใช้งานอย่างคุ้มค่า Peris+Toral.acquitectes จึงออกแบบให้แต่ละห้องพักไม่มีสเปซทางเดินข้างใน แต่เป็นห้องที่วางติดกันโดยมีประตูบานเลื่อนกั้นระหว่างกัน สถาปนิกยังออกแบบห้องน้ำและห้องครัวให้อยู่บริเวณวงแหวนวงกลางของผังพื้น ซึ่งหากมองเจาะไประดับห้องพักแล้ว ห้องครัวก็จะปรากฎเป็นพื้นที่ใจกลางของส่วนพักอาศัย สถาปนิกให้เหตุผลของการนำครัวอยู่ใจกลางว่า เป็นการนำพื้นที่งานบ้านที่เคยถูกซุกซ่อนให้ออกมาปรากฎ และทำให้งานบ้านกลายเป็นงานที่ทุกคนมีส่วนทำได้ สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนภายใน และลดการจำกัดความว่างานบ้านต้องเป็นของคนเพศใดเพศหนึ่ง

โครงสร้างของอาคารก็น่าสนใจไม่ต่างกัน สถาปนิกออกแบบอาคารโดยผสมผสานระหว่างโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กในชั้นใต้ดินและชั้นแรก และโครงสร้างไม้ในส่วนพักอาศัย ซึ่งมีทั้งการใช้ไม้แบบเสาคาน ผสมกับการเป็นกำแพงรับน้ำหนัก สถาปนิกเลือกใช้ไม้เนื่องจากเป็นวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เอื้อต่อการผลิตโครงสร้างในระบบอุตสาหกรรมซึ่งทำให้ก่อสร้างรวดเร็วขึ้น และเป็นอีกตัวเลือกสถาปนิกมองว่ามีประสิทธิภาพ คุ้มค่า สำหรับโครงสร้างอาคารที่มีช่วงกว้าง 3.60 เมตร

ผิวของอาคารมีการห่อหุ้มด้วยตาข่ายเหล็กที่ช่วยกรองแสงแดดและช่วยบดบังมุมมองบางส่วนจากภายนอก ตาข่ายเหล็กยังถูกใช้เป็นราวกันตกที่ระเบียงด้านในอีกเช่นกัน นอกจากตาข่ายเหล็กแล้ว สถาปนิกก็ติดตั้งมูลี่ไม้สำหรับช่วยกันแสงแดดอีกทาง ซึ่งตัวมูลี่ก็ช่วยให้ตึกดูอ่อนโยนขึ้นเช่นกัน

จากรายละเอียดที่อัดแน่นอยู่ในงาน ก็ไม่แปลกใจเลยที่อาคารนี้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Mies van der Rohe Award ประจำปี 2022 แต่สุดท้ายแล้ว การได้เสนอชื่อรางวัลก็อาจไม่ใช่สาระสำคัญของงานนี้ เพราะสิ่งที่เหมือนเป็นแก่นแท้จริงก็คือ การสร้างพื้นที่ให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และการตั้งคำถามกับดีไซน์ public housing แบบเดิมๆ ต่างหาก

peristoral.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *