Skarn Chaiyawat Architects ออกแบบอาคารสำนักงานที่เต็มไปด้วยรายละเอียดการออกแบบอันแยบยล เพื่อสร้าง ‘Space ที่ดี’ ให้แก่ผู้ใช้งาน
TEXT: KITA THAPANAPHANNITIKUL
PHOTO: DOF SKY|GROUND FEATURED UNDER CONSTRUCTION PROCESS
(For English, press here)
ในอาคารสำนักงานที่อาจไม่ได้มีฟังก์ชันอื่นใดนอกเหนือจากพื้นที่ทำงานและ circulation อาคาร สการ จัยวัฒน์ กฤษณ์ จาติกวณิช และ ศุภกร ฉันทกิจวัฒนา จาก Skarn Chaiyawat Architects จึงได้ร่วมมือกันออกแบบสำนักงาน nextech แห่งนี้โดยโฟกัสไปที่รายละเอียดของ space แทน
ลักษณะภาพรวมของอาคารหลังนี้มีที่มาที่ตรงไปตรงมา บนโจทย์ของการออกแบบให้มีพื้นที่ใช้สอยได้มากที่สุดบนข้อจำกัดของที่ดินขนาด 98 ตารางวา ทำให้เกิดเป็นอาคารความสูง 15 เมตรที่มีผนังทึบเป็นองค์ประกอบหลักเพื่อสร้างอาคารได้เต็มระยะร่นตามกฏหมาย ภายใต้พื้นที่ 5 ชั้น ตัวอาคารแบ่งง่ายๆ ออกเป็นสองส่วนคือส่วน core อาคารที่ประกอบด้วยลิฟท์ บันได รวมถึงส่วน Service ต่างๆ และส่วนสำนักงานที่ชั้น 2 เป็นพื้นที่ห้องประชุมอเนกประสงค์ ชั้น 3 เป็นออฟฟิศสำหรับพนักงาน nextech ชั้น 4 ออฟฟิศผู้บริหารและฝ่ายการเงิน และชั้น 5 ที่เป็นออฟฟิศของลูกสาวเจ้าของโครงการ รวมพื้นที่ใช้สอยส่วนสำนักงานทั้งสิ้น 450 ตารางเมตร
โดย nextech นั้นเป็นบริษัท IT ที่มีทิศทางการดำเนินงานที่กำลังก้าวสู่ความเป็นดิจิตอลเต็มรูปแบบ ทั้งบุคลากรในสำนักงานที่เน้นเป็นการจ้าง outsource ที่ทำงานจากบ้านเป็นหลัก อีกทั้งการจัดเก็บข้อมูลที่อยู่บน cloud server ทำให้ตัดเรื่องพื้นที่การวางตู้เซิฟเวอร์แบบปกติออกไป ด้วยแนวโน้มการใช้สำนักงานที่น้อยลงไปเรื่อยๆ nextech จึงได้วางแผนล่วงหน้าเผื่อไว้ในอนาคตสำหรับการปล่อยเช่าพื้นที่ภายใน กลายเป็นโจทย์การออกแบบที่ไม่ใช่เพียงแค่การออกแบบพื้นที่สำหรับทำงานเพียงอย่างเดียว แต่ต้องออกแบบ space ที่รองรับการใช้งานที่อิสระของผู้เช่าในอนาคตด้วย
บนฟังก์ชันและอาคารที่มีจุดเริ่มต้นที่ตรงไปตรงมา สถาปนิกเล่าว่า “รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ภายใน space สร้างความประทับใจที่ผู้คนนั้นมีต่อสถาปัตยกรรม แม้ว่าผู้ใช้งานนั้นจะไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร” โดยเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อก้าวออกจากลิฟท์ เราจะพบกับ space ที่เต็มไปด้วยแสงเงาที่ทอดผ่าน แสงเงาที่ตกกระทบในอาคารที่มีเอฟเฟ็คต์แตกต่างกันไปตามเวลานั้นเกิดจากการสร้างช่องว่างเล็กๆ ที่สับหว่างกันระหว่างส่วนพื้นที่สำนักงานและส่วน core อาคาร ซึ่งช่องว่างที่สับหว่างกันนี้ยังพาลมและแสงธรรมชาติเข้าสู่อาคารและเพิ่มช่องว่างทางตั้งที่ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกไม่อึดอัดทั้งยังสามารถสื่อสารกันข้ามชั้นได้อีกด้วย
ในส่วนพื้นที่สำนักงาน เอกลักษณ์เฉพาะตัวของ Space ภายในนั้นเกิดจากการเลือกใช้วัสดุกรองแสงทั้งด้านหน้าและด้านหลังของอาคาร ด้วยความที่ที่ตั้งโครงการนั้นตั้งอยู่ในซอยปุณณวิถีที่มีความกว้างถนนเพียง 5.40 เมตร ทำให้อาคารประจันหน้ากับอพาร์ทเม้นต์ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามแบบเต็มๆ แต่ในทางกลับกัน ด้านหลังของอาคารนั้นกลับเต็มไปด้วยทัศนียภาพของต้นไม้ในพื้นที่ละแวกใกล้เคียง โดยในฝั่งด้านหน้า สถาปนิกเลือกใช้กระจก U Glass ผิวส้มซึ่งนอกจากจะสร้างภาพจำที่ชัดเจนของอาคารแล้ว ยังทำหน้าที่เบลอทัศนียภาพอพาร์ทเมนต์ฝั่งตรงข้ามให้เป็นเหมือนภาพรางๆ สร้างความเป็นส่วนตัวและ space ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในเวลาเดียวกัน ส่วนในฝั่งด้านหลังเปิดให้เห็นความร่มรื่นของพื้นที่สีเขียว ผ่านช่องเปิดและระเบียง โดยมี façade มูลี่สแตนเลสที่คอยกรองแสงปิดซ้อนอีกชั้นหนึ่ง
นอกจากนี้ พื้นที่โซนสำนักงานยังได้รับการออกแบบให้เป็นเหมือนผืนผ้าใบเปล่าที่พร้อมสำหรับการแต่งเติมด้วยการใช้งานหลากหลายรูปแบบ โดยในพื้นที่ชั้น 2 และชั้น 4 พื้นที่ห้องครึ่งหนึ่งถูกปล่อยโล่งเป็น double volume ที่เกิดจากการถอดเอาฝ้าเพดานออกและเปลี่ยนงานระบบบางส่วนให้ซ่อนเนียนไปกับพื้นที่ ทั้งการใช้ไฟรางที่ไม่ต้องการพื้นที่สำหรับงานระบบเหนือฝ้าเพดาน การใช้เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวที่ออกแบบให้สามารถเก็บเข้าที่อย่างเรียบร้อยในตู้ตรงกลางห้อง ความลับอีกอย่างก็คือ ภายใต้ตู้เก็บเก้าอี้นี้ แท้จริงด้านหลังเป็นช่องแอร์ที่ซ่อนงานระบบไว้ด้านหลัง
รายละเอียดต่างๆ ทั้งในเชิงการวางผัง การเลือกใช้วัสดุ และรายละเอียดของการจัดการงานระบบ สร้างให้อาคารสำนักงานที่มีฟังก์ชันพื้นฐานแห่งนี้มีพื้นที่ใช้สอยที่เหมาะสม มีความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และมี space ที่สร้างมิติทางอารมณ์ขึ้นมา หรืออาจกล่าวได้ว่า รายละเอียดต่างๆ เหล่านี้ร่วมกันสร้าง ‘space ที่ดี’ ให้กับอาคารหลังนี้ขึ้นมานั่นเอง