art4d พาชมบรรยากาศการประชุม AHEC’s Southeast Asia and Greater China Convention ครั้งที่ 25 ที่บอกเล่าแง่มุมที่น่าสนใจของไม้และอุตสาหกรรมของวัสดุไม้โดยเฉพาะไม้เนื้อแข็งอเมริกาจากผู้เชี่ยวชาญหลายภาคส่วนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO COURTESY OF AHEC EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
เมื่อก่อน ไม้อาจจะเป็นวัสดุที่คนไทยใช้กันอย่างแพร่หลายเพราะเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายและมีอยู่ทั่วไป แต่ในยุคปัจจุบัน คนไทยกลับไม่นิยมเลือกใช้ไม้กันเสียเท่าไหร่ อาจเพราะมีวัสดุทดแทนที่ดูแลรักษาง่ายกว่า หรือกลัวจะเป็นการรบกวนธรรมชาติ ซึ่ง AHEC (American Hardwood Export Council) หรือคณะกรรมการการส่งออกไม้เนื้อแข็งอเมริกัน ยืนยันว่าหากอยู่ภายใต้การจัดการทรัพยากรที่ดี ไม้ก็เป็นวัสดุที่ยั่งยืน และภายใต้การควบคุมมาตรฐานที่เข้มงวด ไม้ก็เป็นวัสดุที่ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แถมยังมีเสน่ห์เฉพาะตัวที่หาไม่ได้จากวัสดุอื่นๆ
![](https://art4d.com/wp-content/uploads/2022/11/DSC00483_low-res.jpg)
Photo courtesy of AHEC
ในการประชุม AHEC’s Southeast Asia and Greater China Convention ครั้งที่ 25 ซึ่งปีนี้จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา AHEC บอกเล่าแง่มุมที่น่าสนใจของไม้และอุตสาหกรรมของวัสดุไม้ให้เราได้สัมผัส โดยเฉพาะไม้เนื้อแข็งจากอเมริกาที่โดดเด่นด้วยตัวเลือกอันหลากหลาย และมีที่มาจากกระบวนการจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ยั่งยืน และการตรวจสอบคุณภาพอย่างเคร่งครัด
“แม้จะมีการตัดไม้เนื้อแข็งออกมาขาย แต่จำนวนต้นไม้สำหรับใช้งานเชิงพาณิชย์กลับมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว” Michael Snow กรรมการบริหารของ AHEC เผย “เพราะว่าไม้เนื้อแข็งในอเมริกาส่วนใหญ่จะอยู่ใต้การถือครองจากเจ้าของที่ดินรายย่อย และพวกเขามักปลูกต้นไม้เพื่อความสวยงามและสร้างบรรยากาศความส่วนตัว มากกว่าเหตุผลทางเศรษฐกิจ ไม้ที่ตัดออกมาก็ตัดเพียงแค่ไม่กี่ต้นต่อเฮกเตอร์ ไม่ใช่การถางป่าอย่างราบคาบ เมื่อตัดไม้แล้ว ป่าส่วนใหญ่ก็จะถูกปล่อยให้ฟื้นฟูตามธรรมชาติ”
![](https://art4d.com/wp-content/uploads/2022/11/SHA07173_low-res.jpg)
Michael Snow, Executive Director of AHEC I Photo courtesy of AHEC
Michael Snow เสริมอีกว่า หากใครที่มีข้อสงสัยเรื่องความยั่งยืนในการจัดการไม้ในอเมริกา ก็สามารถติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดในช่องทางต่างๆ ของ AHEC ได้ อย่างเช่นบนเว็บไซต์ของ AHEC “ในเว็บไซต์เรามีแผนที่แบบ interactive ที่คุณสามารถตรวจสอบสปีซีส์ไม้ที่ถูกตัดและปลูกในพื้นที่ต่างๆ นอกจากนั้นเราก็มีข้อมูลเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนให้อ่านเพิ่มเติมในเว็บไซต์”
![](https://art4d.com/wp-content/uploads/2022/11/3W2A0685_low-res.jpg)
Michael Snow, Executive Director of AHEC I Photo: Ketsiree Wongwan
จิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์ นายกสมาคมผู้ค้าไม้ไทย ร่วมพูดถึงความพิเศษของ AHEC และไม้เนื้อแข็งอเมริกาให้เรารู้เพิ่มขึ้น “นอกจาก AHEC จะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลเรื่องความยั่งยืนของการผลิตไม้ในอเมริกาแล้ว AHEC ยังมีฐานข้อมูลของไม้แต่ละสายพันธุ์อย่างละเอียด และควบคุมมาตรฐานไม้จากที่ต่างๆ ด้วยมาตรฐานเดียวกัน คนที่สนใจผลิตภัณฑ์ก็สามารถเสาะหาข้อมูลและผลิตภัณฑ์ได้ง่ายๆ และมั่นใจว่าจะได้ของที่มีมาตรฐาน”
![](https://art4d.com/wp-content/uploads/2022/11/3W2A0698-scaled.jpg)
Jirawat Tangkijngamwong, President of the Thai Timber Association I Photo: Ketsiree Wongwan
ภายในงาน AHEC เปิดให้เห็นศักยภาพของไม้เนื้อแข็งอเมริกาในงานดีไซน์ ด้วยการเชิญ กรเพชร โชติปทุมวรรณ นักออกแบบไทยในโครงการ Discovered ของ AHEC มาร่วมแชร์ผลงานออกแบบ รวมถึงสิ่งที่เธอได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมโครงการนี้ที่ AHEC เชิญชวนนักออกแบบรุ่นใหม่ 20 คนจากทั่วโลกมาสรรค์สร้างผลิตภัณฑ์จากไม้ 3 ประเภท คือ เรดโอ๊ค เมเปิ้ล และเชอรี่ พร้อมนำผลงานไปจัดแสดงที่ Design Museum ในลอนดอนเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา
![](https://art4d.com/wp-content/uploads/2022/11/3W2A0668_low-res.jpg)
Kornpetch Chotipatoomwan, a Thai designer from AHEC’s Discovered project I Photo: Ketsiree Wongwan
ผลงานของ กรเพชร มีชื่อว่า ‘Thought Bubble’ ซึ่งเป็นเก้าอี้โยกที่ช่วยขับกล่อมให้ผู้ใช้งานรู้สึกผ่อนคลาย แต่เก้าอี้นี้ก็ไม่ใช่เก้าอี้ธรรมดา เพราะดีไซน์เก้าอี้ได้แรงบันดาลใจจากหมอนอิงที่สามารถใช้งานได้หลากหลายท่าทาง และมีกลิ่นอายความเป็นไทยในตัว
กรเพชรเล่าว่างานดีไซน์ของเธอได้แรงบันดาลใจจากหมอนอิงสามเหลี่ยมที่เป็นของใช้ไทยๆ ซึ่งฟอร์มที่น่าสนใจ และสามารถนั่งพิงได้หลายแบบ การนำเอาคอนเซ็ปต์ของหมอนอิงมาผสมผสานกับความเป็นเก้าอี้โยกช่วยสร้างความรู้สึกผ่อนคลาย โดยไม้เรดโอ๊คเป็นวัสดุหลักที่กรเพชรเลือกใช้สำหรับผลงาน เนื่องจากเรดโอ๊คมีลายไม้ที่สวยงาม มีความแข็งแรง และเหมาะกับการนำไปบิดโค้งขึ้นรูปตามรูปแบบของชิ้นงานที่เธอตั้งใจ
“การร่วมมือกับ AHEC ทำให้ได้เห็นว่าไม้ก็เป็นวัสดุที่น่าสนใจและมีความยั่งยืนในเวลาเดียวกัน” กรเพชรตอบปิดท้ายเมื่อเราถามถึงสิ่งที่เธอได้เรียนรู้ในโครงการ Discovered
![](https://art4d.com/wp-content/uploads/2022/11/3W2A0652_low-res.jpg)
Kornpetch Chotipatoomwan, a Thai designer from AHEC’s Discovered project I Photo: Ketsiree Wongwan
ใครสนใจไปดูงานอีก 19 ชิ้น และรายละเอียดของสิ่งที่ AHEC กำลังสร้างสรรค์และโปรโมตได้เพิ่มเติมที่ americanhardwood.org