นิทรรศการของนักรบ มูลมานัสที่นำวิธีการทางภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์เข้ามาตัดปะตัวบทวรรณคดีเรื่อง ‘ไตรภูมิพระร่วง’ เพื่อสร้างเรื่องราวใหม่ที่ไม่ผูกติดกับผู้ประพันธ์และตัวบทเดิม
TEXT: SURAWIT BOONJOO
PHOTO: PATHIPOL RATCHATAARP
(For English, press here)
“(…) ฝูงยมพะบาลให้เอาน้ำในอโนตัตระสระอันหอมทุกอย่าง ๒ โยชน์ก็ดีสิ่งนั้นก็ค่อยลอบถามมันว่าผิดการย์ผู้ผิดไส้ว่าชอบอย่าควรกล่าวถ้าแลเมื่อนั้นอายุเขาได้กระทำมาแต่ป่าหิมพานต์เทียรย่อมเหล็กแดงไหม้จึงจงทุกแห่งทุก (…)”
อักษรที่ประกอบเป็นคำ วางเรียงต่อเนื่องเป็นประโยคที่ดูไม่มีความหมายนี้ เป็นส่วนหนึ่งของผลิตผลจากการรื้อโครงสร้างทางภาษา และประกอบขึ้นใหม่ด้วยการนำวิธีการทางภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์เข้ามาพินิจพิเคราะห์ตัวบทวรรณคดี เรื่อง ‘ไตรภูมิพระร่วง’ ฉบับพระยาลิไท และสร้างสรรค์ขึ้นเป็นตัวบทใหม่ ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงแค่การดัดแปลงเรื่องราว แต่เป็นการประพันธ์ขึ้นเป็นวรรณกรรมหรือวรรณคดีอีกหนึ่งฉบับ จากการเรียนรู้และทำความเข้าใจรูปแบบ โครงสร้าง การจัดเรียงคำ วลี ประโยค และรายละเอียดอื่น ๆ จากวรรณคดีเล่มดังกล่าว สิ่งนี้อาจจะถูกเรียกว่า วรรณกรรมหรือวรรณคดีเรียบเรียงใหม่ หรือไตรภูมิพระร่วงฉบับล่าสุด หรืออาจจะเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘ติมิระภู’ (Timirbhu) เช่นเดียวกันกับชื่อของนิทรรศการ Timirbhu: The New World Order โดย นักรบ มูลมานัส ที่จัดแสดงไปเมื่อวันที่ 22 กันยายน – 23 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน
คำว่า ติมิระภู (Timirbhu) เกิดจากการผสมคำ สลับอักษร และเรียบเรียงคำใหม่จากชื่อตัวบทตั้งต้น ‘ไตรภูมิ’ (Tri-Bhumi) ล้อไปกับกระบวนการสลับสร้างเรื่องราวในข้างต้น เพื่อนำมาอธิบาย พรรณนา และกล่าวถึงระเบียบโลกใหม่ของจักรวาลวิทยาที่ได้สลายภพภูมิต่าง ๆ ทั้งสวรรค์และนรก รวมถึงเรื่องราวการเกิดและล่มสลายของมนุษยชาติในรูปแบบดั้งเดิมลง และรวบเอาทุกสิ่งเข้าบรรจุไว้ภายในพื้นที่ระนาบเพียงผืนแผ่นเดียว ที่ได้เผยให้เห็นถึงสภาวะแห่งความโกลาหลวุ่นวาย ในช่วงขณะเวลาของการก่อกำเนิดจักรวาลแห่งใหม่ที่ไร้ระเบียบนี้ ด้วยกระบวนการเลือกหยิบยกเสนอเพียงบางส่วนประกอบที่ปรากฏทั้งภายในในตัวบท/เนื้อเรื่องเก่า มาปรับเปลี่ยนรูปแบบ ดัดแปลงรูปลักษณ์ จากอักษรสู่วัตถุสองมิติ หรือจากภาพสองมิติสู่วัตถุจัดวาง ในอีกแง่หนึ่งนั้นก็สะท้อนให้เห็นการส่งผ่านเรื่องราวเก่าสู่พื้นผิววัสดุใหม่ คือ ‘วัสดุพองลมที่บรรจุสุนทรียะแบบคิทช์ (Kitsch) และการล้อเลียนอันว่างเปล่า’ ตามคำนิยามของ ดร.ชัยรัตน์ พลมุข จากข้อเขียนหนึ่งในสูจิบัตร ท้ายที่สุดอาจกล่าวได้ว่า ตัวบท/เนื้อเรื่องเก่าได้เข้ามากำหนดและวางรากฐานของการเล่าเรื่องภายในนิทรรศการ ผ่านการนำเสนอด้วยรูปแบบตีความใหม่ที่พยายามสร้างความเป็นอื่นจากเดิม และยอกย้อนกลับ พร้อมทั้งตั้งคำถามในส่วนรายละเอียดของวัตถุจัดวางทั้งหมดไปในเวลาเดียวกัน
ด้วยรูปแบบจักรวาลวิทยาแห่งใหม่ที่ถูกตัดและปะ/ต่อขึ้นใหม่โดยศิลปิน ผ่านองค์ประกอบของวัตถุต่าง ๆ อาทิ ดวงดาวในรูปแบบวัตถุดาวเพดานบนพื้น พระอาทิตย์และพระจันทร์จากรูปแบบเทพโบราณสู่ภาพสองมิติทางกายภาพจริงของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ที่ถูกทำให้สูญเสียรูปลักษณ์เดิม ภาพหอคอยบาเบลที่พลิกกับด้าน และเครื่องพิมพ์ดีดที่วางบนโต๊ะหมู่บูชาตัวสูง พร้อมกับวัสดุพองลมที่ตั้งโดดเด่นในหลากหลายลักษณะ ทั้งวิมานสองหลังที่ว่างเปล่าซึ่งตั้งสูงชะลูดโดดเด่นด้วยแท่งรองรับทรงกระบอกยาว วิมานทั้งสองตั้งอยู่สูงแทรกเข้าไปถึงระดับบริเวณพื้นที่เปิดโล่งของห้องสมุดชั้นบน ที่ประหนึ่งเป็นเสาหลักแกนกลางค้ำและประคองจักรวาลแห่งนี้ไว้ นอกจากนั้นแล้วยังมีดินสอแท่งใหญ่วางพาดทแยงยาวบนระดับพื้น หลักศิลาจารึก รวมถึงนิ้วชี้ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานที่อ้างอิงต่อเนื่องไปยังผลงานจิตรกรรม ‘La lecture défendue’ ของ René Magritte ศิลปินในกระแสศิลปะ Surrealism นิ้วชี้พองลมนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงรูปแบบการโยงร้อยหลากหลายเรื่องราว นำเอาตัวบท/เนื้อเรื่องอื่นวางแทรกรวมเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งได้มาร่วมสนทนาและสร้างความหมายให้ไกลออกไปกว่าที่เป็น ในขณะเดียวกันก็สะท้อนรูปแบบการดำรงอยู่ร่วมกันในรูป ‘พหุจักรวาล’ ที่รวมเอาจักรวาลลักษณะต่าง ๆ ในหลากมิติที่เป็นเหมือน–อื่นเข้าไว้ในเส้นคู่ขนานเดียวกัน รวมถึงในกรณีวัตถุผลงานชิ้นอื่น ๆ เช่นกัน ทั้งหมดนั้นต่างมีจุดเชื่อมโยงเข้าด้วยกันในสักซอกหลืบหนึ่งบนแง่มุมและมุมมองในตัวบทและโลกทัศน์แบบเฉพาะของแต่ละวัตถุ นี่จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นคนละเรื่องเดียวกันที่สหบทและพหุจักรวาลมาบรรจบใน ‘เอกภูมิ’ แห่งนี้
เนื้อหาของวรรณคดีที่สังเคราะห์ขึ้นใหม่ ทั้งในรูปแบบการทำงานด้วยเทคโนโลยีผ่านการสร้างแบบจำลองภาษาที่เรียบเรียงไตรภูมิพระร่วงขึ้นมาใหม่ และการประพันธ์เรื่องราวของศิลปินด้วยวัตถุจัดวางทั้งสองและสามมิติ ทั้งหมดล้วนแต่ถูกปรับเปลี่ยนและแต่งขึ้น เพื่อถ่ายทอดเสนอความเป็นอื่นและแปลกปลอมจากเรื่องราวไตรภูมิเดิมเกือบทั้งสิ้น กล่าวคือในขณะที่เทคโนโลยีเข้ามาตีความและสร้างเรื่องใหม่ ศิลปินก็ได้วิพากษ์และสร้างภาพ(จำ)ใหม่ พร้อมเติมแต่งเสนอประเด็นที่ตนสนใจประกอบขึ้นมา ทั้งสองต่างก็ถามย้อนกลับและชวนถกถึงบทบาทและอำนาจของผู้ประพันธ์ที่หลงเหลือเพียงเศษซาก ผ่านสิ่งแทนอย่างดินสอ หลักศิลาจารึก หอคอยบาเบล เครื่องพิมพ์ดีด โดยเฉพาะนิ้วชี้พองลมที่ตั้งชี้กำหนดทิศทาง ท่วงท่าแห่งอำนาจ รวมถึงเรื่องราวและความหมายดั้งเดิมที่อ้างอิงถึงจากจิตรกรรมตั้งต้น ขณะเดียวกันนั้นการวิพากษ์กลับไปยัง ‘ผู้ประพันธ์’ ก็ยอกย้อนในบทบาทและอำนาจของศิลปินที่ทำงานในรูปแบบคอลลาจซึ่งเป็นการนำภาพหรือวัตถุจากที่อื่นเข้ามาตัดปะสร้างเรื่องราวจำเพาะใหม่ขึ้นมาเช่นกัน ไม่แตกต่างจากกระบวนการทำงานของสมองกลคอมพิวเตอร์ที่ประมวลผลและสร้างภาษาใหม่สำหรับตัวบท/เนื้อเรื่องขึ้นมา ด้วยมุมมองนี้อาจกล่าวได้ว่า กระบวนการสร้างสรรค์ของทั้งศิลปินและสมองกลก็ต่างชี้ให้เห็นถึงการตั้งคำถามกลับไป–มาระหว่างกันและกันด้วยกลวิธีการทำงานในรูปแบบเดียวกัน ดังนั้นแล้วนอกจากจะเป็นการกล่าวถึงอำนาจและบทบาทของผู้ประพันธ์ของเรื่องราวตั้งต้นแล้ว ยังสร้างพื้นที่ปะทะระหว่างสองผู้มีอำนาจประพันธ์ ณ ห้วงเวลาปัจจุบันให้ได้แสดงตัวตนออกมาอย่างชัดเจนอีกด้วย
เมื่อพินิจต่อเนื่องเจาะจงถึงสองผู้ประพันธ์เรื่องราวจักรวาลที่กำลังเกิดขึ้นใหม่ จากมุมมองการซ้อนทับระหว่างตัวบท/เนื้อเรื่องเก่าหรือเกือบเก่าเกือบใหม่ ไปจนถึงใหม่บนระนาบเดียวกัน ได้ขยายขอบเขตไปไกลเหนือกว่าผู้ประพันธ์ที่ถ่ายโอนอักษรเป็นภาพ สู่กระบวนการพ้นมนุษย์ การใช้สมองกลในวิธีการทางภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ซึ่งเข้ามาสั่นคลอนบทบาทของมนุษย์ในสถานะผู้ประพันธ์ ผลลัพธ์จากการตัดแต่ง ดัดแปลง และเรียบเรียงขึ้นใหม่ ล้วนเน้นย้ำถึงการผละจากตัวบท/เนื้อเรื่องเดิมและเปลี่ยนเป็นอื่น โดยที่ยังคงดำรงบางเสี้ยวของแง่มุมดั้งเดิมไปพร้อมกัน ดังนั้นสิ่งที่ได้ชม/อ่านจากนิทรรศการจึง ‘ไม่ใช่ไตรภูมิพระร่วง’ หากแต่คือ ‘เอกภูมิ’ แห่งความโกลาหลที่ก่อร่างขึ้นจากการท้าทาย ถกถาม และละทิ้งความเป็นสิ่งนี้ สู่ความเป็นสิ่งอื่น อันนำไปสู่คำถามลำดับต่อไป เป็นอื่นแค่ไหน? เป็นอื่นจากมนุษย์? เป็นอื่นจากภาษา? เพราะถึงแม้ตัวบทใหม่จะถ่ายทอดด้วยอักษรพยัญชนะไทย ซึ่งประกอบเป็นคำในภาษาไทยที่ถูกเรียบเรียงและสื่อสารในรูปของวลี รวมถึงประโยคที่วางบนระบบระเบียบและตรรกะ ‘อื่น’ จนบางครั้งก็เกินกว่าจะทำความเข้าใจโดยมนุษย์