สำรวจการออกแบบภายในของโครงการ SCOPE Langsuan ที่ออกแบบโดย Thomas Juul-Hansen อันเต็มไปด้วยความความหรูหรา ประณีต และความใส่ใจในรายละเอียดในทุกจุดแม้ว่าจะเล็กแค่ไหนก็ตาม

TEXT: JINTAWACH TASANAVITES
PHOTO COURTESY OF SCOPE LANGSUAN EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

SCOPE หลังสวน ได้รวบรวมและคัดสรรนักออกแบบที่มีชื่อเสียงในระดับโลกตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ เพื่อสะท้อนความตั้งใจที่จะสร้างมาตรฐานระดับสากลให้กับการใช้ชีวิตของผู้อยู่อาศัยในโครงการ ทีมงานได้เลือก Thomas Juul-Hansen สถาปนิกชาวเดนมาร์กผู้อาศัยอยู่ในนิวยอร์ก ให้รับหน้าที่ผู้ออกแบบงานสถาปัตยกรรมภายในของโครงการนี้ และถึงแม้ว่านี่จะเป็นโปรเจ็คต์แรกในเอเชียของเขา แต่ Thomas Juul-Hansen มีความคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับโลกของงานออกแบบสถาปัตยกรรมภายในอันหรูหราในหลายโครงการ และอยู่เบื้องหลังการออกแบบโครงการที่พักอาศัย โรงแรม งาน retail และงานในเชิงพาณิชย์ในระดับไฮเอนด์ ซึ่งเป็นที่กล่าวถึงอย่างแพร่หลายในนิวยอร์กและลอนดอน หนึ่งในตัวอย่างคือโครงการสูง 75 ชั้น One57 ซึ่งนับเป็นที่พักอาศัยที่มีราคาสูงที่สุดในนิวยอร์ก

SCOPE LANGSUAN 2 Bed Unit

งานของ Thomas Juul-Hansen มีรายละเอียดที่อยู่เหนือกาลเวลา แต่ในขณะเดียวกันก็มีความ sensitive หรือความไวต่อการตอบสนอง ในมิติของการออกแบบที่ได้รับอิทธิพลจากบริบทของพื้นที่ การเลือกและจัดการวัสดุที่มีความละเอียดลออ และการออกแบบในรายละเอียดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะเจาะจงสำหรับโครงการหรือสถานที่นั้นๆ “ผมเชื่อว่าความหรูหราเป็นภาษาสากล ซึ่งเกิดจากการหลอมรวมกันของคุณภาพของแสง ที่ว่าง การใช้งาน และวัสดุ” Thomas ตอบคำถาม art4d ด้วยความมั่นใจเมื่อถูกถามว่าสำหรับเขาแล้วความหรูหรามีคำจำกัดความว่าอย่างไร “ในภาพรวม คำจำกัดความของความหรูหราในกรุงเทพฯ จึงไม่ต่างจากในนิวยอร์กหรือลอนดอน”

Thomas Juul-Hansen | Photo: Ketsiree Wongwan

การวางผังในงานออกแบบสถาปัตยกรรมภายในของ SCOPE หลังสวน ได้รับการจัดลำดับการเข้าถึงบนพื้นฐานของการเดินทางของผู้อยู่อาศัย เริ่มต้นตั้งแต่ทางเข้าที่ล็อบบี้ชั้น 1 ที่โอ่โถง โดดเด่นด้วยแชนเดอเลียที่ทำจากหินโมราสีชมพู (Pink onyx) ซึ่ง Thomas เป็นผู้ออกแบบขึ้นใหม่ให้เข้ากับปริมาตรพื้นที่และการตกแต่งโดยรวมของทั้งส่วนล็อบบี้ ตัดกับเคานเตอร์ concierge หินอ่อนสีเขียวในรูปทรงที่เสมือนงานประติมากรรม ในเวลาเดียวกัน ความเป็นส่วนตัวของผู้อยู่อาศัยเป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ ที่ได้รับความสำคัญในการออกแบบ โดยทางสัญจรของผู้อยู่อาศัยและของพนักงานได้รับการออกแบบให้แยกส่วนกัน เพื่อให้พื้นที่ส่วนกลางนั้นเป็นพื้นที่ที่เงียบสงบ ไม่แออัด รู้สึกไม่รีบร้อน และรู้สึกเป็นส่วนตัว เมื่อผ่านส่วนล็อบบี้เข้ามาภายใน ลิฟต์ส่วนตัวจะพาผู้อยู่อาศัยเข้าสู่ห้องพักของตัวเองโดยตรง โดยแต่ละห้องมีขนาดที่ผ่านการออกแบบมาจนมั่นใจว่าเป็นขนาดที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยอย่างสะดวกสบาย ตั้งแต่ 83-436 ตร.ม. และความสูงของพื้นถึงฝ้าเพดานที่ 3.5 และ 4 เมตร มิติของขนาดและความสูงที่ได้รับการออกแบบอย่างละเอียดนี้สร้างความรู้สึกของการอยู่อาศัยในพื้นที่ที่โอ่โถง ให้ความรู้สึกของการอยู่อาศัยภายในบ้านเดี่ยว ที่อยู่บนวิวและความหรูหราของการอยู่อาศัยใจกลางเมือง

ในมิติที่ลึกลงไปอย่างเรื่องความรู้สึกในสเปซ Thomas อธิบายเพิ่มเติมถึงแรงบันดาลใจที่เขาได้รับจากการมาเยี่ยมเยือนมหานครแห่งนี้ว่า “สำหรับผมแล้ว กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งแสงสว่างและความปลอดโปร่ง เป็นเมืองที่ให้ความรู้สึกของสภาพอากาศแบบร้อนชื้นที่เกิดจากความสว่างจากแสงแดดและสภาพอากาศที่โปร่งเบา ผมจึงเลือกใช้วัสดุและสีสันที่ให้ความรู้สึกสว่างและโปร่งสบายเพื่อสะท้อนถึงคุณลักษณะเฉพาะตัวเหล่านี้ของกรุงเทพฯ” ความรู้สึกเหล่านี้สามารถสัมผัสได้ทันทีเมื่อเข้ามาถึงภายในโครงการ โดยเฉพาะภายในห้องพักที่ไม่เพียงมีพื้นที่กว้างขวาง แต่ยังรวมไปถึงบานหน้าต่างที่ความสูงจากพื้นจรดฝ้าเพดานที่ช่วยเติมเต็มพื้นที่ด้วยแสงธรรมชาติ ประกอบกับการเลือกใช้วัสดุและชุดสีในโทนสว่างที่สร้างความปลอดโปร่งและชีวิตชีวาให้กับพื้นที่ภายใน ในความรู้สึกอบอุ่นอ่อนโยนและเรียบร้อยสะอาดตา

ในส่วนของงานเฟอร์นิเจอร์ SCOPE เลือกสรรผลิตภัณฑ์ที่หลอมรวมฟังก์ชันการใช้งานชั้นเลิศเข้ากับรูปลักษณ์ที่สวยงามอย่างถี่ถ้วน โดยเฉพาะในส่วนครัวที่เลือกใช้แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนจากเยอรมนีอย่าง Gaggenau และ Bulthaup ที่มีรายละเอียดของความคิดอยู่ในทุกจุดของการออกแบบ ยกตัวอย่างเช่นส่วนท้อปเคาน์เตอร์ที่ทำจากหินทัชมาฮาลควอตไซต์สีขาวนวลและสีงาช้าง แผ่นหินเนื้อเดียวกันทั้งผืนนี้ช่วยมอบทั้งความสวยงาม พร้อมทั้งปกป้องการดูดซับน้ำทุกรูปแบบ ผู้อยู่อาศัยจึงสามารถใช้งานได้อย่างไร้กังวลว่าสีสันจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลาจากการเปรอะเปื้อนและการใช้งานหนัก บริเวณโถงทางเข้า ตั้งแต่ทางเข้าห้องไปจนถึงห้องนั่งเล่นนั้นได้รับการออกแบบให้มีแนวตู้และชั้นสำหรับใช้เป็นที่เก็บของได้อย่างเหลือเฟือ พร้อมทั้งตู้รองเท้าที่ได้รับการออกแบบให้สามารถเก็บรองเท้าได้กว่าร้อยคู่ขึ้นไป รวมไปถึงเป็นที่ตั้งที่เรียบร้อยของเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ อย่างเครื่องซักผ้าและเครื่องอบผ้า ในส่วน walk-in closet เลือกใช้แบรนด์ LEMA จากอิตาลี โครงตู้เสื้อผ้ารูปตัว U นี้ตั้งอยู่ถัดจากห้องน้ำที่มีขนาดกว้างขวางกรุด้วยหินอ่อนสีขาวล้วน รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์อีกหลายชิ้นที่ Thomas เป็นผู้ออกแบบขึ้นใหม่ด้วยตัวเอง บนความใส่ใจในรายละเอียดสูงสุด “ผมได้เรียนรู้ว่าประสบการณ์การอยู่อาศัยทั้งหมดจะเปลี่ยนแปลงไปด้วยการผลิตเฟอร์นิเจอร์แบบสั่งทำพิเศษให้เข้ากันกับสภาพแวดล้อมภายในของพื้นที่” เฟอร์นิเจอร์หลายชิ้นภายในห้อง อย่างเช่นโต๊ะทำงาน ชั้นวางโทรทัศน์ และงาน built-in ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นสำหรับโครงการนี้โดย Thomas โดยเฉพาะ

ระดับของความประณีต และความใส่ใจในรายละเอียดในทุกจุดแม้ว่าจะเล็กแค่ไหนก็ตามโดยผู้ออกแบบระดับสากลนี้ ช่วยยืนยันคำจำกัดความของความหรูหราที่ SCOPE Langsuan ให้มาตรฐานเอาไว้ได้อย่างไม่มีข้อสงสัย

scopecollection.com 
facebook.com/scopecollection