DUTCH DESIGN WEEK 2022

Photo: Aiste Rakauskaite

เดชา อรรจนานันท์ จาก THINKK Studio พาเราไปดู 10 ผลงานที่น่าสนใจใน Dutch Design Week 2022 ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ปีนี้มีประเด็นหลักคือการออกแบบและค้นคว้าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแนวคิดที่วงการออกแบบทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยกำลังให้ความสนใจ

TEXT: DECHA ARCHJANANUN
PHOTO CREDIT AS NOTED

(For English, press here

เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่ภาครัฐมีการสนับสนุนเงินทุนให้กับคนทำงานสร้างสรรค์หลากหลายสาขามากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ทำให้ไม่แปลกใจเลยที่เทศกาลออกแบบสำคัญๆ อย่างเช่น Milan Design Week มักมีกลุ่มนักออกแบบดัตช์หน้าใหม่ ไปปรากฏตัวนำเสนอผลงานกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนอยู่เสมอ และเมื่อเราได้เห็นความสนุกกับไอเดียที่ไร้ขอบเขต แต่แฝงไปด้วยการแก้ปัญหา ผนวกด้วยนวัตกรรม และความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ของนักออกแบบเหล่านี้ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ถ้าหากเป็นการโชว์ในประเทศของพวกเขาเองนั้น เราจะได้เต็มอิ่มกับสาระและความเพลิดเพลินในการเดินชมขนาดไหน

Photo courtesy of Dutch Design Week (DDW)

Dutch Design Week 2022 ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 18 นับตั้งแต่เปลี่ยนมาใช้ชื่อใหม่นี้ในปี 2005 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23-30 ตุลาคมที่ผ่านมาที่เมือง ไอนด์โฮเฟน อันเป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยีและนวัตกรรมของภูมิภาค รวมทั้งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนดีไซน์ชั้นนำของโลก อย่าง Design Academy Eindhoven โดยว่ากันว่า ผลงานการค้นคว้า ทดลอง ที่นำเสนอในเทศกาลนี้ ไม่ว่าจากนักเรียน หรือ นักออกแบบมืออาชีพ จะเป็นการบอกทิศทางล่วงหน้า ความเป็นไปของดีไซน์ในอนาคต โดยภาพรวมที่ชัดเจนที่สุดของ DDW ครั้งนี้ที่สัมผัสได้ คือ การออกแบบ และค้นคว้าในเรื่องของ การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การทำให้โลกเราดีขึ้นในทุกมิติ อันเป็นกระแสหลักของวงการออกแบบทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ที่กำลังขับเคลื่อนด้วยนโยบาย BCG (Bio, Circular, Green) แต่ด้วยความที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีความใส่ใจในเรื่องเหล่านี้มาอย่างยาวนาน ผู้คนในประเทศมีความตระหนัก และสนับสนุนสินค้าที่ใสใจต่อสิ่งแวดล้อมกันเป็นปกติ ทำให้การขับเคลื่อนกระแสนี้ เป็นภาพที่ใหญ่และไปได้เร็วในทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดย 10 ผลงานที่เลือกมานำเสนอนี้ ล้วนมีความน่าสนใจและแฝงไปด้วยประเด็นของการรักษาสิ่งแวดล้อม การหมุนเวียนทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสร้างผลกระทบต่อโลกให้น้อยลง

Solar Pavillion by V8 Architects and Marjan van Aubel Studio

Solar Pavilion by V8 Architects and Marjan van Aubel Studio I Photo: Aiste Rakauskaite

ออกแบบโดบ V8 Architects และ Marjan van Aubel Studio โดยร่วมมือกับผู้ผลิตแผงโซล่าร์ Kameleon Solar เป็นการแปลงภาพลักษณ์ของความเป็นวิศวกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ ไปสู่งานดีไซน์ โดยทำให้แผงโซล่าร์ มีสีสันที่สวยงาม หลากหลายสี ห้อย คล้ายเปลขนาดใหญ่ พาดไปบนโครงสร้างเหล็ก ซึ่งนอกจากจะกลายเป็นส่วนที่สร้างร่มเงาให้กับพื้นที่กิจกรรมด้านล่างแล้ว ยังแปลงแสงแดดไปเป็นพลังงานและให้ความอบอุ่นกับพื้นที่อีกด้วย นอกจากนั้นผู้ชมยังสามารถปีนบันไดขึ้นไปบริเวณช่องที่เปิดไว้บนหลังคา ทำให้ได้สัมผัสอีกความรู้สึกที่สงบ และได้เห็นมุมมองความสวยงามของแผงโซล่าร์ที่มีจำนวน 380 สี ในมุมมองที่ใกล้ชิด

The Lac Lab open source by Ori Orisun Merhav

The Lac Lab open source by Ori Orisun Merhav I Photo: Anna Jurna

ผลงานจบการศึกษาของนักศึกษาปริญญาตรี จาก Design Academy Eindhoven ที่ได้มาค้นคว้าหาข้อมูลในประเทศไทยเกี่ยวกับครั่ง แมลงที่มีความสามารถในการหลั่งสารเป็นยางหรือชันออกมาเพื่อเป็นที่กำบังตัวเองจากศัตรู โดยมนุษย์ได้นำมาใช้ประโยชน์หลายอย่าง ตัวอย่างที่เรารู้จักกันดีคือน้ำยาเคลือบไม้ หรือ เชลแลค นั้นเอง Ori ค้นหาความเป็นไปได้ที่จะ ขึ้นรูปเรซิ่นธรรมชาตินี้ในรูปแบบอื่นๆ เช่นการเย็บต่อกัน ไปจนถึงการเป่าเข้าไปในโมลด์ และยังพัฒนาให้องค์ความรู้เป็นแพลทฟอร์มเปิดเพื่อเชิญชวนให้นักทดลองอื่นๆ ได้มาร่วมให้ความหมายใหม่กับวัสดุธรรมชาติจากแมลงครั่งนี้

REX by Ineke Hans Studio

REX by Ineke Hans Studio I Photo: Annegien van Doorn

ดัทช์แบรนด์ Circuform ได้นำเก้าอี้พลาสติกที่เคยออกแบบไว้และได้รางวัล Good Design Award ในปี 2011 โดย Inke Hans มาชุบชีวิตใหม่ โดยมีเป้าหมายที่จะลดและงดการใช้ทรัพยากรใหม่ ที่มีต้นทุนสูงให้น้อยที่สุด แต่เพิ่มการนำวัสดุที่ผ่านการใช้งานแล้วหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ให้ได้มากที่สุด จึงเป็นที่มาของการนำเอ็นจับปลา ชิ้นส่วนจากเก้าอี้สำนักงานเก่า และขยะทางอุตสาหกรรม มาแปรรูปเป็นส่วนผสมของเก่าอี้ตัวนี้ โดยนำโมลด์ที่มีอยู่แล้วมาดัดแปลงใหม่ให้เหมาะกับการผลิตด้วยพลาสติกรีไซเคิลนี้ นอกจากนั้นยังออกแบบกลไกการให้บริการ และวงจรชีวิตของเก้าอี้ตัวนี้ได้อย่างน่าสนใจ อาทิ เก้าอี้ตัวนี้สามารถนำมาคืนกับ Circuform ได้ทุกเมื่อและการันตีคืนเงินมัดจำให้ 20 ยูโร โดยทุกตัวที่นำมาคืนจะถูกตรวจสอบคุณภาพทำความสะอาด ซ่อมแซม และจำหน่ายต่อไป ส่วนตัวที่แตกหัก เสียหายรุนแรง จะถูกนำไปย่อยกลายเป็นวัตถุดิบ กลับมาผลิตได้อีกครั้ง ทำให้ผลงาน Rex ได้รับรางวัล Dutch Design Award 2022 ปีนี้ไปครอง

Color Blends by Rē

Color Blends by Rē I Images courtesy of Rē

คือการร่วมมือกันระหว่าง Envisions, AE studios และ Michael Wolf พัฒนาผ้าจากเส้นใยชนิดใหม่ มีชื่อว่า Wyron ซึ่งเป็นเศษเส้นใยที่ไม่ผ่านการคัดแยก ที่มีองค์ประกอบ วัสดุ และสีแตกต่างกัน นำมาคละกันทั้งหมด โดยมีส่วนผสมให้เลือกใช้แตกต่างกันไป ตามคุณสมบัติที่ต้องการ โดยนำเสนอคุณสมบัติที่เหมาะกับการใช้ตกแต่งบ้าน และเสน่ห์ของความไม่สมบูรณ์แบบมาผสมผสานกับเทคนิคการผสมสีและการทอโดยผู้ผลิตที่มีความชำนาญสูง ทำให้ผ้ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น อีกทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

Philips 3D printed recycled lamps by Philips MyCreation

Philips 3D printed recycled lamps by Philips MyCreation I Photo: Decha Archjananun

อวนจับปลาที่ถูกทิ้ง นับเป็น 46% ของแพขยะใหญ่ในมหาสมุทรแปซิฟิก (Great Pacific Garbage Patch) Philips MyCreation เป็นโครงการที่แบรนด์อุปกรณ์ไฟฟ้าและโคมไฟอย่าง Philips ต้องการที่จะนำขยะที่เป็นปัญหาใหญ่ออกมาจากทะเล ด้วยวิธีการย่อยขยะอวนจับปลาที่ได้มา จากนั้นฉีดออกมาเป็นเส้นฟิลาเมนต์สำหรับนำไปใช้กับกระบวนการ 3d printing ได้ โดยตัววัสดุมีความน่าสนใจในการเป็นโคมไฟด้วยความสามารถในการเรืองแสง โปร่งแสงในหลายระดับ ของวัสดุ เกิดเป็นโคมไฟรูปแบบต่างๆ ที่มีความน่าสนใจด้วยคุณสมบัติของวัสดุ และเทคนิคของ 3D printing ที่ละเอียดอ่อนหลายรูปแบบ และมีผลงานที่ได้รับรางวัล IF design award 2022 ในปีนี้ด้วย

The dairy farm is a universe by Thomas Vailly

The dairy farm is a universe by Thomas Vailly I Photo courtesy of Studio Thomas Vailly

Thomas Vailly อีกหนึ่งศิษย์เก่า Design Academy Eindhoven ที่มีความสนใจเกี่ยวกับวัสดุทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง โดยผลงานล่าสุด เป็นการวิจัยหาแนวทางของการสร้างระบบปิดของการเกิดวัสดุใหม่ จากสิ่งต่างๆ ในฟาร์มโคนม อาทิเช่น เซลลูโลส แป้ง และลิกนิน ที่ได้มาจากข้าวสาลี รวมทั้ง โปรตีน และเวย์จากน้ำนม โดยสิ่งเหล่านี้ ใช้เป็นองค์ประกอบในการสร้างวัสดุเพื่อใช้ภายในสถานที่ของฟาร์มเอง ซึ่งผลลัพธ์แรกที่ได้ทดลองคือ การอัดวัสดุที่เป็นส่วนผสมของเส้นใยฟางและแป้งข้าวสาลีฉีดผ่านโมลด์ (extruded profiles) ออกมา โดยผู้ออกแบบมองว่าการปิดวงจรของการเกิดวัสดุ ทำให้ทรัพยากรไม่รั่วไหลออกจากระบบ ลดการใช้พลังงาน และการใช้ทรัพยากรใหม่ในขั้นตอนการทำงาน

‘The dairy farm is a universe’ conceptual sketch generated by DALL-E

For Greener Pastures by Gereon Wahle

For Greener Pastures by Gereon Wahle I Photo courtesy of Gereon Wahle

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการจบการศึกษา ของ Design Academy Eindhoven เป็นผลงานที่ใช้เศษหนังมาอัดขึ้นรูปเป็นวัสดุใหม่ เพื่อแก้ปัญหาเศษหนังที่ถูกนำไปฝังกลบ ที่มีมากถึง 2.49 ล้านตัน ต่อปี โดยกระบวนการสร้างวัสดุนี้ ใช้กาวชีวภาพในการอัดขึ้นรูปเศษหนังที่ถูกย่อยแล้วให้กลายเป็นแผ่น เมื่อเหลือเศษ หรือหมดอายุการใช้งานแล้ว สามารถนำไปทำลายและอัดขึ้นรูปได้ใหม่ เป็นวงจรคล้ายการรีไซเคิลพลาสติก นอกจากนั้นยังเป็นระบบพื้นฐาน ที่รองรับขยะเศษหนังจากการผลิตสินค้าของผู้ประกอบการด้านหนังแต่ละราย และสร้างคุณค่ากลับไปที่ผู้ประกอบการทั้งมิติของภาพลักษณ์และมิติของมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากเศษหนังที่เคยไม่มีประโยชน์

The Lost Mountains of Holland by Hugo Peels

The Lost Mountains of Holland by Hugo Peels I Photo: Iris Rijskamp

โปรเจ็คต์นี้เริ่มต้นจากความสงสัยส่วนตัวว่าเขาจะสามารถนำภูเขาที่หายไปของฮอลแลนด์กลับมาใช้ใหม่ได้หรือไม่ Hugo Peels สร้างวัสดุก่อสร้างที่ยั่งยืนจากฝุ่นหินธรรมชาติที่เป็นเศษที่ไร้ค่าจากอุตสาหกรรมหิน โดยรวมฝุ่นนี้เข้ากับเทคนิค rammed earth เลียนแบบการตกตะกอนเป็นชั้นๆ โดยวัสดุถูกกระแทกและอัดให้เป็นของแข็ง เทคนิคนี้ช่วยให้สิ่งที่เคยเป็นภูเขาเริ่มต้นชีวิตใหม่เป็นวัสดุสำหรับการก่อสร้าง

From sludge to tile by Kirstie van Noort & Lotte de Raadt

From sludge to tile by Kirstie van Noort & Lotte de Raadt I Photo courtesy of Kirstie van Noort

Koninklijke Tichelaar บริษัททำเซรามิคที่เก่าแก่ที่สุดในเนเธอร์แลนด์ ได้เชิญ Kirstie van Noort & Lotte de Raadt เป็น 1 ใน 3 สตูดิโอออกแบบ ไปร่วมทำงานแบบ design residency ในโอกาสครบรอบ 450 ปีของบริษัท เพื่อร่วมกันเสาะหาแนวทางที่จะทำให้ กระบวนการผลิตที่มีนวัตกรรมที่ดีอยู่แล้ว ได้มีแง่มุมของความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น โดยผลงานนี้เจาะจงไปที่การนำกากตะกอนเหล็กมาใช้ประโยชน์ในกระบวนการทำเซรามิค ซึ่งกากตะกอนเหล็กเป็นสารตกค้างตามธรรมชาติที่มาจากการสูบน้ำบาดาลขึ้นมา แล้วกรองไปเป็นน้ำประปาให้บริสุทธิ์ สิ่งที่หลงเหลือจากกระบวนการคืออนุภาคเหล็กสีน้ำตาลเข้มที่ดีมากในการนำมาทำน้ำเคลือบ และระบายสีงานเซรามิค

B Wise by Myceen

B Wise by Myceen I Photo: Kristjan Mõru

Myceen เป็นบริษัทจากเอสโตเนีย ที่พัฒนาวัสดุและผลิตภัณฑ์จากเส้นใยรา หรือ Mycelium ได้นำเสนอผลงาน B Wise โคมไฟแขวนเพดาน ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 60 เซนติเมตร โดยใช้เศษเหลือใช้ทางชีวภาพ จากอุตสาหกรรมการทำงานไม้ เช่นขี้เลื่อย และเศษเหลือใช้ทางการเกษตร เช่นฟางข้าว มาเป็นส่วนผสม โดยมีส่วนประกอบสำคัญคือเส้นใยรา จากนั้นจึงเทส่วนผสมทั้งหมดลงไปในโมลด์ ปล่อยให้เจริญเติบโตภายใต้การควบคุมอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสม จนได้รูปทรงที่โตเต็มโมลด์ดีแล้ว จึงนำความชื้นออกไปเพื่อรักษารูปทรงและหยุดการเจริญเติบโตของรา


ddw.nl

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *