พาย้อนอดีต World Expo 1970 สู่ความยิ่งใหญ่ครั้งใหม่ใน World Expo 2025 ที่ญี่ปุ่นเตรียมปลุกเวทีนวัตกรรมอีกครั้ง
TEXT: TIWAT KLEAWPATINON
PHOTO COURTESY OF 1970 OSAKA WORLD EXPO
(For English, press here)
หลังจากผ่านไปกว่า 5 ทศวรรษ โอซาก้าก็ได้รับโอกาสกลับมาจัดงานนิทรรศการโลก หรือ World Expo เป็นครั้งที่สอง ซึ่งในงาน Expo 2025 นี้ก็ยังคงมีประเทศต่างๆ เข้าร่วมจัดแสดงกว่า 150 ชาติทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยของเราด้วย ครั้งนี้โอซาก้ามาในธีมหลัก ‘Designing Future Society for Our Lives’ ซึ่งจะแบ่งออกเป็นหัวข้อหลักๆ ได้เเก่ ‘Saving Lives’, ‘Empowering Lives’ และ ‘Connecting Lives’ ซึ่งมุ่งเน้นการนำเสนอแนวทางการอยู่ร่วมกันในอนาคตของมนุษยชาติผ่านเทคโนโลยีทั้งทางการแพทย์ ปัญญาประดิษฐ์ และอื่นๆ อีกมาก โดยงานครั้งนี้จะจัดขึ้นบนเกาะ Yumeshima บนอ่าวโอซาก้า ซึ่งเป็นเกาะที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์ที่มีแผนไว้ใช้สำหรับเป็นที่ตั้งของรีสอร์ทคาสิโนแห่งแรกในญี่ปุ่นอีกด้วย ก่อนที่งาน Expo 2025 จะเริ่มขึ้น อยากจะขอพาทุกท่านย้อนเวลากลับไปสำรวจงาน Expo 1970 ที่โอซาก้าครั้งแรกกันสักหน่อย ว่ากว่าครึ่งศตวรรษที่แล้ว ญี่ปุ่นเคยวาดวิสัยทัศน์สำหรับ ‘โลกใหม่’ ไว้อย่างไร
ย้อนกลับไปในปี 1970 โลกยังอยู่ในยุคสงครามเย็น ถึงแม้ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตมีแนวโน้มจะค่อยๆ ผ่อนคลายลง ทั้งสองค่ายยังแข่งขันกันพัฒนาเทคโนโลยีสำรวจอวกาศ (อเมริกาเพิ่งประสบความสำเร็จในการลงจอดบนดวงจันทร์ก่อนหน้านี้ 1 ปี) สงครามเวียดนามกำลังเข้าสู่ช่วงร้อนระอุ มีการประท้วงเพื่อเรียกร้องให้ยุติสงครามทั่วโลก เทคโนโลยีต่างๆ เช่น เครือข่ายคอมพิวเตอร์ยุคแรกๆ ก็ถูกพัฒนาในยุคนี้ วัฒนธรรมฮิปปี ร็อกแอนด์โรล และเพลงป๊อปกำลังเบ่งบาน นอกจากนี้ เศรษฐกิจของโลกก็เริ่มชะลอตัว หลังจากเติบโตอย่างก้าวกระโดดหลังเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2
งาน World Expo เปรียบเสมือนเป็นเวทีสำคัญระดับโลกที่แต่ละชาติจะมานำเสนอความก้าวหน้าทางนวัตกรรมล้ำสมัยให้สายตาของโลกได้รู้จัก ในฐานะเจ้าภาพคนแรกจากชาติตะวันออก จึงเป็นโอกาสดีของญี่ปุ่นที่จะทำการ ‘รีแบรนด์’ อย่างเป็นทางการ หลังจากเป็นถูกจดจำในฐานะผู้แพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง และเผชิญกับมรสุมทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรงจากความเสียหายจากระเบิดปรมาณูทั้งสองลูกในปี 1945 ญี่ปุ่นพลิกโฉมแซงขึ้นมาเป็นผู้นำอันดับ 2 ทางเศรษฐกิจของโลกภายในช่วงเวลาแค่ 30 ปี (เป็นรองเพียงแค่สหรัฐอเมริกาเท่านั้น) การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดของญี่ปุ่นกว่า 10% ต่อปีติดต่อกันนี้ ถูกเรียกกันจนติดปากว่า ‘ปาฏิหารย์ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น’ (Japanese economic miracle) โดยญี่ปุ่นมุ่งเน้นไปเป็นผู้ผลิตและส่งออกอุตสาหกรรมที่ซับซ้อนอย่าง เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ หรืออุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งสินค้าและนวัตกรรมของประเทศญี่ปุ่นก็ได้เป็นที่นิยมทั่วโลก และได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพและความล้ำสมัย ชาวญี่ปุ่นในยุคนั้นจึงสามารถเรียกได้อย่างเต็มปากว่าเป็น ‘เจเนอเรชั่นสร้างชาติ’ ที่แท้จริง ปรัชญาแนวคิดในการทำงานและการออกแบบในยุคนั้น ยังส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับงาน World Expo 1970 มาในตีมหลักอย่าง ‘Progress and Harmony for Mankind’ สะท้อนความคิดการรักษาความสงบสุข ความก้าวหน้า และพัฒนาการของมนุษย์ชาติ โดยงาน Expo 1970 จัดที่เมืองซุยตะ (Suita) จังหวัดโอซาก้า และมีชาติเข้าร่วมงานถึง 77 ประเทศด้วยกัน นอกจากนี้ยังเป็นครั้งที่มีผู้เข้าร่วมงานมากเป็นประวัติการณ์กว่า 64 ล้านคน (ก่อนจะถูกทำลายสถิติโดย Expo 2010 ที่เซี่ยงไฮ้)
ด้วยความเป็นผู้นำทางนวัตกรรมของโลกสมัยใหม่ งาน Expo 1970 จึงเป็นครั้งที่มีภาพลักษณ์แตกต่างจากครั้งที่แล้วๆ มาเป็นอย่างมาก ทั้งอาคารหน้าตาล้ำยุคแบบ Sci-fi ที่ไม่เคยมีใครเห็นมาก่อน ราวกับหลุดมาจากนิยายวิทยาศาสตร์ นำทัพการออกแบบงานโดยสถาปนิกชั้นครูอย่าง เคนโซ ทังเงะ (Kenzo Tange) และสถาปนิกกว่า 12 ชีวิต ซึ่งหลายๆ คนที่เรารู้จักกันดี อาทิเช่น อาราตะ อิโซซากิ (Arata Isozaki) หรือ คิโช คุโรคาว่า (Kisho Kurokawa)
ศาลานิทรรศการในงานก็รวมตัวผู้นำทางอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นที่เรารู้จักกันดีหลายบริษัท และยังนำเสนอแนวคิดของนักออกแบบหัวก้าวหน้าของญี่ปุ่นได้อย่างจัดจ้าน เช่นศาลานิทรรศการ Takara Battalion หรือ Toyota IHI Pavilion ของคิโช คุโรคาว่า หัวหอกแห่งแนวคิด Metabolism สถาปัตยกรรมที่สามารถปรับเปลี่ยน ต่อเติม และเจริญเติบโตได้ตามการใช้งาน, Fuji Group Pavillion ศาลาพองลมขนาดมหึมา โดย ยูทากะ มูราตะ ที่ใช้โครงสร้างอัดอากาศ ที่สามารถรื้อถอนได้ง่าย หลังจากงานจบแล้ว ศาลานี้ยังเป็นที่ฉายภาพยนตร์ IMAX ครั้งแรกของโลกอีกด้วย
ไฮไลต์หลักของงานคงเป็น Tower of the Sun หอคอยสูงกว่า 70 เมตร ที่ออกแบบโดย ทาโร่ โอกาโมโตะ ซึ่งตั้งตระหง่านอยู่กลางงานคอยต้อนรับผู้ชมจากทั่วทุกมุมโลก Tower of the Sun ถูกออกแบบมาสื่อความหมายถึง อดีต (หน้าดวงอาทิตย์ด้านหลัง) ปัจจุบัน (ใบหน้าดวงอาทิตย์ตรงกลาง) และอนาคต (หน้ากากสีทองด้านบน) หอคอยแห่งนี้ถือเป็นภาพจำอันสำคัญของงาน Expo และถูกหยิบมาใช้บ่อยครั้งในภาพยนตร์และการ์ตูน (แฟนๆ การ์ตูนอย่าง 20th Century Boys คงจำได้ดี) หอคอยพระอาทิตย์แห่งนี้ยังถูกเก็บรักษาอยู่ในสวนอุทยานเอกซ์โปในเมืองซุยตะ ที่จัดงาน Expo 1970 นี่เอง
งาน Expo 1970 ยังเป็นครั้งแรกที่โลกได้รู้จักกับระบบเครือข่ายโทรศัพท์มือถือไร้สาย, แนวคิดในการพัฒนารถไฟแม่เหล็กความเร็วสูงอย่าง Meglev, คอมพิวเตอร์สำหรับใช้งานในบ้านรุ่นแรกๆ และหินจากการสำรวจดวงจันทร์ (Moonrock) จากภารกิจสำรวจอวกาศ Apollo ในศาลานิทรรศการของสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงหุ่นจำลองยานอวกาศของสหภาพโซเวียต Soyuz และ Lunokhod-1 ขนาดเท่าจริง โดยงาน Expo ครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นครั้งสุดท้ายที่สหภาพโซเวียตเข้าร่วมงานอย่างเป็นทางการและเป็นศาลานิทรรศการที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดในงานนี้กว่า 30 ล้านคนอีกด้วย
งาน Expo 1970 ถือเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่หลวงในการกลับมาในเวทีโลกของประเทศญี่ปุ่นอย่างภาคภูมิ และเป็นงาน Expo ที่จะถูกพูดถึงไปอีกนานในฐานะตัวแทนโลกตะวันออกที่นำเสนอวิสัยทัศน์ของ ‘โลกใหม่’ ได้อย่างครื้นเครง มองย้อนกลับไป สิ่งที่น่าสนใจที่สุดสำหรับงานนิทรรศการโลกอาจจะไม่ใช่นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ที่ถูกนำเสนอในงาน แต่อาจเป็น ‘ทรรศนะ’ ของยุคสมัยที่มองไปในอนาคต และกระบวนทัศน์ของโลกในเวลานั้นๆ ผ่านไปกว่า 5 ทศวรรษ โอซาก้าจะกลับมานำเสนออะไรให้กับเรา วิสัยทัศน์ที่ญี่ปุ่นจะประกาศแก่โลกครั้งนี้จะเป็นอย่างไร และอะไรคือทรรศนะของโลกปัจจุบัน คงต้องหาคำตอบกันต่อไปใน Expo 2025 ที่จะถึงนี้ แต่ที่มั่นใจได้คือมันต้องไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน