เปิดเบื้องหลังและผลงานการออกแบบโลโก้ใหม่ในซีเกมส์และพาราเกมส์ ครั้งที่ 33 โดย TNOP DESIGN ที่พลิกภาพลักษณ์วงการกีฬา ด้วยแนวคิด ‘Play by the Rules’
TEXT: WEE VIRAPORN
IMAGE COURTESY OF TNOP DESIGN
(For English, press here)
กลางปี 2024 การจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ณ กรุงปารีส ได้รับเสียงชื่นชมมากมายจากทั่วโลก หนึ่งในประเด็นที่ได้รับการยกย่องอย่างมากโดยเฉพาะจากแวดวงนักออกแบบคือ การออกแบบกราฟิกของ Paris Olympic 2024 ที่ทำให้เห็นว่า การออกแบบกราฟิกในมหกรรมกีฬา ยังมีอะไรให้เล่นได้อีกเยอะ และชวนให้จับตาว่า มหกรรมกีฬาที่จัดหลังจากนี้จะมีการออกแบบอะไรให้เราได้ฮือฮาอีก
ปลายปีนี้ จะมีมหกรรมกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 33 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ มีการประกวดออกแบบโลโก้และมาสคอตโดยการกีฬาแห่งประเทศไทยที่ได้ผู้ชนะเป็นที่เรียบร้อย ถึงจะเป็นผลงานที่ดีที่สุดจากผลงานจำนวนมากที่มีผู้ส่งเข้ามาประกวด แต่ก็ถูกสาธารณชนตั้งคำถามและแสดงความเห็นอย่างมากว่า เราไม่ควรมองมันเป็นแค่โลโก้และมาสคอต แต่นี่คืองานออกแบบที่จะสื่อสารเพื่อแสดงวิสัยทัศน์และภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ ซึ่งผลงานที่ชนะการประกวดดูจะยังไปไม่ถึงจุดนี้
คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ (THACCA) จึงเสนอให้ redesign ตราสัญลักษณ์ มาสคอต รวมถึงระบบกราฟิกของซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ใหม่ทั้งหมด โดยสตูดิโอที่ได้รับการคัดเลือกให้ทำหน้าที่นี้คือ TNOP DESIGN สตูดิโอออกแบบกราฟิกชั้นนำของไทย ที่ได้รับรางวัลระดับนานาชาติมาแล้วนับไม่ถ้วน
ทันทีที่งานออกแบบโลโก้และมาสคอตชิ้นใหม่สำหรับซีเกมส์และพาราเกมส์ โดย TNOP DESIGN เปิดตัว ก็ได้รับเสียงตอบรับทางบวกอย่างท่วมท้น ยิ่งไปกว่านั้น นักออกแบบจากประเทศเพื่อนบ้านที่เราได้พูดคุยด้วยในงาน BITS (Brand Identity and Typography Symposium) เมื่อต้นปี ก็ชื่นชมงานออกแบบสำหรับซีเกมส์ครั้งที่ 33 อย่างมาก นอกจากเรื่องความสวยงามแล้ว เขายังชอบที่ภาครัฐตัดสินใจจ้างนักออกแบบมืออาชีพ เพราะถ้าเป็นที่ประเทศเขา ภาครัฐไม่มีทางจ้างนักออกแบบ แต่จะใช้วิธีประกวดแบบ แล้วผลงานที่ชนะก็มักจะเป็นงานเชยๆ ตามความชอบของกรรมการ เขาหวังว่า งานออกแบบของ TNOP DESIGN ครั้งนี้จะช่วยจุดประกายให้ภาครัฐของประเทศเขาตระหนักว่า การจ้างนักออกแบบมืออาชีพจะได้ผลงานที่ดีกว่า เป็นหน้าเป็นตาให้ประเทศได้ดีกว่า และเป็นผลดีต่อบุคลากรในอุตสาหกรรมออกแบบของประเทศเขาด้วย
เราจึงติดต่อคุณธีรนพ หวังศิลปคุณ เพื่อชวนคุยเรื่องวิธีคิดและวิธีทำผลงานชุดนี้ รวมไปถึงคำถามใหญ่ที่ว่า งานออกแบบจะเป็น soft power ของประเทศไทยได้ไหม
art4d: ทำไมคุณถึงตัดสินใจรับงานนี้
Tnop Wangsillapakun: การออกแบบสำหรับวงการกีฬาได้รับความสนใจเพิ่มสูงขึ้นมาจากกระแสของปารีสโอลิมปิก เราเป็นหนึ่งในหลายบริษัทที่ถูกเสนอชื่อในการประชุมของ THACCA – คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ (สาขาออกแบบ) เมื่อเราได้รับการคัดเลือก ปัจจัยหลักที่ทำให้ผมรับงานนี้คือ นี่อาจจะเป็นโอกาสเดียวในชีวิตที่ผมจะได้ทำงานลักษณะนี้ เพราะไทยไม่ได้เป็นเจ้าภาพซีเกมส์บ่อยๆ และยังไม่น่าจะได้เป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์หรือโอลิมปิกเร็วๆ นี้ โดยส่วนตัวผมผูกพันกับซีเกมส์ตั้งแต่ไทยเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ครั้งที่ 13 ในปี 1985 ตอนเด็กๆ เรารู้สึกว่ามันเป็นมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่มากและเราภูมิใจมาก ได้เห็นชุดแสตมป์ เหรียญที่ระลึก หรือของสะสมต่างๆ มากมาย แต่หลังจากนั้น ความรู้สึกนี้ก็ลดลง นี่เป็นโอกาสอันดีที่จะกอบกู้ความรู้สึกนี้กลับมา
art4d: โจทย์หนึ่งของงานนี้คือ การแสดง soft power ด้านการออกแบบของไทย คุณมอง soft power อย่างไร
TW: soft power คือ ‘เราเป็นตัวของตัวเองอยู่เฉยๆ คนอื่นมองมาที่เราแล้วเกิดความชื่นชม อยากเป็นอย่างเรา’ แต่ไม่จบที่ชาติอื่นอิจฉาว่าเรามีงานออกแบบสวยๆ ต้องทำให้เขาเห็นว่า นักออกแบบกราฟิกในประเทศเราทำงานได้มาตรฐานระดับโลก แล้วยังมีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับการยอมรับในสังคม ตามที่ควรจะเป็นด้วย ถึงจะกลายเป็น way of life ที่ชาติอื่นอยากทำตามด้วย จากที่ผมเคยทำงานในต่างประเทศและทำงานกับต่างประเทศ ที่อื่นเขาปฏิบัติกับนักออกแบบดีกว่าที่ไทยหมดเลย
art4d: คุณอยากให้งานนี้ช่วยยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมออกแบบกราฟิกของไทยด้านไหน
TW: เราทำงานนี้ภายใต้งบประมาณและเวลาที่จำกัดมาก จึงต้องเข้มงวดเรื่อง licensing หรือการรักษาสิทธิ์ในตัวแบบ ว่ายังอยู่ในมือของนักออกแบบ สิ่งหนึ่งที่ผมผลักดันมาตลอดคือการทำให้ผู้ว่าจ้างไม่มองว่าการจ้างนักออกแบบกราฟิกคือการจ้างทำของ ส่งมอบไฟล์เสร็จแล้วก็จบ ผู้ว่าจ้างจะเอางานชิ้นนั้นไปให้ใครทำอะไรต่อก็ได้ จริงๆ แล้วผู้ว่าจ้างจะใช้งานได้เฉพาะในรายการที่ตกลงกันเท่านั้น การออกแบบโลโก้ของมหกรรมกีฬา หรือเทศกาลต่างๆ เจ้าของงานเอาแบบไปทำ merchandise หรือขายสิทธิ์ในการทำของหาเงินต่อได้อีกเยอะ นักออกแบบควรได้ประโยชน์ตรงนี้ด้วย
ในต่างประเทศ นักออกแบบที่ทำงานให้มหกรรมกีฬาต่างๆ จะได้งบที่ครอบคลุมถึง application ทั้งหมด แต่ในไทยส่วนใหญ่มีงบก้อนเล็กๆ มาให้จัดประกวดโลโก้ แล้วให้คนอื่นเอาไปทำต่อ มันจะควบคุมคุณภาพได้อย่างไร งานนี้เราจึงมีข้อตกลงเรื่องการให้สิทธิ์การใช้งานของโลโก้และมาสคอต แต่ไม่รวมการผลิต merchandise และสิ่งอื่นๆ ที่นำเสนอนอกเหนือจากโลโก้และมาสคอต จะให้เป็นแนวทาง คุณจะเอาไปใช้เลยไม่ได้
art4d: ผลงานที่เห็นในช่องทาง social media ของ TNOP DESIGN อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราได้เห็นในซีเกมส์หรือ
TW: นั่นคือ ‘ข้อเสนอแนวทางและความเป็นไปได้’ ซึ่งเราพยายามผลักดันงานส่วนฟอนต์ และระบบอัตลักษณ์อื่นๆ รวมทั้ง pictograms ด้วย แม้จะอยู่นอกเหนืองบประมาณที่ได้มา ที่เพียงพอให้เราทำได้แค่โลโก้และมาสคอต (ตามสัญญา สิทธิ์ยังคงอยู่กับผู้ออกแบบ แต่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการขายโอนสิทธิ์การใช้งาน) เพราะในการออกแบบอัตลักษณ์ของมหกรรมกีฬานั้นไม่ได้ต้องเริ่มที่โลโก้และมาสคอตเสมอไป
art4d: คุณเริ่มต้นคิดงานนี้จากอะไร แล้วมาเจอคอนเซ็ปต์ ‘Play by the Rules’ ได้ยังไง
TW: เราเริ่มจากการสำรวจมุมมองของคนทั่วไปที่มีต่อซีเกมส์ก่อน เราพบว่า คนเคยรู้สึกว่ามันยิ่งใหญ่แต่หลังๆ มานี้กลับรู้สึกว่าเหมือนการแข่งกีฬาระดับท้องถิ่น และมีเรื่องการตัดสินที่ไม่โปร่งใส เราเลยอยากหยิบจุดนี้มาพลิกกลับให้เป็นมาตรฐานใหม่ไปเลย เพื่อให้แนวคิดนี้ถูกใช้กับการแข่งขันด้วย เพราะคำว่า rules แปลว่ากฎกติกาก็ได้ แปลว่าเส้นร่าง เหมือนการขึ้นโครงร่างของศิลปะลวดลายไทยก็ได้ การขึ้นฟอร์มลายไทยมีโครงสร้างที่เป็นระบบสัดส่วนกันมากกว่าที่คิด เลยอยากเน้นจุดนี้มากกว่า
แล้วทำไมเราถึงหานิยามของงานออกแบบไทยร่วมสมัยกันไม่เจอซักที ถ้าไปดูงานของดัตช์หรือญี่ปุ่น เราจะเห็นความเชื่อมโยงจากอดีตถึงปัจจุบันและอนาคตได้ อย่าง Expo ที่ Osaka มีการสร้างอาคารฟอร์มวงกลมขนาดมหึมา (Grand Ring ออกแบบโดย Sou Fujimoto – ผู้เขียน) เป็นโครงสร้างไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งสานต่อภูมิปัญญาดั้งเดิมของเขา มันเป็นได้ทั้ง traditional และ modern แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านี่คือญี่ปุ่น
กลับมาที่ไทย เราขาดการพัฒนาที่ต่อเนื่องจาก traditional มาเป็น modern ผมพยายามแล้วแต่หาไม่เจอว่าผู้ออกแบบกราฟิกของซีเกมส์ 1985 คือใคร และผมไม่เชื่อว่าในบริบทนี้เราควรแสดงออกว่าความเป็นไทยคือความเยอะ สีสันฉูดฉาด ร่ำรวยอารมณ์ขัน จึงค้นหาจนได้ข้อสรุปว่าฟอร์มที่เป็น essence ของงานศิลปะไทย คือรูปข้าวหลามตัด มีความสง่างาม เมื่อนำฟอร์มข้าวหลามตัดนี้มาเป็นจุดตั้งต้น ประกอบกับการเดินเส้นของ Play by the Rules มาออกแบบเป็นฟอนต์ ก็ขยายผลต่อมาเป็นโลโก้ จะว่าโลโก้นี้เป็นแค่องค์ประกอบที่มาสนับสนุนฟอนต์ก็ว่าได้ ซึ่งก็เป็นวิธีการเดียวกับ Mexico’68 (ผลงานของ Lance Wyman ที่ถือเป็นงานออกแบบอัตลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุดชุดหนึ่งของกีฬาโอลิมปิก – ผู้เขียน) ที่เริ่มจากฟอนต์ แล้วจึงพัฒนามาเป็นโลโก้ กับ pictogram ที่คิดไปเป็นชุดเดียวกันทั้งหมด
art4d: สารภาพเลยครับว่า ตอนเห็นฟอนต์ซีเกมส์ชุดนี้ครั้งแรก ชวนให้นึกถึง Mexico’68 มาก
TW: นี่เป็นหนึ่งในเคสของโอลิมปิกที่เราศึกษาประกอบการทำงานครับ เราเสนอ 2 คอนเซ็ปต์ มีอีกแบบที่ไม่ได้ถูกเลือก กรรมการท่านหนึ่งชอบเพราะ ‘ดูเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดี’ แต่ผมคิดว่าเราไม่ต้องจำกัดตัวเองที่ความเป็นภูมิภาคหรอก ทำให้ได้มาตรฐานโอลิมปิกไปเลยดีกว่า ฟอนต์ก็ทำไว้ครบแล้วทั้งรูปแบบ 2 เส้น และ 3 เส้น มีงานออกแบบ pictogram ที่ทำมาเข้าชุดกันด้วยนะครับ แต่ยังไม่ได้เผยแพร่
art4d: แล้วมาสคอต The Sans ตั้งใจว่าจะไม่ใช้สัตว์ตั้งแต่แรกไหม ส่วนตัวชอบเวอร์ชันที่เป็น flat design มาก
TW: เราศึกษาเคสมาสคอตโอลิมปิกและพบว่าตัวที่เป็น graphic form จะ register ได้เร็วกว่า เช่น Waldi (สุนัขพันธุ์ไส้กรอกหลากสี ซึ่งเป็นมาสคอตตัวแรกของกีฬาโอลิมปิก – ผู้เขียน) ของ Munich 1972 เราอยากทำให้น้อย ไม่อยากไปในแนวทางที่เยอะๆ แปลกๆ การไม่ใช้สัตว์ไม่ได้อยู่ในหัวเลย แต่พอเรามีคอนเซ็ปต์ Play by the Rules แล้วความเป็นเส้นกับศิลปะไทย ก็ทำให้เป็นมาสคอตได้เลย เรามองหาความเป็นไปได้จากเส้นสายในที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฝาปะกน อุบะ ลายจักสาน ลายประจำยาม โคมยี่เป็ง ฯลฯ โดยไม่ต้องไปอิงกับความเป็นสัตว์ แล้วเริ่มต้นจากแบบที่เป็น flat design ก่อนด้วยนะครับ ก่อนจะลองทำแบบที่มีมิติ เป็นการ์ตูนขึ้นมา กลายเป็นว่าตัวสามเหลี่ยมสีชมพู คนเลยเข้าใจว่ามาจากหมอนอิง
ชื่อ ‘เดอะสาน’ จึงเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสะท้อนการนำโครงเส้นที่อยู่ในศิลปะไทยทุกรูปแบบมาตั้งต้นฟอร์มมาสคอต พอปล่อยออกไปหลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นคอนเซ็ปต์ทั้งหมดของทั้งโลโก้และมาสคอต เพราะคำว่า ‘สาน’ ไปตีความว่าเป็นคอนเซ็ปต์เรื่องจักสาน ซึ่งไม่ใช่ (ชื่อ ‘เดอะสาน’ ของพวกเขามีการสะกดภาษาอังกฤษอยู่สองแบบ คือ The Sans และ The Saans และเหมือนจะเลือกใช้แบบหลังมากกว่า แต่เกิดความผิดพลาดช่วงแถลงข่าวครั้งแรก ที่สลับกัน แต่ก็ไม่ได้ติดอะไร เพราะคิดว่ามันเป็นชื่อเฉพาะและก็จดจำได้ดีกว่า)
art4d: ตอนแรกที่เราติดต่อขอสัมภาษณ์ คุณขอให้เรารอให้งานส่วนพาราเกมส์เปิดตัวก่อน คุณอยากพูดถึงอะไรในงานนี้บ้าง
TW: ปกติซีเกมส์และพาราเกมส์ต้องถูกออกแบบพร้อมกัน แต่เราได้มาทำพาราเกมส์ทีหลังเพราะงบประมาณที่ไม่ได้ออกมาพร้อมกัน (หัวเราะ)
เราชื่นชมตัวมาสคอต Petra ของ Barcelona Paralympic’92 มากๆ ที่ไม่มีแขน ตอนที่มันออกมาถือว่าแหวกขนบมากนะ และก็ชอบมาสคอตของ Paris Paralympics 2024 ที่เขาใส่ขาเทียมข้างหนึ่งด้วย พอต้องทำเดอะสานเพิ่มอีก 2 ตัว เลยให้ตัวสีม่วงใส่แขนเทียม ส่วนตาของตัวสีส้มมีข้างนึงที่เป็นอีกสี
ในส่วนของโลโก้ นอกจากทำตามคอนเซ็ปต์ที่ต่อเนื่องมาจากซีเกมส์แล้ว เราตีความว่า นักกีฬากลุ่มนี้ต้องต่อสู้กับตัวเองมากเป็นพิเศษ ถ้าคุณมองแวบแรก จะเห็นเป็นธงสามอันเรียงกัน อาจจะมองว่าเป็นธงแห่งชัยชนะ แต่สังเกตดีๆ ความเป็นสามเหลี่ยมนี้ไม่สมมาตร เพื่อสะท้อนลักษณะทางกายภาพของนักกีฬา
เราตั้งใจให้ทั้งสองโลโก้นี้วางคู่กันแล้วสวยเท่ากัน มีคุณค่าเท่ากัน ในขณะเดียวกันก็ยังมีความเชื่อมโยงกับโลโก้ของซีเกมส์ 1985 ทั้งหมดนี้ก็เพื่อนำเสนอแนวทางการตีความใหม่ ที่ยังคงต่อยอดมาจากอดีต
art4d: สิ่งที่ท้าทายที่สุดในการออกแบบครั้งนี้คือ
TW: คงเป็นเรื่องการท้าทายมาตรฐานต่างๆ ที่เรารู้สึกว่ามันมีจุดบกพร่องที่ควรจะแก้ไขได้ เช่น การเปลี่ยนสีของห่วงซีเกมส์จากเหลืองเป็นแดงที่เห็นชัดเจนกว่า หรือโลโก้พาราเกมส์ที่ต้องปรับหลายจุดทั้งฟอร์มที่เบี้ยวและรายละเอียดที่เยอะเกินไป ถึงเวลาต้องปรับแก้ยกใหญ่ให้เหมาะกับยุคสมัยและการใช้งานของสื่อที่หลากหลาย แต่ก็แก้ไม่ได้ การทำงานกับภาครัฐก็ต้องนำเสนอหลายรอบ ผ่านหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบ รวมทั้งเรื่องเอกสาร แต่ก็ต้องขอบคุณทาง THACCA ที่ช่วยประสานงาน และเข้าใจกระบวนการทำงานของเรารวมทั้งช่วยผลักดันเรื่องลิขสิทธิ์ด้วย ส่วนการนำระบบกราฟิกที่ออกแบบไว้ไปใช้งาน ผมก็หวังว่าทีมที่รับช่วงต่อในการออกแบบสื่อต่างๆ จะทำงานได้ดี