WE WILL LEAVE AND NEVER RETURN…

เหมือนว่าชีวิตมนุษย์จะมีเรื่องราวบางสิ่งบางอย่างกำกับอยู่เบื้องหลัง อย่างเช่น เทพยดา พระเจ้า ประชาธิปไตย ทุนนิยม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องแต่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง อริญชย์ รุ่งแจ้ง ใช้งานศิลปะเป็นเครื่องมือพาไปทบทวนว่า มันมีอำนาจหรือเรื่องราวอะไรบ้างที่ก่อร่างสังคมมนุษย์ให้กลายมาเป็นอย่างปัจจุบัน

TEXT: TUNYAPORN HONGTONG
PHOTO: KETSIREE WONGWAN

(For English, press here

สองสิ่งแรกที่ประสาทสัมผัสของคุณจะได้รับหลังจากเปิดประตูของ Gallery VER เข้าไปคือ กลิ่นและเสียง

กลิ่นที่อบอวลอยู่เต็มห้องคล้ายกลิ่นกำยานเครื่องหอมที่ใช้สักการะเทพเจ้าหรือพระพุทธในวิหารศักดิ์สิทธิ์ ส่วนเสียงเป็นเสียงของหญิงสาวอ่านข้อเขียนบางอย่างด้วยน้ำเสียงราบเรียบเยือกเย็น เมื่อคุณถอดรองเท้าวางไว้ตรงบริเวณหน้าทางเข้า (ตามป้ายที่เขียนไว้) และเข้าสู่บริเวณที่จัดแสดงงาน แต่ละย่างก้าวของคุณจะสัมผัสกับพรมนุ่มที่ปูอยู่เต็มห้อง สัมผัสจากฝ่าเท้าที่เปลี่ยนไปอาจทำให้รู้สึกราวกับว่าคุณได้เข้ามาสู่อีกพื้นที่หนึ่ง เป็นพื้นที่ที่แยกขาดจากสัมผัสแข็งกระด้างของพื้นที่คุณเดินมาตลอดทั้งวัน หรือกระทั่งอาจเป็นอีกโลกหนึ่ง ความนุ่มและสีครีมสะอาดของพรมยังอาจเชื้อเชิญให้คุณค่อยๆ นั่งลงเพื่อพิจารณางานศิลปะแต่ละชิ้น เสียงของหญิงสาวจากเทปบันทึกยังคงอ่านถ้อยคำเหล่านั้นวนเวียน เป็นถ้อยคำที่ยากจะจับความหมาย… หากว่ามันมีความหมาย และขณะที่กำลังนั่งมองประติมากรรมจัดวางที่เป็นแถบยาวหลายเส้นห้อยลงมาจากเพดาน รวมทั้งจิตรกรรมนามธรรมสีขาวบริสุทธิ์ทำจากเทียนไขที่ดูไกลๆ เหมือนเป็นรูปวงกลม แต่เมื่อเข้าไปดูใกล้ๆ จะเห็นสายสิญจน์สีขาวยึดขึงกับหมุดทองเหลืองขนาดเล็กเกิดเป็นรูปแปดเหลี่ยมในวงกลมอีกทีนั้น ภาพวิดีโอเคลื่อนไหวที่บิดไปบิดมาภายในห้องมืดข้างๆ ก็อาจเริ่มเรียกความสนใจขึ้นมา ไม่นานหลังจากดูภาพเคลื่อนไหวนั้น คุณคงพอจำได้ว่านั่นคือภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปดอกบัวของขรัวอินโข่ง จิตรกรเอกหัวก้าวหน้าในสมัยรัชกาลที่ 4

 

ก่อนจะว่ากันต่อถึง ‘We will leave and never return’ เราขอพาคุณย้อนกลับไปยังนิทรรศการเดี่ยวก่อนหน้าของอริญชย์ก่อน นั่นคือ ‘Oblivion’ ที่จัดแสดงที่ Nova Contemporary เมื่อปีที่ผ่านมา ในนิทรรศการครั้งนั้น เราจะเห็นวัตถุข้าวของที่มีร่องรอยความทรงจำของคนแต่ละคนแฝงอยู่ ไม่ว่าจะเป็น กษัตริย์ คนงานเหมือง ตัวศิลปินเอง และความทรงจำของพี่สาวของอริญชย์ที่เขาให้ความเห็นว่าเธอถูกค่านิยมของสังคมกดทับความเป็นผู้หญิงที่ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตแต่งงานมาตลอด จนเกิดเป็นความเครียด ซึมเศร้า และเป็นสาเหตุนำไปสู่ความตายในที่สุด

“เราใช้ชีวิตโดยไม่รู้ว่าเราถูกกำกับด้วยเรื่องราวอะไรบ้าง และเราทิ้งเศษส่วนของความทรงจำเหล่านั้นไว้บนวัตถุที่แตกต่างกัน” อริญชย์สรุปความคิดออกมาอย่างสวยงาม โดยเฉพาะประโยคหลังที่ราวกับบทกวี โดย ‘เรื่องราว’ ที่กำกับชีวิตเราไว้นั้น เขาบอกว่าล้วนเป็น ‘เรื่องเล่า’ หรือ ‘เรื่องแต่ง’ (fiction) ทั้งนั้น เพราะในความเห็นของเขา ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องแต่ง

“โลกทั้งใบถูกทำให้กลายเป็นรูปทรงที่ขับเคลื่อนไปด้วยศักยภาพของสิ่งต่างๆ สังคมที่มีมนุษย์อยู่ก็ถูกขับเคลื่อนด้วยมนุษย์ และศักยภาพของมนุษย์ก็คือสมองที่สามารถคำนวณหาความเป็นไปได้ของสิ่งต่างๆ ผ่านการคิดถึงเรื่องราวนั้นๆ เพราะฉะนั้นเรื่องราวที่เราสร้างขึ้นมา ไม่ว่าจะเทพยดา พระเจ้า ประชาธิปไตย ทุนนิยม สังคมในแบบดิจิตอล ล้วนเป็นเรื่องแต่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาจากความสามารถในการคิดคำนวณว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป”

เรื่องแต่งที่เกิดขึ้นจากความคิดและความรู้สึกของมนุษย์มีให้เห็นตั้งแต่ในยุคสมัยแห่งวิญญาณนิยมที่มนุษย์ถือคตินับถือผี (Animism) โดยมนุษย์เราใช้จินตนาการเติมเต็มความกลัวและความไม่รู้ สร้างภาพเทพยดาต่างๆ ขึ้นมาในรูปแบบธรรมชาติ เกิดเป็นการบูชาก้อนหิน ต้นไม้ สภาพอากาศ ฯลฯ จนกระทั่งเรามีวิทยาการที่ก้าวหน้า มนุษย์จึงเปลี่ยนรูปเทพยดาที่อยู่ในธรรมชาติให้มีรูปธรรมที่ชัดเจนขึ้น เกิดเป็นตัวละครที่ซับซ้อนขึ้น ไม่ว่าจะเป็น พระเจ้า เทวดา นางฟ้า และศาสดาในศาสนาต่างๆ

“นี่คือการเปลี่ยนแปลงในสำนึกร่วมของจิตวิญญาณ” อริญชย์กล่าว “และหลังจากที่เราปฏิเสธธรรมชาติไปหาพระเจ้าแล้ว จากนั้น เราก็ปฏิเสธพระเจ้าอีก และสร้างจิตสำนึกใหม่ โดยคราวนี้เราเอาตัวมนุษย์เองเป็นที่ตั้ง เรื่องเล่าเหล่านี้ปรากฏอยู่ในภาพเขียน งานเขียน ฯลฯ อย่างภาพเขียนฝาผนังก่อนศตวรรรษที่ 15 จะไม่สอดคล้องกับมุมมองของมนุษย์ แต่ภาพเขียนจะถูกบรรยายโดยอำนาจของตัวละคร เช่น พระเจ้าจะตัวใหญ่ และตัวละครที่มีอำนาจรองลงมาก็จะมีขนาดเล็กลงมา แต่เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 15 เมื่อเราปฏิเสธพระเจ้าและให้ความสำคัญกับตัวเอง ศิลปินจึงให้ความสำคัญกับมุมมองของมนุษย์ในฐานะปัจเจก นี่ก็คือที่มาของการเขียนภาพแบบ linear perspective ซึ่งถือเป็นการสร้างอำนาจความชอบธรรมให้มนุษย์ในฐานะปัจเจก”

ในประวัติศาสตร์ของไทย ขรัวอินโข่งเป็นศิลปินคนแรกที่ใช้เทคนิคการเขียนจิตรกรรมฝาผนังแบบ linear perspective แสดงระยะใกล้-ไกล เป็นภาพสามมิติที่ใกล้เคียงกับสายตามนุษย์มากที่สุด แต่นอกเหนือจากเรื่องเทคนิคแล้ว อริญชย์ยังสนใจเรื่องราวในภาพเขียนของขรัวอินโข่งที่เปลี่ยนไปด้วย เพราะก่อนหน้านี้ จากที่จิตรกรรมฝาผนังภายในวัดไทยมีแต่เรื่องราวของพุทธประวัติและวรรณคดี อย่าง ‘รามเกียรติ์’ ที่รับเค้าโครงเรื่องมาจากมหากาพย์ ‘รามายณะ’ ของอินเดีย เช่นที่รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้จิตรกรนำเอาพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ในรัชกาล มาเขียนเป็นภาพที่บริเวณระเบียงคด รอบอุโบสถวัดพระแก้ว และยังคงมีการเขียนต่อเนื่องมาในรัชกาลที่ 2 แต่เมื่อถึงรัชกาลที่ 4 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ขรัวอินโข่งเขียนภาพที่เป็นปริศนาธรรม กล่าวคือหันมาให้ความสำคัญกับพระธรรมเป็นหัวใจหลัก และให้ภาพของพระพุทธเจ้าเป็นบุคคลธรรมดาที่มีปัญญาสูงส่ง มากกว่าจะเน้นให้พระพุทธเจ้าเป็นผู้วิเศษแบบในภาพเขียนพุทธประวัติ นอกจากนั้น ฉากและตัวละครที่ขรัวอินโข่งใช้ยังเป็นแบบตะวันตกทั้งหมดอีกด้วย

“ก่อนหน้านี้เรารับเอารามายณะเข้ามาผ่านทางเขมรและถูกเขียนซ้ำขึ้นอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 1 รามเกียรติ์นี้ถือเป็นรากฐานของตัวบทที่ส่งผลถึงการปกครองในสังคมไทย” ความเห็นนี้ของอริญชย์คล้ายกับที่อรุณธตี รอย นักเขียนอินเดีย บอกเป็นนัยๆ ในหนังสือของเธอว่า รามายณะคือการสร้างความชอบธรรมให้ชนชาติอารยันรุกรานชนเผ่าพื้นเมืองฑราวิท รวมทั้งการแบ่งชนชั้นวรรณะในอินเดีย “แต่ร.4 ทรงให้ขรัวอินโข่งลบภาพตัวบทที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นออกอย่างสิ้นเชิง ภาพเขียนของขรัวอินโข่งไม่มีตัวละครกษัตริย์ ไม่มีตัวละครที่ต้องมาต่อสู้กับยักษ์ แต่มีเรื่องราวของวิทยาศาสตร์เข้ามาแทน มีเรื่องของระบบสุริยะ มีทำเนียบ George Washington มีการนำเอาเรื่องราวบางส่วนจากพระไตรปิฎกมาเขียนโดยใช้สัญลักษณ์ เช่น ดอกบัวหมายถึงการบรรลุถึงปัญญา และสำเภาที่พาเราข้ามความทุกข์ยากไปอีกฟากฝั่งหนึ่ง นั่นคือนิพพาน”

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เอง ทำให้อริญชย์หยิบเอาภาพฝาผนังของขรัวอินโข่งขึ้นมาเป็นตัวตั้งในนิทรรศการครั้งนี้

“ผมว่าการที่ผู้มีอำนาจใช้ภาษาและตัวบทมาล้างสมอง เปลี่ยนแปลงความเชื่อของคนในสังคม และทำให้สังคมทั้งหมดเปลี่ยนไปในอีกรูปทรงหนึ่ง เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก”

ใน ‘We will leave and never return’ อริญชย์เลือกให้ตัวงานที่จัดแสดงอยู่ในห้องแรกของแกลเลอรี่ทำขึ้นจากวัสดุธรรมชาติที่ได้จากผืนดิน (earth material) ทั้งหมด เพื่อเป็นการย้อนกลับไปทบทวนอดีตที่มนุษย์เริ่มต้นสร้างเรื่องเล่าขึ้นมา นั่นคือ ช่วงเวลาที่มนุษย์ยังนับถือผี (Animism) แต่ในขณะที่งานทุกชิ้นใช้วัสดุ earth material ผลงานแต่ละชิ้นจะอยู่ในรูปทรง (pattern) ที่แตกต่างกัน โดยแต่ละ pattern ถูกใช้เพื่อแสดงให้เห็น ‘การเดินทางของสำนึกร่วมทางจิตวิญญาณ’ ที่เปลี่ยนไปหลังจาก Animism

เริ่มจากจิตรกรรมสีขาวทำจากเทียนไขรูปทรงแปดเหลี่ยมที่เกิดจากสายสิญจน์สีขาวปักขึงบนหมุดทองเหลืองอยู่ในรูปทรงวงกลม รูปทรงแปดเหลี่ยม (octagon) ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในหลายลัทธิและศาสนา เช่น คริสต์ ยิว เต๋า ฯลฯ ในความหมายของการเกิดใหม่ เช่นเดียวกันกับในยุค Renaissance ที่รูป octagon แสดงให้เห็นถึงการกลับไปทบทวนความเป็นมนุษย์ใหม่อีกครั้ง จิตรกรรมนามธรรมอีกชิ้นคือ จิตรกรรมขนาดใหญ่ที่ทำจากผงธูป (กลิ่นเครื่องหอมที่อบอวลอยู่ในห้องคือกลิ่นจากจิตรกรรมชิ้นนี้) ขนาดของจิตรกรรมชิ้นนี้เป็นขนาดเดียวกับภาพเขียนดอกบัวของขรัวอินโข่ง แต่คราวนี้ อริญชย์เป็นคนลบตัวละครและเรื่องราวเดิมออกทั้งหมด เหลือไว้เพียงเส้นทองเหลืองลากผ่านเป็นเส้น perspective อยู่ด้านล่างของภาพ เพื่อแสดงให้เห็นการเดินทางของสำนึกร่วมทางจิตวิญญาณถัดมา ที่มนุษย์ปฏิเสธพระเจ้า หันมาให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจกของตน

การเปลี่ยนแปลงต่อจากนั้นแสดงให้เห็นในผลงานติดตั้งจัดวางที่มีจอทีวี จอคอมพิวเตอร์ หลากหลายจอแสดงภาพเคลื่อนไหวต่างๆ กัน รวมทั้งมีเสียงบันทึกของหญิงสาวอ่านข้อความที่ศิลปินเป็นคนเขียนขึ้น และบนผนังมุมห้องมีสายสิญจน์สีแดงโยงใยไปมาเกิดเป็นลวดลายเป็นเหลี่ยมเป็นมุมแบบเรขาคณิต อริญชย์ใช้สายสิญจน์เหล่านี้เป็นตัวแทนของระบบพิกัดคาร์ทีเซียน (Cartesian Coordinate System) “ระบบพิกัดคาร์ทีเซียนหรือ แกน x, y เป็น pattern ที่มนุษย์สมมติขึ้นมาอีกเหมือนกัน มันถูกใช้ในการกำหนดเวลาและพื้นที่ว่างบนโลกใบนี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น การแบ่งโซนเวลา แผนที่โลก หรือการวางตำแหน่งดาวเทียม ฯลฯ แกนสมมติไม่มีจริง แต่ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้โลกสมัยใหม่ ในยุคสมัยนี้ สำนึกรวมของเราไม่ได้อยู่บน earth material แล้ว และก็ไม่ได้เป็นเรื่องของการเห็นภาพความจริงบนเพนต์ติ้ง แต่เป็นการเห็นภาพความจริงที่ขยับได้ เนื้อหาทั้งหมดที่อยู่บนจอทีวีถูกทำให้เป็นเนื้อหาความจริง เพียงแต่สิ่งที่เราเห็นในจอ มันไม่ใช่ความจริงทั้งหมด แต่ยังมีอีกหลายสิ่งที่ปรากฏอยู่นอกจอด้วย

ทั้งหมดนี้ เราจะเห็นว่าอำนาจอยู่ที่ตัวบทตลอดเวลา โดยตัวบทก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย จนกระทั่งปัจจุบัน ตัวบทหรือเรื่องแต่ง กลายเป็นอำนาจที่ถือครองโดยบริษัทขนาดใหญ่ที่เปิดพื้นที่เสมือนจริง (virtual space) ให้ปัจเจกชนเข้ามาสร้างเรื่องราวของตนเองบนพื้นที่นั้น” อริญชย์กำลังพูดถึงผลงานแอนิเมชันในห้องมืดที่นำเอาภาพวาดของขรัวอินโข่งมาทำให้อยู่ในรูปแบบดิจิตอล โดยเป็นการใช้อัลกอริทึม (algorithm) สร้างความเป็นไปได้ในรูปทรงของภาพขรัวอินโข่งที่เปลี่ยนไปในแบบ 3 มิติ ผลงานชิ้นนี้ อริญชย์ร่วมงานกับ 3D artist (ดีแน่ ตันติเวชกุล) และ sound artist (ณัฐพล สวัสดี) “ผมมอบหมายให้ sound artist ไปบันทึกเสียงน้ำที่ไหลอยู่ใต้โบสถ์ของวัดบรมนิวาสที่มีภาพของขรัวอินโข่งอยู่ บันทึกเสียงพระสวด เสียง ambience ต่างๆ ในโบสถ์ และเอามามิกซ์เป็นซาวนด์ จากนั้นก็ส่งให้ 3D artist ใช้รูปทรงสองแบบ คือ รูปทรง geometry และ biology เพื่อใช้เป็นฐานในการอัลกอริทึมหาความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนรูปทรงภาพวาดของขรัวอินโข่งไปเป็นรูปทรงต่างๆ”

ผลงานอีกชิ้นที่เหลือในนิทรรศการครั้งนี้คือ ประติมากรรมจัดวางที่เป็นแถบยาวหลายเส้นห้อยลงมาจากเพดานกลางห้องแกลเลอรี่ แถบยาวทั้งหมดมีความยาวเท่ากับความยาวของภาพวาดฝาผนังของขรัวอินโข่ง และทำมาจากวัสดุยางพารา พืชเศรษฐกิจที่อริญชย์บอกว่าปลูกมากในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อถูกส่งไปเป็นวัสดุในการผลิตภาคอุตสาหกรรมในประเทศตะวันตก อริญชย์นำเอาแถบเหล่านี้มาบิดให้กลายเป็นแถบโมเบียส (Mobius strip) หรือพื้นผิวที่มีด้านเพียงด้านเดียวและขอบเพียงด้านเดียว เพื่อแสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องบนพื้นที่ที่อยู่ในระนาบเดียวกัน โดยการทำลายขอบเขตระหว่างพื้นที่ภายในและพื้นที่ภายนอกของแถบโมเบียสนี้ อริญชย์ยังอาจหมายถึงการเชื่อมต่อระหว่าง ‘เรื่องแต่ง’ ที่ถูกทำให้กลายเป็น ‘เรื่องจริง’ และมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของเราจนกลายเป็นเนื้อเดียวกันอีกด้วย

ในฐานะศิลปิน ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องทำความเข้าใจว่า มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้สังคมมนุษย์เปลี่ยนแปลงรูปทรง จนกลายมาเป็นสังคมในปัจจุบัน” อริญชย์กล่าวถึงสาเหตุที่เขาจัดนิทรรศการครั้งนี้ “ปัจจุบัน เรื่องเล่าที่เป็นเรื่องเฉพาะที่ ถูกเชื่อมต่อไปยังสังคมใหญ่ ไอเดียหนึ่งที่เห็นได้ก็คือ รูปทรงของสังคมบนโลกเสมือนจริง (virtual) คือความพยายามที่จะเชื่อมต่อโลกทั้งใบให้เป็นผืนเดียวกัน แต่บนความพยายามนั้น สิ่งหนึ่งที่ผมมองว่าเป็นปัญหาคือ ความขัดแย้งภายในที่สังคมแตกออกเป็นเสี่ยงๆ … สงครามวัฒนธรรมในสังคมภายใน (internal culture war) มันรุนแรงมากขึ้น” 

เมื่อถามเขาว่า มีทางเป็นไปได้ไหมที่มนุษย์จะสามารถหลุดพ้นจากอิทธิพลของเรื่องเล่า อริญชย์ให้คำตอบว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่เราควรหาเรื่องเล่าที่เหมาะสมที่สุดสำหรับสังคมปัจจุบัน “อย่างตอนนี้ที่เรามีวิทยาการ มีความรู้ จนเราเข้าใจสิ่งต่างๆ มากขึ้นแล้ว การกลับไปทบทวนเรื่องเล่าในยุคสมัยที่เรายังเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติก็อาจจะเป็นผลดี เพราะในช่วงเวลานั้น จิตสำนึกและวิญญาณของเราเป็นเนื้อเดียวกับทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้ และการทำความเข้าใจในตอนนี้ก็ไม่ใช่เพื่อเราจะสร้างตัวละครที่มีอำนาจเหนือมนุษย์ขึ้นมา แต่เพื่อที่เราจะหาทางลดความเป็นปัจเจกและกลับไปเป็นเนื้อเดียวกับสิ่งต่างๆ มากขึ้น

“ส่วนถ้าเราจะพ้นจากเรื่องเล่าได้จริงๆ ก็คงต้องเป็นนิพพาน” อริญชย์สรุปด้วยคำที่มีความหมายคล้ายกับชื่อนิทรรศการครั้งนี้ และหัวเราะ

‘We will leave and never return’ by Arin Rungjang จัดแสดงจนถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2565 ที่ Gallery VER (12.00-18.00 น. / ปิดวันจันทร์-อังคาร)

galleryver.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *