ส่วนต่อขยายของ Art Gallery of New South Wales ที่ออกแบบโดย SANAA นี้เต็มไปด้วยลานกว้างและสวนที่ชวนให้คนทั่วไปเข้ามาใช้งาน และชวนให้เราตั้งคำถามว่า หน้าที่ของพื้นที่ทางศิลปะในศตวรรษที่ 21 นี้ควรจะเป็นอย่างไร
TEXT: KORRAKOT LORDKAM
PHOTO: IWAN BAAN EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
บนเนินเขาเหนือท่าเรือ Sydney Harbour ไม่ใกล้ไม่ไกลจาก Sydney Opera House แกลเลอรีศิลปะเก่าแก่อายุกว่า 150 ปีอย่าง Art Gallery of New South Wales เพิ่งได้ต้อนรับส่วนต่อขยายขนาดใหญ่ในนาม Sydney Modern ที่ประกอบด้วยอาคารกล่องสีขาวหลายกล่องเรียงซ้อนลดหลั่น เปิดรับทัศนียภาพต่างมุมมอง และพร้อมเปิดรับผู้คนทั่วโลกในฐานะพื้นที่ตัวแทนทางศิลปะแห่งใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 ของประเทศออสเตรเลีย
เริ่มต้นโครงการอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคมปี 2013 Sydney Modern ใช้เวลาดำเนินการยาวนานเกือบ 10 ปีเต็มก่อนจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดต้อนรับผู้คนเมื่อเดือนธันวาคมปี 2022 ที่ผ่านมา Sydney Modern ได้สำนักงานสถาปนิกสัญชาติญี่ปุ่น SANAA นำโดย Kazuyo Sejima และ Ryue Nishizawa เป็นผู้ชนะประกวดแบบ ในขณะที่มีสำนักงานสถาปนิกเข้าร่วมและผ่านการคัดเลือกจากทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น David Chipperfield Architects จากลอนดอน Herzog & de Meuron จากบาเซิล Nieto Sobejano Arquitectos จากมาดริด RMA Architects (Rahul Mehrotra Architects) จากมุมไบ Sean Godsell Architects จากเมลเบิร์น รวมถึง Kengo Kuma & Associates จากโตเกียว และอีกหลายสำนักงาน รูปแบบอาคารกล่องสีขาวซ้อนชั้นเบาลอยและดูราบเรียบไปกับที่ตั้งของ SANAA ได้รับการประกาศให้เป็นแบบของแกลเลอรีแห่งใหม่ด้วยแนวความคิดที่เน้นการเชื่อมโยงกับสถานที่ตั้ง ที่พวกเขากล่าวว่า แนวความคิดหลักของสถานที่นี้คือเรื่องการเปลี่ยนผ่าน (Transition) กล่าวคือ เป็นการมองการเปลี่ยนผ่านจากสิ่งสร้างโดยมนุษย์โดยมองถึงความสัมพันธ์ของความสวยที่ประดิษฐ์โดยมนุษย์อย่าง The Royal Botanic Garden Sydney ในที่ตั้งใกล้เคียง ผ่านลงไปยังโลกธรรมชาติของอ่าวและมหาสมุทรที่อยู่เบื้องล่าง นอกจากนั้น ก็ยังต้องการให้อาคารชิ้นส่วนใหม่นี้วางตัวแนบเนียนบนผืนแผ่นดินโดยรักษาลักษณะของที่ตั้งไว้ให้มากที่สุด รวมทั้งให้อาคารได้ปรากฏขึ้นอย่างเบาบาง เงียบสงบ เพื่อให้อาคารได้เป็นลานกว้างเชื่อมโยงสถานที่เก่าและใหม่ไว้ด้วยกัน
อาคาร Art Gallery of New South Wales สถานที่จัดแสดงศิลปะเดิมอันเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ เป็นสถาปัตยกรรมหินทรายรูปแบบนีโอคลาสสิคที่มีมาตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 รูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่เป็นทางการ ยึดถือระเบียบ และสะท้อนหลักเหตุและผลอย่างรูปแบบนีโอคลาสสิคนั้นเป็นรูปแบบที่โลกตะวันตกในช่วงศตวรรษ 18 และ 19 นิยมและถือกันว่าเป็นต้นแบบทางสถาปัตยกรรมที่ดี อาคารในยุคนั้นไม่ว่าจะเป็นบ้านพักอาศัยของชนชั้นสูง และโดยเฉพาะอาคารสาธารณะต่างๆ ที่แพร่หลายไปในหลายภูมิภาคพร้อมความเคลื่อนไหวของลัทธิอาณานิคม จึงถูกสร้างโดยยึดถือตามรูปแบบที่ยอมรับและส่งต่อกันในหมู่ชนชั้นนำชาวยุโรป หนึ่งในประเทศอาณานิคมของสหราชอาณาจักรอย่างออสเตรเลีย ก็แน่นอนว่าไม่พ้นที่จะตกอยู่ใต้อิทธิพลดังกล่าว ดังจะเห็นได้จากการเกิดขึ้นของอาคารแกลเลอรีที่กล่าวถึงอยู่นี้ และรวมไปถึงอีกหลายอาคารในยุคสมัยเดียวกันในออสเตรเลีย สถาปัตยกรรมรูปแบบที่ว่านี้ ในแง่หนึ่งจึงเป็นภาพตัวแทนของอำนาจของการปกครองที่แผ่ขยายออกไป และยังรวมถึงการเป็นตัวแทนของอำนาจของสถาบันการศึกษาและองค์ความรู้ที่ดำรงอยู่ในกรอบและระเบียบชัดเจน พื้นที่แสดงศิลปะตามขนบการสร้างอาคารดังว่า จึงกล่าวได้ว่าอยู่ในรูปแบบที่เคร่งขรึม ห่างไกลจากความรับรู้ของคนหมู่มาก หรือเป็น ‘กรอบ’ ที่ดำรงอยู่ในระเบียบพิธีบางประการที่เคร่งครัด
ส่วนต่อขยาย Sydney Modern ที่ถูกวางไว้ให้เป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะตัวแทนประเทศในศตวรรษที่ 21 ผ่านดีไซน์ของผู้ออกแบบที่ไม่ได้มาจาก ‘โลกตะวันตก’ โดยตรง จึงเห็นได้ชัดว่าได้หลีกหนีออกจากขนบเดิมของแกลเลอรีศิลปะจากสองศตวรรษที่ผ่านมา นอกเหนือจากการต้องตอบปัญหาด้านการใช้งานแกลเลอรีเดิมที่พื้นที่ใช้งานไม่เพียงพอสำหรับความต้องการจัดแสดงงานที่เพิ่มขึ้น และตัวอาคารเดิมไม่ยืดหยุ่นพอสำหรับความเคลื่อนไหวทางศิลปะที่หลากหลายและเปลี่ยนแปลงเร็วในโลกปัจจุบัน ยังมีการระบุว่าอาคารขาดพื้นที่สาธารณะและพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับผู้คนอีกด้วย ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวคิดของผู้ออกแบบที่กล่าวว่าต้องการให้สถาปัตยกรรมของพวกเขามอบการสร้างประสบการณ์พิเศษในพื้นที่ และสร้างปฏิสัมพันธ์ของผู้คนกับสภาพแวดล้อมมากกว่าการมุ่งสร้างกรอบกล่องเพื่อบรรจุงานศิลปะเพียงอย่างเดียว
เมื่อพิจารณาจากตัวอาคาร จะพบว่า Sydney Modern แม้จะมีขนาดใหญ่โต แต่ส่วนใช้งานต่างๆ นั้นถูกแตกออกเป็นพาวิเลียนและพื้นที่จัดแสดงย่อยๆ ทั้งภายในและภายนอกแตกต่างกันไป โดยนอกจากจะเพื่อรองรับการใช้งานที่หลากหลาย การแตกย่อยพื้นที่ใช้สอยออกเป็นส่วนๆ เช่นนี้ยังสอดคล้องกับแนวคิดการวางตัวอาคารให้สอดคล้องไปกับบริบทที่ตั้งโดยสงวนสภาพของพื้นที่ไว้ให้มากที่สุด เช่น การรักษาไว้ซึ่งต้นไม้ที่มีอยู่เดิม การคงสภาพและสะท้อนเอกลักษณ์เรื่องการลดหลั่นของระดับดิน รวมถึงการมอบทัศนียภาพจากมุมมองที่ต่างกันไปในแต่ละจุดของอาคาร นอกจากนั้น ก็ยังมีการใช้องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมอื่นๆ เพื่อส่งเสริมเรื่องราวดั้งเดิมให้กับสถานที่ เช่น ผนังดินอัดกินพื้นที่สูงสองชั้นยาว 250 เมตร ในส่วนโถงต้อนรับภายใน ได้จากทรายในท้องถิ่นของเมืองซิดนีย์ รวมไปถึงการใช้หินทรายสีอ่อนกรุโดยรอบ façade ที่เชื่อมโยงกับอาคารเก่าและให้ภาพลักษณ์เรียบโล่งเบาลอยตามแนวความคิดหลัก
โดยส่วนพื้นที่ใช้สอยแรกที่สอดคล้องกับแนวคิดการเชื่อมโยงพื้นที่ทางศิลปะกับสถานที่ตั้งดั้งเดิม คือ ลานเชื่อมต่อระหว่างอาคารเก่ากับอาคารใหม่ที่ถูกเรียกว่า ‘Welcome Plaza’ ลานว่างโล่งใต้หลังคาลอนโปร่งใสรองรับด้วยโครงสร้างสีขาวโปร่งเบานี้ ทำหน้าที่เป็นพื้นที่สาธารณะผสมลานจัดแสดงศิลปะภายนอกที่ตั้งใจให้เป็นลานนัดพบสำหรับแกลอรี่รวมถึงชุมชนโดยรอบที่ผู้คนสามารถใช้งานได้ 24 ชั่วโมง อันกล่าวได้ว่าเป็นการเบนความสนใจออกจาก Portico ต้อนรับเดิมที่เคร่งขรึมของสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิคของอาคารเดิม มาที่ลานสาธารณะที่เปิดกว้างเพื่อผู้คนมากขึ้นกว่าก่อน
จากนั้น พื้นที่จัดแสดงต่างๆ ในอาคารแห่งใหม่จะถูกไล่เรียงลงไปตามการลาดลงของระดับดิน โดยมีทั้งห้องจัดแสดงหลักๆ ขนาดใหญ่พื้นที่ใช้สอยไม่ต่ำกว่า 1,000 ตารางเมตร จำนวน 3 ห้องไล่ลงไปจากชั้น Ground Floor ถึงชั้น -2 ตามลำดับ รวมถึงก็มีการใช้พื้นที่อื่นๆ เช่น เส้นทางการเดินในอาคารและพื้นที่ระเบียงและสวนภายนอกจัดแสดงชิ้นงานศิลปะโดยไม่ได้จำกัดอยู่ที่การจัดแสดงเป็นห้องอย่างชัดเจนด้วย โดยนอกจากพื้นที่ที่ว่ามาทั้งหมดแล้ว Sydney Modern ยังมีห้องจัดแสดงพิเศษที่ชั้น 3 คือห้อง ‘The Tank’ อันเป็นห้องถังน้ำมันใต้ดินเดิมที่ถูกทิ้งร้างสำหรับเรือรบตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้ออกแบบมองเห็นศักยภาพของพื้นที่นี้ โดยได้เปลี่ยนที่ว่างโล่งชั้นล่างสุดเป็นพื้นที่จัดแสดงศิลปะขนาดพื้นที่ใช้สอยกว่า 2,000 ตารางเมตร ด้วยระยะพื้นถึงฝ้าสูง 7 เมตร และเสาจำนวนมากเรียงราย คงสภาพความเก่าแก่ของห้องไว้จากนั้นเชื่อมต่อกับพื้นที่ส่วนอื่นด้วยบันไดวนสีขาวออกแบบใหม่ ซึ่งได้มอบภาพลักษณ์ใหม่ๆ ให้กับพื้นที่จัดแสดงศิลปะพร้อมกับการบอกเล่าประวัติศาสตร์ของที่ตั้งไปด้วยในเวลาเดียวกัน
ในท้ายที่สุด หนึ่งในผู้ก่อตั้งของ SANAA อย่าง Kazuyo Sejima ได้กล่าวถึงงานชิ้นนี้ว่า ความสำคัญของดีไซน์ของพวกเขาไม่ได้อยู่ที่ตัวสถาปัตยกรรมในตัวมันเอง แต่มันคือการมุ่งความสนใจไปที่เหล่างานศิลปะและวิธีที่ผู้คนจะได้รับประสบการณ์จากงานเหล่านั้นมากกว่า ในขณะที่ Ryue Nishizawa สถาปนิกผู้ก่อตั้งอีกท่านก็ได้กล่าวว่า พวกเขาพยายามที่จะสร้างแกลเลอรีให้มีลักษณะเหมือนกับเป็นสวน ดังนั้นแล้ว จึงกล่าวได้ว่าพื้นที่ทางศิลปะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่ New South Wales ต้องการนิยามนั้นมีลักษณะเปิดกว้าง และให้ความสำคัญกับกิจกรรมและการปฏิสัมพันธ์ของผู้คนมากกว่าที่เคย แต่ในขณะเดียวกัน ก็ด้วยลักษณะเปิดกว้างเช่นนี้นี่เองที่ทำให้ Sydney Modern ก็ถูกมองในด้านกลับกันเช่นกันว่าแม้จะเรียกตัวเองว่าเป็นพื้นที่ทางศิลปะ แต่ความสำคัญของมันกลับดูจะเป็นเรื่องของสถาปัตยกรรมและความรื่นรมย์ของการเข้าใช้พื้นที่มากกว่าจะเป็นความเข้มข้นของการนำเสนอเนื้อหาทางศิลปะ หรือถูกมองเช่นกันว่าเป็นการสร้างสถานที่เพื่อความบันเทิงมากกว่าการนำเสนอองค์ความรู้แบบที่แกลเลอรีขนาดใหญ่มีศักยภาพทำได้ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ความทุ่มเททั้งเวลาและงบประมาณของ New South Wales ก็นำมาซึ่งพื้นที่ทางศิลปะในรูปแบบที่แตกต่างและน่าสนใจว่าจะนำมาซึ่งอะไรบ้างในอนาคต