BAAN MAK MUAN

บ้านจาก S Pace Studio ที่มีหัวใจหลักคือพื้นที่ Semi-outdoor ขนาดใหญ่ด้านหน้าที่เชื่อมต่อแลนด์สเคป สถาปัตยกรรม และพื้นที่ภายในเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อก่อให้เกิดความ ‘ม่วน’ ในพื้นที่จากกิจกรรมที่หลากหลายของผู้คน

TEXT: MONTHON PAOAROON 
PHOTO: TAWICHAKORN LAOCHAIYONG

(For English, press here

ในช่วงเวลาบ่ายของวันหนึ่งเราได้เปิดดูภาพของบ้านชั้นเดียวหลังหนึ่งในจังหวัดขอนแก่นที่มีทรงหลังคาแปลกตาสีดำตัดกับตัวบ้านสีน้ำตาลที่วางตัวอย่างสวยงามกับต้นไม้ที่อยู่รายล้อม ก่อนที่เราจะได้พูดคุยกับสถาปนิกผู้ออกแบบในบ่ายวันเดียวกัน นอกจากภาพตัวบ้านภายนอกที่โดดเด่นแล้วเมื่อมองภายในของบ้านเรารู้สึกได้ถึงความเป็นธรรมชาติของการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ภายใน ข้าวของแต่ละชิ้นที่อยู่ตรงนั้นเหมือนถูกใช้งานปกติในทุกวันไม่ใช่การจัดฉากถ่ายภาพก่อนการเปิดใช้งานอาคารที่จะไม่เห็นการใช้ชีวิตในพื้นที่นั้น  ซึ่งตรงกันข้ามกับภาพของบ้านที่เรากำลังดูอยู่ตอนนี้ที่เรารู้สึกได้ถึงการใช้ชีวิตของคนในบ้านสอดประสานไปกับพื้นที่ทั้งภายในและภายนอกตัวบ้าน “ภาพนี้เป็นภาพที่ถ่ายหลังส่งมอบบ้านให้เจ้าของบ้านได้ปีกว่าครับ เจ้าของบ้านดูแลอย่างดีเข้าไปในบ้านก็แทบจะยกกล้องถ่ายภาพได้เลย” ทวิชากร เหล่าไชยยงค์ สถาปนิกจาก S Pace Studio เล่าให้เราฟังระหว่างกำลังเริ่มพูดคุยกันเรื่องบ้านมักม่วน

ที่ตั้งของบ้านหลังนี้อยู่ห่างจากตัวเมืองขอนแก่นค่อนข้างไกล และห่างจากหมู่บ้านชุมชนใกล้ๆ พอสมควร ทำให้แม้จะไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องความเป็นส่วนตัว แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยเป็นปัจจัยหลัก ตามวิถีชีวิตของเจ้าของบ้านที่เดินทางเพื่อไปทำงานตลอดเวลา การได้กลับมาบ้านแต่ละครั้งจึงเหมือนกับการได้กลับมาพักผ่อนจริงๆ และเนื่องจากมีเพื่อนรวมถึงคนรู้จักมาเยี่ยมเยือนตลอด ทำให้เลือกสร้างบ้านไกลจากตัวเมือง เพื่อให้สามารถจัดกิจกรรมสังสรรค์ได้เต็มที่ไม่รบกวนพื้นที่ข้างเคียง เหมือนเราได้เข้าไปพักในโรงแรมแบบ Pool Villa โจทย์การออกแบบจึงเป็นบ้านที่นอกจากใช้งานสะดวกสบายแล้ว ยังต้องการความเชื่อมต่อของพื้นที่ภายนอกสู่ภายในที่สร้างบรรยากาศพักผ่อน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดหลักของสถาปนิก ที่เน้นการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่าง แลนด์สเคป สถาปัตยกรรม และพื้นที่ภายใน โดยมีบริบทและโจทย์ที่ต่างกันไปในแต่ละโครงการเป็นตัวกำหนด

เนื่องจากที่ดินของบ้านหลังนี้ค่อนข้างกว้างและในพื้นที่มีป่ามะค่าโมงและต้นสักที่ปลูกมานานอยู่ด้วย ทุกคนในบ้านจึงลงความเห็นที่อยากจะเก็บพื้นที่ป่านี้ไว้ การวางตัวบ้านจึงเยื้องออกมาทางพื้นที่เปิดโล่งกว่าทางทิศตะวันตกของพื้นที่  และออกแบบให้ตัวบ้านมีลักษณะเป็นบ้านชั้นเดียวเพื่อความยืดหยุ่นในอนาคต และยกระดับตัวบ้านขึ้นจากระดับดินเดิมเป็นเนินขึ้นมาเล็กน้อยขึ้นเพื่อช่วยในเรื่องมุมมองให้โดดเด่นขึ้นเมื่อมองจากภายนอกและช่วยให้สามารถมองออกไปข้างนอกได้ไกลขึ้นจากภายใน สถาปนิกเลือกวางผังบ้านเป็นตัวแอล (L) โดยหันด้านแหลมของตัวแอล (L) เข้าสู่ด้านป่าซึ่งเป็นด้านที่ปิดทึบ และเปิดด้านฉากภายในออกสู่ทิวทัศน์ทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นพื้นที่เปิดโล่งขนาดใหญ่ ตามความต้องการของเจ้าของบ้านที่อยากจะเห็นวิวพระอาทิตย์ตกในช่วงเวลาเย็น ความต้องการนี้นำมาซึ่งโจทย์การออกแบบที่ท้าทายเพราะสถาปนิกต้องแก้ปัญหาเรื่องความร้อนทางทิศตะวันตกในขณะที่ทำต้องเปิดมุมมองออกไปได้ในเวลาเดียวกัน

หลังคาของบ้านหลังนี้สถาปนิกเลือกใช้หลังคาทรงลาดเอียง ด้วยความที่ต้องการให้รูปแบบทางสถาปัตยกรรมมีความเชื่อมโยงกับบ้านในชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง โดยใช้ความลาดเอียงหลังคาค่อนข้างชันเพื่อให้สามารถระบายน้ำได้เร็ว เกิดพื้นที่ใต้ฝ้าเพื่อความโปร่งโล่งภายในเพื่อเชื่อมต่อกับพื้นที่ภายนอกได้มากขึ้น และแก้ปัญหาเรื่องการกันความร้อนอาคาร โดยจัดวางหลังคาตามผังพื้นของบ้านที่เป็นตัวแอล (L) และทำการเชื่อมขาของตัวแอล (L) เข้าด้วยกันบนระนาบหลังคา เกิดการปิดล้อมพื้นที่เป็นรูปสามเหลี่ยม ด้วยหลังคาระแนงอลูมิเนียมที่เว้นช่องแสงตรงกลาง การปิดล้อมด้วยหลังคาระแนงอลูมิเนียมนี้สร้างให้เกิดห้อง Under Shadeใต้ร่มเงาที่ห่อหุ้มพื้นที่ในขณะที่ยังเปิดวิวออกไป พื้นที่ Semi outdoor ได้ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้รู้สึกว่าพื้นที่ตัวบ้านขยายอาณาเขตออกไปแล้ว ยังทำหน้าที่เป็น buffer ที่ทำให้บ้านรู้สึกปิดล้อมและปลอดภัยไปด้วย ในเวลาเดียวกัน สถาปนิกจัดวางสระว่ายน้ำและงานแลนด์สเคปให้อยู่ในลักษณะที่อยู่ด้านล่างและไหลออกมานอกหลังคาระแนง เพื่อสร้างความต่อเนื่องของพื้นที่ จากภายในสู่ภายนอกและวางแกนสระว่ายน้ำตรงกับแกนของถนนที่วิ่งเข้าสู่ตัวบ้าน เพื่อให้เมื่อมีคนขับรถเข้ามาจากหน้าบ้านสามารถมองเห็น กิจกรรมที่เกิดขึ้นบริเวณนี้ได้อย่างชัดเจน

เพื่อให้เป็นไปตามโจทย์การออกแบบและคุมให้อยู่ในงบประมาณ สถาปนิกเลือกใช้วัสดุที่สามารถหาได้ในท้องตลาดเป็นหลัก อาทิเช่นผนังก่ออิฐฉาบปูนฉาบเซาะร่อง PVC ทาสี ช่องลมระบายอากาศจากอิฐมอญก่อเว้นช่องบริเวณทางเดิน ชุดระแนงเหล็กทำสีติดตั้งกันขโมยบริเวณโถงทางเดิน หรืออย่างงานฝ้าภายในที่ ใช้แผ่นไม้อัดยางตัดเป็นแผ่นติดตั้งทดแทนไม้จริง ระแนงอลูมิเนียมทางทิศตะวันตกที่เลือก profile ที่หาซื้อได้ง่ายทำสีสำเร็จมาจากโรงงาน มีน้ำหนักเบาและติดตั้งง่ายโดยออกแบบให้เมื่อมองจากภายนอกระแนงจะมีความทึบตันจนมองผิวเผินเหมือนเป็นหลังคาทึบแต่เมื่อมองจากภายในจะมีความโปร่งโล่งและสามารถมองทะลุไปเห็นท้องฟ้าได้

ในตอนท้ายเราถามว่าช่วงเวลาที่ได้ทำงานกับบ้านหลังนี้มาอะไรเป็นประสบการณ์ที่ประทับใจที่สุด สถาปนิกเล่าให้ฟังว่าในกระบวนการทำงานได้มีการพูดคุยกับเจ้าของบ้านอยู่ตลอดตั้งแต่ขั้นตอนออกแบบจนถึงเมื่อส่งมอบ เจ้าของบ้านเองก็มีความภูมิใจกับการร่วมเลือกแบบมาพัฒนาเพราะตอบความต้องการของเจ้าของบ้านทุกอย่างและภาพที่คิดนั้นก็เกิดขึ้นจริง มีอยู่เย็นวันหนึ่งที่เจ้าของบ้านส่งรูปมาให้ทางสถาปนิกได้ดู เป็นภาพลูกเจ้าของบ้านกำลังเล่นน้ำอยู่ในสระว่ายน้ำมีคุณพ่อเจ้าของบ้านนั่งอยู่ข้างๆ ส่วนเพื่อนๆ ที่มาเที่ยวบ้านก็นั่งกันอยู่ที่ชานภายนอกใต้ต้นไม้และแขกบางคนก็นั่งอยู่ในพื้นที่ภายในบ้าน ในภาพแสดงความหลากหลายของกิจกรรมที่ทางผู้ออกแบบและเจ้าของบ้านได้ร่วมกันคิดวางแผนไว้ ทำให้เกิดความสวยงามของพื้นที่ ความสวยงามของฟังก์ชันที่ถูกจัดวางและมีผู้ใช้งานจริง และความสวยงามของแสงธรรมชาติในช่วงเวลานั้น เป็นความสุขของเจ้าของบ้านที่ได้เห็นทุกอย่างเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน สมกับชื่อ ‘บ้านมักม่วน’ ที่แปลว่าพื้นที่ที่ทุกคนมารวมตัวกันอย่างสนุกสนานนั่นเอง

facebook.com/spacestudiodesign

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *