BANYUWANGI INTERNATIONAL AIRPORT

ความประหยัด ยั่งยืน เรียบง่าย ใช้งานได้จริง และการคงปรัชญาของสถาปัตยกรรมเขตร้อนแบบอินโดนิเซีย คือแกนหลักที่ andramatin สตูดิโอสถาปัตยกรรมจากอินโดนิเซีย ใช้ออกแบบสนามบินประจำเมือง Banyuwangi ในประเทศอินโดนิเซีย

TEXT: KARN PONKIRD
PHOTO COURTESY OF AGA KHAN TRUST FOR CULTURE / MARIO WIBOWO

(For English, press here)

Banyuwangi เป็นเมืองหลวงของเขตปกครอง Banyuwangi Regency ทางภาคตะวันออกสุดของเกาะชวา อินโดนีเซีย ก่อนที่ถัดไปจะเป็นช่องแคบบาหลีและเกาะบาหลี ตามลำดับ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทางเกษตรกรรม ทุ่งนา มีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น ในปี 2015 รัฐบาลอินโดนีเซียมีความต้องการเพิ่มจำนวนสนามบิน เพื่อรองรับการสัญจรโดยเครื่องบินที่คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการกว่า 300 ล้านคนในปี 2034 โดยมีแผนที่จะสร้างสนามบินใหม่กว่า 62 สนามบิน เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงเกาะทั้ง 17,508 เกาะไว้ด้วยกัน และในปี 2015 นี่เองที่สนามบิน Banyuwangi หรือชื่อเดิม Blimbingsari Airport ซึ่งเป็นสนามบินท้องถิ่น ถูกใช้มาตั้งแต่ช่วง 1970 ในฐานะลานบินสำหรับเครื่องบินทางการเกษตร และขยับขยายเป็นสนามบินเล็กๆ สำหรับการเดินทางภายในประเทศ ถูกรัฐบาลอินโดนีเซียจับมาปัดฝุ่น วางแผนสร้างอาคารผู้โดยสารขาเข้าและออกใหม่ และขยับขยายเป็นสนามบินมาตรฐานสากลที่รองรับกิจกรรมการบินนานาชาติ

Banyuwangi International Airport ออกแบบโดย Andra Matin สถาปนิกชาวอินโดนีเซียซึ่งเชี่ยวชาญด้านการผสานสถาปัตยกรรมอินโดนีเซียพื้นถิ่นเข้ากับสถาปัตยกรรมร่วมสมัย โดยอาศัยการใช้วัสดุที่หาได้ในท้องที่ และ detail เรียบง่ายเพื่อเอื้อให้กับช่างฝีมือในพื้นที่ สนามบินจึงถูกออกแบบโดยมีแกนหลักๆ คือ ความประหยัด ยั่งยืน เรียบง่ายและใช้งานได้จริง สิ่งที่น่าสนใจคือความต้องการของ Andra Matin ที่จะออกแบบให้สนามบินแห่งนี้ใช้ระบบระบายอากาศแบบ passive และยังคงไว้ซึ่งปรัชญาของสถาปัตยกรรมเมืองร้อนของอินโดนีเซีย

โดยพื้นฐานแล้ว สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของอินโดนีเซียจะออกแบบภายใต้แนวคิด ‘pendapa’ ซึ่งเป็นศาลาที่มีหลังคารูปทรงคล้ายหลังคาทรงปั้นหยา แต่มีความสูงมากกว่า และบางแห่งอาจมีการเพิ่มยอดสูงขึ้นมาอีกชั้น รองรับด้วยเสา 4 ต้น (หรือมากกว่า) ในตำแหน่งมุมหลังคา ผนังหรือกำแพงมีน้อยชิ้นหรือไม่มีเลย ทำให้อาคารลักษณะนี้มีการถ่ายเทของอากาศที่ดี และลมร้อนก็จะไหลขึ้นไปสู่ยอดหลังคา ทำให้อาคารมีความเย็นตลอดเวลา ชายหลังคาที่ยืดยาวยังช่วยป้องกันลมฝนที่รุนแรง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าชวาเป็นดินแดนแห่งพายุมรสุม

เพียงแต่สนามบินแห่งนี้มีความพิเศษมากกว่านั้น ด้วยภูมิภาค Banyuwangi เป็นพื้นที่ของชนพื้นเมืองเก่าแก่อย่างชาว Osing ซึ่งสืบสายมาจากวัฒนธรรมอาณาจักร Blambangan Kingdom ทำให้วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ เครื่องแต่งกายของชาว Osing มีความแตกต่างจากชาวชวาปกติ และแน่นอนว่าสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของชาว Osing ก็แตกต่างออกไปด้วย บ้านของชาว Osing ถึงแม้จะมีพื้นฐานของการลดผนัง ทำอาคารให้โล่ง และชายคายืดยาวเหมือน penpada แต่รูปทรงหลังคานั้นต่างออกไป จากหลังคาทรงปั้นหยาสูงของ penpada ที่ภายหลังยิ่งซับซ้อนยิ่งบอกถึงฐานะ กลับกลายเป็นหลังคาทรงจั่วเรียบง่ายที่ซ่อมแซมได้ง่าย แต่ไม่ทิ้ง function สำคัญคือการระบายอากาศ และรับมือกับฝนที่ตกหนัก

รูปทรงจั่วของหลังคาบ้านชาว Osing ถูกนำมาใช้ในโดย Andra Matin ขยายสเกลให้ใหญ่ขึ้น และวางไว้ชั้นบนสุดของหลังคา ทั้งส่วนของอาคารอาคารผู้โดยสารขาเข้า และขาออก โดยหันไปในทิศทางที่ต่างกัน หลังคาจั่วนี้ทำหน้าที่เป็น skylight นำแสงธรรมชาติเข้ามาช่วยให้ความสว่างภายในอาคารในลักษณะ indirect light เพื่อความนุ่มนวลของแสงและไม่สร้างความร้อน โดยถูกกรองผ่านระแนงไม้ภายในอีกชั้นหนึ่ง อีกทั้งยังทำอีกหน้าที่เสมือนปล่องระบายอากาศร้อนของตัวอาคารให้ลอยขึ้นเพื่อลดอุณหภูมิภายใน รูปแบบศาลาที่ลดผนังที่ขัดขวางทางเดินลมของ penpada ถูกนำมาใช้กับระบบโครงสร้างของอาคารที่เสาทำหน้าที่รับน้ำหนัก เสาและคานที่ถูกโชว์อย่างเปิดเผยมีลักษณะโปร่งโล่ง อีกทั้งชายคาที่ยืดยาวก็แปรเปลี่ยนมาเป็นหลังคาคอนกรีต ซึ่งทำหน้าที่เป็น roof-garden ปกคลุมไปด้วยหญ้าเพื่อลดความรุนแรงของแดดที่จะสะสมบนตัววัสดุ พื้นที่ใต้หลังคาถูกใช้เป็น corridor สำหรับสัญจร และ drop-off สำหรับรับ-ส่ง ซึ่ง corridor ที่รัดรอบอาคารก็ทำให้มีพื้นที่กรองแสงและไอร้อนที่จะไหลเข้ามาภายในตัวอาคารได้มากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น พื้นที่พักคอยของผู้โดยสารยังมี courtyard บ่อปลาคาร์ฟซึ่งไม่ได้มีเพื่อเหตุผลด้านความสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่เมื่อมีสระที่ใช้สำหรับพักน้ำใกล้ตัวอาคาร ลมธรรมชาติที่พัดผ่านเหนือสระก็เย็นลง ส่งผลให้อุณหภูมิภูมิในพื้นที่พักคอยไม่ร้อนอบอ้าวจนเกินไป

กล่าวคือ สนามบินแห่งนี้ถึงแม้จะเป็นอาคารที่ก่อสร้างด้วยวัสดุสมัยใหม่อย่างเหล็กหรือคอนกรีต (และไม้) แต่หัวใจของ space ภายในอาคารคือสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอินโดนีเซียโดยแท้ การใช้ลมธรรมชาติ ช่องเปิด และรูปทรงของสถาปัตยกรรมในการระบายความร้อนทำให้ค่าบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าและเครื่องปรับอากาศลดน้อยลงไปด้วย เหมาะสมสำหรับสนามบินภายในประเทศที่บริหารโดยงบประมาณของเทศบาลในท้องถิ่นนั้นๆ

นอกจากนี้ สนามบิน Banyuwangi ยังถูกออกแบบให้อยู่ได้โดยพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งวัสดุก่อสร้างและซ่อมแซมมาจากจังหวัดที่ห่างไกล อาคารถูกออกแบบให้ใช้วัสดุพื้นฐานไม่กี่ชนิด ผนวกกับการหาวัสดุที่สามารถหาทดแทนได้ง่ายในท้องถิ่นและคงทน อยู่ได้ยาวนาน นอกจากคอนกรีตและเหล็กแล้ว ตัวอาคารยังประกอบไปด้วยระแนงไม้สำหรับกรองแสงจำนวนมาก ทั้งระแนงที่รัดรอบตัวอาคาร ไม้ยังถูกนำมาใช้เป็นทั้งฝ้า ประตู เฟอร์นิเจอร์ รวมไปถึงหลังคาจั่ว skylight และงานตกแต่งจิปาถะต่างๆ ไม้ที่ถูกนำมาใช้หลักๆ คือไม้จากต้น Ulin (Eusideroxylon zwageri) หรือ Bornean ironwood เป็นไม้ท้องถิ่นที่พบได้มากในแถบสุมาตรา มีลักษณะเป็นไม้เนื้อแข็ง มีความทนทานต่อปลวกและเชื้อรา ถูกนำมาใช้ทั่วไปในงานที่ต้องการความแข็งแรงอย่างประตูกั้นน้ำ ปูพื้น หรือด้ามจับของอุปกรณ์ ความทนทานแต่หาได้ไม่ยากนี้เองทำให้การบำรุงรักษาทำได้ง่าย โดยแม้แต่ช่างในพื้นที่ก็สามารถซ่อมแซมได้ 

แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาจะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ หากปราศจากซึ่งบริบทแวดล้อมที่ดี อาคารที่ใช้การระบายอากาศแบบ passive ก็มีความจำเป็นต้องมีพื้นที่ set-back ที่มากพอให้ลมไหลเวียนเข้าออกได้สะดวก ทาง Andra Matin และหน่วยงานรัฐของ Banyuwangi จึงสงวนพื้นที่รอบสนามบินในรัศมี 10 กิโลเมตรเป็นเขตห้ามก่อสร้างอาคาร โดยได้ประโยชน์พร้อมกันหลายข้อ ทั้งความปลอดภัยของเครื่องบินเอง การมีพื้นที่ให้อากาศถ่ายเทเพียงพอ และพื้นที่ในรัศมี 10 กิโลเมตร ยังคงไว้เป็นพื้นที่ทางการเกษตร ทุ่งนา และพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ต่อไป หลังกระบวนการออกแบบและก่อสร้าง สนามบินก็กลับมาเปิดใช้งานอีกครั้งในปี 2017 จากสนามบินเล็กๆ ที่ทั้งปีรับ-ส่งผู้โดยสารเพียง 7,386 คน ในปี 2010 ก็ขยับขยายมาเป็นถึง 307,157 คน ในระยะเวลาเพียง 10 เดือนแรกของปี 2018

การออกแบบโดยอิงพื้นฐานมาจากบริบทในท้องถิ่นนี้เองทำให้ Banyuwangi International Airport ได้รับรางวัลรางวัล Aga Khan Award รางวัลทางสถาปัตยกรรมที่มอบให้สถาปัตยกรรมที่สร้างแรงบันดาลใจในการออกแบบ ฟื้นฟูและอนุรักษ์รวมถึงมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมมุสลิม การผนวกความรู้ ความเข้าใจสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น การออกแบบที่เรียบง่ายต่อบริบท และความรับผิดชอบของอาคารที่มีต่อสภาพแวดล้อมโดยรอบ ทำให้สนามบินแห่งนี้จะถูกใช้เป็นมาตรฐานและกระบวนทัศน์ใหม่ในการออกแบบสนามบินของอินโดนีเซีย หรืออาจรวมไปถึงสนามบินในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ต่อไป

andramatin.com

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *