‘บ้านดิบๆ 3 ชั้น’ ฝีมือการออกแบบของ Bangkok Tokyo Architecture ที่ไม่จำกัดกรอบให้คนอยู่อาศัยว่าต้องใช้ชีวิตอย่างไร เปิดกว้างรับความเป็นไปได้หลายแง่มุม
TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: SOOPAKORN SRISAKUL EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
ภูมิชยะ ประคองเพชร ตั้งชื่อบ้านตัวเองในแอพ Grab ว่า ‘บ้านดิบๆ 3 ชั้น’ เขาเล่าอย่างภาคภูมิใจว่าเวลาสั่งอาหารในแอพ ไม่เคยมีพี่ Grab คนไหนต้องโทรถามเพราะหาบ้านของเขาไม่เจอเลย
ก็แหงล่ะ จะให้ Grab หาบ้านของเขาไม่เจอได้อย่างไรกัน เพราะบ้านของเขาหน้าตาแตกต่างกับบ้านอื่นๆ ในซอยอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่บ้านหลังอื่นเป็นบ้านสองชั้นและมีเค้าโครงที่คล้ายๆ กัน เพราะซอยนี้เป็นซอยบ้านจัดสรรอายุยาวนานห้าสิบกว่าปี บ้านของภูมิกลับเป็นบ้านสามชั้น แล้วยังเปลือยผิวหล่อคอนกรีตและกำแพงก่ออิฐ เหมือนกับบ้านกำลังก่อสร้างอยู่
“เพื่อนบ้านส่วนใหญ่จะชอบมาถามว่าบ้านเสร็จหรือยัง ถ้าตอบเป็นปรัชญาเลยคือมีบ้านหลังไหนเคยสร้างเสร็จบ้าง คนที่เข้ามาอยู่ก็ตกแต่ง ต่อเติมอยู่เรื่อยๆ” ภูมิชยะบอก
แล้วเวลาตอบเพื่อนบ้านจริงๆ ตอบอย่างนี้หรือเปล่า เราถาม “เปล่า ก็ตอบว่าบ้านยังไม่เสร็จครับ” ภูมิชยะหัวเราะ
‘บ้านดิบๆ 3 ชั้น’ ของภูมิชยะมีชื่อเล่นอีกอย่างว่า ‘House K’ เพราะบ้านอยู่แถวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อก่อนบ้านหลังนี้ก็เคยเป็นบ้านจัดสรรสองชั้นเหมือนบ้านหลังอื่น แต่หลังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 บ้านมีสภาพเสื่อมโทรมเกินกว่าจะรีโนเวทไหว ภูมิชยะเลยตัดสินใจสร้างบ้านหลังใหม่ขึ้นแทน โดยได้ เป็นผู้ออกแบบ ซึ่งภูมิชยะก็เป็น staff คนหนึ่งในออฟฟิศและมีส่วนร่วมในการออกแบบบ้านของตัวเองด้วย
แม้ ‘ความดิบ’ ของ House K คือสิ่งที่เตะตาเพื่อนบ้านหลายคนจนต้องอดถามภูมิชยะไม่ได้ว่าบ้านเสร็จหรือเปล่า แต่ ‘ความดิบ’ ไม่ใช่จุดตั้งต้นหลักของการออกแบบของบ้านนี้ ใจความของบ้านที่แท้จริงคือการเปิดกว้างความเป็นไปได้ในการใช้ชีวิต
“เราเป็นคนขี้เบื่อ” ภูมิชยะเล่า “ปกติเวลาอยู่บ้าน วันหนึ่งอาจจะวางของตรงนี้ แล้วเดี๋ยวย้ายไปตรงนั้น มันเป็นเพราะเราเกิดและเติบโตด้วยจังหวะชีวิตที่ต้องย้ายของตลอดเวลา ตอนเด็กๆ เราไม่เคยมีห้องส่วนตัวเพราะที่บ้านมีคนอยู่หลายคนแล้วห้องไม่พอ เราต้องนอนที่โซฟาห้องนั่งเล่น เดี๋ยวก็ต้องเก็บของไว้ใต้โซฟา เก็บใส่กระเป๋า พอโตก็ไปอยู่หอ ย้ายหอ เราเลยเคยชินกับใช้ชีวิตแบบที่ต้องเปลี่ยนแปลงตลอด”
จุดเริ่มต้นของคือความเป็นไปได้เกิดจากความเรียบง่าย House K ประกอบสร้างจากวัสดุเพียงไม่กี่อย่างเช่น อิฐมอญ คอนกรีต เหล็ก กระเบื้อง วทันยา จันทร์วิทัน สถาปนิกจาก Bangkok Tokyo Architecture เล่าว่า ที่สตูดิโอเลือกใช้วัสดุเหล่านี้ เพราะเชื่อว่า สถาปัตยกรรมไม่จำเป็นต้องเกิดจากวัสดุราคาสูง ก่อสร้างลำบาก แต่เกิดจากวัสดุที่หาง่ายตามท้องตลาดก็ได้ หากบ้านต้องซ่อมแซมในอนาคตก็ไม่ต้องเสียงบมากมายเพื่อซื้อวัสดุมาซ่อมแซม ผิววัสดุยังเปลือยออกมาให้เห็นอย่างผ่าเผยแทนการฉาบเก็บหรือทาสี แสดงให้เห็นชัดเจนว่าบ้านเกิดจากความธรรมดาและตรงไปตรงมา ตัวโครงสร้างเองก็เป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กที่ไม่ซับซ้อน สามารถก่อสร้างได้อย่างง่ายดาย
ผังพื้นของบ้านก็มีความเรียบง่าย แต่ละชั้นเป็นเหมือนกับห้องใหญ่ห้องหนึ่ง มีบันไดและทางเดินเชื่อมต่อแต่ละชั้นร้อยรัดอยู่โดยรอบ แม้ระบบการวางผังพื้นและการใช้วัสดุของบ้านจะแสนธรรมดา แต่พื้นที่แต่ละชั้นกลับมีตัวตนและคาแร็กเตอร์ที่แตกต่างกันออกไป ไม่ใช่อพาร์ตเมนต์ที่ปั๊มห้องแต่ละชั้นเป็นแพทเทิร์น
ชั้นล่างสุดของบ้านล้อมกรอบด้วยบานกระจกใสขนาดใหญ่ ที่ช่วยเชื่อมต่อสเปซเข้าไปกับภูมิทัศน์เล็กๆ รอบบ้าน แนวผนังด้านหลังก่อทึบขึ้นมาหน่อย สร้างดีกรีความเป็นส่วนตัวเพิ่มขึ้นมา พื้นบ้านยกตัวสูงขึ้นมาและยื่นออกเป็นชานเล็กๆ เหมาะพอดีกับการนั่งเล่น ต่อยอดการใช้ชีวิตให้ไม่จบอยู่แค่ภายในห้อง แต่อยู่ภายนอกห้องด้วย
ชั้นสองล้อมรอบด้วยแนวผนังทึบ เป็นเกราะสร้างความส่วนตัวออกจากบ้านที่ขนาบข้าง ถึงอย่างนั้น ฝั่งทิศตะวันตกภายนอกของชั้นสองก็ออกแบบให้เปิดโล่งรับทิวทัศน์ภายนอก และโดยรอบชั้นก็มีระเบียงทางเดินร้อยรัด เป็นอีกครั้งที่สถาปนิกออกแบบให้การใช้ชีวิตไม่ได้จบอยู่แค่ในห้อง แต่ไหลลื่นมาอยู่ที่ภายนอกห้องด้วย องค์ประกอบที่โดดเด่นของชั้นสองนี้ คือ ‘ม่าน’ ที่เป็นกรอบผนังเปิดปิดได้อันบางเบา ม่านทำมาจากวัสดุเดียวกับผ้าคลุมรถเพื่อให้ทนทานต่อแดดฝน ด้านบนเว้นรูโปร่งแสงไว้นิดหน่อยเพื่อลดความทึบตันของผืนผ้า ตัวเองม่านเองตัดเย็บด้วยเทคนิคเดียวกับการเย็บกระโปรง ทำให้ผ้ามีลอนโค้ง มีความพลิ้วและดูโอนอ่อน ลดทอนความหยาบกระด้างของบ้านลงไป
ชั้นสามให้ความรู้สึกมิดชิดที่สุดด้วยขนาดห้องที่กะทัดรัดและผนังกึ่งทึบกึ่งโปร่งที่ปิดล้อมทุกทาง ถึงจะไม่มีพื้นที่ภายนอกอย่างชั้นอื่นเขา แต่เวลาเปิดหน้าต่างบานกระทุ้ง แสงแดดและสายลมจะพัดโชยเข้ามา ช่วยให้บ้านข้างในยังรับรู้ถึงความเป็นไปข้างนอกอยู่ ดาดฟ้าบนบ้านเปิดรับบรรยากาศโลกกว้างอย่างเต็มที่ เวลาเหยียบพื้นดาดฟ้าจะได้ยินเสียงก๊อกแก๊กจากกระเบื้อง นั่นเป็นเพราะกระเบื้องไม่ได้ยึดอยู่กับโครงสร้าง แต่มันวางตัวอยู่หลวมๆ เพื่อให้สะดวกต่อการถอดเปลี่ยนกระเบื้องแตกร้าว กระเบื้องที่ใช้เป็นกระเบื้อง solar slab ที่มีรูกลวงด้านล่าง ช่วยให้อากาศถ่ายเท ลดความร้อนที่ส่งผ่านลงด้านใน
จะเห็นว่าตัวแปรหลักที่ช่วยสร้างสภาวะของแต่ละชั้นให้แตกต่างกัน คือการยืดหดของคานออกจากเสาที่ทำให้สเปซเล็กใหญ่ไม่เหมือนกัน รวมถึงการเรียบเรียงความทึบความโปร่งของผนังและช่องแสง ซึ่งสร้างดีกรีความปิดกั้น-เปิดออก และความภายใน-ภายนอกที่หลากหลาย บรรยากาศที่แตกต่างมากมายในบ้านนี่เอง ที่เปิดให้ภูมิชยะใช้ชีวิตได้หลากหลายรูปแบบ เขาอาจจะนั่งเล่นอยู่พื้นที่ภายนอก แต่ปิดผ้าม่านสร้างความส่วนตัว เขาอาจจะทำงานอยู่ข้างในกรอบกำแพง แต่เปิดหน้าต่างโล่งโช่งออกไปหาโลกภายนอก ทีนี้ก็แล้วแต่ภูมิชยะว่าจะออกแบบชีวิตเป็นอย่างไร
วทันยาย้ำว่าตอนออกแบบบ้าน Bangkok Tokyo Architecture ไม่ได้กำหนดตายตัวว่าพื้นที่ชั้นนี้จะมีฟังก์ชันอะไร สำหรับใคร ในตอนนี้ ชั้นหนึ่งคือห้องสำหรับแม่ ชั้นสองคือพื้นที่ส่วนกลางของบ้าน และชั้นสามคือห้องส่วนตัวของภูมิชยะ แต่ในอนาคต มันอาจใช้งานทำอย่างอื่นก็ได้ มันอาจจะถูกปล่อยเช่าแบ่งชั้น มันอาจกลายเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะ และหากมันเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา ทั้งภูมิชยะและวทันยาก็ไม่ถือสา
สังเกตได้ว่าบ้านมี built-in เพียงน้อยชิ้น แม้แต่ผนังกลางห้องชั้นหนึ่งหรือผนังของห้องน้ำชั้นบนสุดก็ไม่จรดไปถึงฝ้า แทนที่จะเป็น ‘ห้อง’ มันกลับเป็นเหมือนสิ่งของลอยตัวอันหนึ่งในสเปซมากกว่า ความลอยตัวของบ้านก็สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของภูมิชยะที่ชอบโยกย้ายของไปมา ไม่อยากยึดติดอะไร
ในแต่ละชั้นมีจังหวะของช่องผนังทึบ หน้าต่าง ที่ไม่เหมือนกัน บานกรอบหน้าต่าง ประตู บางทีก็ยื่นออกจากแนวโครงสร้าง หรือถอยกลับเข้ามาจากแนวผนัง องค์ประกอบอาคารแต่ละอย่างดูเป็นอิสระต่อกันและไม่มีรูปแบบชัดเจน ผิดกับบ้านจัดสรรทั่วไปที่มีภาษาการออกแบบชัดเจน บางครั้งไม่ใช่แค่ภายนอกบ้าน แต่รวมไปถึงภายใน อานิสงส์ขององค์ประกอบที่ร้อยเรียงอย่างอิสระ คือภูมิสามารถวางข้าวของอะไรข้างในได้โดยไม่รู้สึกว่ามันอยู่ผิดที่ผิดทาง เพราะมันไม่มีไวยากรณ์กำหนดแต่แรกว่าอะไรควรวางตรงไหน
“เป็นคนชอบบ้านที่เอาของอะไรมาวางก็ได้ ตอนที่เราไปบ้านเพื่อนที่เขาทำสไตล์หินอ่อน หรือตอนอยู่คอนโดที่ตกแต่งสไตล์ไม้ ถ้าเราเอาของไปวางผิดที่ผิดทาง มันก็ดูไม่เข้ากับบ้าน เราไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น อยากให้ของวางระเกะระกะได้ ทำให้ของหลายอย่างอยู่ด้วยกันได้แบบไม่รู้สึกแปลกแยก” ภูมิชยะบอก
วทันยายอมรับว่าบ้านหลังนี้ไม่ใช่บ้านที่อยู่สบายที่สุด มันไม่เหมือนบ้านจัดสรรสำเร็จรูปที่ออกแบบมาเพื่อวิถีชีวิตสมบูรณ์แบบ มันไม่ใช่บ้านที่ฝนไม่ชะรอยเข้ามาสักแอะ แต่มันคือบ้านที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของภูมิชยะ ผู้ไม่ชอบความจำเจ และชอบใช้ชีวิตทดลองอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอด “ไลฟ์สไตล์และความคิดของเขาที่ไม่ตายตัว คือสิ่งที่นำเสนอออกมาในงานออกแบบ” วทันยากล่าว
วิถีชีวิตของภูมิชยะยังลงรอยพอดีกับความเชื่อในการทำสถาปัตยกรรมของ Bangkok Tokyo Architecture ที่มองว่า สถาปัตยกรรมคือสิ่งที่เติบโตเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา “เราไม่เชื่อในการสร้างกฎเกณฑ์ให้บ้านตายตัว” วทันยาบอก “ออฟฟิศเราเชื่อว่าสถาปัตยกรรม หรือบ้านเป็นสิ่งที่เติบโตได้ตลอดเวลา เพราะชีวิตคนในนั้นมันเปลี่ยนแปลง เราออกแบบสถาปัตยกรรมให้เป็นจุดเริ่มต้น รองรับการเพิ่มเติม ปรับเปลี่ยน หรือดัดแปลงที่เกิดขึ้นตามมา”
แม้ว่าในวันนี้บ้านจะก่อสร้างเสร็จแล้ว แต่บ้านก็ยังไม่เสร็จ ภูมิชยะยังคงย้ายที่ทางข้าวของไปเรื่อยๆ บางทีก็หันโต๊ะทำงานเข้ากำแพง บางทีก็หันออกไปหาวิวภายนอก บางทีเขาก็นอนที่ชั้นสาม บางทีก็มานอนชั้นสอง สำหรับภูมิชยะแล้ว มันคือความสวยงามในชีวิตของเขา “การที่บ้านเปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลาคือความสวยงามของการมีบ้าน ถ้ามันตกแต่งมาตายตัว มันจะไม่มีพื้นที่ให้ความสร้างสรรค์อะไรเลย” ภูมิชยะทิ้งท้าย “แล้วบ้านมันจะน่าเบื่อ”