NAGOYA ZOKEI UNIVERSITY

university, nagoya

Photo: Riken Yamamoto & FIELDSHOP

ผลงานการออกแบบของ Riken Yamamoto ภายใต้แนวคิดว่าอาคารไม่ควรปิดกั้นผู้ใช้จากโลกภายนอก สถาปนิกจึงผลักพื้นที่ใช้งานไว้ที่ขอบนอกและนำทางเดินซึ่งเชื่อมโยงแต่ละส่วนมาไว้ภายใน

TEXT: KARN PONKIRD
PHOTO CREDIT AS NOTED

(For English, press here)

ความตั้งใจที่จะย้ายมหาวิทยาลัยศิลปะและการออกแบบจากเมืองโคมากิซึ่งอยู่ห่างไกลกลับมาสู่เมืองซึ่งเป็นศูนย์กลางของจังหวัดไอจิอย่างเมืองนาโกย่าของกลุ่ม Doho Gakuen เริ่มเป็นรูปเป็นร่างในปี 2018 หลังจากทำการซื้อที่ดินประมาณ 12 ไร่ ในทางทิศตะวันออกของสวนเมโจ (Meijo Koen) ซึ่งตั้งอยู่ด้านบนสถานีรถไฟใต้ดิน Meijo Koen ของระบบรถไฟฟ้าใต้ดินท้องถิ่น Nagoya Meijo Line พอดิบพอดี ทั้งนี้ การวางแผนสำหรับย้าย Nagoya University of Art and Design หรือในชื่อใหม่ Nagoya ZOKEI University ต้องตั้งอยู่บนข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งความละเอียดอ่อนของไซต์ และการรีแบรนด์ของมหาวิทยาลัยอายุกว่าครึ่งศตวรรษต้องมีความสดใหม่ ทันสมัย และพร้อมจะรับใช้ชุมชน

Photo: Riken Yamamoto & FIELDSHOP

สถาปนิก Riken Yamamoto ได้รับหน้าที่ดูแลทั้งในส่วนของการออกแบบสถาปัตยกรรมทั้งหมด และในขณะเดียวกันก็รับบทบาทเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัย Nagoya ZOKEI ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อออกแบบโครงสร้างหลักสูตรใหม่ให้สอดคล้องกับงานดีไซน์ไปพร้อมๆกัน มหาวิทยาลัยโฉมใหม่นี้จึงสามารถกล่าวได้ว่า พื้นที่ทางสถาปัตยกรรมถูกออกแบบมาอย่างสอดคล้องกับหลักสูตร และรูปแบบการเรียนตั้งแต่ต้น

Photo: Mohei Oigawa

ในทางสถาปัตยกรรมแล้ว ปรัชญาการออกแบบของ Yamamoto ตั้งอยู่บนความเชื่อว่าบ้านและอาคารสำหรับพักอาศัยไม่ควรรวมสิ่งอำนวยความสะดวกหรือปัจจัยการดำรงชีวิตของผู้ใช้งานไว้ในกรอบที่ถูกสร้างขึ้นมา และดำรงตัวเองอยู่อย่างสันโดษไม่สื่อสารกับโลกภายนอก กล่าวคือ อาคารควรจะเป็นพื้นที่ ที่ให้ผู้ใช้งาน ‘ข้างใน’ สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับ ‘ข้างนอก’ ได้ หรือกลับกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทั้งการมองเห็น การได้ยิน หรือแม้กระทั่งการเคลื่อนย้ายคนนอก-คนใน เข้าออกภายในสเปซ การที่ผู้คนยังสามารถเชื่อมต่อกับบริบทรอบข้างได้นี่เองจึงจะเป็นสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์ของ Yamamoto โดยสามารถเห็นได้จากงานออกแบบตั้งแต่ปี 1977 อย่าง Yamakawa Villa ที่ผลักพื้นที่ใช้งานพื้นฐานของบ้านไว้ขอบนอก และนำระเบียงทางเดินกลับมาไว้ข้างใน เพื่อเชื่อมโยงสเปซต่างๆเข้าด้วยกัน ร่องรอยการออกแบบเมื่อ 45 ปีก่อนยังคงเด่นชัดในผลงานการออกแบบมหาวิทยาลัย Nagoya ZOKEI การตั้งทับอยู่ด้านบนของสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ทำให้การออกแบบโครงสร้างฐานรากไม่สามารถทำได้เหมือนอาคารปกติทั่วไป การรับ load ของอาคาร ถูกออกแบบให้กระจายบนก้อนอาคารขนาดใหญ่ทั้ง 4 ก้อน โดยใช้โครงสร้างที่มีน้ำหนักเบาอย่างเหล็ก และชิ้นส่วนแบบ Precast สำหรับเพิ่มความรวดเร็วในการก่อสร้าง

university at nagoya

©Riken Yamamoto & FIELDSHOP

จาก Yamakawa Villa ที่ก้อนอาคารแต่ละจุดเป็นแค่ห้องนอน ห้องน้ำ หรือห้องนั่งเล่น ในโครงการนี้ก้อนอาคารถูกขยายออกเป็นก้อนซึ่งบรรจุทั้งห้องสมุด ห้องเลคเชอร์ โรงอาหาร โรงยิม แกลเลอรี และห้องปฏิบัติการไว้ โดยแต่ละก้อนมีความสูง 3 ชั้น และชั้นที่ 4 ซึ่งโครงสร้างเป็นโครง truss ถูกใช้เป็นสตูดิโอออกแบบ และพื้นที่ terrace สำหรับออกมานั่งทำงานได้ในวันที่อากาศดี จุดโดดเด่นของตัวอาคารคือผนังที่มีลักษณะคล้ายบล็อกช่องลมเล็กๆ หลายๆ ชิ้นมาต่อกันสำหรับห่อหุ้มก้อนอาคารย่อยทั้งสี่ ซึ่งทำหน้าที่เหมือนเสาทั้งสี่ของอาคารองค์รวมอย่างชัดเจน เพียงแต่ว่าผนังช่องลม Precast นี้ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงตกแต่งเท่านั้น แต่มันยังทำหน้าที่เป็นผนังรับแรงเฉือน (shear wall) ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปตามอาคารสูง ซึ่งมักจะเป็นผนังขนาดใหญ่หรือผนังที่มีฟังก์ชันของบันไดและลิฟต์เกาะอยู่ จากการทดลองหลายต่อหลายครั้งทำให้ได้บล็อก precast สำหรับหล่อผนังที่แต่ละชิ้น ยาว 8 เมตร สูง 1.2 เมตร และมีความหนา 15 เซนติเมตร ทั้งหมด 310 ชิ้น พร้อมด้วยข้อต่ออีก 6,300 จุด องค์ประกอบและการก่อสร้างนี้เป็นการออกแบบร่วมกันของ Riken Yamamoto และ Obayashi Corporation เกิดเป็นโครงสร้างที่ยังคงความโปร่งและสามารถมองทะลุได้อย่างที่สถาปนิกต้องการให้อาคาร ‘เชื่อมต่อ’ ภายในและภายนอกไว้ด้วยกันได้

University at nagoya

Photo: Shigeru Ono

เมื่อฟังก์ชันการใช้งานสำหรับการเรียนถูกผลักออกไปทั้ง 4 มุม และพื้นที่สตูดิโอของชั้น 4 ทำหน้าที่เสมือนหลังคา จึงเกิดพื้นที่สัญจรใต้อาคารซึ่งเหมือนระเบียงทางเดินของ Yamakawa Villa เพียงแต่ในครั้งนี้ มันถูกขยายด้วยความตั้งใจของ Yamamoto ที่นอกจากอาคารจะเชื่อมต่อกับบริบทผ่านวัสดุทางสถาปัตยกรรมแล้ว ยังต้องเชื่อมต่อผ่านการใช้งานอีกด้วย การที่อาคารมหาวิทยาลัยตั้งอยู่เหนือทางขึ้นลงของรถไฟฟ้าใต้ดิน หมายความว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะเชื้อเชิญประชาชนและบุคคลทั่วไปให้เข้ามาใช้งาน สังเกตการณ์ ซึ่งการมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนและผู้คน Yamamoto มองว่าจะช่วยเสริมสร้างให้นักศึกษาในฐานะนักเรียนออกแบบ มีจินตนาการที่กว้างไกลและไม่อึดอัดในสตูดิโอแบบกล่องปิดจนเกินไป อีกทั้งห้องสมุดและโรงอาหาร ร้านค้าต่างๆยังเปิดให้คนทั่วไปเข้ามาใช้งานได้ เป็นการตอบแทนและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ทั้งนี้ การมีคอร์ทและทางเดินเปิดโล่งยังสามารถนำมาใช้เป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการของนักศึกษาได้อย่างอิสระอีกด้วย ประชาชนที่สัญจรผ่านไปมา หรือนักศึกษาต่างสาขาที่ใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกันก็สามารถศึกษาและเรียนรู้ผลงานของนักศึกษาต่างสาขาได้ตลอดเวลา

Photo: Mohei Oigawa

university at nagoya

Photo: Mohei Oigawa

university at nagoya

Photo: Mohei Oigawa

นอกจากการออกแบบพื้นที่ทางสถาปัตยกรรมแล้ว พื้นที่ทางความคิดอย่างสาขาต่างๆของมหาวิทยาลัยก็ถูก Yamamoto จัดระเบียบใหม่ จากที่เคยมี 1 ภาควิชา 9 สาขาแยกย่อย ก็ถูกควบรวม และจัดระเบียบโดยใช้แนวคิดทางสถาปัตยกรรม อย่างการมองแต่ละสาขาเป็น  ‘โดเมน’  ซึ่ง Yamamoto มองว่า การเกิดขึ้นของสถาปัตยกรรม จำเป็นต้องมีการประกอบ กันของโดเมนส่วนต่างๆ และเช่นเดียวกัน หากจะก่อให้เกิดภาควิชาศิลปะและการออกแบบที่สมบูรณ์ ก็ต้องมาจากการประกอบกันของ 5 โดเมน (สาขา)  คือ Art Expression (ศิลปะและปรัชญา), Visual Literature (กราฟิกและมังงะ), Community Area Design (สถาปัตยกรรมและชุมชน), Community Sense Design (การออกแบบผลิตภัณฑ์และเฟอร์นิเจอร์) และ Representation Design (รูปแบบการแสดงออกข้อมูลผ่านวิธีการสื่อสารต่างๆ) สาขาทั้ง 5 นี้พื้นที่เรียนและสตูดิโอจะกระจัดกระจายอยู่ในแต่ละมุมของพื้นที่สตูดิโอชั้น 4 โดยถูกออกแบบให้จัดผังและเคลื่อนย้ายฟังก์ชันต่างๆได้ตามรูปแบบการเรียนการสอน นักเรียนสามารถมองหาสตูดิโอที่ตนเองเรียนได้อย่างรวดเร็วด้วยการออกแบบสัญลักษณ์ทั้ง 5 แบบติดไว้เหนือเพดาน และมีพื้นที่ตรงกลางเรียกว่า Art Plaza สำหรับให้นักศึกษาและคณาจารย์มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงแต่ละสตูดิโอก็สามารถเดินผ่านหรือมองเห็นสตูดิโออื่นๆได้อย่างอิสระ ซึ่งสะท้อนไอเดียของสถาปนิกว่ามนุษย์ล้วนต้องมีปฏิสัมพันธ์กันผ่านพื้นที่ทางสถาปัตยกรรม

Photo: axona AICHI

Photo: axona AICHI

Photo: Mohei Oigawa

Nagoya ZOKEI University แห่งใหม่นี้มีพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 17,600 ตรม. แบ่งเป็นชั้นใต้ดิน 1 ชั้นและบนดินอีก 4 ชั้น เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อ 4 เมษายน 2022 ที่ผ่านมา

riken-yamamoto.co.jp

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *