มิติ เรืองกฤตยา แสดงการเกิดขึ้น ดับไป และ ‘การเกิดใหม่’ ของภาพ ผ่านทั้งน้ำมือคนและ AI ที่เจือปนด้วยอคติ
TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: KETSIREE WONGWAN
(For English, press here)
เดือนมกราคม ปี 1996 ในวันที่ท้องฟ้าสดสวยแจ่มใส Charles O’Rear อดีตช่างภาพนิตยสาร National Geographic ขับรถออกจากบ้านของเขาในเมือง St. Helena รัฐ California ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อไปเยี่ยมหาหวานใจอย่างเช่นที่เขาทำทุกสัปดาห์ ระหว่างขับรถ เขาได้พบกับเนินเขางดงามสีเขียวชอุ่ม ภูมิทัศน์อันงามงดทำให้เขาหยุดรถและนำกล้องออกมาบันทึกห้วงเวลาแห่งความงามนี้ไว้
และนี่ก็คือจุดกำเนิดของ Bliss ภาพ wallpaper เนินเขาสีเขียวประจำระบบปฏิบัติการ WindowsXP ที่ดูเสมือนเป็นดินแดนอันเปี่ยมสุข
คำกล่าวว่า Bliss เป็นภาพถ่ายหนึ่งที่คนเห็นมากที่สุดภาพหนึ่งของโลกคงไม่เกินจริงเท่าไหร่ เพราะมันไปโผล่อยู่บนจอคอม WindowsXP ของทุกคน แม้ภาพนี้จะเป็นภาพที่ใครๆ ก็ต้องเห็น แต่ในโลกที่เทคโนโลยีพัฒนาแบบก้าวกระโดด WindowsXP เปลี่ยนสภาพเป็นระบบปฏิบัติการที่ล้าสมัย Bliss ก็กลายเป็นภาพที่โดนทอดทิ้งไปกับกาลเวลา
เหมือนว่าภาพจำของ Bliss จะสาบสูญ แต่มันก็ถูก Microsoft ชุบชีวิตขึ้นมาอีกรอบในปี 2021 ในฐานะภาพพื้นภาพหลังในโปรแกรม Microsoft Teams โดยเป็นภาพสร้างขึ้นใหม่ ที่อ้างอิงจาก Bliss อีกทีหนึ่ง
ภาพมีทั้งการตั้งอยู่ ดับไป และเกิดขึ้นมาในร่างใหม่ ในนิทรรศการ BLISS มิติ เรืองกฤตยา เล่นแร่แปรธาตุกับภาพ เผยปรากฎการณ์ชีวิตและความตายของมัน โดยศิลปินใช้ภาพ Bliss ของ Charles O’Rear มาเป็นจุดตั้งต้น
นิทรรศการต้อนรับทุกคนด้วย BLISS 3D (2023) ผลงานแสดงภาพตัวอักษร BLISS สามมิติที่หมุนตัวในจอ iPhone6 มือถือรุ่นนี้เป็นมือถือที่ Apple ปล่อยสู่ตลาดในปีเดียวกันที่ Microsoft ยุติการสนับสนุน WindowsXP ทิ้งให้ Bliss ค่อยๆ กลายเป็นภาพในความทรงจำตรงกันข้ามคือภาพ Sharecropper’s grave in Hale County, Alabama (1936) โดย Walker Evans ศิลปินช่างภาพชาวอเมริกัน แม้ความแร้นแค้นโหดร้ายอย่างในภาพจะเลือนหายไปจากเมือง Hale County ในรัฐ Alabama แล้ว มิติกลับดึงภาพนี้มาจากจากคลังข้อมูลออนไลน์ของหอสมุดรัฐสภาอเมริกา (Library of Congress) ปรินต์ แล้วนำมาใส่กรอบแขวนเป็นรูปเล็กๆ การแทรกแซงภาพของศิลปิน ทำให้ความตายของผู้คนจากความยากจนในยุค Great Depression กลับมามีชีวิต
ต่อมาคือวิดีโอ Sunset Sunrise Overture (2023) วิดีโอฉายภาพภูมิทัศน์เนินหญ้าสีเขียวสมบูรณ์แบบที่คล้ายกับภูมิทัศน์ในรูป Bliss วิดีโออันแช่มช้าฝั่งหนึ่งฉายภาพขณะที่ดวงอาทิตย์กำลังขึ้น ในขณะที่อีกฝั่งฉายภาพดวงอาทิตย์ค่อยๆ ลับขอบฟ้า เมื่อวิดีโอฉายภาพพระอาทิตย์ขึ้นเต็มที่ ท้องฟ้าสว่างโร่เผยให้เห็นรายละเอียดภูมิทัศน์ให้ชัดเจน แจ่มแจ้ง ในทางกลับกัน เมื่อพระอาทิตย์ตกดินในวิดีโออีกฝั่ง ภูมิทัศน์กลับมืดดำจนยากที่จะมองเห็น ทั้งสองวิดีโอประจันหน้าเข้าหากัน มิติเอาธรรมชาติมาจัดวางใหม่ เกิดข้อความสื่อสารกับเราที่อยู่ตรงกลางว่า สิ่งที่อยู่ในภาพสามารถปรากฎตัวขึ้นใหม่ และหายลับไปได้เหมือนกัน
เนินหญ้าสีเขียวที่ในวิดีโอ Sunset Sunrise Overture (2023) คือภูมิทัศน์พระเอกที่ปรากฎตัวให้เห็นเป็นภาพถ่ายในส่วนอื่นๆ ของนิทรรศการ ภูมิทัศน์มีความงามที่เหนือจริงจนเราคิดไปว่าเป็นภาพเรนเดอร์ แต่จริงๆ มันคือภาพที่ผ่านการตัดแต่งมาในหลายเลเยอร์ เลเยอร์แรกคือคนงานที่คอยดูแลตัดหญ้า เก็บเศษขยะ เพื่อทำให้เนินหญ้าเขียวดูเรียบเนียน ซึ่งเผยให้ตัวตนขึ้นมาในซีรีส์ภาพ A worker spraying golf green during sunset (2022) เลเยอร์ที่สองคือศิลปิน ผู้นำภาพมา retouch แต่งเก็บรายละเอียดในโปรแกรมคอมพิวเตอร์
ภาพถ่ายภูมิทัศน์ในอุดมคติเหล่านี้ ชวนให้เราลงลึกไปเห็นน้ำมือมนุษย์ ที่แทรกแซง ควบคุม กำกับธรรมชาติในภาพ เพื่อให้เนินหญ้ากลายเป็นเนินที่มีชีวิต ความพยายามของมิติที่เข้าไปถ่ายรูปในช่วงเวลาต่างกันซ้ำๆ จนเกิดภาพถ่ายหลายภาพ เผยความทะเยอทะยานที่จะเก็บความงามอันสมบูรณ์ของธรรมชาติ แช่แข็งชีวิตของมันไว้ในภาพ ทั้งในรูปแบบภาพพิมพ์ หรือภาพดิจิทัลอย่างที่ฉายบนจอโปรเจกเตอร์ แต่หากภาพธรรมชาติถูกบันทึกเก็บซ้ำไปซ้ำมา และนำภาพความซ้ำแล้วซ้ำเล่า มาแสดง ความเป็นธรรมชาติที่บรรจุในภาพจะยังคงอยู่ไหม หรือดับหายไม่มีค่าอะไร
มิติเปิดพื้นที่ให้ AI เข้ามามีบทบาทในนิทรรศการด้วย ในผลงาน Variations of a Hill op.1 (2022) มิติเอาภาพ Bliss มาดัดแปลงให้กลายเป็นข้อความด้วย AI จากนั้นก็ให้ AI เปลี่ยนข้อความเป็นรูป ศิลปินทำกระบวนการนี้ไปกลับ 90 ครั้งจนภาพ Bliss ค่อยๆ กลายเป็นเนินทะเลทรายแห้งผากที่มีคนคล้ายกำลังเดินออกจากเฟรมภาพ ในห้องตรงข้ามคือ Variations of a Hill op.2 (2022) เป็นเสียงของมิติที่พูดข้อความ 90 ข้อความที่ได้จากการแปลงภาพเป็นข้อความในงานที่แล้ว จะพูดว่าเป็นเสียงมิติก็คงไม่ถูกนัก เพราะเสียงเหล่านี้เป็นเสียงสังเคราะห์ของมิติที่สร้างโดย AI ทั้งสองผลงานแสดงให้เห็นบทบาทของ AI และมิติ ที่ทำให้ชีวิตเดิมของ Bliss ดับสูญไป ก่อเกิดเป็นตัวตนใหม่ในภาพทะเลทราย และในรูปแบบใหม่ นั่นคือข้อความและเสียง
เช่นเดียวกับซีรีส์ภาพ A worker spraying golf green during sunset (2022) ที่เปิดเบื้องหลังการควบคุมตัดแต่งภูมิทัศน์อันงดงาม ผลงาน Variations of an Erosion op.1 (2022) ก็เผยว่า AI ก็ไม่ใช่เครื่องมือปราศจากอคติ เพราะมันอยู่ภายใต้การควบคุมกำกับของคนที่ดูแล AI อีกที ในผลงานนี้มิติเอาภาพ Erosion near Oxford ของ Walker Evans มาเข้ากระบวนการแปลงเป็นข้อความ และแปลงกลับเป็นภาพอีกทีด้วย AI จากภาพเนินดินทรุดสีตัวขาวดำ เกิดเส้นม้าลาย ภาพผู้หญิงผิวสีนุ่งน้อยห่มน้อยปรากฎออกมา ก่อนค่อยๆ กลายเป็นลวดลายดั่งกระจกสี stained glass น่าตั้งคำถามเหมือนกันว่าทำไมภาพผู้หญิงผิวสีถึงถูกฉายออกมาเป็นผู้หญิงนุ่งน้อยห่มน้อย เบื้องหลังการสอน AI มีชุดข้อมูลอะไรหรือเปล่า ที่ตอกย้ำภาพผู้หญิงผิวสีเป็นวัตถุทางเพศ
ในห้องเดียวกับที่ Variations of an Erosion op.1 (2022) จัดแสดง จู่ๆ ก็มีเสียงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ทำนองสดใสร่าเริงโพล่งขึ้นออกมาให้เราได้ยิน พร้อมไฟห้องที่ดับลง เพลงโลดแล่นขึ้นเป็นระยะเวลาสั้นๆ ก่อนที่มันจะหายไป เพลงที่ได้ยินเป็นเพลงที่ดัดแปลงจากผลงานของ Pinkpantheress ศิลปินยุคใหม่ชาวอังกฤษผู้โด่งดังจาก TikTok มักทำเพลงสั้นๆ และอ้างอิงบรรยากาศความป๊อบของอังกฤษในห้วงปี 2000s ถึงช่วงเวลาในอดีตจะผ่านพ้นไปแล้ว เพลงก็ช่วยบันทึก และปลุกบรรยากาศวันวานให้มีชีวิตได้ไม่ต่างจากภาพถ่าย ทว่าเมื่อเสียงเพลงเงียบดับลง ภาพคำนึงของอดีตก็เลือนหายไป บรรยากาศล้อมรอบตัวกลับคืนมาเหมือนเดิม
ฟากตรงข้ามห้องคือภาพศิลปินวง NewJeans ที่ชี้และจ้องมองภาพ Bliss ในกรอบหน้าต่าง NewJeans คือกลุ่มศิลปิน K-POP ยุคใหม่ชื่อดังที่ได้อิทธิพลอย่างเต็มที่จากยุค Y2K หากภาพ Bliss ปลุกความตราตรึงของทุ่งหญ้าสีเขียวให้มีชีวิตตลอดเวลา NewJeans ก็ปลุกกระแสโชดช่วงของยุค Y2K ให้กลับมาเจิดจ้าอีกครั้ง โลก K-POP เป็นพื้นที่แห่งการแข่งขัน มีเพลงใหม่ และศิลปินเกิดใหม่ทุกวัน พร้อมกับศิลปินที่หล่นหน้าหายไปได้ตลอดเวลา จากศิลปินชื่อดังคับฟ้า เมื่อเจอการแข่งขันและกระแสธารความเปลี่ยนแปลง ชื่อของพวกเขาก็อาจเหลืออยู่เพียงแค่ความทรงจำอันเจือจาง ไม่ต่างกับ Bliss
เหมือนว่าเหตุการณ์ หรือภาพความประทับใจจะถูกกับเก็บไว้ในภาพได้อย่างมั่นคงเหนือกาลเวลา แต่นิทรรศการ BLISS ชวนให้เราเห็นความเปราะบางของภาพที่สามารถหล่นหาย หรือถูกดัดแปลงปรับเปลี่ยนจนเสียเค้าลางเดิม ด้วยน้ำมือคนหรือ AI ที่เจือปนด้วยอคติ ในเวลาเดียวกัน ผู้คนยังไม่ย่อท้อต่อการกักเก็บภาพชั่วขณะนั้นไว้ เราให้คนงานคอยตัดหญ้าเพื่อเก็บภาพทุ่งสีเขียวที่เรียบเนียนสวยงาม เราบันทึกภาพมันไว้ซ้ำๆ หรือเราอัปโหลดความทรงจำเก่าลงอินเตอร์เน็ต และปรินต์ติดกรอบ หากสิ่งที่อยู่ในภาพลบเลือนไปได้ มันก็สามารถดำรงอยู่ และเกิดใหม่อีกได้เช่นกัน
BLISS จัดแสดงระหว่างวันที่ 28 เมษายน – 8 กรกฎาคม 2566 ที่หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ)
art-centre.su.ac.th
facebook.com/ArtCentre.SilpakornUniversity