ในปีนี้ FLO แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไทย ถือโอกาสจัดแสดงผลงานการออกแบบและชวนทุกคนมาร่วมชมเส้นทางตลอด 9 ปี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแนวคิด เทคนิค หรือวัสดุ
TEXT: WICHIT HORYINGSAWAD
PHOTO: KETSIREE WONGWAN
(For English, press here)
ผ่านมา 9 ปี กับคอลเล็กชันเฟอร์นิเจอร์ที่ FLO ผลิตนำเสนอสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศกว่าหลายร้อยชิ้นที่เข้าไปมีส่วนในกิจกรรมชีวิตของผู้คนในพื้นที่การใช้งานในลักษณะต่างๆ จากปลายเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนกรกฎาคมนี้ FLO ถือโอกาสในการจัดแสดงผลงานการออกแบบ เพื่อแสดงให้เห็นพัฒนาการของแนวคิดของเฟอร์นิเจอร์ที่ได้ผลิตออกมาในคอลเล็กชันต่างๆ เป็นการ recap ภาพรวมของมุมมอง แนวคิด ความสนใจและวิธีในการแก้ปัญหา ทั้งเรื่องเทคนิคและวัสดุ ผ่านนิทรรศการที่มีชื่อว่า Nine Years of FLO ซึ่งในนิทรรศการนี้ แบ่งหัวข้อในการนำเสนอเรื่องราวออกเป็น 4 โซน โดยเริ่มต้นจาก Collaborations ซึ่งจัดแสดงอยู่ในพื้นที่ชั้นล่างของ FLOHOUSE โชว์รูมที่เปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้วในซอยสุขุมวิท 36
Collaborations เป็นโครงการทดลองที่ FLO ชวนนักออกแบบ 5 ทีมมาร่วมออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ FLO ยังไม่เคยทำมาก่อนในวาระการฉลองครบรอบ 9 ปี เริ่มต้นจากที่จัดแสดงทางด้านหน้า UU สตูลและบาร์สตูล ที่ออกแบบโดย Naphakard (นภากาด) ที่รูปทรงยังคงความเป็นมินิมอลลิสต์ที่ผสมผสานกลิ่นอายตะวันออกเหมือนสตูลอย่าง Sora ที่เคยออกแบบเอาไว้ โดยไอเดียหลักนั้นพยายามใช้โครงสร้างน้อยที่สุด คือท่อเหล็กกลมที่นำมาจากภาพจำของท่อเหล็กในสนามเด็กเล่น พัฒนามาเป็นตัวสตูลสีขาวและดำ ขณะที่ ease studio ซึ่งถนัดในการออกแบบงานปักและงานสิ่งทอ นำเสนอชุดเครื่องนอนที่มีชื่อว่า Envelop ซึ่งให้รายละเอียดว่าสามารถเปิดออกได้ง่ายเหมือนเหมือนเปิดซองเอกสาร เพื่อความสะดวกในการถอดเปลี่ยนซักทำความสะอาด และมีสีสันสดใสน่าใช้งาน
และที่จัดแสดงไว้ในพื้นที่ใกล้กันคือ โคมไฟ UBA Lamp เกิดจากไอเดียเริ่มต้นที่ต้องการนำเศษชิ้นไม้ที่เกิดจากการผลิตเฟอร์นิเจอร์กลับมาใช้ใหม่โดยทีมออกแบบ Pana Object นึกถึงพวงอุบะบนพวงมาลัยที่ร้อยรัดดอกไม้เข้าด้วยกันกับการเรียงร้อยเศษชิ้นไม้เข้าด้วยกัน จนกลายเป็นที่มาของชื่อผลงาน และยังออกแบบให้มีรูปทรงล้อกับงานในคอลเล็กชัน Dinsor ของ FLO
ขณะที่โคมไฟของ Sarnsard ที่เน้นการใช้เทคนิคจากงานหัตถกรรมอย่างการสาน จากช่างท้องถิ่นในจังหวัดตรัง นำเสนอโคมไฟที่เทคนิคของการสานด้วย ‘ลายบ้า’ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นลายสานที่มีความยากและซับซ้อนเป็นส่วนประกอบ โดยพัฒนาออกมาเป็น โคมไฟตั้งโต๊ะ โคมไฟตั้งพื้น และโคมไฟแขวน ในขณะที่ Khit.Ta.Khon (ฆิดตาโขน) เป็นดีไซเนอร์ที่ให้ความสนใจกับการผสมผสานข้ามวัฒนธรรมของงานหัตถกรรม ใช้เก้าอี้ Fat Boy ที่เคยออกแบบไว้เป็นจุดตั้งต้นเพื่อนำมาออกแบบลวดลายใหม่ ตีความผ่านน้ำหนักของตัวอักษรในโลโก้ของ FLO โดยให้ชื่อผลงานชุดใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ว่า Nine
บนพื้นที่ชั้นบนของ FLOHOUSE ยังมีนิทรรศการอีกสองโซนด้วยกัน ได้แก่ Void, The Origin ซึ่งจัดแสดงที่มาของคอลเล็กชันแรกของ FLO ที่มีชื่อว่า Void (2014) ซึ่งพัฒนามาจากงานวิทยานิพนธ์ของ นรุตม์ ปิติทรงสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้งและ Design Director ของ FLO ในปี 2012 อันเป็นการศึกษาและทดลองออกแบบรอยต่อระหว่างวัสดุอย่างไม้และเหล็กในรูปแบบต่างๆ
และอีกโซนที่อยู่ในพื้นที่ถัดมามีชื่อว่า Continuous FLO ซึ่งจัดแสดงให้เห็นพัฒนาการในการออกแบบในแต่คอลเล็กชันตลอดเก้าปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น Join Chair / Join Sofa (2014) ที่พัฒนาจากงานชุด Void (2014) ซึ่งให้ความสนใจกับความกลมกลืนในรอยต่อของงานเหล็กและไม้ รวมถึงการให้ความสำคัญของสัมผัสของวัสดุอย่างไม้และความรู้สึกเบาแต่แข็งแรงของโครงสร้างเหล็ก โดยออกแบบให้ผสมผสานไปกับงานของวัสดุในการหุ้มบุ
Pokky Stool / Pokky Armchair (2015) ยังคงเน้นย้ำเรื่องการเชื่อมต่อวัสดุอย่างไม้และเหล็ก แต่เพิ่มความขี้เล่นด้วยเส้นสายของฟอร์มที่ลื่นไหล โค้งมน และโปร่งเบา โดยได้แรงบันดาลใจในการตั้งชื่อมาจากขนมชื่อดัง ในขณะที่ Blend Armchair (2015) ต่อยอดเทคนิคการประกอบไม้และเหล็กจาก Pokky แต่เพิ่มความเพรียวบางให้มากขึ้น และ Angle Stool (2016) คิดถึงรอยต่อที่ง่ายในการถอดแยกเพื่อง่ายต่อการซ่อมแซม และมีราคาที่จับต้องได้มากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีงานที่พัฒนาขึ้นมาจากเทคนิคการเชื่อมต่องานไม้อย่าง Dinsor Dining Chair (2016) ที่เน้นรายละเอียดของจุดเชื่อมต่อต่างๆ ที่แสดงให้เห็นทักษะและความสามารถของงานช่าง ที่ยังให้ความสำคัญกับความเรียบง่ายและโปร่งเบา และ Frame Chair (2020) ที่ใช้เทคนิคการเข้าไม้แบบ single finger joint ที่สร้างความต่อเนื่องให้กับโครงขาและที่เท้าแขน และเก้าอี้ที่ผลิตจากไม้โอ๊คธรรมชาติอย่าง Timber Armchair (2022) ที่ยังคงเน้นเรื่องความเรียบง่ายและมีจุดเด่นที่สามารถซ้อนเก็บเพื่อประหยัดพื้นที่
ในขณะที่ Edge Armchair (2022) ที่ออกแบบให้มีแผ่นไม้ปิดด้านข้างบริเวณช่วงเท้าแขน เกิดเป็นกรอบที่โอบล้อมผู้ใช้งาน ทำให้ตัวเก้าอี้ดูหนักแน่น นอกจากนี้ยังมีคอลเล็กชัน D Chair (2020) ซึ่งเป็นการทำงานร่วมแบบทางไกลระหว่าง FLO และ Propaganda ในช่วงล็อกดาวน์ จากแบบร่างและเส้นสายของ Propaganda และมุมมองด้านวัสดุและเทคนิคของ FLO จนทำให้เกิดเป็นเก้าอี้ที่ค่อนข้างแตกต่างไปจากงานของ FLO ในชิ้นอื่นๆ
และในโซนสุดท้าย Furnist เป็นนิทรรศการที่จัดแสดงอยู่บริเวณพื้นที่ข้าง Warehouse ที่อยู่ด้านในนำเสนอผลงานของภาพรวมของแบรนด์ Furnist ตั้งแต่ปี 1994 โดยจัดวางแบ่งตาม timeline แสดงให้เห็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นตามยุคสมัยต่างๆ รวมถึงปัญหาและอุปสรรค ก่อนที่จะพัฒนาต่อมากลายเป็น FLO ในปี 2014 ซึ่งแสดงให้เห็นรากเหง้าของตัวแบรนด์ที่มีประสบการณ์ในมีความเชี่ยวชาญในการผลิตงานเฟอร์นิเจอร์มาอย่างยาวนาน
นิทรรศการ Nine Years of FLO จัดแสดงอยู่ที่ FLOHOUSE สุขุมวิท 36 ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม ถึง 23 กรกฎาคม นี้ตั้งแต่เวลา 10.00-19.00