‘หุบเขานิจนิรันดร์’ หอเก็บอัฐิที่เกิดจากโจทย์ที่ว่าจะออกแบบพื้นที่เก็บอัฐิอย่างไรให้มีคุณค่าเชิงสาธารณะ และสามารถขจัดความกลัวจากภาพจำอันไม่เป็นมงคลของพื้นที่สุสาน
TEXT: GOLDEN PIN DESIGN AWARD
PHOTO COURTESY OF YEN PARTNERSHIP ARCHITECTS EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
ความตายเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเผชิญอย่างเลี่ยงไม่ได้ ในฐานะบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ก็มักจะแสดงความเคารพหรือโศกเศร้าต่อการจากไปของบุคคลอันเป็นที่รักผ่านการเข้าร่วมพิธีไหว้สุสาน หรือเคารพสักการะอัฐิที่ผู้จากไปที่หลงเหลือให้ไว้บนโลกในทุกๆ ปีของเทศกาลชิงหมิงในไต้หวัน แต่นอกจากเพียงแค่เพื่อแสดงความเคารพหรือความโศกเศร้าแล้ว เรายังได้ครุ่นคิดถึงความหมายของชีวิตผ่านพิธีเหล่านี้ในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย ดังนั้น พื้นที่สุสานเป็นพื้นที่สุดท้ายที่เชื่อมโยงระหว่างโลกแห่งคนตายและโลกของคนเป็น และโจทย์ที่ว่าจะออกแบบพื้นที่ระหว่างคนตายและคนเป็นอย่างไรนั้น ย่อมส่งผลต่อทัศนคติและมุมมองของชีวิตบุคคลผู้ยังมีชีวิตอยู่ในโลกแห่งคนเป็นด้วยเช่นกัน
เนื่องจากข้อจำกัดด้านพื้นที่และมุมมองในวัฒนธรรมได้มีการเปลี่ยนไปในไต้หวันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบพื้นที่สุสาน จากการฝังสุสานแบบดั้งเดิมกลายเป็นหอเก็บอัฐิในสมัยปัจจุบัน แม้ว่าหอเก็บอัฐิเหล่านี้จะเข้ามาช่วยให้ความสะดวกแก่การสักการะของเพื่อนฝูงและบรรดาญาติมิตร แต่หากยังถูกมองว่าเป็นสถานที่ที่ไม่เป็นมงคลสักเท่าใดนัก ทำให้กลายเป็นสถานที่ที่ผู้คนพากันหลีกเลี่ยง ดังนั้น เมื่อรัฐบาลซินจู๋ได้วางแผนการสร้างหอเก็บอัฐิขึ้นใหม่ จึงมิได้พิจารณาถึงแค่ปัญหาการขาดแคลนพื้นที่ในไต้หวันเท่านั้น แต่ยังพิจารณาถึงโจทย์ที่ว่าจะออกแบบพื้นที่เก็บอัฐิอย่างไรให้มีคุณค่าเชิงสาธารณะและจะขจัดความกลัวหรือการต่อต้านจากของผู้คนในพื้นที่ได้อย่างไร เป็นอีกประเด็นสำคัญในการออกแบบ
หลิน เยี่ยนอิ่ง สถาปนิกจาก Yen Partnership Architects และ หลิน โหย่วหาน จาก Behet Bondzio Lin Architekten จากประเทศเยอรมณี จึงได้ถูกเชิญมาร่วมกันออกแบบหอเก็บอัฐิภายใต้โปรเจ็กต์ ‘หุบเขานิจนิรันดร์’ หรือ Eternal Hill ณ สวนอนุสรณ์แห่งชีวิต ต้า ผิง ติ่ง ในเมืองซินจู๋ การที่หอเก็บอัฐิได้ถูกสร้างในบริเวณสวนสาธารณะอันเขียวขจีทำให้ช่วยเปลี่ยนแปลงภาพจำในหัวของสาธารณชนให้กลายเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงง่ายและปกติสามัญมากขึ้น จนกระทั่งได้รับรางวัลจากทั้ง Golden Pin Design Award ยอดเยี่ยมแห่งปี 2022 จากไต้หวัน และ Red Dot Design Award ในเยอรมัน
หอเก็บอัฐิ Eternal Hill เป็นอาคารลักษณะสูง 5 ชั้นเหนือพื้นดิน โดยชั้น 2 เป็นบริเวณที่ให้บริการต่างๆ รวมถึงพื้นที่สักการะบูชาและแท่นบูชา ส่วนชั้นอื่นๆ ที่เหลือเป็นบริเวณตู้สำหรับเก็บอัฐิทั้งสิ้น การออกแบบพื้นที่ทั้งหมดได้เลี่ยงการใช้คานและเสาต้นใหญ่ทำให้พื้นที่ที่ได้มีความโปร่งและไร้สิ่งกีดขวาง ต่างจากหอเก็บอัฐิเดิมๆ ที่เป็นพื้นที่ปิดแคบและให้ความรู้สึกมืด โดยพื้นที่ชั้น 3 ถึง 5 ใชัวัสดุคอนกรีตที่ผ่านเทคโนโลยีหล่อแบบคุณภาพผิวเรียบพิเศษ (fair faced) เป็นวัสดุหลักที่ใช้ในโครงสร้างที่ทิ้งร่องรอยของพื้นผิวที่ไม่เรียบและฟองอากาศที่เกิดจากกระบวนการในการก่อสร้างไว้ตามธรรมชาติ
เนื่องจากอาคารหอเก็บอัฐิมีการเปิดรับแสงจากบริเวณยอดส่วนกลางของหอคอย ทำให้ไม่เพียงแต่ลดการใช้พลังงานแสงไฟฟ้าได้เท่านั้น แต่ยังเป็นการรักษาความสว่างภายในให้เสถียรตลอดเวลา ทำให้ลบภาพหอเก็บอัฐิดั้งเดิมที่ให้บรรยากาศมืดมนน่ากลัวออกไปได้ นอกจากนี้การออกแบบที่เป็นกำแพงสโลปยังช่วยเปิดรับลมเย็นสบายตามธรรมชาติจากเมืองชิงจู๋เข้ามาสู่ภายใน และทำช่องหน้าต่างเปิดไปสู่วิวทะเลของเมืองซินจู๋ในทุกๆ ชั้น โดยคุณหลิน เยี่ยนอิ่ง นักสถาปัตยกรรมชาวไต้หวันเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าแม้อากาศจะเป็นองค์ประกอบที่ดูเป็นนามธรรมและจับต้องไม่ได้มากที่สุด แต่ ‘ลม’ ที่พัดเข้ามากลับเป็นอารมณ์ที่ชัดที่สุดผู้เยี่ยมเยือนจะได้รับจากซินจู๋ ดังนั้น รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบเปิดจึงควรถูกนำมาใช้ผ่านการก่อสร้างที่ไม่มีหน้าต่างหรือสิ่งกีดขวางใดๆ เพื่อให้ธรรมชาติและอากาศหมุนแทรกซึมเข้ามายังตัวหออัฐิได้ อีกทั้ง วิธีนี้ยังสามารถช่วยลดการใช้พลังงานและลดปริมาณคาร์บอนผ่านการลดการติดตั้งเครื่องปรับอากาศได้อีกด้วย
พื้นที่แต่ละชั้นได้รับการออกแบบให้มีลักษณะเป็นสโลปเอียงลงไปจากชั้นบนลงสู่ชั้นล่างและเว้นพื้นที่ตรงกลางไว้เป็นพื้นที่ว่างโล่ง โดยมีกำแพงเอียงภายนอกสร้างพื้นที่ระเบียง semi-outdoor ภาพรวมของงานสถาปัตยกรรมได้สื่อถึงความเด็ดเดี่ยวและสง่างามของดอกบัวที่กำลังบาน ซึ่งสถาปนิก หลิน โหย่วหาน ได้อธิบายลักษณะดังกล่าวไว้ว่า “กำแพงลาดชันนั้นเปรียบเสมือนทางลาดในหุบเขาที่มีแสงไล้ผ่านผนังตามแนวกำแพง ทำให้ผู้มาเยือนรู้สึกปลอดภัยและได้รับการปกป้อง”
นอกจากนี้ อาคารหลังนี้ยังถูกสร้างขึ้นในบริเวณยอดเขาที่เห็นทิวทัศน์ได้แบบพาโนรามา ทำให้มองเห็นชายฝั่งทะเลของเมืองซินจู๋ได้แม้อยู่ในระยะไกล ตัวอาคารเองก็ยังอยู่ในสวนอนุสรณ์แห่งชีวิตที่เต็มไปด้วยต้นไม้พื้นเมืองไต้หวัน ทำให้แค่เมื่อเข้าไปให้สวนก็รู้สึกเสมือนเดินเข้าไปในป่า ที่ผู้มาเยีอนสามารถสื่อสารกับตัวเองได้ภายใต้บรรยากาศธรรมชาติ
ในฐานะสุสาน อาคารหลังนี้ไม่ได้ใช้องค์ประกอบจากศาสนาใดเป็นพิเศษ ทำให้ผู้คนจากทุกเชื้อชาติและความเชื่อสามารถเข้าถึงและใช้บริการพื้นที่เหล่านี้โดยก้าวข้ามภาพจำของหอเก็บอัฐิรูปแบบเดิมๆได้ โดยนอกจากการใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและเพื่อระลึกถึงผู้ที่จากไปแล้ว ยังสามารถใช้บริเวณพื้นที่ดังกล่าวในการจัดนิทรรศการแสงสี ที่ประกอบไปด้วยทั้งแสงธรรมชาติและแสงไฟประดิษฐ์ที่สร้างความมีชีวิตชีวาให้กับพื้นที่สุสานอันเคร่งขรึมแห่งนี้มากขึ้น และแสดงถึงคุณค่าในเชิงพื้นที่สาธารณะที่เข้าถึงได้แก่ประชาชนทั่วไป
สถาปนิก หลิน โหย่วหาน ได้กล่าวเน้นย้ำว่า “ผู้คนควรคำนึงถึงความตายในแง่ดี เพื่อที่เราจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมนุษย์และสามารถก้าวไปข้างหน้าได้ โดยหวังว่าผู้คนที่มาเยือนหุบเขานิจนิรันดร์จะไม่รู้สึกถึงความกลัว แต่เป็นความกล้าที่จะมีความหวังและรู้สึกได้รับการคุ้มครองเพื่อที่จะได้มีความมั่นใจในการเผชิญกับอนาคต”
ในฐานะพื้นที่สุสานสำหรับการสักการะบูชาและรำลึกถึงผู้เสียชีวิต การออกแบบหุบเขานิจนิรันดร์ได้มุ่งเน้นทั้งด้านการเข้าถึงในเชิงสาธารณะและความสวยงามเชิงภาพลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นผู้โศกเศร้าที่กำลังมองหาพื้นที่รำลึกต่อผู้เป็นที่รักที่จากไป หรือบุคคลทั่วไปที่มองหาพื้นที่แห่งความสงบ ก็ล้วนสามารถมาในหุบเขาและสวนอนุสรณ์แห่งชีวิตที่เงียบสงบและกว้างขวางสว่างไสวแห่งนี้ เพื่อใช้เวลาครุ่นคิดหาความหมายของชีวิตและก้าวไปสู่อนาคตภายภาคหน้าได้ต่อไป
yenarch.com
_
งานรางวัลการออกแบบ Golden Pin Design Award
Golden Pin Design Award เป็นงานรางวัลการออกแบบที่มีชื่อเสียงที่สุดในตลาดการออกแบบแห่งไต้หวัน จีน มาเก๊า และฮ่องกง ซึ่งต้องการเปิดโอกาสและสนับสนุนงานออกแบบไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ ผลงานออกแบบหลากหลายประเภท ที่มีความโดดเด่นจากประเทศต่างๆ ในเอเชีย
ผู้ที่สนใจสามารถตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ผ่านทาง https://www.goldenpin.org.tw/en/