เปิดไอเดียของห้องน้ำในอนาคตของ Sin Ponleu ผู้ชนะรางวัล APAC Grand Prize จาก ASDA 2023 กับผลงานออกแบบห้องน้ำพร้อมพื้นที่อเนกประสงค์ที่เปิดให้สมาชิกในครอบครัวสามารถใช้งานได้พร้อมกัน
TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO COURTESY OF LIXIL
(For English, press here)
“ในประเทศของผม คนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในบ้านที่มีสมาชิกครอบครัวจากหลายช่วงอายุ ผมเห็นปัญหาที่สมาชิกในครอบครัวรอกันเข้าห้องน้ำ ต้องให้คนหนึ่งใช้เสร็จก่อน อีกคนถึงจะใช้ได้ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงอยากออกแบบห้องน้ำที่เปิดให้สมาชิกในครอบครัวมากกว่าหนึ่งคนใช้งานได้พร้อมกัน” Sin Ponleu เล่าถึงงานออกแบบที่ทำให้เขาคว้ารางวัล Asia-Pacific Grand Prize จากงาน American Standard Design Award (ASDA) 2023
ในภูมิภาคเอเชียการอยู่อาศัยร่วมชายคาเดียวกันของคนหลายรุ่นนับตั้งแต่พ่อแม่ ลูก และปู่ย่าตายายนับเป็นเรื่องปกติ รายงานการวิจัยโดย Pew Research Center ในปี 2019 บอกว่า ประชากรในประเทศเอเชียกว่า 45% อยู่อาศัยในบ้านกับสมาชิกครอบครัวแบบขยาย (คือมีมากกว่าพ่อ แม่ ลูก) รูปแบบการอยู่อาศัยแบบนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกในช่วงสถานการณ์โรคระบาด เนื่องจากสมาชิกครอบครัวย้ายกลับมาอยู่ด้วยกัน เพื่อแสวงหาความรู้สึกสบายใจในช่วงเวลาอันโดดเดี่ยว และเป็นอีกทางที่จะเกื้อหนุนกันเรื่องการเงินในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจถดถอย
American Standard ตอบรับแนวโน้มที่เติบโตนี้ด้วยการจัด American Standard Design Award (ASDA) งานประกวดแบบที่มุ่งสร้างแรงบันดาลใจให้เหล่านักออกแบบรุ่นใหม่ สะท้อนปรัชญาของ American Standard ที่มุ่งรังสรรค์นวัตกรรมห้องน้ำที่ผ่านกระบวนการคิดมาอย่างรอบด้าน สำหรับงาน ASDA 2023 ธีมของการประกวดคือ ‘A Home to Love, A Space for Everyone’ ที่มองหาไอเดียห้องน้ำจากนักศึกษาสาขาวิชาออกแบบและสถาปัตยกรรมที่จะตอบสนองผู้ใช้งานจากหลายช่วงอายุ ภายใต้พื้นที่ใช้งานขนาดเพียง 6-7 ตารางเมตร
Antoine Besseyre Des Horts ลีดเดอร์ประจำ LIXIL Global Design ภูมิภาคเอเชีย ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงแรงบันดาลใจเบื้องหลังแนวคิดการประกวดในปีนี้
“ในมหานครอย่างสิงคโปร์ กรุงเทพฯ หรือเซียงไฮ้ การขยายตัวของพื้นที่เมืองนั้นดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและเข้มข้น ในขณะเดียวกันที่ดินก็ค่อยๆ หายากมากขึ้น บ้านและที่พักอาศัยรูปแบบต่างๆ มีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ พื้นที่อยู่อาศัยในบ้านก็ถูกควบรวมเข้ามาด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นห้องนั่งเล่นกับห้องครัวที่ผนวกเป็นหนึ่งเดียว หรือการรวมตัวกันของห้องนอนและห้องนั่งเล่น”
“ในขณะเดียวกัน COVID-19 ก็เป็นเหมือนตัวเร่งการอยู่ร่วมกันระหว่างสมาชิกในครอบครัวหลายรุ่น ผู้สูงอายุอยู่ร่วมกับลูก กับหลาน สิ่งนี้สร้างความท้าทายหลายอย่าง เพราะผู้คนล้วนมีความต้องการต่างกัน มันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ American Standard จะหยิบยื่นโอกาสให้นักออกแบบรุ่นใหม่ได้คิดและจินตนาการถึงห้องน้ำในบริบทของการอยู่ร่วมกันของคนหลายรุ่น ซึ่งมีประเด็นการขยายตัวของเมือง สุขภาพ และสุขภาวะของผู้คนเป็นอีกแรงขับเคลื่อน”
ASDA 2023 เปิดรับสมัครผลงานจากนักศึกษาจากสิบประเทศ คือ ออสเตรเลีย กัมพูชา อินเดีย ลาว พม่า มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม โดยผู้ชนะในระดับประเทศจะเดินหน้าเข้าร่วมชิงรางวัล APAC Grand Prize
“หลักเกณฑ์ในการตัดสินของคณะกรรมการคือ งานออกแบบที่ตอบโจทย์การใช้งาน (Purposeful Design) ความน่าใช้งานและวางใจได้ (Inviting & Dependable) ความสวยความ (Aesthetics) ความเป็นเอกลักษณ์ (Originality) และความเป็นไปได้จริง (Feasibility)” Besseyre Des Horts กล่าว “ทุกอย่างตั้งอยู่บนวิสัยทัศน์ของแบรนด์ งานออกแบบต้องสะท้อนกับธีมหลัก ตอบโจทย์ผู้ใช้งานและเป็นไปได้จริง ในขณะเดียวกัน ตัวงานจะต้องสวยงามน่าใช้ และแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน”
Sin Ponleu ผู้ชนะจาก IndoChina (กัมพูชา ลาว พม่า) เอาชนะหลายพันผลงานทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค กับงานออกแบบ ‘One space, One love’
ด้วยแรงบันดาลใจจากการอยู่อาศัยร่วมกันระหว่างคนต่างรุ่นในประเทศกัมพูชาบ้านเกิดของ Ponleu เขาจึงเสนอให้ห้องน้ำเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ที่สามารถรองรับการใช้งานของผู้ใช้จากหลายช่วงอายุได้ในเวลาเดียวกัน
ในขณะที่รูปแบบของห้องน้ำทั่วไปนั้นจะประกอบไปด้วยอ่างล้างหน้า ฝักบัว และโถสุขภัณฑ์ ที่ติดตั้งรวมกันอยู่ในพื้นที่เดียว ห้องน้ำขนาด 3.5 x 2 เมตร ของเขากลับแบ่งพื้นที่การใช้งานออกเป็นสี่ส่วน
อ่างล้างหน้าถูกนำมาวางไว้ด้านนอกเนื่องจากมันเป็นส่วนการใช้งานที่ไม่ได้ต้องการความเป็นส่วนตัวอะไรมากนัก คุณพ่อสามารถล้างมือ แปรงฟัน โดยไม่ต้องไปรบกวนภรรยาหรือลูกที่กำลังอาบน้ำอยู่ ส่วนโถสุขภัณฑ์มีห้องเป็นของตัวเองและติดตั้งพร้อมราวพยุงเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งานโดยเฉพาะผู้ใช้งานผู้สูงอายุ การสร้างพื้นที่แยกให้โถสุขภัณฑ์ยังช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคในห้องน้ำอีกด้วย
เช่นเดียวกัน พื้นที่อาบน้ำก็ได้รับการออกแบบให้เป็นห้องแยก ตรงข้ามส่วนอาบน้ำคือพื้นที่ใช้สอยอเนกประสงค์ ซึ่งพื้นที่นี้แหละทำให้งานออกแบบของ Ponleu โดดเด่นไปจากงานอื่น
“คนต่างอายุมีความต้องการต่างกัน ผมอยากจะเปลี่ยนห้องน้ำให้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ที่สมาชิกในครอบครัวใช้ทำกิจกรรมหลากหลายได้” Ponleu อธิบาย
Ponleu ได้ไอเดียพื้นที่อเนกประสงค์มาจากการใช้งานจริงที่เขาประสบพบเจอในประเทศบ้านเกิดของตัวเอง พื้นที่การใช้งานที่ว่าสามารถเป็นพื้นที่ให้พ่อแม่อาบน้ำลูกๆ เอาไว้ซักเสื้อผ้า หรือเป็น ‘มินิสปา’ ไว้เอนกายผ่อนคลาย เก้าอี้พับที่อยู่ข้างในช่วยให้เกิดการใช้งานที่หลากหลายยืดหยุ่นขึ้น
โดยปกติ บ้านในพื้นที่ชนบทของกัมพูชามักเติมน้ำไว้ในโอ่งเพื่อการกินใช้ ดังนั้นการใส่โอ่งน้ำขนาดเล็กเข้ามาจึงสะท้อนวัฒนธรรมกัมพูชาได้เป็นอย่างดี Ponleu ปรับรูปทรงป่องโค้งของโอ่งน้ำแบบดั้งเดิมให้เป็นโอ่งหน้าตาสวยงามโฉบเฉี่ยวขึ้น ผสานเอาความสวยงามร่วมสมัยเข้ากับวัฒนธรรมดั้งเดิม“เราตื่นเต้นมากที่ได้เห็นนักศึกษาตั้งคำถามและถอดรื้อพื้นที่ห้องน้ำแบบเก่าๆ” Besseyre des Horts บอกถึงความประทับใจที่เขามีต่องานออกแบบในปีนี้ “พวกเขาหยิบยื่นมุมมองใหม่ในการมองพื้นที่ห้องน้ำ และความสัมพันธ์ของมันกับพื้นที่อยู่อาศัยส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของการอยู่อาศัยร่วมกันของผู้ใช้งานที่มาจากหลายช่วงอายุ”
แม้ว่างาน ASDA 2023 จะจบลงไปแล้ว แต่ American Standard ก็เดินเครื่องเตรียมงานประกวด ASDA 2024 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีหน้ากันแล้ว หากคุณเป็นนักเรียนนักศึกษาที่ชอบการประกวดอันท้าทาย ก็เตรียมตัวเองให้พร้อมและทั้งความสงสัยใคร่รู้ ความกล้า และความคิดสร้างสรรค์ และอย่าลืมติดตามบทความไอเดียของผู้ชนะ ASDA 2023 ระดับประเทศไทยของเราในอนาคต ที่จะมากระตุ้นจินตนาการและเป็นแรงบันดาลใจให้คุณคิดถึงห้องน้ำในแง่มุมสดใหม่ที่อาจไม่เคยมีใครคิดถึงมาก่อน