INFINITY GROUND EXHIBITION


art4d พาทุกคนไปชมนิทรรศการ Infinity Ground – Thailand and Taiwan Contemporary Architecture Exhibition ที่เล่าความเชื่อมโยงกันของสถาปัตยกรรมในไทยและไต้หวัน ที่มีสภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศ และวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน

TEXT: NATHATAI TANGCHADAKORN
PHOTO: KETSIREE WONGWAN
 

(For English, press here)

หลังจากงานเปิดตัวนิทรรศการ Infinity Ground และกิจกรรมเสวนา Infinity Ground Dialogue เมื่อวันอังคารที่ 18 กรกฎาคม ที่ผ่านมา นิทรรศการก็ได้เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชม

นิทรรศการ Infinity Ground เล่าเรื่องความเชื่อมโยงกันของสถาปัตยกรรมผ่านถิ่นที่ตั้งในไทยและไต้หวัน ที่มีสภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศและวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่องานสถาปัตยกรรม ภายใต้แนวคิดของผืนดินที่คอยเป็นฉากหลังให้แสงเงาที่ผ่านวัตถุลงมาตกกระทบ ที่รูปร่างที่ปรากฏบนพื้นอาจแตกต่างกันได้นับพันแบบ เช่นเดียวกับรูปแบบของงานสถาปัตยกรรมที่แม้จะมีรากเหง้าเดียวกันแต่กลับมีความเป็นไปได้ที่แตกต่างกันมากมาย เจอร์รี่ หง (Jenchieh Hung) ประธานจัดงานนิทรรศการจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ และ กุลธิดา ทรงกิตติภักดี  ผู้ร่วมก่อตั้งและสถาปนิกหลักจาก HAS Design and Research หัวหน้าภัณฑารักษ์ ตั้งข้อสังเกตว่า “สถาปัตยกรรมที่ถูกสร้างขึ้นในสองประเทศนี้มักมีจุดร่วมของวิธีการตอบสนองและปฏิสัมพันธ์กับผืนดินซ่อนอยู่ ในขณะที่ตัวผืนดินเองก็เป็นเงื่อนไขตั้งต้นที่สร้างความหลากหลายของงานไปได้อย่างไม่รู้จบด้วยในเวลาเดียวกัน”

กาบมะพร้าวที่โรยอยู่ทั่วพื้นชั้น L เกือบ 800 ตรม. ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ให้ความรู้สึกราวกับกำลังเดินอยู่บนพื้นดินจริงๆ ไม่ใช่เดินบน finishing ภายในอาคาร ตามใจความของงานซึ่งมี ‘ผืนดิน’ เป็นหัวใจสำคัญ

กุลธิดา บอกกับเราว่า “เริ่มแรกวางแผนจะใช้พรมที่ถักทอเป็นลวดลายของดินเพื่อความสะดวกในการติดตั้งและใช้งาน แต่พอเช็คราคาค่าพรมก็พบว่าเกินงบประมาณที่มีไปเยอะซึ่งไม่คุ้มกับระยะเวลาที่จะนำมาใช้ เราหากันอยู่หลายวิธีว่าอะไรจะสื่อถึงผืนดินที่จินตนาการได้ สุดท้ายมาจบที่วัสดุง่ายๆ ราคาถูกที่เป็นตัวแทนของภูมิอากาศร้อนชื้นทั้งไทยและไต้หวันอย่างกาบมะพร้าว เมื่องานจบทีมสวนที่นำวัสดุนี้มาก็สามารถเอากลับไปใช้ต่อได้”

“ทุกวัสดุก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ถ้าพิจารณาถึงการนำลักษณะของผืนดินที่เป็นธรรมชาติเข้ามาในอาคารคอนกรีตกลางเมือง รวมถึงการมีอยู่แบบชั่วคราวของนิทรรศการแล้ว การทดลองกับวัสดุที่มาจากธรรมชาติ หาได้ง่ายราคาไม่แพง และนำกลับมาใช้ใหม่ได้จึงเป็นทางเลือกที่ใกล้เคียงกับความเป็นไปได้และจินตนาการมากที่สุด”

© HAS design and research

นิทรรศการนี้เกิดจากการทดลองของ HAS Design and Research ร่วมกับทีมงานติดตั้ง ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบพื้นที่อย่างไรให้สอดคล้องกับเนื้อหาของนิทรรศการ รวมถึงโจทย์ที่ว่าจะสามารถเปลี่ยนอุปสรรคอย่างเสาทรงกระบอกขนาดใหญ่ของ BACC ให้กลมกลืนไปกับพาวิลเลียนและไม่ขวางเส้นทางการเดินของผู้เข้าชมได้อย่างไร ผลลัพธ์คือผังรูปหลายแฉกที่มีเอกลักษณ์จากการประสานกันขึ้นของ 9 ยูนิต พื้นที่ที่เล่นระดับความสูงของฝ้าจากต่ำไปสูง มีช่องเปิดตรงปลายแหลมของแต่ละยูนิตที่สามารถมองออกไปเห็นโมเดลที่วางอยู่รอบนอก รวมถึงการออกแบบ lighting ในแต่ละยูนิตให้แสงประดิษฐ์ค่อยๆ มืดลงจนบรรจบเข้ากับแสงธรรมชาติจากช่องเปิดที่หันเข้าหาคอร์ทกลางของ BACC

© HAS design and research

เนื้อหาของนิทรรศการจัดแสดงผลงานจาก 4 สตูดิโอจากไทย ได้แก่ บริษัทสถาปนิก 49 จำกัด (Architects 49 Limited), บริษัทสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด (Arsomsilp Community and Environment Architect), บริษัท ดวงฤทธิ์ บุนนาค จำกัด (Duangrit Bunnag Architect Limited), บริษัท ดีพาร์ทเม้นท์ ออฟ อาร์คิเทคเจอร์ จำกัด (Department of ARCHITECTURE) และ 4 สตูดิโอจากไต้หวัน ได้แก่ Ambi Studio, MAYU architects, Behet Bondzio Lin Architekten, Atelier Or โดยเลือกจับคู่ผลงานจากทั้ง 2 ประเทศเข้าด้วยกันในแต่ละส่วนของนิทรรศการ

“ตั้งใจจัดวางผลงานของทั้งสองแห่งในรูปแบบที่ผสานเข้าด้วยกัน ไม่ได้มีเส้นแบ่งชัดเจนว่านี่งานของไทยหรือไต้หวัน ซึ่งในแต่ละคู่ของผลงานสถาปัตยกรรมที่จับคู่กันนั้นจะมีจุดร่วมของการออกแบบที่สื่อสารถึงกันได้ จนอาจจะทำให้ผู้ชมแยกไม่ออกด้วยซ้ำว่านี่คือผลงานของประเทศไหนแม้อาคารจะตั้งอยู่คนละที่ก็ตาม” คุณเจอร์รี่เสริม

โดยนิทรรศการเริ่มจากส่วน Ground Exchanges หรือ ‘การแลกเปลี่ยนบนผืนดิน’ ใน 4 หัวข้อ คือ Togetherness Ritual Native และ Porosity ไปตามลำดับ จนกระทั่งเข้าสู่ส่วนที่สอง Feeling Grounds หรือ‘การรับรู้จากผืนดิน’ ในอีก 4 หัวข้อได้แก่ Extra-Ordinary Nostalgia Vernacular และ Boundaryless

เนื้อหาของนิทรรศการได้รับการออกแบบเชื่อมต่อกันเป็นเนื้อเดียวในพื้นที่กะทัดรัด ทำให้ผู้ชมสามารถเดินไปตามลำดับของผังพื้นไปตามแฉกต่างๆ ก่อนจะออกมาพบกับ skylight ตรงโถงกลางอาคาร BACC ที่เชื่อมพื้นที่ของอาคารทุกชั้นเข้าด้วยกันจากท้องฟ้าสู่ผืนดินและเพิ่มเติมด้วยการติดตั้งวัสดุอะลูมิเนียมสีเมทัลลิกเป็นฉาก สร้างความรู้สึกคล้ายกับออกมายังภายนอกอาคาร เป็นการปิดท้ายการชมนิทรรศการ

นิทรรศการ Infinity Ground จัดแสดงระหว่างวันที่ 18 กรกฎาคม – 6 สิงหาคม 2566 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ชั้น L

facebook.com/asafanpage
facebook.com/hasdesignandresearch

_____________

Project Data

Project name: BACC Infinity Ground Architecture Museum
Completion year: 2023
Location: Bangkok, Thailand
Architecture firm: HAS design and research
Website: www.hasdesignandresearch.com
Design team: Jenchieh Hung, Kulthida Songkittipakdee, Nicha Teanpraneet, Boonyarat Toruen
Lighting design: Jenna Tsailin Liu
Lighting technology: Visual Feast (VF)
Materials: Alufence, Saint-Gobain Thailand, Jorakay, Canon Thailand, RichCons, FloraScape, Zdecor
Constructor: Alufence
Site area: 520 sq.m
Gross built area: 95 sq.m
Photo credit: Ketsiree Wongwan, HAS design and research

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *