NEW STUDIO MITI

ชมโฉมหน้าออฟฟิศใหม่ของสตูดิโอมิติ หลังจากย้ายที่ทำการมาในซอยลาดพร้าว 71 ซึ่งยังคงกลิ่นอายของงานคราฟต์และเต็มไปด้วยดีเทลที่ไม่เหมือนใคร เริ่มต้นจากการเฟ้นหาวัสดุที่สวยงามแม้ไม่ต้องทาสี

TEXT: XAROJ PHRAWONG
PHOTO: KETSIREE WONGWAN

(For English, press here)

สตูดิโอหลังใหม่ของสตูดิโอมิติ ในซอยลาดพร้าว 71 ปรากฏตัวชัดเจนแบบ monolith จนโดดเด่นออกมาจากสภาพแวดล้อมโดยรอบ ผู้บริหารสตูดิโอได้ตัดสินใจเลือกบ้านแถว 3 ชั้นมาปรับปรุงเป็นสตูดิโอแห่งใหม่ โดยออกแบบการใช้สอยจัดเรียงพื้นที่ให้เป็นไปตามลำดับการใช้งาน พื้นที่ชั้นล่างถูกปรับเป็นห้องประชุมและรับแขกจากภายนอกซึ่งไม่ต้องการความเป็นส่วนตัวนัก

พื้นที่ชั้น 2 ออกแบบเป็นห้องประชุมพร้อมระเบียงสำหรับทำกิจกรรมนันทนาการของสำนักงานและห้องประชุมเล็กอีก 1 ห้อง หากมองในภาพรวมสำนักงานแห่งนี้มีห้องประชุมถึง 3 ห้อง ซึ่งเกิดจากความจำเป็นของการประชุมออนไลน์ที่ต้องการพื้นที่ที่ไม่มีความวุ่นวาย ป้องกันเสียงรบกวนของการประชุมอื่นๆ โดยในส่วนชั้น 2 นี้ยังเป็นพื้นที่นันทนาการของสตูดิโอ ที่ระเบียงของห้องประชุมกลายเป็นที่นั่งเล่นกินหมูกระทะ ซึ่งสามารถเปิดบานกระจกเลื่อนให้เชื่อมพื้นที่เข้ากับห้องประชุม ขยายเป็นพื้นที่สันทนาการขนาดใหญ่ได้

ในส่วนของชั้น 3 เป็นสำนักงานสถาปนิกที่รองรับพนักงานและผู้บริหารรวมกัน 13 ชีวิต พื้นที่ถูกจัดเรียงอย่างเรียบง่ายตรงไปตรงมาให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนพื้นที่ชั้นลอยเกิดจากครั้งที่เข้ามาสำรวจอาคารเดิม สถาปนิกเห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะใช้พื้นที่ภายใต้หลังคา ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับห้องสมุดและพื้นที่เก็บหุ่นจำลอง โดยสถาปนิกทำการรื้อฝ้าเพดานเดิมออก ปรับฝ้าเพดานใหม่โดยเลือกใช้วัสดุที่พบได้ทั่วไปคือแผ่นไม้อัด พร้อมออกแบบให้ฝ้าเพดานใหม่เอียงไปตามแนวจันทันและเปลี่ยนองศาหลังคาให้ใช้งานพื้นที่ใต้หลังคาได้สะดวกขึ้น และเปลี่ยนวัสดุมุงจากเดิมที่เป็นหลังคาคอนกรีตให้กลายเป็นหลังคาเหล็กรีดลอนเพื่อป้องกันหลังคารั่ว แล้วมุงหลังคาคอนกรีตเดิมทับอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้กลมกลืนกับอาคารโดยรอบ 


งานหลายชิ้นของสตูดิโอมิติมีการคิดดีเทลหรือดัดแปลงวัสดุจากของที่คุ้นเคยหยิบจับมาใช้ทำให้มีความพิเศษขึ้นมา อย่างเช่นในงานสตูดิโอหลังเก่าของพวกเขา ที่ใช้ผนังอิฐมอญเปลือยผิวมาฝนให้เรียบแล้วติดตั้งโดยปูนกาวเพื่อไม่ให้มีร่องปูนสอแบบก่ออิฐโชว์แนวทั่วไป โดยสตูดิโอแห่งใหม่นี้สถาปนิกได้ทำการทดลองโดยเริ่มจากความสงสัยที่ต้องการหาวัสดุที่ไม่ต้องทาสี และเปลือยผิวได้อย่างมีความงาม มีเอกลักษณ์ในตัวเอง และได้ไปพบกับอิฐบล็อกเบาที่บังเอิญมีรอยแตกหักกลางแผ่น พร้อมกับแสงธรรมชาติที่ส่องเข้ามาพอดี ทำให้สถาปนิกมองเห็นความงามเฉพาะตัวจากความไม่เรียบร้อยนี้และนำมาประยุกต์ใช้กับ façade สตูดิโอแห่งใหม่หลังนี้

อิฐบล็อกเบามีลักษณะคล้ายคอนกรีตบล็อกที่ใช้ในงานก่อสร้างทั่วไป แต่มีวัสดุผสมที่ต่างกันคือผสมจากเส้นใยเซลลูโลส ซีเมนต์ และซิลิกา สถาปนิกเลือกใช้วิธีผ่าครึ่งแล้วปลิ้นเอาไส้ในที่ปรกติจะไม่เห็น มาเป็นด้านที่โชว์แล้วนำมากรุผนังทั้งหมด ซึ่งเทคนิคการติดตั้งแบ่งเป็น 2 แบบ คือส่วนบานเปิดในส่วนของผนังด้านทิศตะวันตกที่ทำโครงจากเหล็ก flat bar หนา 10 มิลลิเมตร ติดตั้งแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์แล้วเสริมแรงด้วยการทำโครงเหล็กเป็นกากบาทยึดโครงหลักไว้ จากนั้นจึงติดตั้งอิฐบล็อกเบาลงบนแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ ซึ่งผนังที่เปิดปิดได้นี้ทำหน้าที่เชื่อมต่อมุมมองจากภายนอกสตูดิโอไปยังภายใน ช่วยให้พื้นที่ทำงานเปิดโล่งไม่อึดอัด และอีกแบบหนึ่งคือส่วนผนังทึบ ซึ่งใช้โครงเหล็กฉากความหนา 5 มิลลิเมตร เป็นโครงเคร่าที่ช่วยพยุงผนังเอาไว้ ซึ่งโครงเหล็กเหล่านี้ได้ถูกออกแบบให้ซ่อนไว้อย่างแนบเนียน

ในประเด็นการชอบทดลองวัสดุ การออกแบบดีเทล เผดิมเกียรติ สุขกันต์ Design Director ของสตูดิโอมิติปิดท้ายว่า “เราไม่ได้ชอบที่จะทำงาน custom แต่ในท้องตลาดไม่มีอย่างที่เราต้องการ มันเลยฝึกให้เราทำเอง ฝึกต่อรองกับวิศวกร ถ้าเข้าใจมัน ก็ทำงาน custom ได้”

facebook.com/studiomitidesign

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *