ย้อนกลับไปดู Chiang Mai Design Week 2023 เทศกาลของนักออกแบบจากชาวเชียงใหม่และชาวเหนือเวียนมาอีกครั้งในช่วงปลายปี พร้อมการเลือกกลับมาจัดงานหลักที่ TCDC ในย่านช้างม่อย
TEXT: MONTHON PAOAROON
PHOTO: MONTHON PAOAROON EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
พอเข้าช่วงต้นเดือนธันวาคมของปีนี้เมืองเชียงใหม่ก็กลับมาคึกคักด้วยนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนอย่างเห็นได้ชัด อาจจะเพราะเราผ่านพ้นช่วงโควิดกันมาสักพัก โดยหลายหน่วยงานก็อัดอีเวนต์ต้อนรับ high season กันเต็มที่ตั้งแต่เริ่มเข้าช่วงสิ้นปี ถึงแม้อากาศปีนี้จะไม่ค่อยเย็นต้อนรับผู้คนที่มาเที่ยวเท่าไหร่นัก แต่สำหรับคนที่ทำงานออกแบบ อีเวนต์สำคัญที่เวียนมาจบทุกครั้งในเวลานี้ก็คงหนีไม่พ้นเทศกาล Chiang Mai Design Week (CMDW) ที่จัดขึ้นทุกปีเพื่อขับเคลื่อนเหล่าคนทำงานสร้างสรรค์ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ ซึ่งในปีนี้งานยังอัดแน่นไปด้วยนิทรรศการ การเปิดบ้านและเปิดสตูดิโอออกแบบที่ปกติเข้าชมได้ยาก เวิร์กช็อปที่หลากหลาย กิจกรรมการแสดง รวมถึงกลุ่มคนหรือหน่วยงานที่จัดงานของตัวเองขึ้นพร้อมกันในช่วงเทศกาล และเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับงาน CMDW ทั้งในเขตเมืองและนอกเมือง ตัวงานจัดในช่วงเวลา 9 วันตั้งแต่วันที่ 2-10 ธันวาคมที่ผ่านมา เราขอเลือกไฮไลต์ของงานปีนี้มาเล่าให้ฟัง
ย่านช้างม่อย-ท่าแพ
สำหรับปีนี้ทาง CEA ได้ย้ายพื้นที่จัดงานหลักกลับมาที่ย่านช้างม่อยบริเวณอาคาร TCDC จากเดิมที่ใช้พื้นที่กลางเวียงเป็นพื้นที่จัดงานหลักและพิธีเปิดมาหลายปี ถ้าดูเผินๆ และเปรียบกับปีที่ผ่านมา อาจจะคิดว่าพื้นที่จัดงานในปีนี้ดูเล็กลงแต่ถ้าได้ลองเดินดูงานจริงๆ กลับรู้สึกว่างานยังคุณภาพอัดแน่นและใช้พื้นที่ตามตรอกซอกมุมของย่านได้อย่างเต็มที่ เริ่มกันตั้งแต่อาคาร TCDC กับนิทรรศการ ‘Everyday Contem หัตถกรรมร่วมรุ่น’ ที่พูดถึงปรัชญา Mingei ของญี่ปุ่น ซึ่งพูดถึงความงามของงานหัตถกรรมที่เป็นสิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยมีผลงานจากนักออกแบบไทยที่ร่วมมือกับพ่อครูแม่ครูช่างฝีมือพื้นบ้านที่พัฒนาขึ้นเพื่องานนี้จัดแสดงร่วมกับแบรนด์ระดับโลกอย่าง MUJI
ในส่วนบริเวณลานหน้าอาคารมีร้านอาหารที่มาออกร้านในธีม ‘เปรี้ยวหวานจากภูเขา’ ที่ใช้ ‘สิมระ’ (Si-ma) พืชที่ให้รสเปรี้ยว เครื่องปรุงของพี่น้องชาวปกากะญอและอาข่า และ ‘น้ำผึ้งป่า’ มาเป็นส่วนผสมให้ความเปรี้ยวหวาน ในอาหารของแต่ละเจ้าเพื่อส่งเสริมการใช้วัตถุพื้นถิ่นที่ทุกร้านพร้อมพูดคุยให้ข้อมูลอาหารที่นำมาร่วมครั้งนี้ เดินถัดออกมาในบริเวณเดียวกันเป็นเต็นท์ที่รวมโชว์ผลงานออกแบบผลิตภัณฑ์ที่น่าจับตามองของนักศึกษา ‘Challenge the Talent Talents’
ถัดมาจากอาคาร TCDC เราเดินลัดเลาะย่านช้างม่อยเจอการแสดง Lighting & Projection Mapping ที่แทรกตามอาคารและตรอกทางเดินของย่าน จนมาเจออาคารมัทนา เป็นอีกจุดหนึ่งที่มีนิทรรศการและกิจกรรมอัดแน่นในปีนี้เช่นกัน เริ่มจากชั้นที่ 2 ของอาคารกับนิทรรศการ ‘Persona of things’ โดย Coth Studio ที่พูดถึง ‘การซ่อม’ นำเสนอตัวอย่างการซ่อมสิ่งของที่เราพบเห็นได้ทั่วไปจนถึงมุมมองการซ่อมแบบใหม่ๆ ที่แท้จริงแล้วตัวนิทรรศการพยายามนำเสนอให้ผู้ชมเห็น ‘การสร้าง’ ผ่าน ‘การซ่อม’
ถัดมาที่ชั้น 3 นิทรรศการ ‘เหนือชั้น’ หรือ ‘Upper Floor’ โดย Cloudfloor ที่ผู้เข้าชมสามารถลองเล่นในกิจกรรมต่างๆ เพื่อตั้งคำถามและนำเสนอความเป็นไปได้การใช้พื้นที่ว่างที่เหลืออยู่ในย่านช้างม่อยในแบบของตนเอง โดยมีพื้นที่ตัวอย่างการทดลองจริงคือ ‘ดาดฟ้าสาธารณะ’ หรือ Rooftop Public Floor ซึ่งใช้ดาดฟ้าตึกมัทนาจัดกิจกรรมหมุนเวียนที่ไม่เหมือนกันเลยตลอดทั้ง 9 วันของเทศกาลเช่น ดูดาว ตลาด หรือกลายเป็นพื้นที่โชว์การแสดง
ที่โดดเด่นมากในปีนี้ขอยกให้โปรเจ็กต์ ‘เล่นใหญ่’ (Len Yai: Performance Arts) โดย ชัยวัฒน์ โล่โชตินันท์ และโปรดิวเซอร์ อภิชัย เทียนวิไลรัตน์ ที่เปิดการแสดงตลอดทั้ง 9 วันบนพื้นที่อาคารจริงที่กระจายอยู่ในย่านช้างม่อย เช่น บนตึกแถว ริมทางเท้า ดาดฟ้าอาคาร หรือแม้แต่ภายในร้านเครื่องจักรสานชื่อดังของย่าน ขอยกตัวอย่างการแสดงชุดหนึ่งชื่อ ‘Introvert’ ที่บอกเล่าเรื่องราวเฉพาะตัวของนักแสดงแต่ละคน จัดการแสดงจริงบนระเบียงชั้น 2 และ 3 ของอาคารพาณิชย์บนถนนราชวงศ์ ที่คนดูก็ยื่นชมการแสดงตลอดหนึ่งชั่วโมงจากฝั่งตรงข้ามถนนร่วมกับคนขับรถยนต์และคนขี่มอเตอร์ไซค์ที่ขับผ่านไปมาเป็นปกติของย่านในช่วงเวลาเย็น
ย่านกลางเมืองเก่า
กลับมาที่พื้นที่สี่เหลี่ยมคูเมืองนอกจากตลาด Pop Market ที่ยังจัดในพื้นที่เดิมรอบอาคารพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนาแล้ว รอบๆ ย่านคูเมืองส่วนใหญ่เป็นงานของพันธมิตรร่วมของเทศการออกแบบที่ในปีนี้ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เช่น นิทรรศการแสดงผลงานชั้นครูของ สุวรรณ คงขุนเทียน นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์แห่ง Yothaka ในหัวข้อ ‘Colours Live’ ที่ Kalm Village ที่พูดเรื่องการออกแบบผ่าน ‘การแต่งตัวให้เก้าอี้’ นำเสนองานฝีมือหัตถกรรมให้มีสีสัน ท้าทาย สนุก และร่วมสมัย
รวมถึงนิทรรศการ ‘Young Architect Conference 2023 (YAC)’ ที่คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ สี่แยกกลางเวียง ที่จัดแสดงผลงานสถาปนิกรุ่นใหม่ของญี่ปุ่นและไทยที่จัดทุกๆ 4 ปี ซึ่งจัดแสดงหมุนเวียนเดือนที่แล้วที่ Kyoto Museum กรุงเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ก่อนที่จะมาจัดแสดงที่เชียงใหม่ช่วงเดียวกับเทศกาล CMDW และจะหมุนไปจัดแสดงที่กรุงเทพฯ ต้นปีหน้า นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการ ‘Illumination แสงและเรา’ ที่หอศิลป์กลางเวียงภายใต้โครงการ Thailand – Korea Ceramic Friendship 2023 กิจกรรมสร้างสรรค์ศิลปะเซรามิกที่ร่วมมือกันระหว่าง Korea Ceramic Arts Association กลุ่ม Chiang Mai Clayative และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาที่นำผลงานเซรามิกที่ทำงานร่วมกับแสงมาจัดแสดง และตบท้ายด้วยการไปนั่งดูหนังสบายๆ ฉายบนลานวัดกับเทศกาลหนังนานาชาติที่วัดลามช้างกับ ‘Lam Chang International Film Festival’
พื้นที่นอกเมือง หางดง สันกำแพง
เรานั่งรถออกมาดูพื้นที่ด้านนอกเมืองกันบ้าง ถ้าลงมาทางทิศใต้ของเมืองที่ย่านหางดงจุดที่น่าสนใจคงหนีไม่พ้น ‘Mango Art Festival’ โดยปีนี้จัดเป็นปีที่สองมีศิลปินมากมายนำผลงานของตัวเองมาจัดแสดงในชื่องาน ‘Treasure Discovered’ โดยนำเสนองานศิลปะผสมผสานมุมมองใหม่เข้ากับโบราณวัตถุ ตัวพื้นที่ให้บรรยากาศที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์งานศิลปะที่แต่งแต้มใต้ยุ้งข้าวนับไม่ถ้วนที่ตั้งเรียงรายอยู่ในสนามขนาดใหญ่และภายในโกดังเก็บของเก่าของ De Siam
สำหรับย่านสันกำแพงพิพิธภัณฑ์ร่วมสมัย MAIIAM กับนิทรรศการ ‘Unveiling Objects’ ที่เผยมุมมองของศิลปินผ่านวัตถุทางศิลปะที่เป็นชิ้นงานส่วนตัวเพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมได้ร่วมตั้งคำถามนิยามความหมายของศิลปะและการออกแบบ และกิจกรรมเปิดบ้านที่ Charmlearn สตูดิโอที่กลุ่มคนทำงานเซรามิกในเชียงใหม่และเพื่อนๆ มารวมตัวกันปีละครั้งเปิดร้านทำกิจกรรมร่วมกันในบรรยากาศสบายๆ ของสตูดิโอในสวน
ทั้งหมดนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งที่พยายามอธิบายภาพรวมของงานในปีนี้เท่านั้น ถ้าถามตัวผู้เขียนเองว่าชื่นชอบอะไรมากที่สุดในช่วงเทศกาล CMDW ในฐานะที่อยู่เชียงใหม่และเยี่ยมชมงานมาหลายปี สิ่งที่ประทับใจที่สุดเหมือนกันทุกปีและในปีนี้ด้วยยังคงเป็นการเห็นคนทุกเพศทุกวัยได้มีส่วนร่วมกับเทศกาล ได้เห็นคนในพื้นที่ที่ใช้ชีวิตจริงๆ กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่จัดแทรกอยู่ในย่านและจุดต่างๆ ของเมือง นอกจากนี้ยังมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นคนต่างชาติที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ทำให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ ระหว่างคนทำงานสร้างสรรค์ด้วยกันตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงนานาชาติ และสุดท้ายการที่มีโอกาสได้พบหน้าพูดคุยแลกเปลี่ยนกันของกลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์ตั้งแต่นักออกแบบ พ่อครูแม่ครู สล่า นักศึกษา คนรุ่นใหม่ หลังจากเหน็ดเหนื่อยทำงานกันมาจะครบปี ก็ยังเป็นช่วงเวลาที่ดีและเป็นบรรยากาศที่สร้างสรรค์เสมอมา
chiangmaidesignweek.com/cmdw2023
facebook.com/chiangmaidesignweek