PYRAMID KPM

เมื่อความเชื่อถูกผสานเข้ากับหลักการออกแบบ จึงเกิดเป็นอาคารทรงพีระมิดที่ถูกใช้งานเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมฟื้นฟูร่างกายกับจิตใจ ณ วัดคำประมง จังหวัดสกลนคร โดย ภากร มหพันธ์ จาก M Space

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: KETSIREE WONGWAN

(For English, press here)

แนวคิดการรักษาพยาบาลบนโลกนี้ไม่ได้มีหนึ่งเดียว โลกตะวันตกเชื่อว่าการรักษาคือการแก้ไขซ่อมแซมแต่ละจุดของร่างกาย วิธีการรักษาได้มาผ่านการทดลองวิจัยอย่างเป็นระบบ อธิบายเหตุผลที่มาที่ไปได้ แต่โลกตะวันออกมองมนุษย์เป็นองค์รวม ร่างกายและจิตใจคือสิ่งเดียวกัน แนวทางการรักษาเกิดจากการลองผิดลองถูกสั่งสมความรู้เป็นเวลานาน ซึ่งบางทีก็อธิบายเหตุผลไม่ได้ชัดเจน ทั้งสองแนวคิดคล้ายจะอยู่กันคนละขั้ว แต่สุดท้ายแล้วสองแนวคิดนี้จะอยู่ด้วยกันได้หรือเปล่า?

Pyramid KPM โดย ภากร มหพันธ์ จาก M Space

ที่ประเทศอินเดีย มีองค์กร Pyramid Spiritual Socities Movement (PSSM) ที่เชื่อในการเยียวยาจิตใจด้วยการนั่งสมาธิใต้รูปทรงพีระมิด พวกเขามองว่ารูปทรงพีระมิดช่วยรวบรวมพลังงานจากจักรวาล (cosmic energy) เปรียบเสมือนแว่นขยายที่มัดรวมลำแสงจากดวงอาทิตย์ให้เข้มข้น การนั่งสมาธิใต้รูปทรงพีระมิดที่เปี่ยมด้วยพลังเลยช่วยให้จิตใจผ่อนคลาย ปลดปล่อยร่างกายออกจากพันธนาการอันวุ่นวายได้ดีขึ้น

หลวงตาปพนพัชร์ ภิบาลพักตร์นิธี เจ้าอาวาสวัดคำประมงในจังหวัดสกลนคร

หลวงตาปพนพัชร์ ภิบาลพักตร์นิธี เจ้าอาวาสวัดคำประมงในจังหวัดสกลนคร อาพาธด้วยโรคร้ายที่รุมเร้า ทั้งการป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งโพรงจมูก แต่เมื่อท่านได้ลองไปนั่งสมาธิใต้พีระมิดใน Pyramid Valley Internation ที่สร้างโดย PSSM ท่านกลับรู้สึกว่าอาการเจ็บป่วยดีขึ้นชั่วขณะ ร่างกายกลับมากะปรี้กะเปร่าเป็นชั่วครู่

Pyramid KPM โดย ภากร มหพันธ์ จาก M Space

อาคารปฏิบัติธรรม

หลังจากได้รู้จักกับ ภากร มหพันธ์ สถาปนิกจาก M Space ท่านจึงมอบหมายให้ภากรออกแบบอาคารพีระมิด เพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมฟื้นฟูร่างกายกับจิตใจ ณ อโรคยศาล วัดคำประมง หรือสถานชีวาภิบาลที่ดูแลผู้ป่วยมะเร็งด้วยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ท่านก็หวังว่าอาคารพีระมิดจะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยคนอื่นๆ ด้วย

ภายในอาคาร Pyramid KPM โดย ภากร มหพันธ์ จาก M Space

ภายในอาคารปฏิบัติธรรม

ภายในอาคาร Pyramid KPM โดย ภากร มหพันธ์ จาก M Space

ภายในอาคารปฏิบัติธรรม

ภากรออกแบบอาคารพีระมิดหลังแรกเป็นศาลาไม้ที่มีหลังคาเป็นรูปทรงพีระมิด ซึ่งหลวงตาชอบเข้ามาพักฟื้นร่างกายและปฏิบัติธรรมอยู่เสมอ จากความเชื่อในพลังการเยียวยาของพีระมิด หลวงตาจึงมอบหมายให้ภากรออกแบบกุฏิส่วนตัวเป็นรูปพีระมิดขึ้นอีกหลัง เพื่อฟื้นฟูตนทั้งในช่วงของการนอน ทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน

ไดอะแกรม Pyramid KPM โดย ภากร มหพันธ์ จาก M Space

กุฏิของท่านเจ้าอาวาส Pyramid KPM

กุฏิของท่านเจ้าอาวาส

Pyramid KPM โดย ภากร มหพันธ์ จาก M Space

กุฏิของท่านเจ้าอาวาส

กุฏิของหลวงตาเป็นอาคารทรงพีระมิดสองก้อนที่เชื่อมต่อกันด้วยทางเดินตรงกลาง เพราะฟังก์ชันการใช้งานของกุฏิที่มากทั้งส่วนทำงาน ที่ปฏิบัติธรรม และที่พักผ่อนส่วนตัว ภากรจึงแยกอาคารเป็นสองหลัง เพื่อลดความเทอะทะและอึดอัดของอาคารที่ต้องรองรับฟังก์ชันหลากหลาย อาคารวางผังตามแนวแกนทิศตะวันออก ตะวันตก ต่อเนื่องกับอาคารปฏิบัติธรรมเดิม ตามคติความเชื่อของพีระมิด ภากรลาดเทระนาบหลังคาของสองอาคารให้ลาดลงจนเกือบแตะระดับพื้น พรางก้อนอาคารสี่เหลี่ยมที่อยู่ภายใน

อาคารฝั่งทิศตะวันตกเป็นห้องรับแขก ห้องทำงาน และพื้นที่ปฏิบัติธรรมส่วนตัว ซึ่งหลวงตาใช้งานตอนกลางวันเป็นหลัก ภากรจึงออกแบบให้อาคารได้ประโยชน์จากแสงธรรมชาติเวลากลางวันโดยไม่เกิดความร้อนสูงจนระคายเคือง ชายคาชั้นล่างของหลังคากรุด้วยแผ่น polycarbonate วัสดุโปร่งแสงที่เปิดรับแสงเข้ามาบางส่วน ที่ชายคายังมีกันสาดแผ่น polycarbonate อีกชั้น ทำหน้าที่คล้ายผืนม่านกรองแสงอีกระดับ

ภายในอาคาร Pyramid KPM โดย ภากร มหพันธ์ จาก M Space

ด้านบนมีช่องกระจกใสติดฟิล์ม เปิดรับแสงสว่างมาเติมเต็มสเปซให้โอ่โถงไม่อึดอัด พื้น ผนัง กรุด้วยไม้สักที่รื้อจากอาคารเก่า จากคุณสมบัติของไม้ที่มีความเป็นฉนวนในตัว ไม้จึงไม่ได้เก็บความร้อนและความเย็นจนมีสัมผัสที่ร้อนจัดและเย็นจัด เหมาะกับหลวงตาที่เจ็บป่วยและไวต่อสัมผัสอุณหภูมิ

อาคารฝั่งทิศตะวันออกคือห้องนอนส่วนตัว แสงในห้องนี้จะมืดลงแตกต่างจากอีกห้องอย่างเห็นได้ชัด ห้องนี้เปิดรับแสงธรรมชาติเฉพาะแบบ indirect light เข้ามาเท่านั้น โดยแสงจะลอดผ่านชายคาระแนงไม้และตะแกรงไม้ที่ติดตั้งโดยรอบ การเปิดรับเฉพาะแสงสะท้อนทำให้ในห้องไม่มีความแตกต่างที่เข้มข้นระหว่างแสงกับเงา สร้างความรู้สึกสบายตา การเปลี่ยนแปลงของแสงระหว่างช่วงกลางวันที่แดดจัดกับช่วงเย็นที่แดดอ่อนในห้องนี้ ก็ไม่ได้ดูแตกต่างจนโดยสิ้นเชิง แต่ดูเป็นไปอย่างละมุนละม่อม ค่อยเป็นค่อยไป เกรนจากไม้สักเก่าไม่ได้สร้างแค่ภาพที่สวยงาม แต่ช่วยกระเจิงแสงของห้องให้อ่อนนุ่มด้วย

ภายในอาคาร Pyramid KPM โดย ภากร มหพันธ์ จาก M Space

กรอบบานหน้าต่างอาคารเป็นกรอบอลูมิเนียมที่มีขนาดเล็ก เปิดพื้นที่ให้เกิดการเชื่อมต่อของบรรยากาศระหว่างภายในกับภายนอกได้มากที่สุด เนื้อสีอลูมิเนียมกลมกลืนไปกับแสงที่เข้ามาด้วยการสะท้อน แต่ขณะเดียวกันก็ตัดกันเล็กน้อยกับสีไม้ ชูให้ไม้เป็นพระเอกที่โดดเด่นขึ้นมา กรอบบานยังมีคุณสมบัติกันเสียง สร้างโลกที่สงบให้หลวงตา ระแนงไม้ที่ภากรติดตั้งรอบอาคารนอนก็ทำหน้าที่สร้างความส่วนตัว ป้องกันใครก็ตามไม่ให้มาสอดส่องหลวงตาในพื้นที่ส่วนตัว

masterplan โครงการ Pyramid KPM โดย ภากร มหพันธ์ จาก M Space

แนวคิดการแพทย์แบบโลกตะวันตกและโลกตะวันออกอาจจะดูต่างจนยากจะอยู่ร่วมกัน แต่จากอาคารของภากรที่ผสมผสานวิธีสร้างสภาวะแวดล้อมให้ดีอย่างเป็นระบบ เป็นเหตุเป็นผล เข้ากับ ภูมิปัญญาความเชื่อเรื่องการฟื้นฟูผ่านพลังพีระมิด ก็บ่งบอกว่าทั้งสองแนวคิดอาจอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว

mspace.co.th

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *