ATOUR VILLAGE PUBLIC RESTROOM

Atour Village RestroomPhoto: Wenjun Liang

ชวนมาสำรวจห้องน้ำสาธารณะในโครงการ Atour Village ในมณฑลชานตง ประเทศจีน โดย GN Architects ที่ออกแบบมาตอบการใช้งาน และมีดีไซน์สอดคล้องกับอาคารข้างเคียงในโครงการ

TEXT: KARN PONKIRD
PHOTO CREDIT AS NOTED

(For English, press here)

หลังจากที่เหล่าอาคารหลักภายในโครงการ Atour Village ณ เมืองชิงเต่า มณฑลชานตง ประเทศจีน ซึ่งประกอบด้วยสวนสาธารณะ ศูนย์การเรียนรู้เยาวชน พื้นที่พักผ่อนและสันทนาการของครอบครัว เปิดให้ใช้บริการในปี 2021 สถาปนิก GN Architects ก็รับหน้าที่การออกแบบห้องน้ำสาธารณะในโครงการเป็นลำดับต่อมา ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายมากว่า จะทำอย่างไรให้ห้องน้ำสำหรับผู้เข้าใช้บริการ Atour Village แห่งนี้ ยังทำหน้าที่พื้นฐานอย่างครบถ้วน แต่ก็ยังคงกลมกลืนไปกับดีไซน์ของเหล่าอาคารข้างเคียง และต้องดูไม่เหมือนว่าเป็นเพียงห้องน้ำที่ถูกก่อสร้างเพิ่มมาภายหลังเพื่อการใช้งานอย่างเดียวเท่านั้น

Atour Village restroom

Photo: Yong Zhang

ทางโครงการให้โจทย์ที่อิสระกับทางสถาปนิกว่าจะนำไปเกาะไว้กับอาคารที่มีอยู่แล้ว หรือสร้างแยกออกมาบริเวณอื่นก็ได้ ท้ายที่สุด สถาปนิกเลือกพื้นที่ในมุมหนึ่งของงาน landscape เดิม ซึ่งบริเวณนี้มีลานอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ตั้งอยู่ ทำหน้าที่กระจายนักท่องเที่ยวไปยังอาคารหลักทั้ง 3 เพียงแต่พื้นที่ landscape ที่สถาปนิกเลือกนั้น ยังมีลักษณะเป็นเนินสูง การจะปรับพื้นที่ใหม่โดยนำเนินดินนี้ออกก็ไม่คุ้มค่ากับฟังก์ชันที่เพิ่มขึ้นมา สถาปนิกจึงเลือกที่จะทำการคว้านเนินออกเพียงบางส่วน และฝังห้องน้ำเข้าไปในเนินดินแห่งนี้แทน โดยยังคงให้ลานอเนกประสงค์ด้านหน้าทำหน้าที่เดิม เพิ่มเติมคือการแจกผู้ใช้งานเข้ามาสู่พื้นที่ของห้องน้ำแห่งใหม่นี้ด้วย

Atour Village restroom

Photo: Wenjun Liang

Atour Village Restroom

Axonometric

สถาปนิกพบว่าปัญหาที่พบได้มากในอาคารห้องน้ำสาธารณะ คือปัญหาความสะอาดและการดูแลรักษา อาคารบางแห่งไม่มีการถ่ายเทของอากาศที่ดีพอ รวมถึงการใช้วัสดุที่ดูแลรักษายาก ก็ทำให้เกิดกลิ่นอับและความสกปรก การออกแบบห้องน้ำใน Atour Village นอกจากจะต้องคำนึงถึงการมอบประสบการณ์ที่เท่าเทียมกับอาคารหลังอื่น ๆ ในโครงการแล้ว ก็ยังต้องให้แสงสว่างที่เพียงพอ และบำรุงรักษาง่ายอีกด้วย นำไปสู่การออกแบบ façade ในโถงทางเข้าห้องน้ำซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมต่อมาจากลานอเนกประสงค์ โดยสถาปนิกเลือกการสร้างกำแพงแนวตั้งสูง 7 เมตร ที่มีลักษณะคดโค้ง เพื่อแบ่ง space ของห้องน้ำภายในกับโถงทางเข้าห้องน้ำ ผนังแนวตั้งสีขาวนี้หากมองผ่านๆ จากภายนอก อาจจะดูเสมือนโถงตันๆ ที่มีกำแพงย่นไปมาเท่านั้น แต่เมื่อสังเกตสัญลักษณ์นำทางและลองเดินตามเข้าไป ก็จะพบว่าเส้นโค้งของกำแพงนำไปสู่ทางเข้าของฟังก์ชันห้องน้ำที่แตกต่างกันทั้งฝั่งชาย-หญิง  ห้องน้ำสำหรับผู้พิการ รวมไปถึงห้องเก็บของสำหรับงานทำความสะอาด อีกทั้งยังมีคอร์ทสำหรับเป็นสวนของต้นไม้ ซึ่งสามารถมองเห็นได้จากห้องน้ำทั้ง 2 ฝั่งอีกด้วย

Atour Village restroom

Photo: Yong Zhang

Atour Village restroom

Photo: Yong Zhang

Atour Village restroom

Restroom plan

เดิมที façade ซึ่งโดดเด่นนี้ สถาปนิกตั้งใจจะใช้วัสดุเป็นแผ่นโลหะนำมาประกอบและขัดเพื่อลบรอยต่อ และทำการขัดและทำผิวให้มีลักษณะกึ่งด้านกึ่งเงาเพื่อให้เกิด effect สะท้อนเงาของผู้เข้าใช้งาน และด้วยการวางทางเข้าห้องน้ำให้หันหน้าไปยังทิศตะวันตก ก็จะสะท้อนแสงอาทิตย์ยามเย็น แต่เมื่อทำการ mock up ทดลองติดตั้งจริง พื้นผิวโลหะจำเป็นต้องใช้ทักษะช่างในการเชื่อม รวมถึงการขัดรอยต่อให้วัสดุกลายเป็นผืนเดียวกันซึ่งสิ้นเปลืองทั้งเงินและเวลา อีกทั้งโครงการยังต้องการควบคุมให้งานสร้างห้องน้ำแห่งนี้เป็นไปอย่างรวดเร็วและไม่ใช้ทุนสูงจนเกินไป วัสดุ façade จึงเปลี่ยนมาใช้แผ่นอลูมิเนียมคอมโพสิตในภายหลัง โดยทำการออกแบบรอยต่อแผ่นให้เหลือเฉพาะเส้นตั้งซึ่งล้อไปกับความสูงของกำแพงอย่างกลมกลืน

การเปลี่ยนมาใช้อลูมิเนียมคอมโพสิตสีขาวทำให้สถาปนิกค้นพบว่า วัสดุปิดผิวนี้ทำให้เกิด effect กับแสงและเงาอย่างบังเอิญ รูปฟอร์มของกำแพงที่บิดงอ เมื่อตำแหน่งดวงอาทิตย์เคลื่อนผ่าน ก่อให้เกิดเงาพาดลงบนผิวกำแพง และเงานี้ก็จะเคลื่อนตัวตามมุมที่ทำกับแสงอาทิตย์ เป็นประสบการณ์การเข้าใช้งาน space ที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา รวมถึง lighting design ในเวลากลางคืน ผนังสีขาวก็ขับเน้นระยะตื้น-ลึกของกำแพงได้อย่างชัดเจน

Atour Village Restroom

Photo: Wenjun Liang

Atour Village restroom

Photo: Yong Zhang

แม้จุดเริ่มต้นจะเป็นเพียงห้องน้ำเสริมสำหรับรองรับการใช้งานของนักท่องเที่ยว แต่ด้วยการจัดวางให้เชื่อมโยงกับพื้นที่สัญจรในโครงการอย่างชาญฉลาด และการตัดสินใจเรื่องวัสดุที่ค้นพบระหว่างการออกแบบ ก็ทำให้ Atour Village Public Restroom ซึ่งมีขนาด 216 ตารางเมตรแห่งนี้ กลายเป็นห้องน้ำที่มีภาษาการออกแบบโดดเด่นไม่แพ้กลุ่มอาคารหลักในโครงการ และยังมอบประสบการณ์การเข้าถึงที่แปลกใหม่ บนโจทย์ง่ายๆ ของการเพิ่มฟังก์ชันห้องน้ำให้เพียงพอต่อการใช้งาน

Atour Village restroom

Photo: Wenjun Liang

gn-int.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *