คนที่ทำอะไรได้หลายอย่างแต่ไม่สุดทางสักอย่าง มักจะถูกเปรียบเปรยกับ ‘เป็ด’ แต่ Heyjn ศิลปิน illustrator มองว่าเป็ดก็มีข้อดี และเป็นรูปที่วาดสนุกดีอีกด้วย
TEXT & IMAGE COURTESY OF HEYJN
(For English, press here)
WHO
เจเนต-สัณห์สินี ชวนฐิติพร (Heyjn) เป็น 1 ใน 2 ผู้ร่วมสร้าง KAPTOR จบการศึกษาปริญญาตรีด้านการถ่ายภาพจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และด้วยความสนใจในการทำงานภาพประกอบ บวกกับความต้องการให้ลูกสาวเรียนต่อปริญญาโทของพ่อ เลยตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทด้านกราฟิกดีไซน์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
WHAT
เรามีความสนใจด้านภาพประกอบและงานคาแร็กเตอร์ เลยวาดงานของตัวเองแล้วเอามาต่อยอดทำ products กลายเป็นร้าน KAPTOR STORE ที่ทำมาตั้งแต่สมัยเรียน ซึ่งก่อนหน้านี้เราเคยพยายามทำงานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์แต่รู้สึกว่าอยากทำ illustration มากกว่าเลยตัดสินใจออกจากงานประจำแล้วกลับมาโฟกัสงานตัวเอง
WHEN
ช่วงแรกที่เริ่มทำงานคือตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัยปี 2 เรียนโฟโต้ ไม่มีความรู้ด้านการวาดรูปเลย แต่ชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็กๆ ตอนนั้นอยากวาดอะไรก็วาด จนมาเจอคาแร็กเตอร์ที่เป็นตัวเป็ด แล้วก็รู้สึกว่าวาดตัวนี้แล้วสนุกจัง
บวกกับคำของพ่อที่เคยพูดว่า อย่าทำอะไรเป็นเป็ดสิ เอาให้มันโดดเด่นสักทาง แล้วตอนนั้นเราก็ไม่รู้ว่าตัวเองเก่งอะไรจริงๆ ก็เลยคิดว่าเป็นเป็ดมันนี่แหละ ออกจะดี ลองทำอะไรได้หลายๆ อย่าง
WHERE
จริงๆ แล้วเราเกิดและโตมาในกรุงเทพฯ จนจบม.ปลาย แต่พอเข้ามหาวิทยาลัยย้ายมาเรียนเชียงใหม่ หลังเรียนจบก็ตัดสินใจว่าจะอยู่ที่นี่ต่อ จนได้มาเปิดร้านตัวเองอยู่ที่โครงการบ้านข้างวัด จังหวัดเชียงใหม่ ตอนนี้ก็เลยอยู่ที่เชียงใหม่เป็นหลัก แต่ก็มีไปเปิด pop-up store ที่กรุงเทพฯ และที่อื่นๆ บ้าง
WHY
เราเป็นคนชอบเล่าเรื่องด้วยภาพ ภาพส่วนใหญ่ที่ทำออกมาจะเป็นสิ่งที่อยู่ในหัว หรืออาจจะเป็นเหตุการณ์ในอดีต เราจะหยิบเอาเรื่องพวกนั้นมาเล่าเป็นภาพ และนอกจากนี้โดยพื้นฐานเรากับเพื่อนที่ทำร้านด้วยกัน เป็นคนกวนๆ ชอบพูดอะไรไปเรื่อย งานที่ออกมาเลยมีความตลก ความกวนเฉพาะตัวแบบที่อาจจะเป็นมุกที่คนทั่วไปเล่นกัน แต่เราหยิบมาทำเป็นงาน และก็มักจะแอบแทรกตัวละครหรือรายละเอียดอะไรขำๆ เข้าไปในงาน
คุณนิยามสไตล์การออกแบบของตัวเองไว้อย่างไร
อย่างที่บอกไปว่าภาพที่เราออกแบบส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจากประสบการณ์ส่วนตัว และมักมีความตลกขบขันสอดแทรกอยู่เสมอ ส่วนสไตล์ที่ใช้ก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับว่าช่วงนั้นสนใจอะไร และก็ขึ้นอยู่กับเทคนิคในแต่ละชิ้นด้วย งานในช่วงแรกๆ ที่เริ่มทำจะมีการใช้สีเยอะมาก ไม่มีการควบคุมสีอะไรทั้งนั้น เพราะตอนนั้นอินกับการ collage ภาพวาดกับภาพถ่าย แต่อย่างถ้าตอนหลังๆ มาทำเป็นพวกงาน screen เยอะขึ้น ก็จะคุมสีให้น้อยลง
อะไรคือแรงบันดาลใจและหลักการในการทำงานแต่ละครั้ง
แรงบันดาลใจหลักๆ คือสิ่งรอบตัว อย่างเช่นเหตุการณ์ที่เจอในแต่ละวัน เรื่องของคนในครอบครัวและคนรอบตัว หรือแม้แต่อินเทอร์เนตที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคนี้มันมีอิทธิพลมากๆ หลักการในการทำงานของเราคือ (พยายาม) ไม่กดดันตัวเองเกินไป เหนื่อยก็พัก ออกไปหาอะไรอร่อยๆ กินก่อน แล้วค่อยกลับมาโฟกัสใหม่
โปรเจ็กต์ไหนที่คุณภูมิใจมากที่สุด เพราะอะไร?
จริงๆ ก็ทุกโปรเจ็กต์เลย (hahaha) แต่ถ้าต้องเลือกพูดถึงก็น่าจะเป็น JOY THE DUCK SIDE (solo exhibition) เป็น exhibition แรกในนาม KAPTOR (ปี 2018) ที่เราได้ทำ illustrate มาแสดงเเบบเต็มๆ ตอนนั้นพึ่งจบปริญญาโทหมาดๆ เรากับเพื่อนอีกคน run กันเองทั้งหมด ตั้งแต่ผลิตชิ้นงาน จนถึงติดตั้ง แล้วในช่วงวันแสดงจริงๆ ก็มีคนนอกที่ผ่านไปผ่านมา แวะมาดู มาเขียนโน้ตแสดงความคิดเห็นในสมุด มันทำให้เรารู้ว่างานของเรามันก็โอเคนะ
คุณชอบขั้นตอนไหนระหว่างทำงานมากที่สุด?
แต่ละขั้นตอนการทำงานมันก็จะมีความสนุกและกดดันที่ต่างกัน อย่างตอนเริ่มคิดงานมันก็สนุกกับการได้คิดสิ่งใหม่ๆ สนุกกับการจินตนาการ แต่ในขณะเดียวกันก็มีบางครั้งที่คิดไม่ออก ไม่มีไอเดีย หรืออย่างตอนเริ่มทำงานไปแล้วมันไม่ต้องคิดอะไรเยอะ เพราะคิดมาเสร็จหมดแล้ว ขั้นตอนนี้ก็จะรู้สึกว่าเพลิดเพลินตอนทำ แต่พอมันออกมาไม่ได้ดั่งใจหรือเสร็จไม่ได้ตามที่คิดมันก็เป็นความกดดันอีกเหมือนกัน ซึ่งรวมๆ แล้วรู้สึกว่าไม่ได้ชอบหรือไม่ชอบขั้นตอนไหนเป็นพิเศษ เรารู้สึกว่าการทำงานแบบนี้มันต้องปรับตัวให้ตัวเองสนุกกับการทำงานในแต่ละขั้นตอน
ถ้าคุณสามารถเชิญ ‘ครีเอทีฟ’ สักคนไปดื่มกาแฟด้วยกันได้ คุณจะเลือกใครและทำไม?
ถ้าเลือกได้ก็อยากเชิญคุณพ่อของตัวเองมานั่งกินกาแฟนั่งคุยกัน เพราะแกเสียไปตั้งแต่ปี 2018 ตอนนั้นพึ่งจบปริญญาโท และก็ไม่เคยนั่งกินกาแฟด้วยกันเลย ยุคนั้นเราก็ยังไม่กินกาแฟ ตอนนั้นรู้สึกว่ายังไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเท่าไหร่ด้วย ซึ่งในปัจจุบันงานส่วนใหญ่ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาก็มักมีเรื่องราวของพ่อสอดแทรกอยู่ในนั้น
มีคนบอกไว้ว่าเรามักจะเห็นค่าอะไรมากขึ้นก็เมื่อเสียสิ่งนั้นไปแล้ว ซึ่งเราก็เห็นด้วย ตอนที่พ่อยังอยู่เราก็ไม่ได้อยากคุยอยากฟังเรื่องของเขามากขนาดนั้น แต่ตอนนี้ถ้ามีโอกาสได้คุยกันอีกก็คงจะได้มุมมองอะไรเพิ่มขึ้นแน่นอน