โครงการรีสอร์ตซึ่งออกแบบโดย IF (Integrated Field) ในจังหวัดน่านที่คำนึงถึงบริบทเป็นสำคัญเพื่อให้สิ่ง ‘ปลูก’ สร้าง มนุษย์ และธรรมชาติสามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างประนีประนอม
TEXT: KITA THAPANAPHANNITIKUL
PHOTO: W WORKSPACE
(For English, press here)
‘Patamma’ หรือ ‘ป่าทำมา’ คือโปรเจ็กต์รีสอร์ทลักษณะวิลล่าจาก IF (Integrated Field) ที่มีจุดประสงค์เพื่อสร้างมุมมองใหม่ต่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ บนสถาปัตยกรรมที่ไม่ได้เป็นเพียงฉากหลังของกล้องถ่ายรูปในฐานะสิ่งบันเทิง IF (Integrated Field) นำเสนอสถาปัตยกรรมที่พยายามปรับตัวเข้ากับบริบทพื้นที่อย่างระดับดินเดิมและวัฎจักรแม่น้ำน่าน ควบคู่ไปพร้อมกับการตีความสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นล้านนาให้อยู่ในรูปลักษณ์ร่วมสมัย อันมอบประสบการณ์ที่แปลกใหม่หากแต่ไม่แปลกปลอมผ่านการกระบวนคล้ายการ ‘ปลูก’ มากกว่า ‘สร้าง’
เริ่มต้นจากตัวพื้นที่โครงการที่ตั้งอยู่ลึกเข้าไปในสวนยางแห่งหนึ่งของตำบลเมืองจัง จังหวัดน่าน ที่มีลักษณะพื้นที่เป็นที่โล่งกว้างที่ตั้งอยู่บนที่ดินติดริมแม่น้ำน่านพอดี ซึ่งแม้ว่าตัวโครงการ Patamma จะได้ประโยชน์จากคุณภาพของทิวทัศน์แม่น้ำแบบ panorama แต่ความแรงของแม่น้ำน่านนั้นกลับค่อยๆ กัดเซาะที่ดินฝั่งตรงข้ามให้มีขนาดเล็กลงไปเรื่อยๆ ในขณะที่ที่ดินเดิมของโครงการนั้นกลับค่อยๆ งอกมากขึ้นแทน เมื่อเป็นเช่นนั้น ทางหน่วยงานราชการจึงได้มีข้อเสนอแนะให้มีการขุดลำน้ำขึ้นในที่ดินงอกใหม่เพื่อเพิ่มปริมาตรท้องน้ำให้กับแม่น้ำน่าน อันจะช่วยชะลอความแรงของกระแสน้ำเดิมที่สร้างผลกระทบต่อที่ดินฝั่งตรงข้าม ซึ่งโครงการ Patamma ก็ยังได้ จุลพร นันทพานิช จากป่าเหนือสตูดิโอ มาเป็นผู้มีส่วนร่วมสำคัญที่ดูแลเรื่องการขุดลำน้ำใหม่ในโครงการ รวมถึงการปรับภูมิทัศน์และภูมิสถาปัตยกรรมของโครงการ
ความพยายามในการสร้างลำน้ำใหม่ในโครงการ Patamma นั้นได้แบ่งพื้นที่ภายในออกเป็นสองส่วน หนึ่งคือที่ดินด้านในอันเป็นที่ตั้งของโครงการ Patamma และสองคือเกาะที่เกิดขึ้นใหม่ระหว่างลำน้ำใหม่และแม่น้ำน่านที่กลายเป็นทิวทัศน์หลักของโครงการ ในช่วงปกติ เราจะเห็นกลุ่มต้นงิ้วจำนวนมากที่อยู่อีกฟากฝั่ง และในช่วงน้ำหลาก น้ำจากแม่น้ำน่านจะเชื่อมเข้ากับลำน้ำภายในทำให้เกิดเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่แทน อีกทั้งด้วยข้อกฏหมายที่ไม่สามารถนำดินจากการขุดลำน้ำนี้ออกไปใช้งานภายนอกที่ดินหรือการจำหน่าย กองดินที่เกิดขึ้นจึงได้ถูกนำมาใช้เพื่อการปรับภูมิทัศน์ในพื้นที่ส่วนต่างๆ ของโครงการแทน
การทำงานกับบริบทพื้นที่ที่สำคัญอีกหนึ่งอย่างคือการเลือกใช้พันธุ์ไม้พื้นถิ่นกว่าสิบชนิดที่เริ่มปลูกตั้งแต่ต้นกล้า อาทิ ต้นมะฝ่อ,ตะเคียนทอง, ประดู่ป่า, ตะเคียนหนู, กระทุ่มน้ำ ฯลฯ ต้นไม้ที่ค่อยๆ เติบโตขึ้นค่อยๆ พัฒนาความสัมพันธ์กับผืนดินเดิมอย่างค่อยเป็นค่อยไป สิ่งนี้เองยังเป็นประเด็นสำคัญที่สะท้อนออกมาในชื่อโครงการอย่าง Patamma หรือ ‘ป่าทำมา’ ที่บอกว่าตัวมันยังเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น มิใช่สิ่งที่เกิดตามธรรมชาติ และแทนที่จะคิดถึงแต่มนุษย์ โปรเจ็กต์นี้ยังเป็นเหมือนตัวแทนของความพยายามในการค้นหาวิถีทางของงานออกแบบที่ผู้คนและธรรมชาติจะสามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างประนีประนอม
สามปีผ่านไป ต้นไม้ต่างๆ ที่ได้ปลูกไว้ก็เติบโตแข็งแรงและพร้อมสำหรับสถาปัตยกรรมที่จะเกิดขึ้น Patamma มีโปรแกรมหลักๆ สองส่วนคือส่วนร้านอาหารในชื่อ ‘ป่ากำกิ๋น’ (กำกิ๋นเป็นภาษาเหนือแปลว่ากับข้าว) และส่วนห้องพักจำนวน 9 หลัง โดยเริ่มแรก สถาปนิกได้หยิบรูปทรงสามเหลี่ยมมุมมนอันได้แรงบันดาลใจจากก้อนหินที่พบได้มากในพื้นที่ มาเป็นแรงบันดาลใจของรูปทรงและผังของอาคารทั้งสองส่วน โดยเริ่มจากส่วนของห้องพักที่มีลักษณะเป็นอาคารยกใต้ถุนที่มีชั้นหนึ่งเป็นส่วนใช้งาน และมีพื้นที่ใต้ถุนเป็นส่วนงานระบบ (รวมถึงการป้องกันระดับน้ำที่สูงขึ้นในช่วงน้ำหลาก)
สถาปนิกยังได้หยิบ space ที่เป็นเอกลักษณ์ของบ้านพื้นถิ่นของภาคเหนืออย่างการใช้หลังคาสูงที่มาพร้อมกับ space ภายในที่ค่อนข้างมืดมาใช้เป็นบรรยากาศหลักของพื้นที่ภายในเพื่อการพักผ่อน และสร้างความเปรียบต่างด้วยการมอบพื้นที่ชานภายนอกที่หันสู่วิวแม่น้ำน่านให้มีความสว่างและหลังคาลาดต่ำ เพื่อเป็นพื้นที่ใช้งานหลักทั้งการนั่งเล่น ทานอาหาร (คล้ายกับการใช้งานของชาวบ้านในสมัยก่อนที่มักใช้งานพื้นที่ภายนอกเป็นหลัก) ส่งผลใหัรูปทรงของอาคารห้องพักมีลักษณะเป็นอาคารทรงกรวยที่ในมุมหนึ่งก็สร้างความรู้สึกคล้ายกระท่อมกลางป่าได้เป็นอย่างดี
ซึ่งในส่วนของชานภายนอก สถาปนิกได้มีการออกแบบในรายละเอียดอย่างการใส่ขั้นบันไดที่มีความกว้างเพื่อให้สามารถนั่งได้ รวมถึงการเพิ่มดีเทลของราวกันตกให้มีตั่งสำหรับการกินข้าวด้านนอกเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานได้ตลอดทั้งวัน อีกทั้งด้วยรูปแบบของผังสามเหลี่ยมมุมมน ชานที่มีลักษณะเป็นเส้นโค้งยังช่วยสอดรับกับวิว panorama ของแม่น้ำน่านได้เป็นอย่างดี รูปแบบของการจัดสเปซนี้ได้ถูกใช้ในส่วนห้องพักเกือบทุกหลัง เว้นแต่หลังที่ 8 ที่เป็นยูนิต 2-bedrooms ที่ตัวผังอาคารจะมีการสลับเอาด้านฐานสามเหลี่ยมมุมมนมาเป็นระเบียง และเพิ่มส่วนห้องนอนที่อยู่ในชั้นลอยขึ้นมาแทน
นอกจากการวางผัง จุดกึ่งกลางโครงสร้างของหลังคาทรงกรวยยังมีบทบาทสำคัญในการสร้างช่องเปิดสู่พื้นที่ส่วนห้องน้ำควบคู่กับ space ที่มีความสูงเพื่อลดความอึดอัดและเพิ่มการระบายอากาศสำหรับพื้นที่ที่มีความชื้นค่อนข้างมาก ห้องน้ำเองยังมาพร้อมกับรายละเอียดต่างๆ อันแสดงถึงความพยายามในการถ่ายทอดและตีความลักษณะของบ้านพื้นถิ่นขึ้นมาใหม่ผ่านงาน interior แบบร่วมสมัย ทั้งจากกระจกที่ได้แรงบันดาลใจจากที่แขวนของใช้ของชาวบ้าน เคาน์เตอร์ล้างมือจากท่อนไม้ที่วางขัดกัน หรือแม้แต่การพลิกแพลงนำกะละมังแช่ลูกชิดหรือมะต๋าวมาทำเป็นอ่างอาบน้ำ
ในส่วนของร้านอาหารในชื่อ ‘ป่ากำกิ๋น’ เองก็ยังคงลักษณะรูปทรงของอาคารสามเหลี่ยมมุมมนไม่ต่างจากตัวห้องพัก แต่มีการจัดการผังที่เปิดให้จุดกึ่งกลางอาคารเป็นช่องเปิดโล่งที่มีบันไดหลักผ่ากลางเพื่อเชื่อมระหว่างสเปซ ในชั้นหนึ่งที่เป็นส่วนร้านอาหารและร้านกาแฟกับชั้นใต้ถุนที่เป็นพื้นที่นั่งเล่น open air ทั้งนี้ ด้วยผนังภายนอกอาคารและผนังภายในช่องเปิดโล่งกลางอาคารที่เป็นหน้าต่างกระจกทั้งหมด ผู้ใช้งานที่เข้ามายังส่วนต้อนรับจึงสามารถมองเห็นวิว panorama ของแม่น้ำน่านฝั่งตรงข้ามได้ทันทีแม้ยังไม่ได้เดินเข้าไปภายใน
เพื่อประสบการณ์ที่ดีที่สุดของผู้ใช้งาน IF (Integrated Field) ได้ออกแบบ Patamma ให้เต็มไปด้วยดีเทลที่ซ่อนอยู่แทบในทุกอณู ตั้งแต่การวางเนินดินขนาดย่อมในด้านหน้าส่วนห้องพักเพื่อแบ่งทางสัญจรของผู้เข้าพักและรถรับส่ง หลังคาเป็นเกล็ดไม้ที่ช่วยสร้างมิติของวัสดุเมื่อโดนแสงตกกระทบ ราวกันตกที่เป็นการนำหวายเทียมมาทำ pattern ใหม่อันให้ความรู้สึกทั้งร่วมสมัยและเป็นพื้นถิ่น บานกรอบประตูที่หากสังเกตจะพบกับลวดลายเส้นเฉียงที่หยิบยกมาจากเส้นสายของการกรีดยาง รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ built-in ต่างๆ ที่หากไม่บอกก็คงไม่รู้ว่าเป็นพื้นที่ที่ซ่อนงานระบบไว้อย่างแนบเนียน
หากมองในภาพรวม โปรเจ็กต์ Patamma ได้แสดงให้เห็นถึงเป้าหมายในการสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับบริบททางวัฒนธรรมและกายภาพของพื้นที่โดยรอบผ่านเนื้อหาของการออกแบบในส่วนต่างๆ ตั้งแต่การเริ่มหยิบจับรูปทรงของก้อนหินสามเหลี่ยมที่พบได้มากในพื้นที่มาเป็นแรงบันดาลใจของรูปทรงอาคาร การควบคุมสเกลอาคารให้มีใต้ถุนแต่ดูไม่สูงเกินไปเพื่อยังคงความรู้สึกของหมู่บ้าน การใช้ดินจากการขุดลำน้ำใหม่ในการทำ rammed earth ที่ทำให้โทนสีของอาคารไปในทิศทางเดียวกันกับดินรอบข้าง รวมถึงการประยุกต์ใช้รายละเอียดของสถาปัตยกรรมบ้านพื้นถิ่นในภาคเหนือที่ปรากฏประปรายในบริบทพื้นที่ โครงการที่เกิดขึ้นจึงมีบรรยากาศโดยรวมที่เชื่อมโยงเข้ากับที่ตั้งอย่างเป็นมิตร
นอกจากนี้ เรายังได้เห็นถึงการทำงานร่วมกันกับงานออกแบบในสาขาอื่นๆ ทั้ง APLD ที่เป็นผู้ออกแบบแสงทั้งหมดที่ทำงานร่วมกับ space ภายในเพื่อสร้างประสบการณ์ที่สมบูรณ์ของการท่องเที่ยวและมอบบรรยากาศของความเป็นหมู่บ้านที่สอดคล้องไปกับตัวสถาปัตยกรรมรวมถึง graphic design และป้ายต่างๆ ในโครงการจาก InFO ที่มีการนำตัวอักษรล้านมาใช้ในรูปแบบที่มีความร่วมสมัย อันมีจุดประสงค์ร่วมกันคือการสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับผู้มาเยี่ยมเยือนโดยยังไม่ทิ้งบริบทของความเป็นพื้นถิ่น
คงไม่ยากที่จะใครก็ตามในฐานะนักออกแบบที่จะบอกว่าเราจะใช้ประโยชน์จากที่ดินริมแม่น้ำน่านได้อย่างไร บรรยากาศของสวนยางสุดลูกตาและวิวแม่น้ำแบบ panorama เป็นเหมือนตั๋วทางลัดของการทำให้สถาปัตยกรรมหนึ่งๆ เป็นที่จดจำได้ไม่ยาก ในฐานะสถาปัตยกรรมหมวด hospitality เอง แน่นอนว่าการมอบประสบการณ์ที่น่าอภิรมย์ภายในร่มของการท่องเที่ยวย่อมเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก หากแต่ข้อเท็จจริงคือสถาปัตยกรรมหนึ่งๆ ไม่อาจผลัดทิ้งผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามมาได้ เมื่อสถาปัตยกรรมเกิดขึ้น ตัวมันเองก็ได้กลายเป็นสิ่งแวดล้อมในทันใด
เราสังเกตว่าโปรเจ็กต์ Patamma จาก IF (Integrated Field) นี้ได้แอบซ่อนนิยามของการ ‘ปลูก’ ที่กินความหมายของการใช้เวลาและความเข้าใจในพื้นที่ไว้อย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งการปลูกไม้ตั้งแต่ต้นกล้าที่กินเวลาถึง 3 ปี การปลูกเรือนที่อาคัยความเข้าใจในบริบททางกายภาพและวัฒนธรรมท้องถิ่น ปลูกพืชอะไรก็คงจะได้เช่นนั้น อย่างในกรณีนี้ IF (Integrated Field) ก็ได้แสดงให้เราได้เห็นสิ่ง ‘ปลูก’ สร้างอันสะท้อนถึงเมล็ดพันธุ์ทางความคิดที่อยู่ตรงกลางระหว่าง การท่องเที่ยว งานออกแบบ สิ่งแวดล้อม ผ่านสายตาที่มองไปยังสิ่งอื่นนอกจากเพียงแค่มนุษย์แต่เพียงอย่างเดียว