A NEW CAVE

ชมนิทรรศการโดย ธณัฐชัย บรรดาศักดิ์ ที่สนใจในคุณลักษณะของวัตถุต่างๆ ภายใต้ความเชื่อมโยงเรื่องน้ำ ความชุ่มชื้น และของสองสิ่งที่มีการเคลื่อนผสานกัน

TEXT: WICHIT HORYINGSAWAD
PHOTO: KETSIREE WONGWAN

(For English, press here)

White Cube / Space / Event

จุดเริ่มต้นของนิทรรศการเริ่มต้นจากที่ว่าง (space) จากประสบการณ์ที่เคยเป็นผู้มาชมนิทรรศการที่แกลเลอรีแห่งนี้มาก่อน ธณัฐชัย บรรดาศักดิ์ มีความรู้สึกว่าลักษณะของพื้นที่ของ BANGKOK CITYCITY GALLERY มันมีความโหวง เคว้ง และดูแห้งแล้ง (dryness) ด้วยลักษณะของพื้นที่ที่มีความเป็นกล่องสีขาวที่ชัดเจน (ไม่ว่าจะมองจากภายนอกหรือความรู้สึกตอนที่เราอยู่ข้างใน) ความตั้งใจในเบื้องต้นของเขา ไม่อยากสร้างนิทรรศการใหม่ขึ้นมาด้วยการนำเอาวัตถุเข้าไปครองพื้นที่ของแกลเลอรีเพื่อครอบงำพื้นที่ แต่เป็นในทางกลับกันแทน เขาใช้วัตถุเป็นเหมือนตัวที่เข้าไปคัดง้างกับที่ว่าง ฝากหรือผสานบางอย่างของตัวเองเข้าไปกับความเป็นห้องของเหตุการณ์ซึ่งมีลักษณะชั่วคราว

A NEW CAVE at BANGKOK CITYCITY GALLERY

น้ำ / ฉนวน (insulated) / การห่อหุ้ม (enveloping) / สภาวะที่ไม่รู้ว่าแน่ชัดว่าเป็นคู่ตรงข้าม

ในนิทรรศการนี้ ธณัฐชัย เริ่มต้นจากความสนใจในคุณลักษณะต่างๆ ที่อยู่ในวัตถุ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ความเป็นฉนวน การห่อหุ้ม ความไม่แน่นอน และสภาวะที่ไม่รู้ ดูคลุมเครือไม่สามารถบ่งหรือแยกได้ชัดเจนด้วยการมองแบบคู่ตรงข้าม การอยู่เคียงข้างกันของการห่อหุ้มและการเปิดออก ความรู้สึกโล่งโจ้ง สิ่งที่อาจจะร้อยรัดวัตถุทั้งหมดที่เขาเลือกมานั้น ทั้งหมดมีความเชื่อมโยงกับเรื่องน้ำ ความชุ่มชื้น และพูดถึงของสองสิ่งที่มีความเคลื่อนผสานกัน 

A New Cave

ชื่อนิทรรศการนี้มาจากพาดหัวข่าวการค้นพบถ้ำในหน้าหนังสือพิมพ์ เขาสนใจการปะทะกันของคำว่า ‘cave’ ที่ทำให้เรานึกถึงสิ่งที่มีอยู่มาอย่างยาวนาน มีความเก่าแก่ และสภาวะของการเข้าไปข้างในพื้นที่ที่มืด เมื่อเติมคำว่า ‘new’ เข้าไปข้างหน้า มันกลับเปลี่ยนไปเป็นการแสดงถึงความรู้สึกของการค้นพบสิ่งใหม่ มีความเปล่งประกายของอะไรบางอย่าง ทำให้เกิดความกำกวมและดูขัดแย้งอยู่ภายใน

A NEW CAVE at BANGKOK CITYCITY GALLERY

Landscape

ลักษณะที่เป็นภูมิทัศน์ (landscape) ที่ทำงานกับพื้นที่ทั้งแนวราบและแนวดิ่ง เป็นสิ่งที่ธณัฐชัยให้ความสนใจ และมีส่วนกำหนดการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุและพื้นที่ว่างในนิทรรศการ จากประสบการณ์ในการท่องเที่ยวไปตามแหล่งโบราณสถาน การขุดค้นทางโบราณคดี ท่องเที่ยวข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อหาวัตถุต่างๆ โดยเฉพาะครั้งล่าสุด ประสบกาณ์ที่ได้ไปเที่ยวสวนเซน ที่วัดไดเซนอิน (Daisen-in / 大仙院) ในเกียวโต ที่ใช้ก้อนหินสีขาว (pebble stone) บริเวณสวนมีหินเป็นภูเขาสองกองและเหมือนมีระลอกน้ำอยู่โดยรอบ เขาสนใจวิธีในการทำงานของสวนในลักษณะนี้ ที่ใช้หินเป็นช่องทางนำไปถึงความเป็นน้ำ แม้จะมีความแห้งแต่ก็สร้างความรู้สึกว่ามีความเคลื่อนไหว ทำให้เราเห็นความรู้สึกเคลื่อนไหวจากของที่มีคุณสมบัติตรงกันข้ามกัน

A NEW CAVE at BANGKOK CITYCITY GALLERY

SsSsSsSsSsSs (2024) / Coastal (2024) / Untitled (non-dormant) (2024)

Object

ธณัฐชัยไม่ได้ใช้วัตถุ (object) ในลักษณะที่พยายามทำให้มันเป็นเป็นงานประติมากรรม (sculpture) แต่ใช้มันเพื่อเป็นช่องทางที่นำเราไปสู่สิ่งอื่น ที่ไม่ได้มีกรอบชัดเจน วัตถุแต่ละชิ้นมีการจัดวางที่เรียบง่าย ถ้าไม่วางนอนเฉยๆ ก็แค่จับให้มันตั้งขึ้น ในขณะเดียวกันก็เชื่อว่าเราไม่สามารถปฏิเสธเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่มันฝังตัว (embedded) อยู่ในวัตถุแต่ละชิ้น เขาพยายามซื่อสัตย์กับความเป็นวัตถุชิ้นนั้นโดยไม่พยายามสร้างหรือผูกโยงเรื่องราวขึ้นมาใหม่ สำหรับผู้ชมที่ไม่รู้ที่มาของบริบท (context) ของวัตถุแต่ละชิ้น (ซึ่งแน่นอนว่าผู้อ่านบทความนี้จะได้ทราบเรื่องราวของที่มาของวัตถุที่นำมาจัดแสดงบางชิ้น) เป็นไปได้มาก ที่อาจจะมองเห็นวัตถุเหล่านั้นในมุมที่แตกต่างกันไปตามฐานของประสบการณ์ของแต่ละคน ก็ถือว่าเป็นอิสระอย่างหนึ่งในการเดินชมนิทรรศการ 

Untitled (non-dormant) (2024)

เสาทำความสะอาดสระว่ายน้ำ – มีครั้งหนึ่งที่ธณัฐชัยได้มีโอกาสได้คุยกับคนทำความสะอาดสระว่ายน้ำซึ่งเล่าให้เขาฟังว่าสระว่ายน้ำถ้าไม่ทำความสะอาดสักอาทิตย์นึงจะมีสาหร่ายขึ้นในสระ คนทำความสะอาดมีคำศัพท์ที่ใช้เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่า ‘สระว่ายน้ำตาย’ สำหรับธณัฐชัย เขารู้สึกว่าการที่เราบำรุงรักษา (maintain) เพื่อต่อชีวิตให้กับสระ คือการที่จะต้องมีคนเข้าไปดูแลทำความสะอาด ภาพบางอย่างเกิดขึ้นในหัว คือภาพคนทำความสะอาดสระใช้ไม้เพื่อตักเก็บสาหร่าย แล้วทำให้เกิดความไหวที่ผิวน้ำ เขาจดจำความรู้สึกนี้เพื่อเก็บมาใช้ในงาน และตั้งโจทย์เพื่อที่จะไปตามหาเสาทำความสะอาดที่ว่านี้ โดยตระเวณหาทั่วกรุงเทพฯ จนในที่สุดก็ไปเจอสระว่ายน้ำแถวย่านดาวคะนองที่เพิ่งปิดกิจการไปในช่วงโควิดที่ผ่านมา เขาเจอเสาชิ้นนี้วางนอนอยู่ที่นั่น 

– (2024)

เวลาปั๊มรองเท้าแตะ ส่วน negative ของเศษแผ่นยางที่เหลือจากการใช้ จะถูกนำไปใช้ในสองรูปแบบ รูปแบบแรกเรียกว่า ‘แพกบ’ คนที่เลี้ยงกบจะใช้สิ่งนี้เพื่อเป็นที่อาศัยของลูกอ๊อดที่กำลังจะโต อีกรูปแบบหนึ่งคือใช้เป็น ‘ตัวกันกระแทก’ ในโรงงานหินเพื่อป้องกันไม่ให้หินกระทบกัน ธณัฐชัยเดินทางไปโรงงานหินที่ปากช่อง โดยเลือกที่จะไปดูบริเวณที่เป็นที่ทิ้งขยะ เพื่อหาเศษแผ่นยางที่ใช้เป็นตัวกันกระแทกที่ผ่านการใช้งานแล้ว ซึ่งรูปร่างแปรเปลี่ยนสภาพไปเพราะน้ำหนักจากแรงกดจากการเสียดสี ระหว่างกระบวนการทำงาน ในไอเดียแรก รูปร่างของเศษแผ่นยางจะถูกปั๊มกลับลงไปที่แผ่นหินแต่กลับไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากแผ่นหินที่ใช้แตกเสียหาย เขาจึงกลับมาตั้งหลักที่ความสนใจที่มีต่อวัตถุชิ้นนี้ นั่นคือต้องการพลิก (flip) กลับสิ่งที่มันเคยถูกรองรับ สิ่งที่มันเคยถูกใช้เป็นสิ่งรองรับน้ำหนัก พลิกความยืดหยุ่นที่เหมือนมีแรงตึงมากระทำ ในไอเดียสุดท้ายที่ใช้ เขาตัดสินใจสลักร่องรอยนี้ลงบนผนังแกลเลอรี ใช้มันเป็นตัวเชื่อม ใช้รอยปั๊มนี้เป็นการแสดงประวัติศาสตร์ของการมีอยู่ของสิ่งนี้ในบริบทของโรงงานหิน ของเหมือง ของภูเขาใดๆ ก็ตาม ใช้มันเพื่อเป็นช่องในการที่จะผสานกับพื้นที่ใหม่ แล้วความล้มเหลวในไอเดียแรกก็ทำให้โอกาสใหม่ (chance) ได้ผุดขึ้นมา 

SsSsSsSsSsSs (2024)

พวยภาชนะดินเผา – ณ ขณะที่รินน้ำชาจากกาไปที่ถ้วยชา ความรู้สึกของการถ่ายเทการเชื่อมของวัตถุจากภาชนะนึงไปอีกภาชนะหนึ่ง ถ้ามองไปที่พวยกา มันคือชิ้นส่วนที่ใช้สำหรับเชื่อมต่อ ธณัฐชัยสนใจความรู้สึกที่ว่านี้ที่เกิดขึ้นในพวยของภาชนะดินเผา ทำให้เขาเริ่มสนใจค้นหาเพื่อเก็บของที่ว่า แล้วก็ไปเจอกลุ่มนักขุดค้นของใต้ดินกลุ่มหนึ่งในชุมชนออนไลน์ที่ประกาศขายสิ่งของต่างๆ ที่พวกเขาขุดพบ บางส่วนก็เป็นเศษพวยกาที่หลุดออกจากตัวภาชนะ การเป็นเศษที่หลุดออกมาทำให้เกิดการเปิดออกของรูสองรู โดยไร้ซึ่งการห่อหุ้ม ทำให้มันกลายสภาพเป็นของที่ไม่สมบูรณ์ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกนับรวม  ซึ่งความรู้สึกที่ได้ต่างจากตอนที่มันกระทำตอนที่มีน้ำชาไหลผ่าน ณ ขณะนั้นเขารู้สึกว่าความสามารถในการถ่ายเท เชื่อมต่อได้อันตรธานไปกลายเป็นกลุ่มก๊าซ ภายในพื้นที่ของนิทรรศการ ธณัฐชัยวางเศษพวยกาแอบไว้ริมผนัง เหมือนวางพักไว้ในลักษณะธรรมดา วางไว้ริมผนังคล้ายแค่ระวังไม่ให้ใครเผลอเดิมมาเหยียบ วางเหมือนของเล่นที่เด็กเผลอวางทิ้งไว้ เป็นความรู้สึกของความสบายๆ 

A NEW CAVE at BANGKOK CITYCITY GALLERY

Pillar (2024) 

หินย้อยจากพิพิธภัณฑ์หินแปลกที่ปิดทำการ – มีสถานที่แห่งหนึ่งเป็นคอนโดมิเนียมหินสวยน้ำใสอยู่ในจังหวัดระยอง ที่นั่นมีสระว่ายน้ำ ด้านล่างจะมีโครงสร้างที่รองรับสระว่ายน้ำ ธณัฐชัยเคยไปเดินเล่นสำรวจว่ามีอะไรอยู่ที่ใต้สระ เขาพบว่าที่ด้านล่างเป็นที่วางสิ่งของที่ใช้แล้ว ถังคลอรีน เก้าอี้พลาสติกที่ชำรุดที่ซ้อนกันไว้เป็นชั้นแล้ววางสิ่งของเอาไว้ที่ด้านบน สิ่งที่ประทับใจเขาที่สุดที่ในพื้นที่ใต้สระว่ายน้ำก็คือ มีหินย้อยมาจากตัวปูนเป็นหินงอกคอนกรีต (Concrete Stalagmites) ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับหินงอกหินย้อยที่มักจะปรากฎอยู่ในถ้ำ เขาสนใจลักษณะพิเศษของพื้นที่นี้ ในบางตำแหน่งมีหินงอกเหมือนเป็นเหมือนไข่ดาวปูดขึ้นมาจากพื้น สิ่งนี้ทำให้เขากลับไปนึกถึงถ้อยคำพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ ‘A New Cave’ แล้วเกิดคำถามขึ้นมาว่าความรู้สึกของความเป็นถ้ำมันคืออะไร

เก้าอี้พลาสติกที่ถูกยืม (วัดรวก) – สำหรับธณัฐชัยการซ้อนกันเป็นชั้นๆ (stacking) มันคือการสะสม (accumulate) ไอเดียแรกที่คิด เขาแค่อยากเห็นเก้าอี้พลาสติกเก่าที่วางซ้อนกันโดยมีหินย้อยวางไว้อยู่ที่ด้านบน จากนั้นเขาก็กลับมาคิดถึงความเป็นเหตุการณ์ (event) มันน่าจะดีกว่าถ้าเก้าอี้ที่เอามาวางซ้อนกันนั้นถูกยืมจากวัดด้วย เขานึกถึงความเชื่อมโยงบางอย่างของความเป็นกระดูกกับหินย้อย การมีอยู่ของสิ่งที่มีความชั่วคราว และไม่จีรัง มีวัตถุที่จับต้องได้ (solid) วางอยู่ในพื้นที่ชั่วขณะหนึ่ง และสุดท้ายมันก็จะหายถูกส่งกลับไปยังที่เดิมของมันเมื่อจบนิทรรศการ

A NEW CAVE at BANGKOK CITYCITY GALLERY

Gaunggang (2024)

Narrative

เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ตัวงานจะสร้างเรื่องเล่า (narrative) บางอย่างขึ้นมา แต่ความเป็นเศษเสี้ยวของวัตถุต่างๆ ในพื้นที่ ต่างก็มีความสามารถที่จะคลี่คลายตัวเอง เหมือนเม็ดยาที่เรากลืนลงไปแล้วค่อยๆ สลายตัว หรือเป็นการป่นตัวเองของวัตถุเพื่อที่จะละลาย (dissolve) เข้ากับสิ่งอื่นและความหมายแบบอื่น รวมถึงในคุณสมบัติที่มีลักษณะเฉพาะของพื้นที่ที่จัดแสดง  เป็นเรื่องเล่าที่ไม่ได้มีลักษณะหรือแม้กระทั่งไม่ได้มีความพยายามที่จะเรียบเรียงให้มีลำดับเวลา (timeline) แม้กระทั่งตัวภาษาเองก็ไม่สามารถทำหน้าที่ควบคุมคนที่มาชมงานได้  

A NEW CAVE at BANGKOK CITYCITY GALLERY

Sa (2024) / Core (2024)

A NEW CAVE at BANGKOK CITYCITY GALLERY

Untitled (smoke rises vertically) (2024)

ในนิทรรศการนี้ ศิลปินตัดสินใจที่จะไม่ใส่ตัวเลขกำหนดไว้ที่ผังพื้นของวัตถุที่จัดแสดงในสูจิบัตร เพื่อให้เกิดการไหลเวียนการเดินชมแบบไม่มีลำดับก่อนหลัง เพราะไม่อยากให้การรับรู้ (perception) ของความมีลำดับก่อนหลังที่มีอยู่ในระบบตัวเลข มาเป็นการตรึงการเดินชมนิทรรศการให้เป็นรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เสมือนว่าตัววัตถุต่างๆ แค่ลอยล่องเข้ามาอยู่ในพื้นที่นี้แค่เพียงช่วงเวลาหนึ่ง ในตำแหน่งที่มีความเฉพาะเจาะจงอยู่ประมาณหนึ่ง มันไหลเวียน เป็นการทดลองที่อาจจะสร้างความลำบากให้กับคนดู และหวังว่าผู้ที่มาชมจะได้ประสบการณ์อะไรบางอย่างกลับไป

A NEW CAVE at BANGKOK CITYCITY GALLERY

Beats (2024)

A NEW CAVE จัดแสดงระหว่างวันที่ 10 กุมภาพันธ์ – 23 มีนาคม 2567 ที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY

bangkokcitycity.com
facebook.com/bangkokcitycity

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *