VICTOR WU

Victor Wu, Taiwan Design Week 2023Victor Wu is the Co-curator of Taiwan Design Week 2023.

art4d สัมภาษณ์ Victor Wu หนึ่งในภัณฑารักษ์หลักของ Taiwan Design Week 2023 ถึงธีมหลักของงานในปีที่ผ่านมาอย่าง ‘Elastic Bridging’ และความเปลี่ยนแปลงของวงการออกแบบในไต้หวันในยุคหลัง COVID-19

TEXT: KITA THAPANAPHANNITIKUL
PHOTO COURTESY OF TAIWAN DESIGN RESEARCH INSTITUTE

(For English, press here)

ปลายปีที่แล้ว Taiwan Design Research Institute ได้จัดงาน Taiwan Design Week 2023 ขึ้นในช่วงวันที่ 1 ธันวาคม 2563 ถึง 10 ธันวาคม 2563 ณ สวนความคิดสร้างสรรค์ซงซาน (Songshan Cultural and Creative Park: SCCP) ภายใต้ธีมหลัก ‘Elastic Bridging’ ที่มาพร้อมกับการเสวนาในหัวข้อที่น่าสนใจเกี่ยวกับแวดวงงานออกแบบของไต้หวัน รวมถึงยังได้มีการจัดแสดงผลงานในสาขาต่างๆ อาทิ digital media, graphic design, product packaging, applied materials, organic works, food design, และ public aesthetics ของนักออกแบบกว่า 54 ทีมในประเทศ และ 5 ทีมในระดับนานาชาติ รวมถึงประเทศไทยอีกด้วย

Victor Wu, Taiwan Design Week 2023

PAVA architects และ โม จิรชัยสกุล จากประเทศไทยสร้างสรรค์งานที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากแก้วชานมไข่มุก เครื่องดื่มสุดไอคอนิคที่มีจุดกำเนิดมาจากไต้หวัน และอาหารแบบฮ็อทพ็อทที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในประเทศไทย

art4d พูดคุยกับ Victor Wu หนึ่งในภัณฑารักษ์หลักของ Taiwan Design Week 2023 ผู้ก่อตั้งสตูดิโอสถาปนิกใน New York ในชื่อ Atelier TBD ถึงที่มาที่ไปของธีมหลักอย่าง ‘Elastic Bridging’ อันสะท้อนถึงสภาวการณ์และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวงการออกแบบของไต้หวันที่เปลี่ยนไปในยุค post-pandemic ที่สร้างความสัมพันธ์แบบใหม่ในการทำงานที่ต้องการความยืดหยุ่นและความเชื่อมต่อถึงกันมากกว่าที่เคย

Victor Wu, Taiwan Design Week 2023

ธีมและภาพการสื่อสารหลักของงาน Taiwan Design Week 2023

art4d: อะไรคือกระบวนการหรือข้อความที่คุณอยากจะสื่อออกไปผ่านงาน Taiwan Design Week 2023?

Victor Wu: อย่างแรกเลย เราใช้เวลาหกเดือนแรกไปกับการค้นคว้าวิจัยสถานการณ์และภาพรวมทั้งหมดของอุตสาหกรรมออกแบบไต้หวัน สิ่งที่เราตระหนักได้ก็คือ ก่อนการเกิดขึ้นของ COVID-19 นักออกแบบในไต้หวันจำนวนมากมองหาโอกาสที่จะไปทำงานต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ยุโรป หรือประเทศอื่นๆ นั่นหมายความว่า เวลาส่วนใหญ่ของพวกเขาจะถูกใช้ไปเพื่อประเทศอื่น ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่เวลาที่พวกเขากลับมาไต้หวันหลังจากเกษียณอายุแล้ว ก็ย่อมหมายความว่าคุณประโยชน์ที่ประเมินค่าไม่ได้ทั้งหลายซึ่งพวกเขาได้ทำไว้ เป็นของประเทศอื่น ไม่ใช่ไต้หวัน

ในทางกลับกันก็ยังมีนักออกแบบที่ทำงานในไต้หวันอยู่ แม้ว่าดูเผินๆ อาจจะเป็นเรื่องดี แต่พวกเขาอาจจะพลาดโอกาสในการขยับขยายประสบการณ์ของตัวเอง หรือเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ในโลกอันกว้างใหญ่นี้ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญมากต่อการทำอาชีพนักออกแบบ

ทันทีที่เกิดโรคระบาดมีนักออกแบบจำนวนมากเลือกเดินทางกลับบ้านเกิด ต้องขอบคุณเครื่องมือที่ช่วยการทำงานระยะไกลอย่าง Google และ Zoom ที่ทำให้คนสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ สตูดิโอออกแบบหลายแห่งย้ายกลับมาตั้งสำนักงานที่ไต้หวัน โดยที่งานส่วนใหญ่ของพวกเขาก็ยังเป็นโปรเจ็กต์ในต่างประเทศ ความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นโอกาสให้พวกเขาได้ซึมซับข้อมูลที่มีคุณค่าไปจนถึงความคิดเชิงนวัตกรรมต่างๆ จากต่างประเทศ และนำมันกลับมาเพื่อช่วยเสริมสร้างภูมิทัศน์ทางการออกแบบของไต้หวันให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น กล่าวโดยสรุปก็คือ สาขาวิชาชีพเกี่ยวกับการออกแบบในไต้หวันนั้นกำลังระเบิดตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นความหมายในทางที่ดีนะครับ

art4d: ทำไม ‘เชื่อมโยงอย่างยืดหยุ่น’ (Elastic Bridging) ถึงถูกเลือกเป็นธีมหลักของงาน Taiwan Design Week 2023?

VW: เพราะความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เป็นผลพวงจากโรคระบาด ทำให้แนวทางในการทำงานร่วมกันเปลี่ยนไปอย่างมากจากวิธีการเดิมๆ เมื่อก่อนสตูดิโอต่างๆ เคยร่วมงานกันในรูปแบบที่มีความเป็นทางการสูง ทุกอย่างเป็นไปตามแบบแผนและมีความจริงจัง อย่างไรก็ตาม ยุคสมัยหลังโควิดเป็นต้นมา การร่วมงานที่เกิดขึ้นระหว่างสตูดิโอเป็นไปในลักษณะที่มีความเป็นกันเองมากขึ้น มีความผ่อนคลาย โปรเจ็กต์อาจจะเกิดขึ้นโดยที่ไม่ได้มีการวางแผนล่วงหน้ามากมายอะไร ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้ส่วนหนึ่งมาจากการลดขนาดลงของสตูดิโอออกแบบในช่วงที่เกิดโรคระบาดที่มีจำนวนพนักงานน้อยลง ต่างจากโมเดลก่อนหน้าที่สตูดิโอส่วนใหญ่จะมีทีมงานขนาด 20 – 50 คน สตูดิโอออกแบบในไต้หวันตอนนี้มีคนทำงานอยู่ราว 5 – 20 คน เท่านั้น

การปรับโครงสร้างนี้ได้นำไปสู่การทำงานร่วมกันในรูปแบบใหม่ที่สมาชิกในทีมจะได้รับการผลักดันให้รับผิดชอบโปรเจ็กต์ของตนโดยใช้ทรัพยากรของสตูดิโอ ความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ทำให้มุมมองต่อสตูดิโอในฐานะโรงผลิตผลงานที่ดูเย็นชาไร้ความรู้สึก กลายเป็นการเปิดโอกาสให้มองเห็นถึงความจำเป็นในการสนับสนุนและผลักดันซึ่งกันและกัน และการบ่มเพาะดูแลกันและกันในชุมชนคนทำงานออกแบบ  การอนุญาตให้มีการทำงานโปรเจ็กต์เดี่ยวนั้น จุดมุ่งหมายของสตูดิโอคือการสร้างบรรยากาศของการทำงานร่วมกัน การช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อเสริมสร้างการคิดเชิงสร้างสรรค์และการพัฒนางานออกแบบ ที่จะนำไปสู่ทิศทางเชิงบวกของชุมชนออกแบบโดยรวมของไต้หวัน

สถานการณ์นี้นำพาเราไปสู่สิ่งที่เรียกว่า ‘การเชื่อมโยงอย่างยืดหยุ่น’ เวลาที่เราพยายามจะสร้างความเชื่อมโยงของสิ่งที่ต่างกันเข้าด้วยกัน มันมักจะมีความแข็งกระด้างอยู่ แต่นับตั้งแต่สถานการณ์โรคระบาดเป็นต้นมา ทุกอย่างดูจะมีความยืดหยุ่น และมีพลวัตรมากขึ้น

art4d: คุณนำไอเดียนี้ไปปรับใช้กับการออกแบบพื้นที่ของ SCCP ที่เป็นโรงงานยาสูบเก่า ซึ่งมีความเย็นชาแข็งกระด้างอยู่มาก ในขณะที่ตัวมันเองก็มีบริบททางประวัติศาสตร์ที่โดดเด่นได้อย่างไร?

VW: แผนผังเดิมของมันมีความแข็งกระด้างในส่วนของกำแพงและความเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่ทำให้มันดูเหมือนกระท่อมสี่เหลี่ยมตันๆ ผมคิดว่าทีมออกแบบที่ทำงานกับพื้นนี้มาก่อนก็คงเจอกับปัญหาในการจัดการพื้นที่นี้แบบเดียวกับเรา แต่ต่อมาเราก็มาคิดออกว่าเราสามารถเอาประสบการณ์ที่ว่า (สี่เหลี่ยม) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่จัดแสดงได้โดยให้มันเป็นเหมือนตัวแทนของฉากทัศน์หนึ่ง เราตัดสินใจที่จะแยกตัวนิทรรศการออกเป็นหกพื้นที่ แต่ละส่วนเป็นตัวแทนชิ้นส่วนหรือเสี้ยวหนึ่งของงานออกแบบไต้หวัน ที่ผสานตัวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างแนบเนียน

ยกตัวอย่างเช่น เราเอาต้นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในไต้หวันเข้ามาวางในพื้นที่จัดแสดง ต้นไม้พวกนี้เป็นต้นไม้จริงสูง 3 เมตร ทั้งหมด ถ้าคุณไปเดินขึ้นเขา Yangming ก็จะเจอต้นไม้พันธุ์นี้อยู่รอบตัว เราจับเอาประสบการณ์เหล่านี้มาใส่ในพื้นที่จัดแสดง เพื่อที่ทุกคน ทั้งผู้ชมที่เป็นคนไต้หวันและต่างชาติ จะได้เข้ามาและจดจ่อไปกับประสบการณ์ที่เราสร้างขึ้น บางทีอาจจะมาในรูปแบบของธรรมชาติอันน่าหวงแหน เป็นชีวิตยามค่ำคืนอันน่าตื่นเต้น หรืออื่นๆ มันไม่สำคัญหรอกว่าคุณอยู่ที่ไหน ความจริงคือทุกมิติของชีวิตประจำวันของคุณล้วนเป็นผลลัพธ์จากการทำงานร่วมกันของนักออกแบบมากมายจากหลายสาขาวิชา

Victor Wu, Taiwan Design Week 2023

ในฐานะของหนึ่งใน 54 ผู้แสดงงาน Studio HJL คำนึงถึงภูมิทัศน์พืชพันธุ์ในฐานะของประติมากรรมอินทรีย์ที่เต็มไปด้วยพลวัตร พวกเขาดึงเอาแนวคิดเชิงประติมากรรมมาใช้สร้างลักษณะทางทัศนะของทัศนียภาพของพืชพรรณท้องถิ่น

สิ่งที่ท้าทายยิ่งไปกว่านั้นคือการสร้างบรรยากาศภายในพื้นที่ มันมีเส้นบางๆ ระหว่างประสบการณ์เชิงศิลปะกับประสบการณ์ที่ให้ความรู้สึกลอยๆ เราพยายามยืนอยู่ในจุดที่ไม่เอียงไปทางใดทางหนึ่งแต่อยู่ตรงกลาง คือคุณจะยังสามารถเห็นผลิตภัณฑ์บางส่วนได้แต่จะไม่รู้สึกว่าคุณอยู่ในห้างสรรพสินค้า ผลิตภัณฑ์ที่คุณเห็นจะถูกจัดวางอยู่ในพื้นที่อย่างเป็นธรรมชาติ

มันก็เป็นความรู้สึกเหมือนบ้านของคุณนั่นแหละครับ คือเวลาที่คุณเดินเข้าไปในล็อบบี้โรงแรม คุณก็จะเห็นวัตถุมากมายหลายชนิด ทั้งดอกไม้ เครื่องทำกาแฟ หรือทีวี บรรยากาศมันไม่เหมือนประสบการณ์เวลาที่คุณไปช็อปปิ้งในห้าง มันให้ความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติมากกว่า ด้วยองค์ประกอบต่างๆ เช่น ตู้เย็น หรือการออกแบบไฟที่สร้างบรรยากาศ ทุกอย่างถูกบูรณาการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อม และปรากฏให้เห็นอยู่ทุกส่วนของพื้นที่ เหมือนภาพที่เราจินตนาการไว้ ถ้าคุณสังเกตเห็นม้านั่งในบริเวณพื้นที่จัดนิทรรศการ ตอนที่คุณเดินเข้าไปหามัน คุณจะรู้สึกได้ถึงการเชื้อเชิญให้นั่งลงชนิดที่คุณเองอาจจะไม่รู้ตัว ในขณะที่คุณกำลังนั่งลงก็จะเห็นบัตรเชิญวางอยู่ไม่ไกล  ซึ่งพอคุณอ่านแล้วก็จะตระหนักได้ว่า ‘อ้อ ไม้นี่มันเอามาจากโรงงาน Kaohsiung ส่วนกระเบื้องก็มาจากไทเปนี่เอง’ ผ่านประสบการณ์ทางพื้นที่แบบนี้ คุณจะเข้าใจว่าองค์ประกอบเหล่านี้มันเริ่มต้นมาจากสตูดิโอหนึ่งก่อนจะถูกส่งต่อไปยังอีกสตูดิโอหนึ่ง ทั้งยังสะท้อนชีวิตประจำวันของคนไต้หวันได้เป็นอย่างดี

Victor Wu, Taiwan Design Week 2023

พื้นที่ที่มีลักษณะรูปแบบละม้ายล็อบบี้โรงแรมถูกสร้างขึ้นตามธีมของนิทรรศการ สร้างบรรยากาศสบายๆ และสภาพแวดล้อมที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกว่าชิ้นงานออกแบบแต่ละชิ้นปรากฏให้เห็นอย่างเป็นธรรมชาติและไม่ได้ถูกจัดวางอย่างตั้งใจ

ลักษณะคล้ายๆ กันสามารถถูกพบเห็นได้ในโครงสร้างภายในพื้นที่จัดนิทรรศการ โครงสร้างดังกล่าวถูกสร้างขึ้นจากโครงไม้และเสาเป่าลมที่ทำขึ้นจากถุงพลาสติกใส ตัวงานมีจุดมุ่งหมายที่จะแสดงภาพของแนวคิดการเชื่อมโยงอันยืดหยุ่น สร้างความรู้สึกเบาหวิวและโปร่งพรุน เสาเป่าลมขยายตัวเต็มพื้นที่ เพิ่มพูนปริมาตรของตนอย่างเต็มกำลัง แรกเริ่มเดิมทีเลยนั้นมันถูกสร้างเพื่อให้ออกมาหน้าตาคล้ายกลับถุงพลาสติกเป่าลมกันกระแทกที่ถูกยัดเอาไว้ในกล่องขนาดเล็ก แต่เมื่อถูกเป่า มันก็ขยายตัวออกเต็มพื้นที่

Victor Wu, Taiwan Design Week 2023

ทีมภัณฑารักษ์ใช้เสาเป่าลมในการจัดพื้นที่นิทรรศการ แสดงให้เห็นความสามารถในการปรับตัวอย่างยืดหยุ่นของงานออกแบบไต้หวันที่มีลักษณะเด่นอยู่ที่สเกลชิ้นงานที่มีขนาดเล็ก หากแต่ก็เต็มไปด้วยความสามารถในการปรับตัวและฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง

art4d: ในฐานะนักออกแบบ มีประเด็นอะไรที่คุณให้ความสนใจเป็นพิเศษไหม?

VW: จริงๆ ก็ไม่มีประเด็นไหนที่เราให้ความสำคัญเป็นพิเศษนะครับ แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นเหมือนแนวคิดหลักของเราเลย มันเป็นความคิดที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ‘กำลังจะได้รับการออกแบบ’ อีกอย่างหนึ่งที่เราให้ความสนใจเป็นพิเศษน่าจะเป็น ‘texture’ มันน่าจะเป็นคำภาษาอังกฤษที่มีความหมายใกล้เคียงที่สุดแล้ว ในภาษาจีนกลางมีคำที่ให้ความหมายได้ตรงยิ่งกว่านั้น คือคำว่า ‘zhìgǎn’ เวลาที่เราพูดถึงคำว่า texture มันจะเป็นในมิติของความเป็นพื้นผิว แต่ในบริบทนี้เรากำลังพูดถึงสิ่งที่เป็นเหมือนประสบการณ์โดยรวมมากกว่า เราเชื่อว่าเรากำลังสร้างสิ่งนี้ให้อยู่ในทุกๆ โปรเจ็กต์

ผมขอยกตัวอย่างงานหนึ่งงาน มีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งอนุญาตให้เราเป็นผู้ออกแบบใบประกาศนียบัตรสำหรับงานประกาศรางวัลงานหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ความจริงก็คือประกาศษณียบัตรพวกนี้ส่วนใหญ่จะไม่ได้ดูสวยงามอะไร แล้วคนที่ได้มันไปก็ไม่ค่อยจะอยากเอามันออกมาโชว์เท่าไหร่นัก เราก็เลยเอาประเด็นนี้มาพิจารณาใหม่แล้วนำเสนอทางออกว่าทำไมเราไม่ออกแบบให้มันดูสวยกว่านี้ล่ะ ให้มันออกมาเหมือนกับภาพวาดหรืองานเขียนสวยๆ สักชิ้น

คุณจะเอามันไปแขวนบนผนังก็ได้ แต่ที่สุดแล้วอะไรคือคุณค่าของประกาศษณียบัตรใบหนึ่ง? มันช่วยย้ำเตือนว่า คุณได้รางวัลที่มีความสำคัญ ซึ่งคุณค่าของมันมีความหมายกับตัวคุณ หลังจากชนะจนได้มันมาก็เอามาหาที่วางในบ้าน แขวนบนผนังไว้เฉยๆ เหมือนเป็นภาพวาดที่มีอยู่ดาษดื่น มีแค่ตัวคุณเองที่รู้ว่ากระบวนการก่อนจะได้สิ่งนี้มาเป็นอย่างไร เพราะภายนอกมันก็ดูเหมือนงานศิลปะชิ้นหนึ่ง นี่คือใจความสำคัญของคำว่า texture ที่ผมได้พูดถึงไปก่อนหน้านี้ จากการตีความของเรา คำๆ นี้มีความหมายมากกว่าพื้นผิวสัมผัสทางกายภาพ มันเป็นประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสโดยรวมทั้งหมดที่เกี่ยวพันไปถึงกลิ่น วิธีการที่คุณสัมผัสมัน อุณหภูมิ มิติเชิงทรรศนะ เสียง มันครอบคลุมควบรวมทุกแง่มุม

art4d: คำถามสุดท้ายครับ ด้วยความที่ไต้หวันเป็นประเทศที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมที่หลากหลาย คำที่คุณคิดว่านิยามหัวใจของงานออกแบบไต้หวันได้ดีที่สุดคืออะไร?

VW: ปัจจุบัน Taiwan Design Week มีความพยายามที่จะเข้าใจและตีความประเด็นนี้อยู่ และผมก็อาจจะไม่ได้มีคำตอบที่ถูกต้องที่สุดอะไร ถ้าคุณถามผมว่าอะไรคือคีย์เวิร์ด ผมคิดว่าคำๆ นั้นคือคำว่า hybrid  มันอาจจะฟังดูแปลกแยก แต่ก็สามารถแสดงความเป็นไต้หวันได้มากเช่นกัน ผมคิดว่าเป็นเพราะไต้หวันมีที่ตั้งเป็นเกาะขนาดเล็ก เราจึงซึมซับเอาข้อมูลอันหลากหลายจากทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่นอิทธิพลจากญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา เกาหลี หรือแม้กระทั่งประเทศไทย องค์ประกอบทั้งหลายเหล่านี้ถูกผสมผสานและปรับเปลี่ยน เหมือนเวลาเราผสมค็อกเทลสักแก้ว เพราะฉะนั้นแล้วผมไม่คิดว่างานออกแบบไต้หวันจะถูกนิยามด้วยรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเพียงอย่างเดียว เรากำลังอยู่ในกระบวนการของการค้นหาทุกอย่างไปด้วยกัน

facebook.com/TaiwanDesignWeek
instagram.com/designintaiwan

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *