HISTORY OF THAI TYPE

เจาะประวัติศาสตร์ของการใช้ font และ typography ในประเทศไทย ผ่านหนังสือโดย ประชา สุวีรานนท์ ที่นำเสนอความเชื่อมโยงระหว่างแบบตัวอักษรกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย

TEXT: WEE VIRAPORN
PHOTO: KETSIREE WONGWAN

(For English, press here)

แกะรอยตัวพิมพ์ไทย
ประชา สุวีรานนท์
ฟ้าเดียวกัน, 2567
ปกแข็ง
16.4 x 23.9 ซม.
360 หน้า
ISBN 978-616-943-033-9

ปัจจุบันนี้ ความสำคัญของการสร้างแบรนด์เป็นเรื่องที่แม้แต่ธุรกิจขนาดเล็กก็มีความตระหนัก หนึ่งในเครื่องมือสำคัญของกระบวนการดังกล่าวคือการเลือกใช้แบบตัวอักษร/ตัวพิมพ์ (font) และศิลปะในการจัดการตัวอักษรเหล่านั้น (typography) เพื่อสร้างน้ำเสียงเฉพาะของแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นสินค้า บริการ หรือองค์กรต่างๆ ในแวดวงออกแบบของประเทศไทย มีผู้ผลิตฟอนต์ในท้องตลาดหลากหลาย ตั้งแต่ระดับที่ทำเป็นงานอดิเรก จนถึงระดับบริษัทที่มีผลงานได้มาตรฐานสากล และถูกเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อการใช้งานอย่างสะดวกสบาย หลายแบรนด์ต่างชาติที่มาทำธุรกิจในประเทศไทย มีการจัดทำแบบตัวอักษรของตัวเองให้สอดคล้องกับน้ำเสียงในภาษาแม่ มีการจ้างนักออกแบบไทยดีไซน์ชื่อภาพยนตร์และซีรีส์ต่างประเทศเป็นภาษาไทยให้สวยงาม นอกจากนั้นยังมีงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่จัดขึ้นเป็นประจำที่กรุงเทพฯ ทุกปี

แต่ในขณะเดียวกัน แม้ว่าเด็กไทยจะถูกปลูกฝังให้ภาคภูมิใจในการมีภาษาและอักขระของตัวเอง พร้อมๆ กับความภูมิใจที่ไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้น แต่องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบตัวอักษร และประวัติศาสตร์ของตัวอักษรไทยที่นอกเหนือจากการท่องจำว่าพ่อขุนรามคำแหงประดิษฐ์อักษรไทยในปี พ.ศ. 1826 กลับมีให้เรียนรู้ไม่มากนัก ยิ่งถ้าย้อนกลับไปประมาณ 20 ปีก่อน ยิ่งเป็นเหมือนศาสตร์ลี้ลับ นั่นทำให้เมื่อบทความ ‘๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย’ ที่ถูกตีพิมพ์ในนิตยสารสารคดี ฉบับเดือนกันยายน ปี 2545 จึงถือเป็นหมุดหมายที่สำคัญอย่างยิ่งในการวางรากฐานองค์ความรู้สาขานี้ในประเทศไทย นอกจากนั้นยังมีการจัดนิทรรศการที่หอศิลป์จามจุรี และหนังสือประกอบนิทรรศการที่กลายเป็นหนังสือหายากเล่มหนึ่งที่นักออกแบบผู้รักในงานสายนี้ต้องแย่งกันหามาครอบครอง

22 ปีผ่านไป หลังจากที่บทความดังกล่าว และเนื้อหาของนิทรรศการถูกนำไปเผยแพร่ต่อบนอินเทอร์เน็ต หนังสือ ‘แกะรอยตัวพิมพ์ไทย’ ถูกจัดพิมพ์เผยแพร่อีกครั้งโดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ผู้เขียนคือ ประชา สุวีรานนท์ ได้นำเสนอความเชื่อมโยงระหว่างแบบตัวอักษร กับเทคโนโลยีทางการพิมพ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย และความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมไทย ทำให้เกิดทฤษฎีของการการจัดหมวดหมู่ประเภทตัวพิมพ์ (type classification) ที่ยอมรับกันต่อมา และยังใช้ได้อยู่เป็นส่วนใหญ่จนถึงปัจจุบัน

ผู้ที่คุ้นเคยกับงานเขียนของประชาในชุด ‘ดีไซน์ + คัลเจอร์’ น่าจะสนุกกับหนังสือเล่มนี้ได้ไม่ยาก เพราะมีวิธีการเล่าเรื่องเพื่อเชื่อมโยงบริบทของงานออกแบบคล้ายกัน โดยเฉพาะเมื่อกรณีศึกษา และตัวอย่างชิ้นงานต่างๆ ล้วนเป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ไทย ก็ยิ่งทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่างานออกแบบตัวพิมพ์เป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่เคยรับรู้ เนื้อหาที่ปรับปรุงเพิ่มเติมในการพิมพ์ครั้งนี้ นอกจากจะมีภาพประกอบตัวอย่างการใช้แบบตัวพิมพ์ที่ผู้เขียนไปค้นคว้ามาเพิ่มเติม และคัดเลือกมาอย่างน่าสนใจแล้ว ในช่วงสองบทสุดท้าย คือ ‘ตัวพิมพ์ยุคฟองสบู่แตก พ.ศ. 2540 – 2545’ และ ‘ตัวพิมพ์ดิจิทัล พ.ศ. 2545 – ปัจจุบัน’ ก็เป็นการเชื่อมโยงอดีตเข้าสู่ยุคปัจจุบันได้อย่างครบถ้วน มีการบันทึกเรื่องราวของเหตุการณ์ที่ทำให้สังคมไทยตื่นตัวเรื่องลิขสิทธิ์ฟอนต์ และความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ทำให้ความต้องการเชิงประโยชน์ใช้สอยของตัวพิมพ์เปลี่ยนไป ความพยายามของรัฐที่มองปัญหาการขาดมาตรฐานการออกแบบตัวพิมพ์จนต้องมีโครงการพัฒนา และจัดประกวด จนได้ ‘ฟอนต์แห่งชาติ’ มาชุดหนึ่ง (ซึ่งปัจจุบันแทบไม่มีใครรู้จักแล้ว) จนถึงการกลับมาของฟอนต์คณะราษฎร ที่มีบทบาทโดดเด่นในงานออกแบบสื่อสารช่วงการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2563 ด้วย

ในฐานะนักออกแบบกราฟิกที่เรียนมหาวิทยาลัยในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง และได้รับแรงบันดาลใจจาก ‘๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย’ อย่างมากในช่วงปีแรกๆ ของการประกอบอาชีพ เชื่อว่าการตีพิมพ์ใหม่ครั้งนี้เป็นจดหมายเหตุที่สำคัญของประวัติศาสตร์การออกแบบกราฟิกร่วมสมัยของประเทศไทย และอยากแนะนำให้ผู้ที่ไม่ได้เป็นนักออกแบบได้อ่าน แม้ว่าคุณอาจจะไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับตัวอักษรโดยตรง หนังสือเล่มนี้ก็จะช่วยปูพื้นฐานความเข้าใจที่มาที่ไป และที่ทางของงานออกแบบในบริบทของสังคมที่มันเกิดขึ้น และยังปรับใช้วิธีการนี้ในการมองงานออกแบบชนิดอื่นๆ ได้อีกด้วย

sameskybooks.net

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *