COLLAGE DESIGN STUDIO


กระถางต้นไม้คอนกรีตถูกดัดแปลงเป็นผิวอาคารทั้งภายนอกและภายในของสำนักงานสถาปนิก Collage Design Studio ในซอยรัชดาภิเษก 32 เผยความงามจากความดิบของคอนกรีต และสร้างความหมายใหม่ ให้กับกระถางต้นไม้ที่เห็นได้ทั่วไป

TEXT & PHOTO: XAROJ PHRAWONG

(For English, press here)

การนำสิ่งหนึ่งมาดัดแปลงใช้งานต่างจากที่กำหนดไว้แต่แรก ทำให้เกิดความหมายใหม่กับวัสดุที่สร้างทางเลือกหลากหลายแบบที่เกิดขึ้นกับสำนักงานสถาปนิกของ Collage Design Studio ในซอยรัชดาภิเษก 32 ย่านพักอาศัยหนาแน่นแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร จากการที่ต้องการที่ทำการของตัวเองแบบไม่ต้องเช่าอีกต่อไป จึงได้ทำการออกแบบสำนักงานที่รองรับกิจกรรมตามความต้องการเฉพาะของตัวเองได้

อาคารคอนกรีตเปลือยหลังนี้ทำหน้าที่รองรับกิจกรรมหลากหลาย ผังตัวอาคารเป็นรูปตัว L ที่แบ่งพื้นที่ใช้สอยเป็น 3 ชั้น โดยพื้นที่ส่วนยาวของอาคารวางขวางตะวันในแนวทิศเหนือใต้ และส่วนปลายของตัว L ทำหน้าที่เป็นส่วนบริการ เช่น ห้องน้ำ ห้องครัว บันได และเป็นส่วนบังแดดให้กับแมสอาคารหลัก โปรแกรมหลักของอาคารคือสำนักงานสถาปนิก แต่ก็มีส่วนใช้สอยอื่นๆ เข้ามาประกอบช่วยเติมเต็มกันและกัน โดยมีการแบ่งการใช้พื้นที่ตามกิจกรรมภายใน

พื้นที่ชั้น 1 เป็นพื้นที่กึ่งภายนอก-ใน เป็นทั้งลานอเนกประสงค์ ห้องประชุม และพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่สามารถปรับเปลี่ยนเป็นคาเฟ่ได้ในวันหน้า พื้นที่ชั้น 2 ออกแบบไว้รองรับกิจกรรมสำหรับพื้นที่ส่วนกลางที่จะเกิดเหตุการณ์ขึ้นหลากหลายในอนาคต ทั้งห้องประชุม และพื้นที่ที่เตรียมไว้สำหรับ co-working space ในพื้นที่ชั้น 3 ซึ่งเป็นส่วนโปรแกรมหลักของอาคารนี้ คือส่วนของสำนักงานสถาปนิก จะมีพื้นที่บริการอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของอาคาร ในส่วนของพื้นที่สตูดิโอมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวไปตามแนวเหนือใต้แบบ open plan ผนังโดยรอบเป็นผนังทึบ เปิดโล่งไปทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกบางส่วน ทำให้บรรยากาศภายในสตูดิโอสถาปนิกมีความสลัวและให้บรรยากาศขึงขัง ทั้งจากสภาพแสงสลัวและวัสดุที่เป็นคอนกรีตเปลือย ส่งเสริมให้บรรยากาศมีความงามจากวัสดุที่ดิบ เผยสัจจะวัสดุ ไม่ตกแต่งเพิ่มเติมไปจากการใช้งาน ระเบียงด้านทิศเหนือออกแบบไว้เป็นพื้นที่นันทนาการของสถาปนิก พร้อมรับวิวท้องฟ้าได้กว้างจากการที่อยู่ชั้น 3 ทำให้มีมุมมองที่สูงพ้นหลังคาบ้านโดยรอบที่สูง 2 ชั้น

ส่วนที่น่าสนใจคือการออกแบบเปลือกอาคาร โดยเริ่มจากข้อจำกัดที่ต้องการใช้วัสดุที่มีราคาถูก ทั้งราคาวัสดุ และค่าแรง สถาปนิกจึงมีความคิดที่จะใช้กระถางต้นไม้คอนกรีตที่พบเห็นได้ทั่วไปมาทำเป็นเปลือกหลักของอาคารด้วยเทคนิคการพลิก 90 องศา ด้วยที่ต้องการลดเวลาก่อสร้าง และสามารถลดปัญหาเรื่องความไม่เรียบร้อยของผิวได้ เพราะกระถางคอนกรีตเป็นวัสดุหล่อสำเร็จมาจากโรงงาน สามารถลดค่าตกแต่งภายใน ให้ตัวเบ้ากระถางกลายเป็นชั้นวางของไปในตัว สถาปนิกเริ่มจากการหาแหล่งกระถางต้นไม้คอนกรีตตามท้องตลาดทั่วไป และพบว่ามีปัญหาจากมาตรฐานการผลิต เนื่องจากส่วนใหญ่ใช้แบบหล่อเป็นไม้และทำการหล่อด้วยมือ ทำให้แม้จะมีราคาถูก แต่เบ้าด้านในก็มีผิวที่ขรุขระขาดความเรียบร้อยจนไม่สามารถปรับเป็นชั้นวางได้

สถาปนิกค้นหากระถางคอนกรีตด้วยการสอบถามตามแหล่งต่างๆ จนพบว่ามีร้านทำกระถางคอนกรีตแบบหล่อเหล็กจากจังหวัดลพบุรี สามารถผลิตกระถางคอนกรีตผิวเรียบที่ไม่จำเป็นต้องแต่งผิวเพิ่มเติม นำไปสู่เปลือกอาคารแบบ custom-made จากกระถางต้นไม้คอนกรีตแบบหล่อสำเร็จ ขนาด 30x30x100 เซนติเมตร ในผนังส่วนทั่วไปเป็นวางสลับแบบ stretcher bond และ 30x30x30 เซนติเมตร ทำหน้าที่เป็นตัวจบปลายผนัง

ช่วงที่เริ่มการก่อสร้างนั้นได้เกิดปัญหาที่อาจทำให้การก่อสร้างล่าช้าลง เนื่องจากการรอให้กระถางคอนกรีตผลิตเสร็จเพื่อใช้คลุมเปลือกอาคารทั้งหมดใช้เวลานาน การแก้ปัญหาจึงเริ่มด้วยการสำรวจวัสดุที่จะมาเสริมเปลือกอาคารอีกครั้ง สถาปนิกเลือกที่จะใช้คอนกรีตบล็อก และด้วยงบประมาณที่จำกัด คำตอบจึงลงเอยที่การเลือกใช้คอนกรีตบล็อกจากโรงงานที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยใช้คอนกรีตบล็อกที่เหลือจากการการผลิตขายในจำนวนไม่กี่พันก้อน ทำให้ราคาถูกกว่าท้องตลาด เป็นคอนกรีตบล็อกขนาด 19x59x7 เซนติเมตร ที่มาเติมในส่วนผนังด้านทิศใต้และตะวันออก และเรื่องราวของการใช้คอนกรีตบล็อกมาจากปัญหา นำไปสู่เปลือกอาคารแบบ improvisation ในที่สุด

facebook.com/CollageDesignStudio

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *