ENZO MARI AT DESIGN MUSEUM

Design Museum จัดแสดงนิทรรศการรวบรวมผลงานตลอดชีวิตของ Enzo Mari นักออกแบบชาวอิตาเลียนผู้ล่วงลับที่ได้สร้างอิทธิพลต่อวงการออกแบบทั่วโลก ด้วยแนวคิด ‘งานออกแบบเป็นเรื่องของทุกคน’

TEXT & PHOTO: PARK LERTCHANYAKUL

(For English, press here)

นิทรรศการ Enzo Mari ที่ Design Museum เป็นงานที่จัดแสดงประวัติความเป็นมาและผลงานการออกแบบตลอดชีวิตการทำงาน 60 ปีของ Enzo Mari นักออกแบบชาวอิตาเลียน ชายผู้ถูกยกย่องว่าเป็น ‘มโนธรรมของวงการออกแบบ’ และเป็นนักออกแบบมีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของศตวรรษที่ 20 นิทรรศการนี้มี Hans Ulrich Obrist และ Francesca Giacomelli เป็นผู้ออกแบบนิทรรศการ โดยทั้งสองออกแบบนิทรรศการนี้ให้กับงาน Triennale ที่มิลานในปี 2020 ซึ่ง Mari เองก็ได้เสียชีวิตลงหลังจากงานเปิดให้เข้าชมเพียงไม่กี่วัน จึงถือได้ว่างานนิทรรศการนี้เป็นงานที่รวบรวมทั้งชีวิตและผลงานของ Mari ไว้ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด

Enzo Mari
Enzo Mari

ภาพพิมพ์ ‘The Nature Series’ และปฏิทินแขวนผนังและตั้งโต๊ะที่สามารถเปลี่ยนวัน วันที่และเดือนได้

นิทรรศการนี้จัดแสดงผลงานการออกแบบของ Mari มากกว่า 300 ชิ้น (Mari มีผลงานทั้งหมด 2,000 ชิ้น) โดยครอบคลุมงานออกแบบหลากหลายประเภทตั้งแต่งานกราฟิก งานออกแบบผลิตภัณฑ์ เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ต่างๆ ในบ้าน ของเล่น หนังสือภาพ แจกัน โคมไฟ ภาชนะต่างๆ รวมไปถึงงานศิลปะ ผลงานเขาได้รับอิทธิพลแนวความคิดจากในช่วงหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (post-industrial) อย่างมาก Mari ให้ความสำคัญกับระบบอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงวิธีและสายการผลิตต่างๆ ในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมชีวิตของแรงงานให้ดีขึ้นด้วยการออกแบบวิธีการผลิตที่ดีและรอบคอบ เช่น วิธีการเชื่อมเหล็กโดยไม่ต้องมีการขัดเรียบ ไม่ได้มองรอยเชื่อมเป็นข้อเสียแต่เป็นความงามด้วยการออกแบบตำแหน่งการเชื่อม หรือ การออกแบบเฟอร์นิเจอร์จากไม้แปรรูป ที่สามารถประกอบขึ้นด้วยการต่อไม้และตะปูเท่านั้น ไม่ต้องเจาะ ตัดไม้ หรือใช้น็อต ผู้บริโภคสามารถประกอบได้ด้วยตนเอง เป็นต้น แนวคิดของเขานอกจากจะทำให้สามารถลดแรงงานจากการผลิตได้ ยังส่งผลถึงราคาของสินค้า ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

Enzo Mari

งานออกแบบภาชนะจากเหล็กของ Mari ที่มีการทิ้งรอยเชื่อมเหล็กไว้

Enzo Mari

โมเดลที่ทำให้ขึ้นเพื่อจำลองการทำเฟอร์นิเจอร์จากไม้และตะปูตามที่ Mari ได้เขียนวิธีการทำไว้โดยละเอียดในหนังสือ ‘Autoprogettazione’

ผลงานทั้งหมดล้วนสะท้อนแนวความคิดในการออกแบบหลักที่ Mari มีตลอดมาซึ่งก็คือแนวคิด ‘งานออกแบบเป็นเรื่องของคนทุกคน’ (democratisation of design) ทุกคนสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมกับงานออกแบบได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่หรือถูกจำกัดอยู่กับผู้ผลิตและวงการนักออกแบบ ทำให้เกิดการเผยแพร่กระจายความรู้ในการออกแบบ รวมไปถึงการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ลดกระบวนการผลิต ส่งเสริมให้คนทั่วไปสามารถเป็นผู้ออกแบบและสร้างผลงานได้เอง ซึ่งทั้งหมดนี้ท้าทายระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก Mari ผลักดันให้ผู้คนแสดงความคิดสร้างสรรค์ของตนออกมาผ่านการสร้างผลงานด้วยตัวเอง (do it yourself) แม้จะไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนักในช่วงชีวิตของเขา แม้กระทั่งในความเห็นของ Mari เอง ก็คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่าแท้จริงแล้ว Mari เป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม ที่ปฏิบัติการผ่านงานออกแบบ เพื่อทำลายระบบผูกขาดของสังคมบริโภคนิยม และเพราะเรื่องเหล่านี้ยังคงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น และถกเถียงกันในปัจจุบัน ทำให้แนวคิดและผลงานของ Mari ตั้งแต่ 60 ปีที่แล้ว ยังคงได้รับความสนใจจนถึงทุกวันนี้

Enzo Mari

ตัวต่อไม้รูปสัตว์ ’16 animals’ และหนังสือภาพ ด้านหลังแสดงวิธีการเล่นและงานอื่นๆ ที่ Mari ออกแบบสำหรับเด็ก

Enzo Mari

ถาดผลไม้ ‘Putrella’ และผลงานถาดที่ทำจากเหล็กชิ้นอื่นๆ ของ Mari

ภายในงานยังมีการแสดงวิดีโอการสัมภาษณ์ของ Mari ซึ่ง Hans Ulrich Obrist ผู้ออกแบบนิทรรศการ เป็นผู้สัมภาษณ์ด้วยตนเอง มีการตั้งคำถามต่างๆ เกี่ยวกับ ชีวิต แนวความคิด วิธีการออกแบบ ซึ่งเมื่อเป็นการตอบคำถามด้วยการพูดของตัว Mari เอง และอาจจะเป็นเพราะด้วยอุปนิสัยส่วนตัว อายุของ Mari และ Obrist ยังเคยทำงานอย่างใกล้ชิดกับ Mari ในช่วงปี 90 ทำให้มีความสนิทสนมกัน ทั้งหมดนี้ประกอบกันทำให้บทสัมภาษณ์ของ Mari ออกมาตรงไปตรงมาและดิบจนถึงขั้นหยาบ (แต่ได้รับการแปลให้สุภาพ) สื่อข้อความที่ดุดันทรงพลัง สามารถสร้างแรงบันดาลใจได้เป็นอย่างดี

Enzo Mari

ภาพบรรยากาศบริเวณจัดแสดงวิดีโอการสัมภาษณ์ของ Mari โดย Ulrich Obrist เป็นผู้สัมภาษณ์

นิทรรศการในโถงกลางที่สามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายก็ห้ามพลาดเช่นเดียวกัน งาน Grazie Enzo: Contemporary Responses to Enzo Mari เป็นนิทรรศการเสริมที่จัดขึ้นเพื่อแสดงความเคารพต่อ Enzo Mari จากศิลปินนักออกแบบรุ่นใหม่ แสดงให้เห็นว่าแนวคิดของ Enzo Mari ยังคงส่งผลต่อโลกของงานออกแบบในปัจจุบัน โดยที่ตลอดทางเดินรอบโถงกลางของ Design Museum มีการจัดแสดงผลงานออกแบบ ที่ถูกคัดเลือกมาจากนักออกแบบในลอนดอนที่มีแนวคิดการออกแบบสอดคล้องหรือได้รับแรงบันดาลใจจาก Enzo Mari ทั้งหมด 14 ผลงาน ซึ่งล้วนเป็นงานออกแบบที่น่าสนใจ เช่น โทรศัพท์มือถือกระดาษ (ที่คุณต้องใช้ปากกาในการจดชื่อ และเบอร์โทรศัพท์ของเพื่อน) หรือ ของเล่นไม้ที่สามารถถอดประกอบและต่อขึ้นใหม่เป็นแบบใดก็ได้ตามต้องการ

Enzo Mari

งานออกแบบในนิทรรศการเสริมนี้ มีงานที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยคือผลงานการออกแบบของ Martino Gamper ที่ออกแบบโลงศพเป็นการสดุดีแก่ Mari และ Lea ภรรยาของเขา โดยเขาได้ออกแบบงานนี้ตามหลักแนวความคิดในหนังสือ Autoprogettazione ที่ Mari เองได้เขียนไว้โดยใช้วัสดุหลักเป็นวัสดุที่ Mari ใช้เป็นหลักคือไม้แปรรูปและตะปูเท่านั้น Gamper ได้ตั้งชื่อผลงานไว้อย่างลึกซึ้งกินใจว่า ‘L’ultimo mobile per Enzo’ (เฟอร์นิเจอร์ชิ้นสุดท้ายสำหรับ Enzo) และ ‘L’ultimo mobile per Lea’ (เฟอร์นิเจอร์ชิ้นสุดท้ายสำหรับ Lea)

หากท่านใดสนใจเข้าชมนิทรรศการนี้ แนะนำให้เผื่อเวลาไว้อย่างน้อย 3 ชั่วโมงสำหรับทั้งสองนิทรรศการ โดยที่ตัวนิทรรศการหลักสามารถใช้เวลาได้อย่างน้อย 2 ชั่วโมง และส่วนนิทรรศการด้านนอกนั้นครึ่งชั่วโมงก็น่าจะเพียงพอ

นิทรรศการ Enzo Mari เริ่มเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมาและจะจัดแสดงจนถึงวันที่ 8 กันยายน 2567 ที่ Design Museum ลอนดอน ประเทศอังกฤษ งานนิทรรศการหลักต้องเสียค่าเข้าชม ส่วนนิทรรศการเสริม ไม่เสียค่าใช้จ่าย

designmuseum.org

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *