หนังสือ Collective Language – Asian Contemporary Architecture รวบรวมผลงานของบริษัทสถาปนิกในเอเชีย ที่สื่อสารภาษาสถาปัตยกรรมออกมาให้สัมผัสในรูปแบบที่ต่างกัน
TEXT: JENCHIEH HUNG & KULTHIDA SONGKITTIPAKDEE
(For English, press here)
Collective Language – Asian Contemporary Architecture
Jenchieh Hung, Kulthida Songkittipakdee and Nada Inthaphunt
Corporation 4d Limited, 2024
Softcover
150 x 150 mm
120 pages
ISBN 978-616-942-891-6
นิทรรศการสถาปัตยกรรมครั้งแรกประจำปี 2024 ‘Collective Language – Asian Contemporary Architecture’ ที่ IMPACT Arena Exhibition and Convention Center จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันอังคารที่ 30 เมษายน ภายใต้งานสถาปนิก’ 67 นิทรรศการงานแสดงเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างใหญ่ที่สุดในอาเซียน จัดโดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ บริษัท ทีทีเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยมี เจอร์รี่ หง (Jenchieh Hung) ประธานคณะทำงานนิทรรศการจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและสถาปนิกหลักจาก Hung And Songkittipakdee / HAS design and research เป็นหัวหน้าภัณฑารักษ์ และนาดา อินทพันธ์ จากสมาคมสถาปนิกสยามฯ เป็นภัณฑารักษ์ร่วมของนิทรรศการ
เจอร์รี่ หง กุลธิดา ทรงกิตติภักดี และนาดา อินทพันธ์ ได้เชิญชวนบริษัทสถาปนิกในภูมิภาค อาทิ Hiroshi Nakamura & NAP, Kazuyo Sejima + Ryue Nishizawa / SANAA, Nori Architects and Asanuma Corporation และ Yamazaki Kentaro Design Workshop จากญี่ปุ่น Mass Studies, SAC International Ltd., Shin Architects และ THE_SYSTEM LAB จากเกาหลีใต้ Arcplus Group PLC, BIAD Huyue Studio, China Architecture Design & Research Group และ Studio Zhu Pei จากสาธารณรัฐประชาชนจีน Architectural Services Department, Index Architecture Limited และ Nelson Chen Architects จากฮ่องกง K2 Habitus และ WOHA จากสิงคโปร์ GDP Architects, smallprojects และ VERITAS Architects จากมาเลเซีย Plan Architect จากไทย 1+1>2 Architects, AHL Architects, BHA Architects และ Vo Trong Nghia Architects จากเวียดนาม Archineer Associates Co., Ltd, LAO+ Architects และ Tomi Atelier จากลาว andramatin จากอินโดนีเซีย Carlos Arnaiz Architects / CAZA, Garcia+Lee Architects, GWorks Architectural Services และ Zubu Design Associates จากฟิลิปปินส์ Domus Architects, Marina Tabassum Architects และ VITTI Sthapati Brindo Ltd จากบังกลาเทศ Architecture RED, Juhi Mehta Architects, Malik Architecture และ RMA Architects จากอินเดีย Kalpasara Studio, Prabal Thapa Architects และ Tattva: Consult Pvt. Ltd จากเนปาล Caleco Studio Architects, Design Insight และ Suhail & Fawad Architects จากปากีสถาน รวมทั้ง Thisara Thanapathy Associates จากศรีลังกา โดยแต่ละบริษัทต่างมีบทบาทสำคัญแสดงความหลากหลายผ่านมุมมองภาษาทางสถาปัตยกรรมที่สามารถรังสรรค์เพื่อสะท้อนสภาพสังคม ข้อจำกัดของสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการพัฒนาในรูปแบบของสังคม ในภูมิภาคได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม
‘ถอดรหัสภาษา: นิทรรศการสัมผัสสถาปัตย์ ภาษาร่วมสมัยภูมิภาคเอเชีย’ (Collective Language – Asian Contemporary Architecture) มาจากแนวคิดเรื่องภาษาเป็นสื่อกลางหนึ่งในการเชื่อมโยงทุกสิ่งในโลกนี้เข้าด้วยกัน นับตั้งแต่หลายหมื่นหรือแม้กระทั่งหลายล้านปีก่อน การใช้ภาษาปรากฏอยู่ในรูปแบบต่างๆ ในสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นภาษาเสียงที่เป็นเสียงหวีดร้อง (whistle language) ภาษากาย ภาษาการสัมผัส ภาษากลิ่น และอื่นๆ อีกมาก อย่างไรก็ตาม ที่มาและวิวัฒนาการของภาษายังคงเป็นประเด็นที่ได้รับการถกเถียงกันมาตลอด ในปี 1809 นักชีววิทยาชาวฝรั่งเศส ฌอง-แบพติสท์ ลามาร์ก (Jean-Baptiste Lamarck) ได้เผยแพร่หนังสือ ‘ปรัชญาสัตววิทยา’ (Zoological Philosophy) โดยเสนอแนวคิดว่าเมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป สิ่งมีชีวิตแต่ละสายพันธุ์ก็จะปรับตัวและพัฒนาอวัยวะของตัวเองขึ้นมา การปรับตัวนี้นำไปสู่การเจริญเติบโตของอวัยวะที่ใช้งานบ่อยๆ และการเสื่อมสลายลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปของอวัยวะที่ไม่ได้ใช้งาน ก่อนที่การเปลี่ยนแปลงในแต่ละรุ่นจะถูกส่งต่อไปยังรุ่นต่อๆ ไป การหารือในประเด็นนี้ไม่เพียงแต่นำมุมมองใหม่ๆ มาสู่นักภาษาศาสตร์เท่านั้นหากแต่ยังสะท้อนให้เห็นว่าสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ได้ใช้วิธีการที่หลากหลายในการสื่อสารผ่านภาษามาเป็นเวลานับล้านปี
เนื้อหาของนิทรรศการนี้มีประเด็นการสำรวจและเจาะลึกทั้งความหลากหลาย และความแตกต่างที่ภาษานำมาสู่การได้ยิน การมองเห็น การสัมผัส และการรับกลิ่น โดยแบ่งเป็น 3 บท ได้แก่ ‘เสียง / ภาษาของมนุษยชาติ’ ‘ความเงียบงัน / ภาษาของแสงเงา’ และ ‘ซึมทราบ / ภาษาของพิธีกรรม’ บริษัทสถาปนิกกว่า 50 แห่งจาก 15 ประเทศในเอเชียได้นำเสนอผลงานสถาปัตยกรรมร่วมสมัยของภูมิภาคผ่านเรื่องราวทั้งสามบทนี้ หัวข้อ ‘ภาษาร่วมสมัย’ ของหนังสือได้สะท้อนถึงความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันระหว่างมนุษย์ และสถาปัตยกรรมในภูมิภาคต่างๆ ของเอเชีย แสดงให้เห็นแนวคิดมากมายนับตั้งแต่มาตราส่วน ปริมาตร ความย้อนแย้ง พลวัต ความร้อน ความยืดหยุ่น มรดก ความกลมกลืน ไปจนถึงการบีบอัด
ในบทแรก ‘เสียง / ภาษาแห่งมนุษยชาติ’ นำเสนอผลงานที่ไม่เพียงแต่ใช้ขนาด ปริมาตร และความแตกต่างอันย้อนแย้ง เพื่อสร้างถ้อยคำทางพื้นที่ซึ่งมีความชัดเจนสำหรับผู้เยี่ยมชมหรือผู้อยู่อาศัยเท่านั้น หากแต่ยังเน้นย้ำว่าสถาปัตยกรรมสามารถเป็นตัวเร่งปฏิกิริยากระตุ้นให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัวพวกเขาด้วยเช่นกัน ตัวอย่างผลงาน ศูนย์วัฒนธรรมสึรุโอกะ (Tsuruoka Cultural Hall) (2017) ออกแบบโดย Sejima and Nishizawa and Associates – SANAA นั้นเป็นตัวแทนของความรู้สึกแบบญี่ปุ่นที่โดดเด่นด้วยสัดส่วนทางสถาปัตยกรรมที่เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ ผังการใช้งานที่มีทางเดินห้อมล้อมห้องแสดง และหลังคาลอยตัวสร้างความรู้สึกอิสระบางเบา สร้างเสริมให้เกิดการสื่อสารและประสบการณ์ที่แปลกใหม่แก่ผู้เข้าชม ส่วนผลงาน Space K Seoul (2020) โดย Mass Studies มีการตีความลักษณะเมืองที่เป็นเอกลักษณ์และความเป็นมนุษย์ของกรุงโซลผ่านรูปทรงทันสมัย บนพื้นที่ซึ่งมีพลวัตของการออกแบบผสานองค์ประกอบทางธรรมชาติอย่างภูเขาและแม่น้ำฮันเข้าไว้ด้วยกันได้อย่างไร้รอยต่อ หยิบยื่นทางเลือกใหม่ในการดูแลสังคมในสภาพแวดล้อมเมืองที่แออัด ในขณะเดียวกันผลงานที่ smallprojects เป็นผู้ออกแบบ The Machine Room (2019) ได้มีการปรับแก้ขนาดพื้นที่ให้เหมาะกับการอยู่อาศัย อันผสมผสานวัสดุและเส้นทางการเคลื่อนไหว สร้างบรรยากาศใหม่ที่เสริมประสบการณ์การอยู่อาศัยได้อีกครั้ง รวมถึงผลงาน Santani Wellness Resort and Spa (2016) ที่ Thisara Thanapathy Associates ออกแบบนั้นมีทางเดินคดเคี้ยวที่ช่วยลดปริมาตรของอาคาร ในขณะเดียวกัน การออกแบบได้รังสรรค์ห้องพักขนาดใหญ่ที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างและการบูรณาการระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ผ่านการสอดประสานระหว่างวัสดุท้องถิ่นและภูมิประเทศแนวเขา
ในบทที่สอง ‘ความเงียบงัน / ภาษาของแสงเงา’ เหล่าสถาปนิกใช้สภาวะแวดล้อมต่างๆ เช่น ความสามารถในการปรับตัว พลวัต และคุณสมบัติทางความร้อนในฐานะองค์ประกอบของการออกแบบ พวกเขาผสมผสานวัสดุ ฝีมือช่าง และการก่อสร้างเพื่อสร้างสรรค์พื้นที่อันเงียบสงบหลากหลายมิติ หนึ่งในตัวอย่างคือโครงการ Kampung Admiralty (2017) โดย WOHA ที่เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่กับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้ผู้ใช้งานได้สัมผัสกับธรรมชาติในทิวทัศน์ที่ต่างกันไป ในทำนองเดียวกัน อาคารหอพักพยาบาลโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ (2021) ที่ออกแบบโดย Plan Architect ใช้ประโยชน์จากมุมของโครงสร้างฟาซาด (façade) ในการสร้างระเบียงและพื้นที่เปิดโล่ง รวมไปถึงพื้นที่สีเทา (gray space) หรือพื้นที่ที่มีความยืดหยุ่นและสามารถใช้งานได้หลากหลายวัตถุประสงค์ได้อย่างเพียงพอ การออกแบบนี้ช่วยให้ผู้ใช้งานและแพทย์ได้เห็นคุณค่าความสำคัญของการบูรณาการใช้ภาษาเงียบงันให้เข้ากับพื้นที่ระหว่างกระบวนการรักษาที่เข้มข้น สำนักงานเกษตรเมือง หรือ Urban Farming Office (2022) ที่มีสตูดิโอ Vo Trong Nghia Architects เป็นผู้ออกแบบ และห้องสมุดลีลาววตี ลาลบาย (Lilavati Lalbhai Library) (2017) ออกแบบโดย RMA Architects เป็นสองโครงการที่นำเอาฝีมือและเทคนิคการก่อสร้างพิเศษมาประยุกต์ใช้กับฟาซาด เพื่อทำหน้าที่เป็นสื่อกลางของการเปลี่ยนผ่านระหว่างสภาพแวดล้อมภายนอกและภายใน นอกจากนี้บริเวณเอเทรียม (atrium) หรือ โถงกลางภายในของทั้งสองอาคารยังช่วยส่งเสริมความต่อเนื่องของพื้นที่แต่ละส่วน ทำให้ผู้เยี่ยมชมสามารถสัมผัสถึงความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาระหว่างสถาปัตยกรรมและธรรมชาติ
ในบทที่สาม ‘การซึมทราบ / ภาษาของพิธีกรรม’ ผลงานสี่โครงการจากประเทศจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบังกลาเทศ แสดงให้เห็นถึงวิธีที่สถาปัตยกรรมสามารถประกอบขึ้นจากแนวคิดต่างๆ เช่น มรดก ความกลมกลืน และการบีบอัด หนึ่งในตัวอย่างคือพิพิธภัณฑ์เตาเผาราชวงศ์โบราณจิ่งเต๋อเจิ้น (Jingdezhen Imperial Kiln Museum) (2020) ออกแบบโดย Studio Zhu Pei ที่ใช้แนวทางการออกแบบเชิงนวัตกรรมเพื่อจุดประกายชีวิตให้กับที่ตั้งโครงการที่มีพื้นหลังทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ขึ้นมาใหม่ ผ่านรูปทรงสถาปัตยกรรมและวัสดุที่ก่อร่างสร้างตัวเป็นเรื่องราวด้วยองค์ประกอบของแสงและพื้นที่ ในทำนองเดียวกัน มัสยิดอัส-โซบูร์ & เซสซัตอากุง (Masjid As-Sobur & Sessat Agung) (2017) ที่สตูดิโอ andramatin ออกแบบ ได้ก้าวข้ามข้อจำกัดทางศาสนาที่มีความเป็นทางการ และเสนอประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสอันลึกซึ้งแก่ผู้ใช้งานผ่านสัดส่วนของพื้นที่และการเลือกใช้วัสดุ ในขณะที่โครงการอย่าง โบสถ์ 100 กำแพง (The 100 Walls Church) (2013) โดย Carlos Arnaiz Architects และมัสยิดบายต์อุรรูฟ (Bait Ur Rouf Mosque) (2012) โดย Marina Tabassum Architects นั้นมีการใช้รูปทรงพื้นฐานเฉพาะตัวและโครงสร้างน้ำหนักเบาเพื่อสร้างบรรยากาศทางจิตวิญญาณที่โดดเด่น โดยบูรณาการอาคารทางศาสนาให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชุมชนและมอบประสบการณ์ที่ไม่ธรรมดาแก่กิจวัตรประจำวันของผู้คน
เจอร์รี่ หง (Jenchieh Hung) ประธานคณะทำงานนิทรรศการจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้อธิบายภาพภายในหนังสือทั้งสามส่วนซึ่งล้วนแสดงให้เห็นว่า เสียง ความเงียบงัน และการซึมซาบ ต่างเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ในสถาปัตยกรรมซึ่งถูกหยิบยกออกมาเป็นหมวดภาษาร่วมกันในภูมิภาค ไม่ว่าเป็นภาษามนุษยชาติ ภาษาแสงเงา และภาษาพิธีกรรมใดก็ตาม ยังสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มและความเป็นไปได้ต่างๆ ของรหัสภาษาสถาปัตยกรรมร่วมสมัยในภูมิภาคเอเชียต่อไปได้ในอนาคตอีกด้วย