รับรู้และทำความเข้าใจผลงานจากสตูดิโอชื่อแสนเรียบง่ายว่า North ในหนังสือรวบรวมผลงานโดดเด่นด้าน visual ของสตูดิโอที่ไม่มีคำอธิบายตัวงานใดๆ แต่ให้ผลงานเหล่านั้นเล่าเรื่องราวด้วยตัวมันเอง
TEXT: PAKPOOM LAMOONPAN
PHOTO: KETSIREE WONGWAN
(For English, press here)
North: Extracts from visual identities
Sean Perkins
Unit Editions, 2023
Hardcover
300 x 230 mm
308 pages
ISBN 978-050-088-022-7
จากยุครุ่งเรืองที่ปีหนึ่งมีเป็นสิบเล่ม ก็ค่อยๆ น้อยลงจนแทบไม่มีใครพิมพ์หนังสือรวมงานออกแบบของสตูดิโอออกแบบกราฟิกเป็นเล่มๆ แล้ว น่าดีใจที่ยังมีรุ่นใหญ่ออกหนังสือมาให้ได้ชมกัน ถึงแม้จะต้องผ่านประสบการณ์กัน 10-20 ปี ถึงจะได้ฤกษ์ออกมาเล่มหนึ่ง
North ก่อตั้งขึ้นในปี 1995 โดย Sean Perkins แม้ว่าเราจะเห็นงานของเขาตามข่าวจากนิตยสารดีไซน์ แต่นอกจากนั้นเช่นในเว็บไซต์ (สมัยนั้น) ก็แทบไม่มีอะไรให้ดู เหมือนกับว่านอกจากภาพถ่ายงานที่ออกมาแล้ว อย่างอื่นมันเป็นความลับที่เก็บไว้อย่างดี แม้แต่ชื่อของสตูดิโอที่เรียบง่ายตรงไปตรงมาจน Google แทบจะหาไม่เจอ จริงๆ แล้วก็มาจากบ้านเกิดของเขาทางเหนือของอังกฤษ ก็ไม่ได้ให้อะไรที่ทำให้คนรู้จักมากนัก
แต่ถึงอย่างนั้น พวกเขาก็ทำงานที่โดดเด่นในด้าน visual identities ออกมามากมายในระยะเวลายี่สิบกว่าปี คนที่ติดตามงานดีไซน์ที่จะเห็นข่าวมิวเซียมดังๆ หรือมีแบรนด์ไหนที่รีแบรนด์ออกมาน่าสนใจ คือถ้าไม่ใช่ Pentagram ก็เดาไว้ได้เลยว่า North น่าจะทำ ทั้งลูกค้าอย่าง TATE museum, Barbican, The Mill, M+ ที่ฮ่องกง และ The Magnum และจากชื่อของสตูดิโอนี้เองก็ถูกนำมาขยายความเพิ่มในการจัดเรียงผลงานที่อยู่ในเล่ม โดยที่เขาเลือกที่จะเรียงงานด้วยภูมิศาสตร์ตามเส้นละติจูด จากบนสุดลงมาล่างสุด ในอีกทางหนึ่งก็แสดงให้เห็นว่าลูกค้าของ North มีมากมายทั่วโลก ไล่มาตั้งแต่โนเกียในฟินแลนด์ ลงไปถึงออสเตรเลียที่ต่ำกว่าเส้นศูนย์สูตร (มีประเทศไทยด้วยสองสามงานกับเซ็นทรัลกรุ๊ป) ในอีกทางก็คือการแสดงให้เห็นวิธีสร้างงานของพวกเขาที่พยายามหาทางอื่นๆ ที่ไม่ค่อยมีใครเขาทำกันเป็นปกติ
นอกจากนั้น ด้วยความตั้งใจให้ ‘งานพูดด้วยตัวมันเอง’ ทำให้ในหนังสือเล่มนี้ทำงานด้วย visual communication จริงๆ ไม่มีคำอธิบายตัวงานใดๆ ซึ่งในทางหนึ่งอาจจะยากสำหรับคนที่ไม่เคยเห็นอะไรหรือไม่เคยรู้ข้อมูลแวดล้อมของงานนั้นมาก่อน แต่ก็ทำให้รู้สึกเปิดมุมมองใหม่ๆ กับงานชิ้นนั้นได้เหมือนกัน เพราะว่าเขาเลือกที่จะให้ภาพทำงาน โดยค่อยๆ พาเราเข้าไปมองงานในสเกลต่างๆ ทั้งการซูมเข้าไปจนเห็นแค่สี หรือถอยออกมาจนเห็นแค่ธงโลโก้รอบอาคารในตอนที่ถูกใช้จริง
แน่นอนว่าชีวประวัติหรือข้อมูลของบริษัทเขาก็ไม่มีอะไรมากกว่าเครดิตหน้าเดียวตอนจบ ถ้าอยากจะอ่านข้อมูล ตอนแรกฟังดูแล้วไม่น่าจะเป็นหนังสือที่ให้อะไรได้เยอะ แต่ด้วยความตั้งใจจะเน้นการสื่อสารด้วยภาพ ทำให้เขาตั้งใจในการคัดเลือกจัดวางภาพและการพิมพ์ในขั้นละเอียด ใช้สีพิมพ์ในเล่มถึง 6 สีให้สมกับที่จะยกงานชิ้นนั้นๆ ออกมาเก็บไว้ในฟอร์แมตที่ดีที่สุด ถึงแม้จะไม่มี text แต่ด้วยงาน 300 หน้า ตลอดเล่มก็ทำเอาเหนื่อยอยู่เหมือนกัน อย่างที่บอกไว้ตอนต้น ว่านี่เป็นหนังสือที่อาจจะต้องรออีกสิบปีถึงจะมีเล่มต่อไป หรืออาจจะเป็นหนังสือรวมงานเล่มแรกและเล่มเดียวของพวกเขาก็เป็นได้